WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, September 4, 2009

“ความขัดแย้ง” ในแกนนำเสื้อแดง คือโอกาสในการร่วมกันคิดหาทางออกให้ชัดว่าจะสู้อย่างไร

ที่มา Thai E-News


โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
3 กันยายน 2552

แนวปฏิวัติเสี่ยงกับการถูกปราบ และคนที่เสี่ยงที่สุดคือคนในประเทศ(ไม่ใช่ผม) แต่แนวปฏิรูปเสี่ยงกับการยอมจำนนต่ออำมาตย์ พวกเราถึงทางแยกสำคัญที่บังคับให้เราต้องคิดหนัก เราไม่ควรเงียบ หรือเอาหัวไปมุดดิน เราควรจะพูดและคิด ควรจะถกเถียงอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด แต่อย่าลืมขยันสร้างความสามัคคีด้วยในเรื่องที่ทำได้ อย่าลืมว่าศัตรูหลักคือพวกอำมาตย์



ผมเข้าใจความรู้สึกของคนเสื้อแดงที่ไม่สบายใจ เมื่อเห็นแกนนำเสื้อแดงเถียงและวิจารณ์กัน

แต่ความรู้สึกนั้นผิดพลาด การที่แกนนำเสื้อแดงเถียงกันตอนนี้ มีรากฐานมาจากแนวความคิดทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว หรือความไร้น้ำยาของใคร

มันสะท้อนวิกฤตในสังคมไทยที่เราต้องร่วมกันแก้ และมันสะท้อนความยากลำบากในการแก้ ผมอยากชักชวนให้เราชาวเสื้อแดงมองว่าการถกเถียงเรื่องแนวทางการต่อสู้เป็นเรื่องดี ไม่ใช่ข้อเสียแต่อย่างใด เพราะมันบังคับให้พวกเราคิดตามประเด็นถกเถียง

ผมอยากให้เสื้อแดงทุกคนมีส่วนร่วมในการถกเถียงนี้ ขบวนการเสื้อแดงเป็นขบวนการประชาธิปไตยของมวลชนชั้นล่างที่ถูกกดขี่มานาน ขบวนการประชาธิปไตยในทุกยุคทุกสมัยทุกประเทศ ย่อมเต็มไปด้วยการถกเถียง และนี่คือจุดแข็งจุดเด่น

เราไม่เหมือนเสื้อเหลืองที่ขัดแย้งกันเรื่องการกอบโกย หรือเรื่องอำนาจที่จะกอบโกย ไม่ว่าจะเป็นทหารชั้นผู้ใหญ่ คนในแวดวงเบื้องสูง อภิสิทธิ์ เนวิน สุเทพ หรือผู้นำพันธมิตรฯ พวกนี้เป็นเหลืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์พิเศษของเขาแต่แรก เขาเลยทะเลาะกันเรื่องผลประโยชน์เสมอ

เสื้อแดงไม่ใช่เทวดา แต่ประเด็นผลประโยชน์ส่วนตัวไม่ใช่ประเด็นหลักในขณะนี้

คนเสื้อแดงเข้าใจดีว่าปัจจุบันอำมาตย์ครองเมือง ผมอยากให้มองว่าอำมาตย์ดังกล่าวไม่ใช่บุคคลหยิบมือเดียว ไม่ใช่สถาบันเดียว แต่เป็นพวกทหารชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง องคมนตรีและขุนนาง รวมถึงเศรษฐีนักการเมืองเหลือง

อำนาจของพวกนี้ทั้งกลุ่มฝังลึกอยู่ ศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ทหาร เพราะมีเครื่องมือในการใช้ความรุนแรงเพื่อเผด็จการ แต่พวกนี้ใช้สถาบันเบื้องสูงเพื่อพยายามสร้างความชอบธรรมด้วย

อำมาตย์ในทุกที่ทั่วโลกต้องมีอาวุธสองชนิดคือปืนกับการสร้างความชอบธรรม เขาจะคุมทหาร ตำรวจ ศาล คุก และเขาจะคุมสื่อ โรงเรียน และปิดกั้นความคิด

