ที่มา Thai E-News
วิธีการของคานธีนั้นเขาใช้กับอังกฤษซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่เป็นผู้ยึดกฎเกณฑ์ตามกฎหมายและเป็นผู้ดี ย่อมไม่ยอมเสียชื่อ ต่างกับอำมาตย์ไทยที่คงจะลงมือฆ่าอย่างเหี้ยมโหดได้เนื่องจากเห็นว่าประชาชนเป็นเพียงไพร่ ทาส หรือ ขี้ข้าเท่านั้น
แนวทางสันติวิธีที่ใช้การกดดันทางการเมืองด้วยมือเปล่า สงบ สันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธที่ทางฝ่ายความจริงวันนี้ได้นำเสนอ และเป็นกระบวนการเสริมสร้างประชาธิปไตยสำหรับชาวเสื้อแดง ทำให้ได้รับแนวร่วม และมวลชนเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งในขณะนี้
แนวทางสันติวิธีนี้ชวนให้นึกถึงแนวทางการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและ อิสรภาพของชาวอินเดียในยุคอาณานิคมของอังกฤษจนได้รับเอกราชในที่สุดเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตามแนวทางสันติอหิงสาของคานธี ที่เป็นผู้นำมาใช้นั้นอยู่ในสภาพที่แตกต่างจากกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวเสื้อแดงอย่างที่ไม่อาจนำมาเทียบกันได้ ดังจะกล่าวต่อไปดังนี้
ประการแรก เจ้าอาณานิคมคืออังกฤษและฝรั่งเศสในขณะนั้นจะอย่างไรเสียก็เป็นประเทศอุตสาหกรรม และระบอบประชาธิปไตยจะทำงานได้ดีในประเทศอุตสาหกรรม ที่ยึดกฎเกณฑ์ต่างๆ
คานธีเป็นนักกฎหมายจบจากอังกฤษ และมีความสามารถอย่างมากในด้านกฎหมาย คานธีไม่ได้ต่อสู้บนความว่างเปล่า หากแต่ต่อสู้บนเงื่อนไขทางการเมือง และสังคมของเจ้าอาณานิคมคืออังกฤษ ด้วยการต่อสู้ทางกฎหมายก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งด้วย
การยอมตัวที่จะโดนจับ โดนขังคุก โดยไม่ต่อสู้ที่เรียกว่าอหิงสานั้น จึงสามารถกระทำได้เพราะมีสื่อมวลชนของอังกฤษคอยติดตามพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลา
ประการที่สอง การต่อสู้ของคานธีไม่ได้มีผลได้เสีย ถึงขนาดที่จะไม่มีที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยเหมือนการต่อสู้ของเสื้อแดงในปัจจุบัน ซึ่งอาจมีผลออกมาถึงขนาดฝ่ายที่พ่ายแพ้ต้องออกไปใช้ชีวิตบั้นปลายในต่างประเทศ และไม่แน่ว่าอาจต้องมีคดีติดตัวไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้ายสากล หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ประการที่สาม การต่อสู้ของคานธี ได้ผลประโยชน์ทางอ้อมจากสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษเจ้าอาณานิคมอ่อนแอลง เช่นเดียวกับเจ้าอาณานิคมอื่นๆ อังกฤษไม่มีกำลังเพียงพอที่จะดูแลอินเดียอยู่แล้ว ไม่พอแม้แต่จะดูแลฟื้นฟูเกาะบริเตนใหญ่ด้วยซ้ำ ต้องอาศัยการช่วยเหลือจากสหรัฐเป็นจำนวนมาก และสหรัฐเองก็มีนโยบายปลดปล่อยประเทศต่างๆให้เป็นเอกราช รวมถึงการช่วยประเทศไทยจากการเข้าครอบครองของอังกฤษในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สองด้วย
จากเหตุผลหลักๆทั้งสามประการนี้ ก็น่าจะพอทำให้เห็นว่าลำพังการต่อสู้แบบสันติ อหิงสานั้นไม่อาจจะได้ชัยชนะแต่สถานเดียวเสมอไป
ในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในสหรัฐฯด้วยแนวทางสันติ อหิงสาใช้การ อดอาหารประท้วงของผู้นำสตรี จนประสบความสำเร็จก็เกิดจากสามีของผู้นำที่เป็นนักการเมือง ได้เข้ามาช่วยเหลือ ร่วมกับสื่อมวลชน และประการสำคัญสหรัฐฯเกิดความจำเป็นต้องใช้แรงงานสตรีเนื่องจากต้องเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง และท่านที่พอทราบประวัติการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีนี้ แม้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้วก็ยังมีการกลั่นแกล้ง การบังคับให้รับประทานอาหารด้วยวิธีการทรมานต่างๆ จนได้รับการเปิดโปงจากสื่อมวลชนสิ่งต่างๆเหล่านี้จึงพอทุเลา และการลงคะแนนเสียงให้สตรีมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น ก็ได้เสียงสุดท้ายมาด้วย มารดาของสมาชิกรัฐสภาท่านสุดท้ายยื่นคำขาดกับลูกชาย เป็นต้น
