ที่มา Thai E-News
สัมภาษณ์โดย อรรคพล สาตุ้ม และทีมงาน
4 กันยายน 2552
ก็ไม่ใช่ทักษิณทุกเรื่อง การเปิดเสรีการค้า ก็ทำมาตั้งแต่สมัยพรรคประชาธิปัตย์ และการทำสัญญาเปิดเสรีการค้าต่างๆ ตั้งแต่ ADB และเปิด FTA ต่างๆ มันก็เปิดช่องให้ตลาดเข้ามาใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสะดวก เมื่อกรณีตอนนี้ข่าวเรื่องขายที่ดิน แล้วมาอ้างว่า อย่าไปขายชาติ…ทั้งที่ตัวเองเปิดเสรีการค้าตลอดมา ซึ่งมันเปิดช่องขายทรัพยากรธรรมชาติ
สัมภาษณ์ “อานันท์ กาญจนพันธุ์”: ชาวนาขายที่ดิน…ขายชาติถึงวันข้าวและชาวนาแห่งชาติของรัฐบาลอภิสิทธิ์
#ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์
ขณะที่ประเด็นร้อน กรณีขายที่ดิน กลายเป็นขายชาติ โดยเจ้าหน้าที่พยายามสืบสวนผู้เข้ามากว้านซื้อที่ดินของชาวนาไทย เชื่อมโยงกับประเด็นกระแสข่าวว่า ชาวต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจด้านการเกษตรในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพราะอาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย และบทกฎหมายป้องกัน กรณีเรื่องการตั้งบริษัทนอมินีของชาวต่างชาติอย่างเข้มงวด ซึ่งผลของกระแสข่าวการเข้าลงทุนจากกระแสข่าวดังกล่าว
ทำให้ทีมงานประชาไท เปิดประเด็นชาวนาสำหรับสัมภาษณ์ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับชาวนา และที่ดินมาเป็นเวลาอย่างยาวนานมาก นับตั้งแต่ผลงานวิทยานิพนธ์ของอาจารย์อานันท์ จนถึงการมองปรากฏการณ์ของกระแสของการเมืองในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งมีที่มาของการเรียกร้องไม่ให้ชาวนาขายที่ดิน คือ ขายชาติถึงกรณีวันข้าวและชาวนาแห่งชาติในปัจจุบัน
จากหลังทักษิณ กับกรณีขายที่ดินเป็นขายชาติ ถึงรัฐบาลของอภิสิทธิ์
กรณีขายที่ดินทั้งหมด คือ ยุคเสรีนิยมใหม่ นี่แหละ ซึ่งมันมีความคิดที่อยู่เบื้องหลังว่า มันพยายามที่จะสร้างภาพว่า ตลาดทำงานได้อย่างเสรี และถ้าเปิดเสรีการตลาด แปลว่า ตลาดทำงานดี ซึ่งทุกอย่างจะเป็นประโยชน์ของทุกคน
ดังนั้น สิ่งที่ทักษิณทำเกี่ยวกับแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ก็คือ การดำเนินงานตามเสรีนิยมใหม่ ซึ่งการกล่าวหาในยุคปัจจุบันถึงบางคนเป็นนอมินีของทักษิณ แต่เมื่อก่อนทักษิณ ก็เป็นนอมินีของเสรีนิยมใหม่เช่นเดียวกัน นโยบายประชานิยมต่างๆ ยกเว้นแต่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นรัฐสวัสดิการ แต่ว่านโยบายอันอื่นๆ ซึ่งทักษิณทำ 2 แบบ คือ มันมีแบบเศรษฐกิจชุมชน และเสรีนิยมใหม่(neoliberalism) ด้วย ดังนั้น ทักษิณใช้สองแนวทาง ก็คือ ทักษิณไม่ใช่เสรีนิยมใหม่อย่างเดียว
ซึ่งทักษิณก็ทำให้คนเห็นว่า เขาทำชุมชนให้ไปรับใช้เสรีนิยมใหม่ และปัญหาที่แฝงอยู่คนก็มองไม่เห็นปัญหากัน ที่มีรัฐเข้าไปช่วยเหลือทำให้ตลาดทำงานได้ เพราะการทำงานของตลาดอาศัยรัฐช่วยทำงานทั้งนั้น เช่น ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกา ซึ่งมันต้องให้รัฐเข้ามาช่วยตลาดอย่างเห็นได้ชัด แต่ที่ตลาดทำงานมาก่อนหน้า มันไม่แสดงออกมาชัดเจน แต่มันแฝงปัญหาเอาไว้ คือ มันมองไม่เห็นปัญหากัน
