ที่มา ไทยรัฐ
หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 ถึงบัดนี้เกือบ 2 ปี จึงมีรายงานข่าวว่า อัยการสูงสุดเพิ่งจะได้ฤกษ์สั่งให้ฟ้องบรรดาอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตกรรมการ กกต. และอดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน รวม 20 คน ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองคนละ 20,000 บาท
ผู้ที่ถูกกล่าวหาและอาจจะกลายเป็นจำเลยในศาลอาญา ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิทั้งทางด้านนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ และมีประสบการณ์ในการเป็นข้าราชการระดับสูง รวมเรียกว่าเคยเป็นองค์กรอิสระ แต่ไม่ได้ถูกกล่าวหาเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยตรง ว่ามีความเที่ยงธรรมหรือเป็นกลางหรือไม่ แต่ถูกกล่าวหาเรื่องการออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตนเอง
มีรายงานข่าวว่า พนักงานอัยการพยายามดำเนินการเรื่องนี้อย่างเงียบๆ ไม่ต้องการให้เป็นข่าวเอิกเกริก เพราะผู้ถูกกล่าวหาล้วนแต่เป็น "ผู้ใหญ่" เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง แต่ในที่สุดก็จำเป็นต้องดำเนินการ เรื่องนี้จึงเป็นบททดสอบหลักนิติธรรม การบังคับใช้กฎหมายของกระบวนการยุติธรรม บังคับใช้กฎหมายต่อทุกคนโดยเสมอหน้าหรือไม่? หรือเป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า "คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น"
การที่บรรดาอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นกรรมการองค์กรอิสระต่างๆต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรของตน ยังเป็นการทดสอบหลักการบริหารที่เรียกว่า "ธรรมาภิบาล" ของจริง กล่าวคือ เป็นการบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่
ผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 13 คน อดีตกรรมการ กกต. 4 คน ซึ่งมีคนดังคือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ รวมอยู่ด้วย และอดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน ถูกกล่าวหาว่าออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนให้ตนเอง ในลักษณะเหมาจ่ายเป็นรายเดือน เดือนละประมาณ 20,000 บาท เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะการขึ้นเงินเดือนองค์กรอิสระต่างๆ จะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ
ความผิดในลักษณะเดียวกันนี้ อดีตประธานและกรรมการ ป.ป.ช. 9 คน เคยถูกฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนให้ตนเอง และศาลฎีกาได้พิพากษาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 ตัดสินว่า กรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน มีความผิดตามที่ถูกฟ้อง ให้จำคุกคนละ 2 ปี แต่มีเหตุอันควรปรานี จึงให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี
แต่ทั้ง 20 คน คงจะไม่ถูกฟ้องต่อศาลฎีกา แต่น่าจะเป็นศาลอาญา จึงมีโอกาสที่จะต่อสู้คดีถึง 3 ศาล อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีอดีตกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ แสดงว่าบรรดาหลักการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักธรรมาภิบาล นิติธรรม ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ หรือแม้แต่หลักการประชา-ธิปไตย กำลังก้าวหน้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ไม่ได้เป็นแค่คำขวัญลมๆแล้งๆที่พูดกันแต่ปากอีกต่อไป.