ที่มา Thai E-News
โดย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ที่มา เวบไซต์ thaipost
24 ตุลาคม 2552
รัฐธรรมนุญที่เป็นประชาธิปไตย ควรเป็นอย่างไร
ตอน 1 : ล้างคราบเผด็จการ
ตอน 2 : หมวดพระมหากษัตริย์
ตอน 3 : โครงสร้างระบบ
** วรเจตน์เห็นว่า จากภาพรวมของรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นนี้แทบไม่ได้แตะอะไรเลย
"มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในเชิงโครงสร้างรัฐธรรมนูญ จะไม่แก้ปัญหา โอเค มันอาจจะแก้ปัญหาในบางเรื่องกับฝ่ายการเมืองกับรัฐบาล แต่ในเชิงหลักการของการปกครองมันไม่ได้เปลี่ยนอะไร ไม่ได้แก้อะไรเยอะ
ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกรรมการสมานฉันท์ เพียงแต่ผมเห็นว่า มันน้อยไปที่จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญซึ่งมั่นคงถาวรสถิตสถาพรไป และก็เป็นหลักพื้นฐานในเชิงการปกครอง
แต่ผมมีความเห็นของผมอยู่ด้วยว่า เรื่องหลายอย่างที่เขียนลงในรัฐธรรมนูญ ต้องเอาออกจากรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ รัฐธรรมนูญไม่ควรจะมีข้อความที่ยาวขนาดนี้ ควรจะเอาแต่หลักๆ และเรื่องในรายละเอียดก็ไปต่อสู้กันโดยวิธีทางในทางรัฐสภา"
** โครงหลักของรัฐธรรมนูญที่คิดว่าจะต้องทำใหม่คืออะไรบ้าง
"เราคงต้องตั้งคำถามว่า เราจะอยู่ในระบบรัฐสภาไหม ซึ่งผมเข้าใจว่า เราก็คงจะอยู่ในระบบนี้แหละ ความสำคัญก็คงเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง เรื่องของสภาผู้แทนราษฎรกับเรื่องของคณะรัฐมนตรี หมายความว่า นายกรัฐมนตรีก็ควรจะมาจากสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่จะมีใครคิดว่า ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง
แต่หลักที่ใช้กันทั่วไป และเป็นโมเดลที่เป็นสากลพอสมควร ก็คือระบบนี้ ที่เชื่อมโยงกัน มันดุลและคานอำนาจกัน ฉะนั้น โครงสร้างหลักก็มี 2 องค์กร คณะรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎรที่ยังคงอยู่
ประเด็นที่ต้องพูดกันต่อคือว่า แล้วในส่วนที่เป็นรัฐสภา ควรจะมีวุฒิสภาไหม อันนี้คือประเด็นหลัก
แต่ถ้ามี ผมคิดว่าวุฒิสภาไม่ควรมาในลักษณะนี้ คือสรรหามาครึ่งหนึ่งและเลือกตั้งจากจังหวัดละคน มันผิดในเชิงของระบบ และในแง่ของความสอดคล้องในหลักการประชาธิปไตย
ถ้าไม่มีก็ไม่มีเลย ถ้ามีก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง จะโดยอ้อมโดยอะไรก็ตาม และน่าจะมีอำนาจน้อยกว่าสภาผู้แทนราษฎร หลักควรจะเป็นแบบนั้น อาจจะทำให้ทำกิจกรรมบางอย่างบางเรื่อง เชื่อมโยงกับสภาผู้แทนราษฎร แต่สภาหลัก ก็ควรจะเป็นสภาผู้แทนราษฎรกับฝ่ายบริหาร คือคณะรัฐมนตรี นั่นก็คือโครง
"ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้ง คงไม่มีปัญหา คุยกันได้ว่า จะเป็นระบบสัดส่วนผสมกับระบบเสียงข้างมาก อย่างที่เขาเถียงกันอยู่ ย้อนกลับไปใช้ปี 2540 ผมเห็นว่า เรายังมีหนทางทำได้ดีกว่าของปี 2540 อีก ในแง่ของความยุติธรรมในการออกเสียงลงคะแนน