ผมพูดง่ายๆ ก็คือว่ารัฐเข้ามาช่วยจัดการให้ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ทำงานได้ โดยมันเข้ามาสำคัญที่สุด คือ การจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ
ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงของการทำทรัพย์สินให้เป็นทุน โดยเอกสารสิทธิ สปก. และเรื่องทุกอย่างก็ไม่ใช่ทักษิณทุกเรื่อง ซึ่งสิ่งที่มีมาดังกล่าว จากการเปิดเสรีการค้า ก็คือ ทำมาตั้งแต่สมัยพรรคประชาธิปัตย์พอๆกัน และการทำสัญญาเปิดเสรีการค้าต่างๆ ตั้งแต่ ADB และเปิด FTA ต่างๆ ซึ่งการทำงานของรัฐ หมายความว่า ทุกอย่างรัฐมาช่วยปลดระวาง และขณะเดียวกัน ก็เอาทรัพยากรป้อนตลาดทุกอย่าง มันก็เปิดช่องให้ตลาดเข้ามาใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสะดวก
เมื่อกรณีตอนนี้ข่าวเรื่องขายที่ดิน แล้วมาอ้างว่า อย่าไปขายชาติ…ทั้งที่ตัวเองเปิดเสรีการค้าตลอดมา ซึ่งมันเปิดช่องขายทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่แต่ก่อนรัฐบาลในอดีตประกาศให้ที่ดิน กับป่าเป็นป่าสงวน และประกาศเขตอุทยานต่างๆ แต่ว่ากรณีปลูกยางพารา เพื่อผลประโยชน์กับรัฐ ก็ไม่ถูกจับในเขตป่าสงวน
แต่ว่าพวกชาวเขาทำไร่หมุนเวียนในเขตป่าสงวน กลับถูกจับจากรัฐ โดยการขยายตัวปลูกยางพาราขนาดใหญ่ ซึ่งมันเปลี่ยนทรัพยากรที่ดินให้เป็นสินค้า กลายเป็นที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และรัฐขยายอำนาจรัฐเหนือพื้นที่(Territorialization) มาสู่การถอนอำนาจรัฐออกจากพื้นที่ (De-Territorialization) โดยให้ตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ
ซึ่งส่งเสริมให้มีการปลูกยางพารา และการขยายอาณาเขตเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวน นี่แหละ มันแสดงว่า รัฐทำเป็นไขสือ โดยปล่อยให้ตลาดทำงาน แล้วย้อนมาใช้พื้นที่ของป่า(Re-Territorialization) และรัฐก็ปั่นไฟฟ้าจากน้ำทำเขื่อน เช่น เขื่อนปากมูล โดยทั้งหมดรัฐให้ประโยชน์แก่ตลาดทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น เมื่อใครบอกว่า ตลาดทำงานได้เองนั้น มันไม่เป็นความจริงว่าตลาดทำงานได้เอง ซึ่งรัฐเปลี่ยนทรัพยากรให้เป็นทุนตลอดมา ทั้งหมดมันเพื่อลดต้นทุนให้ตลาด มันมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตลาดน้อยลง เช่น ถ้าคุณปลูกยูคาลิปตัส ซึ่งคุณปลูกยูคาลิปตัสในป่าสงวนได้ โดยไม่เสียต้นทุนสำหรับตลาด สบายเลย เพราะว่า รัฐทำไขสือ ซึ่งรัฐไม่ใช้อำนาจกับคุณ ถ้าคุณได้ประโยชน์จากปลูกยูคาลิปตัสในป่าสงวนได้ คือ พูดง่ายๆ อำนาจรัฐจากลดหรือขยายอำนาจเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ทุน แต่ว่ารัฐไม่ได้ให้กับชาวบ้านเลย
ปัญหาชาวต่างชาติ และชาวนา ถึงขายที่ดิน….ขายชาติ
มันเป็นการพูดว่า นโยบายของรัฐโดยส่งเสริมนโยบายหนึ่งว่า มันต้องควบคุมที่ดิน และจัดการตลาด แต่รัฐทำงานครึ่งเดียวในระบบทุนนิยม และรัฐไทย ไม่ทำการสร้างกลไกมาควบคุม(Regulate)ไม่ให้ตลาดเอาเปรียบเกินไป เช่น นโยบายภาษีก้าวหน้า โฉนดชุมชน และกลไกเสริมความก้าวหน้า ถ้ามีกลไกเหล่านี้ รัฐก็ไม่ต้องพูดว่า คนต่างชาติมาซื้อที่ดินน่ะครับ
