ที่มา ประชาไท
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552 สหภาพแรงงาน ไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิล์ลเวลล์การ์เม้นท์ พร้อมด้วยองค์กรแรงงานและองค์กรประชาชน ประมาณ 800 คน ได้เดินขบวนจากบริเวณหน้าบ้านพิษณุโลกมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหลังจากที่ได้มีการยื่นเรื่องต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกมนตรี ซึ่งยื่นไว้นานแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือความสนใจใดๆ และได้เข้ายื่นหนังสือให้แก่ประธานประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านที่รัฐสภา การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสันติปราศจากอาวุธซึ่งได้รับการรองรับตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย
แต่จากการชุมนุมดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต กลับได้ออกหมายจับ นายสุนทร บุญยอด อายุ 50 ปี , น.ส.บุญรอด สายวงศ์ 33 ปี และ น.ส.จิตรา คชเดช อายุ 34 ปี ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือ ผู้สั่งการเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงถึงการไม่เคารพต่อสิทธิในการชุมนุมของประชาชนที่ได้รับการรองรับโดยรัฐธรรมนูญ และเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย การใช้อำนาจในเชิงกฎหมายเข้าดำเนินการกับประชาชน และผู้ใช้แรงงานที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาของตนเองจึงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เกินกว่าเหตุ และขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยของประชาชนอย่างร้ายแรง ซื่งถือว่า เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ไม่เหมาะสม และขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยของผู้ใช้แรงงานในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างมากสำหรับคนงาน ควรออกหมายจับนายจ้างที่กระทำไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างมากกว่า เช่นการไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย และยังมีทั้งคดีความการคุกคามคนงาน ทั้งขู่ฆ่าที่เคยร้องเรียนไว้ ตำรวจก็ยังไม่ดำเนินคดี หรือมีความล่าช้า แต่เพียงคนงานชุมนุมตำรวจกลับออกหมายจับทันที เป็นการไม่สมควรและเกินกว่าเหตุ
นางสาววิไลวรรณกล่าวต่อมาว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งเป็นองค์กรขับเคลื่อนศูนย์กลางของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน จึงขอคัดค้านต่อแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้ดำเนินการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้กำหนดร่วมกับพันธ์มิตรของแรงงาน สหภาพแรงงานไทยอัมพ์ องค์กรสมาชิกของ คสรท.ว่าในวันที่ 3 กันยายน 2552 จะเข้าพบเพื่อยื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีเรียกร้องดังนี้
1.เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องยุติมาตรการที่จะจับกุมผู้นำแรงงานที่ถูกออกหมายจับจากเหตุการณ์ดังกล่าว และดำเนินการร้องขอต่อศาลให้มีการถอนหมายจับดังกล่าวโดยทัน 2.รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างแรงงานทั้งในกรณีที่มีการเรียกร้องต่อรัฐบาล และมีมาตรการป้องกันการเลิกจ้างอย่างจริงจังโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงานในการดำเนินมาตรการดังกล่าว และ 3.ขอให้มีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการสลายการชุมนุมของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่ได้ใช้เครื่องขยายเสียงระยะไกล โดยไม่ได้มีการแจ้งให้แก่ผู้ชุมนุมทราบล่วงหน้าถึงการดำเนินการและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ชุมนุม