ที่มา ไทยรัฐ
โดย หมัดเหล็ก
อาการเคลื่อนไหวใน การรถไฟแห่งประเทศไทย ทำให้นึกไปถึงการต่อสู้ทางการเมืองในอดีต ก่อนเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 ต้องยอมรับว่าสหภาพรัฐวิสาหกิจมีบทบาททั้งการเมืองและการทหาร ความเคลื่อนไหวของสหภาพแต่ละครั้งมีพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง
บางครั้ง การปฏิวัติรัฐประหาร ก็ต้องใช้การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เป็นตัวนำร่องผู้นำสหภาพรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมีเพาเวอร์ ยิ่งรวมตัวกันเคลื่อนไหวในนามสหภาพรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทยเมื่อไหร่ ก็เชื่อขนมกินได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองแน่นอน
ในอดีตไม่ว่าจะเป็น คุณอาหมัด ขามเทศทอง คุณทนง โพธิ์อ่าน คุณชูพงศ์ ถี่ถ้วน คุณสมศักดิ์ โกศัยสุข และใครต่อใครอีกหลายคน เป็นที่รู้จักกันดี
สหภาพรถไฟจะเป็นแกนหลักเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ยามศึกสงครามต้องใช้รถไฟในการขนส่งยุทโธปกรณ์ต่างๆ ต่อมาก็เป็นการไฟฟ้า การประปา รถเมล์ บขส. รสพ.ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการคมนาคมของประเทศนัดหยุดงานทีก็ปั่นป่วนวุ่นวายไปทั้งประเทศ
ต่อมาสมัยที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ ได้สั่งให้ดำเนินการสลายกำลังของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ไม่ให้มีอำนาจในการเคลื่อนไหวที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทั้งของรัฐบาลเองและทั้งของประเทศ แก้ไขทั้งกฎหมายและตัวบุคคลมีแกนนำรัฐวิสาหกิจหลายคนที่หายสาบสูญ บางคนก็แปรพักตร์ทำงานให้กับรัฐบาลและกองทัพ ในลักษณะของผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าอุดมการณ์
นับตั้งแต่นั้นมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจก็ค่อยๆหมดบทบาท
แม้สถานภาพของสหภาพรัฐวิสาหกิจยังคงอยู่ แต่ก็เป็นการต่อสู้เรียกร้องในองค์กร หรือบางครั้งก็อาจจะเพื่อสหภาพเองด้วยซ้ำไป ต่อรองได้แค่ผู้บริหารในองค์กร เป็นเรื่องของผลประโยชน์ไปฉิบ
การกลับมามีบทบาทของ สหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทย เที่ยวนี้ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวโยงกับการเมือง อีกส่วนหนึ่งเป็นผลพลอยได้ในการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในการรถไฟ
เชื่อว่าจะมีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในการรถไฟ หรือถึงขั้นจะปฏิรูปการรถไฟ หรือจะทำตามข้อเสนอของสหภาพแรงงาน ปัญหาก็ไม่มีทางยุติ
เพราะนี่คือการเมืองย้อนยุค
คนที่คิดมุกนี้ขึ้นมาได้ก็ต้องเป็นคนย้อนยุค สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองทีละน้อย สบโอกาสเปิดช่องเมื่อไหร่ วงจรอุบาทว์ได้ทีตีปีก เข้ามาฮุบอำนาจสมดังตั้งใจ.