ขบวนการเสื้อแดงเติบโตจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้ของคนจำนวนมากหลัง ๑๙ กันยา ในช่วงแรกๆ เราไม่ต้องคิดอะไรหนักเพราะเรามองว่าเรามีมวลชนและมีความชอบธรรม

แต่หลังเมษาเลือดเราเริ่มเห็นชัดว่าเราเผชิญหน้ากับอำนาจที่แข็งแกร่ง แค่เดินขบวนและชุมนุมไม่พอ พันธมิตรฯมันเดินขบวนและมีผลเพราะมันใช้ความรุนแรงและมีทหารและคนชั้นสูงหนุนหลัง มันไม่ได้ชนกับอำนาจอำมาตย์

เราเรียนรู้ว่าแค่ชนะการเลือกตั้งหลายรอบก็ไม่พออีกด้วย นี่คือที่มาของการถกเถียงในหมู่แกนนำเสื้อแดงปัจจุบัน และผมมั่นใจว่าในหมู่คนเสื้อแดงรากหญ้ามีการเถียงกันในทำนองเดียวกัน การถกเถียงนี้จะช่วยให้เราชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับแนวทางต่อสู้ และถ้าเราวิเคราะห์ออก เราจะชัดเจนว่าเราสามารถสามัคคีกันตรงไหนได้ และมองต่างมุมในส่วนไหน โดยไม่ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยอ่อนแอ

ถ้าจะสรุปเหมารวม การถกเถียงครั้งนี้เป็นการถกเถียงระหว่างสองฝ่าย ในแต่ละฝ่ายก็ไม่ใช่ว่าคนจะคิดเหมือนกันหมด แต่เราสามารถจัดเป็นสองกลุ่มได้คือ

(1) กลุ่มแกนนำสามเกลอและทักษิณ เป็นกลุ่มที่อยากจะค่อยๆเป็นค่อยๆไป พร้อมจะหาทางประนีประนอมเพื่อได้ประชาธิปไตยกลับมา โดยไม่ต้องปะทะมากเกินไป แนวนี้คือแนวปฏิรูป ส่วนกลุ่มที่

(2) ประกอบไปด้วยจักรภพและสุรชัย ที่มองว่าประชาธิปไตยแท้จะไม่มีวันเกิดขึ้นถ้าไม่สู้แบบปะทะอย่างตรงไปตรงมา นี่คือแนวปฏิวัติ

ผมเองก็สนับสนุนแนวคิดกว้างๆ ของกลุ่มที่สองนี้ด้วย

ผมไม่อยากจะเอาคำพูดไปยัดปากใคร หรือความคิดไปยัดใส่หัวใคร ทุกท่านต้องอ่านและฟังสิ่งที่เจ้าตัวพูดเอง ไม่ใช่ไปสรุปแทนหรือบิดเบือนอย่างที่มีคนทำกับผมบ่อยๆ

แต่ถ้าจะสรุปคร่าวๆ สองแนวนี้คือทางเลือกระหว่างการค่อยๆปฏิรูปและประนีประนอม กับการปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมใหม่ ในขณะนี้ทั้งสองฝ่ายเชื่อว่าแนวทางของตนเองเป็นแนวที่ดีที่สุดที่จะนำสังคมไปสู่ประชาธิปไตย ในอนาคตจะเป็นอย่างไรเดี๋ยวดูเอาเอง แต่จุดร่วมอันสำคัญคือทั้งสองฝ่ายมองว่าจะต้องหาทางข้ามปัญหาอำนาจที่แข็งแกร่งของอำมาตย์ให้ได้

กลุ่มปฏิรูปประนีประนอมมีข้อดีตรงที่พยายามจะหาทางสันติที่ไม่ปะทะตรงๆ ไม่เสียเลือดเนื้อมากเกินไป และไม่พยายามทำในสิ่งที่ดูใหญ่โตและยาก แต่ข้อเสียคือมันจะนำไปสู่ประชาธิปไตยจริงได้หรือ?