ที่ผ่านมาชาวต่างชาติไม่ได้มาซื้อที่ดิน แต่เขามาเอาประโยชน์ของที่ดินน่ะครับ เช่นว่า ปลูกมันฝรั่ง และปลูกข้าวโพดพันธุ์อ่อน ซึ่งบริษัท ก็ใช้วิธีเกษตรพันธสัญญากันทั้งนั้น
กรณีโรงงานไต้หวัน เขาเข้ามาซื้อที่ดินของคุณทำเป็นโรงงาน และคุณเป็นแรงงานของเขาเลย ซึ่งประเด็นไม่ใช่แค่ที่ดิน และสิ่งที่มากกว่าที่ดินนั้น มันไม่ได้สร้างกลไกควบคุมตลาด แต่มันไม่ได้หมายความว่า ชาวต่างชาติซื้อที่ดินไม่ได้ น่ะครับ เพราะประเทศไทยเป็นภาวะไร้พรมแดนอยู่แล้ว แต่ว่าทุนของต่างชาติ จะถูกกำกับไว้ได้ โดยไม่ให้ภาษีของไทย มันราคาถูกสำหรับชาวต่างชาติมาซื้อที่ดินง่าย
ซึ่งรัฐเอากระแสชาตินิยมมาเป็นกรณีชาวนาขายที่ดินเป็นขายชาติ มันแบบว่าปากว่าตาขยิบเท่านั้น แต่จริงๆ มันเป็นไทยไร้พรมแดน แต่ว่าเราไม่มาสร้างกลไกของการจัดการที่ดิน เช่นว่า ชาวต่างชาติซื้อที่ดินนี้ เขาต้องเอาแบบเกษตรอินทรีย์ (Organic farming) และเราต้องตั้งกลไก เช่น อบต. และสถาบันท้องถิ่น โดยพวกชาวต่างชาติขึ้นอยู่กับอำนาจของท้องถิ่นในการกำกับควบคุมตลาด แต่มันไม่ได้ หมายถึงแทรกแซงทางตลาด แต่ว่าเราควบคุมตลาด ไม่ให้คนของเรา ถูกกีดกันจากทรัพยากรธรรมชาติ เพราะว่ามันไม่ใช่ชาตินิยม ซึ่งมันเป็นการเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น คือ ท้องถิ่นเป็นผู้ผลิตที่แท้จริง และไม่เกี่ยวกับชาตินิยม ที่มีความเป็นคนไทย
ดังนั้น คุณเป็นใครก็ได้ แต่ว่าการผลิตทางการเกษตรตามกลไกของเรา ที่มีการควบคุมเกี่ยวกับการตลาดขึ้นมา ซึ่งเราไม่แคร์ว่า ใครมาเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ว่า ประเด็นที่สำคัญ คือ สร้างกลไกต่อรองกับตลาด ไม่ให้คนกลายเป็นแรงงาน และค่าจ้าง แล้วเกิดภาวะแปลกแยกแบบ Marx พูดไว้
ทำให้คนถูกกีดกันจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรัฐช่วยเหลือตลาด ทำให้ลดอำนาจของคนในการต่อรองของชาวบ้าน โดยทำให้การตลาดเสรีต้องมีประโยชน์แก่รัฐ เพราะว่า มันมาหาค่าเช่า ซึ่งเมื่อรัฐเข้ามาทำงานกับตลาด แล้วการแฝงค่าเช่าและส่วนเกินไว้สูงมาก(High Rent) จากการที่ชาวบ้านถูกกีดกันเข้าถึงทรัพยากร และไร้กลไกสำหรับควบคุมตลาด ซึ่งปรากฏการณ์การครอบงำอุดมการณ์ และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของรัฐ จนเกิดความเสี่ยงในการดำรงชีวิต( High Risk)
เพราะว่า ชาวนา คนงานที่มีชีวิตมีความเสี่ยงมากขึ้น และชาวนา คนงานได้ค่าตอบแทนน้อย คือ นายทุนไม่ได้รับภาระแบบผลิตให้เป็นธรรม และการสูญเสียสูง(High Lost) เพราะว่า คุณกลายเป็นทรัพยากรแรงงาน แล้วคุณเปลี่ยนจากคนเป็นเครื่องจักร เมื่อคนงานกลายเป็นมนุษย์ล่องหน และผู้ผลิตมองไม่เห็นคนงาน
คือ คนทั่วไปมองไม่เห็นคนงานไร้ตัวตน เช่น บริษัทเลย์ ซึ่งปลูกมันฝรั่งทำเป็นเลย์ แล้วมันฝรั่งมาจากไหน มันไม่เคยถามกันเลย ทั้งที่มันฝรั่งก็มาจากชาวนา แต่ว่าชาวนากลายเป็นมนุษย์ล่องหน และไร้อำนาจในการควบคุมชีวิตตนเอง และไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วนโยบายออกมารัฐบาลก็ไม่คืนกำไรให้คุณ เพราะเขามองไม่เห็นคุณ ซึ่งการแบ่งปันมันบิดเบี้ยวจากวาทกรรมของเสรีนิยมใหม่ ทำให้เกิดช่องว่าง(Gap)มหาศาล จึงต้องมีการสร้างกลไกแบ่งให้ความเป็นธรรมและเสมอภาค เพราะว่า คุณตกอยู่ภายใต้วาทกรรมของความหมายของเสรีนิยมใหม่
