ที่มา Voice TV
ศธ.จับมือติวเตอร์ชื่อดังจัดรายการ "ติวเตอร์ แชนแนล" เพิ่มช่องทางให้นักเรียนชั้น ม.ปลาย ทั่วประเทศเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า การดำเนินโครงการท่ายทอดสดรายการติวเตอร์ชาแนลระยะแรก เพื่อติวเข้มการสอบ GAT-PAT ออกอากาศ 5 ครั้งๆละ 2 ชั่วโมง ทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ ช่องเอ็นบีที โดยจะเริ่มครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 5 กันยายน 2552 เวลา 10.00-12.00 น.โดยจะถ่ายทอดสดพิธีเปิดโครงการจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และการสอนเสริมความรู้ GAT ฉบับที่ 1 โดย อ.ปิง เจริญศิริวัฒน์ และอีก 4 ครั้งในวันเสาร์ที่ 12, 19, 26 กันยายน และ 3 ตุลาคม โดยยังมีวิชา GAT ฉบับที่ 2 (ภาษาอังกฤษ) โดย อ.อริสรา ธนาปกิจ หรือครูพี่แนน วิชา PAT1 (คณิตศาสตร์) โดย รศ.สมัย เหล่าวานิชย์ และวิชา PAT2 (วิทยาศาสตร์) โดย อ.อุไรวรรณ ศิวะกุล (ครูอุ๊) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ติวเตอร์แชนแนล จะเน้นวิชาหลักๆ ที่จะสอบเป็นพิเศษ รวมทั้งที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย GAT, PAT การสอบประจำภาค การสอบ O-NET ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งให้เด็กชนบท เด็กที่อยู่ห่างไกล เด็กกรุงเทพฯ ที่ด้อยโอกาสไม่มีโอกาสไปเรียนกวดวิชา ได้มีโอกาสติวเข้ม เรียนเสริมกับติวเตอร์ชื่อดัง และอาจารย์จากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ยังมีโครงการ Tutor on tour ทั่วประเทศ ซึ่งจะให้คณะทำงานไปดูว่าควรจัดที่ไหน อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียนมากที่สุด โดยระหว่างที่ออกอากาศแต่ละครั้งนั้น ได้หมายมอบให้คณะทำงานไปศึกษารายละเอียดด้วยว่า ควรมีการปรับปรุงรายการอย่างไร สอนสด หรือไม่สด อาจมีการสอนเสริม ติวเข้ม ไม่เข้ม เพื่อให้เด็กนักเรียนตามทันกันทุกคน ซึ่ง 5 เสาร์แรกจะเป็นการสอนสด ส่วนเสาร์ถัดไปจนถึงกันยายน 2553 หรืออีก 52 ครั้งนั้น จะมีการพิจารณาอีกครั้งว่า จะถ่ายทอดสดหรือนำเทปบันทึกมาออกอากาศ ทั้งนี้จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาร่วมพิจารณาด้วย จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ชม นักเรียน เพื่อปรับปรุงรายการให้เหมาะสมต่อไป สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในติวเตอร์แชนแนลนั้น จะเป็นการดึงงบประมาณของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เนื่องจากค่าเช่าเวลาของ ช่อง 11 และค่าติวเตอร์ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามจะเช่าเวลา ช่อง 11 จนกว่าจะมี “อี-ฟรีทีวี” ซึ่งต้องรอ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ส่วนงบไทยเข้มแข็ง 6,000 ล้านบาท (ปี 2553-2555) ซึ่งมีแผนพัฒนาอีทีวีให้เป็นช่องฟรีทีวีนั้น อาจจะมีการพิจารณานำมาใช้ให้เหมาะสมอีกครั้งขณะที่นายอนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชากล่าวว่า การย่อเนื้อหาการสอนจากนับร้อยชั่วโมงเหลือ 2 ชั่วโมงในการสอน GAT-PAT ในระยะแรกถือว่าทำได้ยากมาก และนักเรียนอาจได้รับประโยชน์ไม่เท่ากับที่เรียนเต็มหลักสูตร แต่อย่างน้อยจะทำให้นักเรียนได้เห็นภาพการเรียนการสอนอีกแบบและช่วยกระตุ้นความสนใจ และในระยะยาวควรปรับรูปแบบให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ยืนยันว่าโรงเรียนกวดวิชาไม่ได้ประโยชน์ในแง่การประชาสัมพันธ์โรงเรียน อีกทั้งครูกวดวิชาหลายคนไม่อยากมาสอนเพราะจัดเนื้อหาการสอนยาก เพราะนักเรียนมีพื้นฐานต่างกัน หากสอนยากเกินไปก็เหมือนสอนไม่รู้เรื่อง หากสอนง่ายเกินไปนักเรียนก็จะไม่เชื่อถือ