หรือจะนำไปสู่การยอมจำนนในที่สุด? การถวายฎีกามีข้อเสียตรงที่ไปมอบอำนาจให้กับประมุขในลักษณะเหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งเสริมอำนาจอำมาตย์ ในด้านความคิดการถวายฎีกาอาจช่วยเปิดโปงความจริงบางอย่าง แต่ในมุมกลับอาจไม่เปิดโปงอะไรใหม่และอาจนำพาคนไปจงรักภักดีกับอำมาตย์ก็ได้

กลุ่มปฏิวัติ ไม่ใช่กลุ่มปฏิวัติทุนนิยมเพื่อสังคมนิยม แต่เป็นกลุ่มที่อยากสู้อย่างถึงที่สุดกับอำนาจเผด็จการ และมองว่าการต่อสู้ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเล่น กลุ่มนี้มองว่าการประนีประนอมกับอำมาตย์จะไม่กำจัดอำนาจเผด็จการซึ่งจะรื้อฟื้นตัวเองขึ้นมาได้ตลอด

ผมไม่อยากพูดแทนคนอื่น และคนอื่นคงมองต่างมุมกับผม ดังนั้นผมจะให้ข้อสังเกตของตนเองเท่านั้นคือ ผมเชื่อว่าเราสร้างประชาธิปไตยแบบที่มีประมุขในรูปแบบอังกฤษหรือญี่ปุ่นคงทำไม่ได้แล้วในไทย เพราะพวกทหารและกลุ่มอื่นจะดึงประมุขมาเป็นข้ออ้างในการทำลายประชาธิปไตยเสมอ การเขียนรัฐธรรมนูญก็ไม่ช่วยเพราะทหารฉีกและละเมิดรัฐธรรมนูญเป็นสันดาน

ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน ต้องลดอำนาจและงบประมาณกองทัพ ต้องปฏิรูปศาลให้หมด ต้องมีระบบลูกขุนประชาชน ต้องปฏิรูปตำรวจ ต้องสร้างสื่อมวลชนของประชาชนแทนสื่อปัจจุบัน และต้องเปลี่ยนระบบการศึกษา ทุกตำแหน่งสาธารณะต้องมาจากการเลือกตั้ง และต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะการแก้นิดๆหน่อยๆ จุดเดียวจะไม่ประสบความสำเร็จ

ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้ที่เราต้องการนี้ ผมเองหวังอย่างยิ่งว่าประชาชนจำนวนมากจะเริ่มเข้าใจว่าแค่ประชาธิปไตยรัฐสภาไม่พอ เราต้องมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วย ประชาชนต้องมีอำนาจในการกำหนดทิศทางการผลิตและการลงทุน ซึ่งแปลว่าต้องยกเลิกทุนนิยมและนำระบบสังคมนิยมมาใช้ (ซึ่งจะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ที่มีในลาว เกาหลีเหนือ คิวบา หรือจีน) ในย่อหน้านี้ผมอาจมองต่างมุมหรือมองเหมือนกับคนอื่นในกลุ่มปฏิวัติก็ได้ ผมไม่ทราบ ต้องรอให้เขาอธิบายเอง

ผมต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราในกลุ่มปฏิวัติกำลังเสนอ เป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้เวลา และที่สำคัญที่สุดคือต้องใช้พลังมวลชน บทสรุปสำคัญจาก ๑๔ ตุลา และพฤษภา ๓๕ คือการเปลี่ยนสังคมต้องมาจากกระแสมวลชน ไม่ใช่จากคนกลุ่มเล็กๆ ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะติดอาวุธหรือไม่ แต่ถ้าคิดดูให้ดี สภาพสังคมไทยตอนนี้น่าจะสอนให้เราทราบว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว ผมไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านพอใจกับประชาธิปไตยครึ่งใบหรือไม่ แต่ผมไม่พอใจ

แนวปฏิวัติเสี่ยงกับการถูกปราบ และคนที่เสี่ยงที่สุดคือคนในประเทศ(ไม่ใช่ผม) แต่แนวปฏิรูปเสี่ยงกับการยอมจำนนต่ออำมาตย์ เลือกเอาเองครับเพื่อนเสื้อแดงทั้งหลาย

พวกเราถึงทางแยกสำคัญที่บังคับให้เราต้องคิดหนัก เราไม่ควรเงียบ หรือเอาหัวไปมุดดิน เราควรจะพูดและคิด ควรจะถกเถียงอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด

แต่อย่าลืมขยันสร้างความสามัคคีด้วยในเรื่องที่ทำได้ อย่าลืมว่าศัตรูหลักคือพวกอำมาตย์