ที่มา ข่าวสด
ชกไม่มีมุม
วงค์ ตาวัน
คณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือก.ตร.นั้น มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นแค่ตรายาง แทนที่จะเป็นด่านกลั่นกรองความถูกต้องของบัญชีโยกย้ายระดับนายพล กลับทำหน้าที่เป็นตราประทับรับรองให้กับผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจของฝ่ายการเมือง
*หลายครั้งมักเป็นเช่นนั้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้ง ไม่ใช่ทุกยุคเสมอไป*
กระนั้นก็ตาม เริ่มมีเสียงวิจารณ์ว่า นับตั้งแต่มีก.ต.ช.หรือคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ เข้ามาทำหน้าที่แต่งตั้งผบ.ตร.
กลายเป็นว่าก.ต.ช. คือ ด่านหินของนักการเมือง ไม่ใช่ตรายาง
นายกฯอภิสิทธิ์ หงายหลังมาแล้ว และคาดว่าถ้ายังเสนอชื่อผู้ขึ้นเป็นผบ.ตร.แบบเดิม ก็คงยากจะได้คะแนนเสียงเห็นชอบ
ถึงขณะนี้ยังเป็นที่ยืนยันว่า เสียงข้างมากของก.ต.ช.ยังยึดมั่นในพล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ดังเดิม
เป็นของจริง ไม่ใช่แค่แอบอ้าง!!
ก.ต.ช.เกิดจากพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 ซึ่งกำหนดให้ทำหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เป็นไปตามนโยบาย
รวมทั้งทำหน้าที่แต่งตั้งผบ.ตร.
กรรมการมี 10 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 6 คน รมว.มหาดไทย ปลัดมหาดไทย รมว.ยุติธรรม ปลัดยุติธรรม ผบ.ตร. เลขาฯสมช. อีก 4 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
มีนายกฯเป็นประธาน ซึ่งเป็นคนที่ 11
ความที่ก.ต.ช.ทำหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งเพียงตำแหน่งเดียว จึงมีเงื่อนไขสำหรับเจรจาต่อรองลดน้อยลง!
ก.ต.ช. เป็นตัวของตัวเองมากกว่า
ต่างจากก.ตร. ซึ่งทำหน้าที่แต่งตั้งนายพลตั้งแต่รองผบ.ตร.ลงไปถึงผู้การ จึงมีรายการแบ่งเค้ก
ไม่เท่านั้น ก.ต.ช.ชุดปัจจุบัน ยังมีลักษณะพิเศษ เมื่อมท.1และปลัดมท.ไม่ใช่พรรคนายกฯ ส่วนผบ.ตร.ก็ยังไล่ทุบไล่หวด แต่ก็ปลดไม่ได้ แล้วแบบนี้จะต้องกลัวอะไรกันอีก
แต่ความเป็นพรรคต่างกัน ก็มิได้หมายความว่า จะต่อรองผลประโยชน์ระหว่างพรรคกันได้
เนื่องจากข้อมูลที่มาของพล.ต.อ.จุมพล ซึ่งทำให้ก.ต.ช.เสียงข้างมากสนับสนุนนั้น เป็นเรื่องใหญ่
ไม่ใช่เรื่องของพรรคหรือกลุ่มการเมืองใด
มท.1 ปลัดมท. ผบ.ตร. นายเรวัติ ฉ่ำเฉลิม พล.ต.อ.สุเทพ ธรรมรักษ์ จึงเป็น 5 เสียงที่โหวตให้
นายนพดล อินนา ซึ่งงดออกเสียง แต่ก็อภิปรายสนับสนุนพล.ต.อ.จุมพลอย่างชัดเจน
แม้นายกฯยังเชื่อมั่นในชื่อปทีป
แต่ 6 เสียงนี้ยังเชื่อมั่นในชื่อจุมพล เชื่ออย่างสูงยิ่งกว่าเสียอีก!