แต่ถ้ายังไปถึงขั้นนั้นไม่ได้ ประนีประนอมกันก็ยังพอเป็นไปได้ แต่ต้องอธิบายได้ ไม่ใช่ระบบที่อธิบายไม่ได้แบบรัฐธรรมนูญ 2550 และจริงๆ ระบบเลือกตั้ง ถ้าว่ากันถึงที่สุดแล้ว อาจจะไม่ต้องเขียนในรัฐธรรมนูญก็ยังได้
หมายถึงรัฐธรรมนูญเขียนหลักในเรื่องของการเลือกตั้ง วางหลักเอาไว้ว่า คุณต้องเลือกตั้งโดยเสรี โดยตรง โดยลับ โดยเสมอภาค ส่วนตัวระบบการเลือกตั้ง จะเป็นระบบแบบไหน อาจจะอยู่ในพระราชบัญญัติยังได้เลย เพียงแต่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
การต่อสู้กันเรื่องระบบเลือกตั้ง ก็ไม่ต้องต่อสู้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ไปต่อสู้กันโดยหนทางของรัฐสภา เรื่องในทางการเมืองที่จะสู้กัน เพราะคนที่ได้รับเสียงข้างมากมา ก็ควรจะมีโอกาสที่เขาจะปรับตัวระบบเลือกตั้งในกรอบรัฐธรรมนูญกำหนด เท่าที่คุณจะเลือกตั้งโดยลับ โดยตรง โดยเสรี โดยเสมอภาค"
"อีกอันหนึ่งที่เป็นโครงใหญ่ที่จะต้องพูดกัน ก็คือเรื่ององค์กรอิสระว่า คืออะไร อำนาจเขาควรจะเป็นอย่างไร อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด วินิจฉัยได้แบบศาล ทั้งๆ ที่เป็นฝ่ายบริหาร มันควรจะมีไหม
ซึ่งผมคิดว่า ไม่ควรจะมี และต้องเอาให้ชัดด้วยว่า องค์กรอิสระแบบนี้ เขาใช้อำนาจที่มีลักษณะเป็นอำนาจอธิปไตยหรือเปล่า หรือเป็นอำนาจทางบริหาร ที่มีลักษณะเป็นอำนาจในทางปกครอง
ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ควรจะเป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติ ไม่ใช่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพราะเขาไม่ได้ใช้อำนาจที่เป็นอำนาจของปวงชนโดยตรง แต่เป็นอำนาจบังคับใช้กฎหมาย หลายองค์กรก็ต้องออกจากรัฐธรรมนูญไป กลายเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญประกันให้มีเฉยๆ แต่เป็นเรื่องต้องกำหนดในพระราชบัญญัติ
ซึ่งแน่นอนว่าการ reform แบบนี้ อาจจะต้องมาเป็นแพ็กเกจ คือทำตัวรัฐธรรมนูญด้วย และทำพระราชบัญญัติไปด้วย มันควรจะเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นระบบแบบนี้ องค์กรเหล่านี้ จะเป็นองค์กรในทางปกครองที่เป็นอิสระ และเข้าสู่ระบบการตรวจสอบอำนาจว่า ถ้าเขากระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เขาก็ถูกควบคุมได้ในทางตุลาการ"
"พอมาถึงองค์กรตุลาการ หรือศาล ก็คงจะต้องมีการพูดกัน ว่าศาลเราระบบควรจะเป็นอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญยังจะมีต่อไปหรือไม่ อำนาจหน้าที่ควรจะเป็นแค่ไหน อย่างไร ถ้ามี อำนาจ หน้าที่ต้องชัดเจน ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ต้องเขียนให้ชัด เรื่องของคุณสมบัติต่างๆ ต้องคิดว่า จะให้เป็นเรื่องของศาล หรือบางเรื่องให้สภาเขาวินิจฉัยเอง เรื่องไหนที่เป็นเรื่องในทางการเมือง อาจจะปล่อยให้ทางฝ่ายการเมืองเขาวินิจฉัยเองได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องในทางตุลาการ
