ที่มา มติชน
บทนำมติชน
ทุกวันนี้ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าการออกกฎหมายความมั่นคง หรือชื่อเต็มๆ ว่า พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศใช้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเพื่อทำการป้องปรามดังที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อธิบายความเอาไว้ หรือจะเป็นการประกาศเพื่อการปราบปรามตามความหวาดผวาของกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง แต่ไม่ว่าจะเป็นความหมายใดๆ พระราชบัญญัติฉบับนี้ร่างและคลอดออกมาใช้ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองไม่ปกติ
เมื่อพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศใช้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จึงมีการให้อำนาจที่มากกว่าปกติแก่ผู้ใช้ ทั้งนี้ ตามกฎหมายปกตินั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครองมีอำนาจในการดำเนินการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ กฎหมายที่ตำรวจและฝ่ายปกครองใช้คือกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบจากสมาชิกรัฐสภา โดยยึดหลักไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศ แต่พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ จึงให้อำนาจที่สามารถยกเว้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้ โดยผู้ที่สามารถใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ก็คือฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง โดยเครื่องมือในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้นอกจากตำรวจแล้ว ยังมีทหาร และหน่วยงานอื่นๆ ที่ฝ่ายการเมืองเลือกมาใช้สอย
ตัวอย่างการใช้พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 คือ การประกาศใช้ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจา ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งครั้งนี้มีคำสั่งห้ามมิให้มีการชุมนุมใดๆ โดยรอบสถานที่จัดการประชุมกินระยะทางเป็นรศมีหลายกิโลเมตร และการเดินทางเข้าสู่สถานที่ประชุม จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทหาร ใช้เครื่องมือตรวจวัตถุต้องสงสัย เป็นระยะๆ อยู่ตลอดเวลา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเดินทางไปตรวจสถานการณ์ สลับกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ และดูเหมือนว่าคณะรัฐมนตรีจะใช้มาตรฐานเดียวกันในการรักษาความปลอดภัย สำหรับการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมผู้เกี่ยวข้อง ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธุ์
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมใช้พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ในช่วงการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ในระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม-1 กันยายน เพื่อป้องกันการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่กำหนดนัดรวมพลวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏในภายหลังว่าแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงได้ประกาศไม่ชุมนุมในวันดังกล่าว โดยเลื่อนการชุมนุมออกไปเป็นวันที่ 5 กันยายน ทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องมาพิจารณาว่าจะยังคงประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงต่อไป หรือจะยุติและไปประกาศใช้ในวันอื่นๆ อีก ซึ่งเหมือนกับว่าการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงนั้นสามารถจะประกาศใช้วันใดเวลาใดและอย่างไรก็ได้
ทั้งๆ ที่กฎหมายความมั่นคงเป็นกฎหมายพิเศษ ที่มีเจตนาให้ใช้ในสถานการณ์พิเศษ เป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารสามารถใช้อำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ประชาชนดำเนินการหรือเลิกการดำเนินการใดๆ ก็ได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ควรใช้กฎหมายความมั่นคงจนชินชา กระทั่งลืมเลือนการใช้กฎหมายในภาวะปกติ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ให้โอกาสประชาชนสามารถรวมตัวกันชุมนุมเรียกร้อง โดยสงบและปราศจากอาวุธ รัฐบาลควรจะใช้กฎหมายความมั่นคงในสถานการณ์ที่จำเป็น หรือมีสัญญาณแจ้งเหตุว่าการชุมนุมนั้นๆ จะเกิดสถานการณ์วิกฤตขึ้นเท่านั้น เพื่อเมิให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าทุกๆ การชุมนุมทางการเมือง ฝ่ายบริหารสามารถประกาศใช้พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้ เพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้มิได้มีเจตนาจะปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม พระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายปราบม็อบ