ตอนนี้ทางสังคมวิทยา ซึ่งการวิเคราะห์การผลิต+บริโภคความหมาย คือ เราไปเชื่อในอุดมการณ์แบบเสรีนิยม จนเป็นทาสของมันเลย แทนที่เราจะบริโภคมัน แล้วเราใช้ความคิดนี้ เสริมอำนาจแก่ผู้ผลิต ซึ่งเสรีนิยมจริงๆ ทำให้ทุกคนต้องเสรีเท่าๆกันทั้งหมด ไม่ใช่แค่พ่อค้าเท่านั้น
ซึ่งกรณีเกษตรทางพันธสัญญา ทั้งโครงการหลวง ใช้ที่ดิน คือ ค่าเช่าสูง(High Rent) ฉะนั้น กรณีดังกล่าวเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ และอาศัยพลังสังคม (Social Force) และต้นทุน ทำให้เกิดรีดทุนจำนวนส่วนเกิน(Surplus)สูงขึ้น และรัฐไม่ได้เปิดให้คนเกิดอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจโดยเกษตรพันธสัญญา ยังเชื่อมโยงกับระบบพ่อเลี้ยงอุปถัมภ์บางพื้นที่ของท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบันทั้งกรณีปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง และอุดมการณ์ไปด้วยกันหมด โดย ณ เวลานี้ มันหลอมรวมทั้ง เศรษฐกิจ การเมือง และอุดมการณ์ซ้อนกันอยู่อย่างมองไม่เห็นปัญหาง่ายๆ
ดังนั้น ทุกคนต่างๆ ก็ทำงานวิชาการของตัวเอง แต่ว่าการทำงานวิชาการวิเคราะห์ทางการเมือง มันแยกส่วนออกมาเป็นประเด็นการเมืองอย่างเดียว ซึ่งมันวิเคราะห์แยกส่วนเศรษฐกิจออกไป ซึ่งทำให้มองไม่เห็นปัญหาชัดเจน
ฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นนักวิจัย ซึ่งต้องวิเคราะห์ทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ และอุดมการณ์บวกกันทั้งหมด จึงต้องทำหน้าที่วิเคราะห์เพื่อเปิดโปงปัญหาที่มองไม่เห็นต่อสังคม ทำให้มองเห็นถึงผู้ผลิตที่แท้จริงกับปัญหาการจ่ายค่าเช่าที่ดิน ต่างๆ ซึ่งควรสร้างสังคมสวัสดิการสำหรับชาวนา เพราะ มันไม่มีการเก็บภาษีก้าวหน้า โดยการเก็บภาษีดังกล่าว ทำให้เกิดฐานภาษีเพื่อช่วยสังคมแท้จริง
วันข้าว และชาวนาแห่งชาติ รวมทั้งปัญหาในปัจจุบัน อาจารย์คิดเห็นอย่างไร
ผมคิดว่า คือ ยาหอม ๆ และพวกนี้ ไม่ได้ทำอะไรจริงๆ ซึ่งเรื่องยาหอมๆ เช่น สร้างสภาเกษตรกรฯ…วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ คือ เขาจะตายอยู่แล้ว แล้วคุณดันให้เขาดมยาหอม แต่คุณไม่ให้ข้าวไม่ให้น้ำ กับเขา ซึ่งเขากำลังจะตายแล้ว แต่ว่ารัฐบาลไม่ทำแบบนั้น
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ มันต้องเป็นกลไกเชิงสถาบันต้องเอาเข้ากำกับควบคุมตลาดแล้ว ซึ่งไม่ให้ชาวนาถูกเอาไปล่อนจ้อนหมดตัว เพราะไม่มีใครไปกำกับควบคุมตลาด และทุกคนต้องการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งพวกนี้ คิดว่าจะต่อสู้ทุนนิยมโลกไร้พรมแดนด้วยชาตินิยมไม่ได้แล้ว ซึ่งเมื่อก่อนในอดีตโลกเป็นโลกรัฐชาติ แต่ตอนนี้ มันเป็นโลกไร้พรมแดน และมันคนละบริบทประวัติศาสตร์ ซึ่งคุณทำแนวทางชาตินิยมอย่างเดียวสู้ไม่ได้ เพราะมันอยู่ผิดโลกแล้ว ซึ่งคุณดันจะเอาชาตินิยม ไปสู้กับโลกไร้พรมแดน และมันเป็นไปไม่ได้