ฉะนั้น ระบบศาลจะต้องคิด และต้องคิดเลยไปอีกว่า การเข้าสู่ตำแหน่งบริหารของศาลในระบบต่างๆ ควรจะมีกฎเกณฑ์กติกาอย่างไร คนที่จะเข้าสู่ตำแหน่งในทางบริหาร ในระดับสูงของศาล บรรดาประธานศาล ควรจะมีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนมากน้อยแค่ไหน คณะกรรมการตุลาการ คณะกรรมการ กศป. กำหนดแล้วพอไหม"
"ประเด็นสำคัญที่สุดที่จะต้องพูดกันเกี่ยวกับศาล ก็คือความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่เคยพูดกันเลย เราพูดแต่ว่า ตุลาการต้องเป็นอิสระ แน่นอน เราต้องประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ แต่ในทุกระดับของการได้มาของผู้พิพากษาตุลาการ มันต้องอธิบายและย้อนกลับไปหาประชาชนได้ด้วย
ซึ่งผมไม่ได้หมายความว่า ให้ผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้ง แต่ผมหมายถึงในแง่ของการคัดเลือกผู้พิพากษาขึ้นสู่ตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น มันควรจะต้องมีจุดที่เชื่อมโยงกับประชาชนได้ ต้องกลับไปผ่านสภาหรืออะไรก็ไปว่ากัน เพื่อให้เราเห็นกระบวนการทำงานของศาลมากขึ้น เวลาที่ตัดสินมาก็จะยอมรับได้อย่างเต็มที่
องค์กรผู้พิพากษาในที่สุดแล้ว มีจุดเกาะเกี่ยวเชื่อมโยง แต่ต้องทำโดยไม่ให้เขาสูญเสียความเป็นอิสระ แต่แน่นอน เราก็ไม่ต้องให้มีการอ้างความอิสระนั้น มาทำลายระบบการตรวจสอบ แม้แต่ในทางตัวบุคคล อิสระกับเรื่องการถูกตรวจสอบเป็นคนละเรื่องกัน"
"คือวันนี้ ในหมู่ชนชั้นนำของบ้านเราสับสน 2 เรื่องนี้ คือคิดว่า อิสระก็คือใครตรวจสอบไม่ได้ เพราะถ้าเกิดถูกตรวจสอบได้ จะไม่อิสระ ผลก็คือองค์กรที่เราคาดหวังว่าจะอิสระนั้น ก็ถูกครอบงำและก็ไม่ถูกตรวจสอบ อันนี้คือจุดอ่อน
เพราะฉะนั้น ศาลก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบอันนี้เหมือนกัน ก็ต้องทำตรงนั้นใหม่ในชั้นของรัฐธรรมนูญ ต้องคิดกันใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แน่นอน ก็มีคนบอกว่าเสนอแบบนี้มาแล้ว มันจะได้หรือ
ผมก็บอกว่าได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายวิชาการ หรือของผม ผมเพียงแต่นำเสนอว่า ในความเห็นผมเห็นอย่างนี้ ถ้าเหตุปัจจัยมันพร้อม ก็ไปทางนี้ ถ้าเหตุปัจจัยไม่ให้ มันก็ไม่ไป
และถามว่าที่เสนอแบบนี้ ได้ดูบริบทของประเทศไทยไหม ผมก็ดู บนพื้นฐานบริบทของประเทศไทย ที่คนไทยก็เป็นมนุษย์มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รู้จักคิด ปกครองตัวเองได้ บนพื้นฐานแบบนี้นะ ซึ่งแน่นอนถ้าใครคิดว่า คนไทยยังโง่อยู่ ปกครองตัวเองไม่เป็น เขาก็ต้องคิดจากอีกฐานหนึ่ง มันก็จะปะทะกันในทางความคิดที่เป็นรากฐานอยู่แล้ว"
"ในส่วนโครงสร้างอำนาจอื่น ผมเห็นว่า รัฐสภาควรจะมีการตั้งผู้ตรวจการทหาร มีอำนาจตรวจสอบกองทัพ ในแง่ของการใช้จ่ายเงินต่างๆ และเป็นองค์กรที่รับเรื่องราวร้องทุกข์จากทหารด้วย"
"นอกจากนี้ ผมเห็นว่า การถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางตำแหน่งที่สำคัญออกจากตำแหน่ง น่าจะให้อำนาจนี้กลับไปสู่ประชาชนโดยตรง แต่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้ดี ไม่ให้ใช้กันพร่ำเพรื่อ จนกลายเป็นเครื่องมือป่วนกันทางการเมือง"
อ่านต่อ ตอน 4 : ระบบเลือกตั้ง