ซึ่งมันก็สะท้อนจากชาวนา และเขาพูดอย่างชัดเจนว่า เขาเสียค่าเช่าในรูปแบบต่างๆ ที่มีผลตอบแทนต่างๆ ว่าหนี้สินของชาวนานั้น มันมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งผมพูดกว้างๆว่า ที่ดินค่าเช่าสูง(High Rent)
ถ้ามันไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลต่างๆ เช่นว่า โฉนดที่ดิน ซึ่งมันก็มีโฉนดชุมชน สำหรับปกป้องคนอ่อนแอ แล้วเมื่อไหร่ไม่มีคนปกป้องคนจน ถึงจะได้ลืมตาอ้าปาก ในสังคมเสรีนิยมได้อย่างไร ซึ่งเราต้องมีตัวช่วยหลายมาตรา และมาตราสำหรับจัดการอำนาจทรัพยากร ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจของการควบคุม(Regulate) คือ การตรวจสอบถ่วงดุลตลาด ที่ไร้ความรับผิดชอบ รวมทั้งข้าราชการ เอ็นจีโอ และทุกคน ก็ต้องมีการตรวจสอบเป็นสังคมประชาธิปไตย ซึ่งการตรวจสอบเพื่อทำให้ตลาดทำงานดีขึ้น แล้วทุกคนก็จะเป็นสุข(Happy) โดยคนที่อ่อนแอ จะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น
ทำให้เป็นประโยชน์แก่คนทั้งประเทศชาติด้วย
---------------------------------------------------------
ข้อมูลเพิ่มเติม: วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 การเกษตรของประเทศไทยโดยเฉพาะประเด็นเรื่องพื้นที่การปลูกข้าว เป็นปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกและพูดถึงโดยเฉพาะในการประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจาก นายสุรศักดิ์ เจือสุคนธ์ทิพย์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือถึง นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสอบถามกรณี กลุ่มประเทศคณะรัฐมนตรีความมั่นคงรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) 6 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ โอมาน สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต และซาอุดิอาระเบีย แสดงความสนใจเข้ามาทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และทำนาปลูกข้าวในไทย
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากในช่วงเดือน พฤษภาคม 2551 สมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ชักชวนนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย เข้ามาลงทุนทำนา หรือเช่าที่ดินทำนาและส่งข้าวออกขายต่างประเทศ พร้อมทั้งได้จัดตั้ง “บริษัทรวมใจชาวนา” ขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนของนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย แต่ถูกกระแสต่อต้านทั้งจากพรรคการเมือง องค์กรภาคประชาชนกลุ่มเกษตรกร
กรณีที่เกิดขึ้น ต่างมีเสียงตอบรับในหลายทางทั้งการคัดค้าน และการรอดูท่าทีของต่างประเทศ โดย นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลสนับสนุนให้ชาวต่างชาติลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และปลูกข้าวในไทยเท่ากับว่าขายชาติและทำร้ายเกษตรกรและวิถีชีวิตบรรพบุรุษไทยโดยจะทำให้คนส่วนใหญ่ในชาติกว่า 40 ล้านคน ที่ทำนา ทำไร่ ปลูกผักผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เดือนร้อน… ด้านบรรดาผู้ส่งออกข้าวระบุว่ารัฐไม่ควรอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เพราะไทยมีเทคโนโลยีการผลิตสูงอยู่แล้วและยังสามารถส่งออกเครื่องสีข้าวไปต่างประเทศได้ ส่วนเรื่องการร่วมทุนก็ไม่จำเป็น เพราะผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพแต่เป็นห่วงว่า ขณะนี้มีนายทุนต่างชาติพยายามใช้สิทธินอมินีเข้ามาซื้อที่ดินทำเกษตรกรรมมากขึ้น รัฐจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
ประเด็นดังกล่าวทำให้การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีการหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยกัน โดยคณะรัฐมนตรีได้พูดคุยกันถึงจุดยืนของประเทศไทยที่ว่า หากมีการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร การแปรรูป รับซื้อสินค้าเกษตร หรือร่วมโครงการสำรองอาหารและความมั่นคงทางอาหารในกรอบของอาเซียนนั้น ประเทศไทยไม่ได้ขัดข้อง แต่การจะเข้ามาทำนา ซึ่งกฎหมายประเทศไทยสงวนอาชีพนี้ไว้ก็คงจะไม่ได้
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ การเข้ามาลงทุนทำธุรกิจด้านการเกษตรของชาวต่างชาติต้องดูด้วยว่ามีรูปแบบอย่างไร หากเป็นรูปแบบการร่วมมือทางการค้า แบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ในการรับซื้อสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะอาหารฮาลาล ก็มีความเป็นไปได้ เพราะไทยสามารถอาศัยความร่วมมือดังกล่าว ในการให้กลุ่มประเทศอาหรับเหล่านี้เป็นศูนย์กลางในการขยายตลาดสินค้าฮาลาลได้ แต่ถ้าการลงทุนเป็นลักษณะการเข้ามาตั้งบริษัท เช่าที่ดิน และจ้างเกษตรกรเป็นพนักงาน ก็คงเป็นไปไม่ได้ โดยได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบรายละเอียดการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเอกชนไทยด้านธุรกิจการเกษตรที่ชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนตั้งแต่ 40-49.99% ว่ามีปัญหาเรื่องนอมินีเกิดขึ้นหรือไม่ ภายหลังเกิดกระแสข่าวว่ามีชาวต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจด้านการเกษตรในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพราะอาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย และมีกฎหมายป้องกันเรื่องการตั้งบริษัทนอมินีของชาวต่างชาติอย่างเข้มงวด
ผลของกระแสข่าวการเข้าลงทุนดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าถือเป็นข่าวดีที่ทำให้ทุกๆ หน่วยงานได้ให้ความสำคัญด้านการทำนาและพื้นที่การเกษตรมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบให้ วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ”
การจัดตั้งวันดังกล่าว ถือเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย 2550-2554 เนื่องจากวันที่ 5 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทอดพระเนตรการทำนาที่ อ.บางเขน กรุงเทพมหานคร และทอดพระเนตรกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานต่อชาวสยามและข้าวไทย เป็นวาระสำคัญต่อกิจกรรมข้าวไทย
ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ
ที่มาของข้อมูล: http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255206270116&tb=N255206