ที่ได้ยกตัวอย่างมานี้ไม่ได้หมายความว่าจะต่อต้านการแสดงพลังและเรียกร้องด้วยแนวทางสันติ อหิงสา ตรงกันข้ามให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี เพียงแต่จะขอชี้ช่องมาให้ทราบว่าเงื่อนไขของต่างประเทศและในประเทศไทยมีความแตกต่างกันอย่างไร ทุกคนไม่ควรประมาท
ความแตกต่างระหว่างไทยกับประเทศที่กล่าวมาแล้วคือ
ฝ่ายเผด็จการที่ปกครองประเทศไทยอยู่ไม่รู้จักคำว่ากฎหมาย หรือวิธีปฏิบัติใดๆเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และมีทุนอุตสาหกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนในประเทศมาก่อนแล้ว คำว่ากฎหมาย หรือการทำงานตามคู่มือจึงจะเกิดขึ้น
ต่างจากประเทศไทยที่การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายเผด็จการเท่านั้น สิ่งที่เรียกว่าหลักนิติธรรม (rule of law) จึงไม่ใช่สิ่งที่ฝ่ายเผด็จการจะรู้จัก คงรู้จักแต่คำว่าให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่ฝ่ายตนออกมาเพื่อควบคุม (rule by law) เท่านั้น
ดังนั้นผู้ที่ทำตามใจของผู้ปกครองจะได้รับการคุ้มครอง ใครที่เป็นฝ่ายตรงข้ามก็จะได้รับภัยจากกฎหมายที่ฝ่ายปกครองสรรสร้างขึ้น เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 50 เป็นต้น
จากคำพูดของฝ่ายเผด็จการบางแห่งจะพบว่า ใครที่ยอมตามหรือทำตามฝ่ายเผด็จการจะได้ชื่อว่าเป็นคนดี เป็นคนเสียสละเพื่อชาติและราชบัลลังก์
ส่วนใครที่ไม่ยอม ไม่ลงให้กับเส้นสายของฝ่ายอำมาตย์ก็จะกลายเป็นพวกผิดกฎหมาย เป็นพวกทรยศชาติไปเสียเลย ทำให้นึกถึงกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชพระองค์หนึ่งที่โด่งดังมากคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งมีข่าวลือที่มาพบภายหลังว่าไม่น่าจะเป็นความจริงคือ คำพูดที่ว่า ข้าพเจ้าคือรัฐ (I am the state)
หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความคิด และตัดสินใจของกษัตริย์พระองค์เดียว ซึ่งในระบอบอุตสาหกรรมและประชาธิปไตยก็เป็นที่ยอมรับว่า การปล่อยให้กษัตริย์ หรือ ผู้นำเผด็จการใดๆ ตัดสินใจทำอะไรลำพังเพียงคนเดียวนั้น จะไม่เข้ากับเปลี่ยนแปลงของสินค้าและการต่อต่อสื่อสารในยุคปัจจุบันได้เลย การปฏิวัติฝรั่งเศสจึงกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ด้วยประการฉะนี้
คำพูดที่มีนัยว่าใครตามข้าพเจ้าเป็นคนดี ใครไม่ตามรอยข้าพเจ้าเป็นผู้ทรยศชาตินั้น เป็นการสื่อให้เห็นชัดๆว่า ฝ่ายอำมาตย์นั้นไม่ได้คิดแบบสามัญชน
แสดงความคิดลึกๆว่า มีความยึดโยงกับความคิดแบบรวมศูนย์ ประชาชนอาจเป็นเพียงเบี้ยตัวหนึ่งเท่านั้น การโฆษณาชวนเชื่อ หลอกลวง จึงเกิดตลอดเวลา
เมื่อเป็นเช่นนี้ การหวังว่าการกระทำใดๆ ตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้วจะได้รับการเห็นใจหรืออย่างน้อยยอมถอยตามแบบในอังกฤษหรือยอมการปฏิวัติแบบในฝรั่งเศสนั้นคงเป็นไปไม่ได้ (อังกฤษกำลังของฝ่ายขุนนางกดดันให้กษัตริย์ยอมรับสิทธิพลเมืองในศตวรรษที่ 13 ฝรั่งเศสคือการลุกฮือใหญ่ของประชาชนจำนวน หกหมื่นคนไปปล้นปืนและดินปืนจากคุกบาสตีล์ในศตวรรษที่ 18 และรัสเซียคือการลุกฮือของประชาชนเป็นแสนๆคนในการยึดเมืองหลวงและจับพระเจ้าซาร์)
การมองว่าพรรคการเมืองและประชาชนเป็นศัตรู ก็เท่ากับว่ามีความคิดถอยหลังไปไกลกว่ายุคสมัยที่ได้มีการนิยามคำว่าชาติในศตวรรษที่ 17 เพราะชาติตามนิยามของสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (ค.ศ.1648)นั้น คืออาณาเขต(ดินแดน) อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน รัฐบาลและประชาชน ดังนั้น ถ้ามองอย่างกว้างๆแล้ว ประชาชนต่างหากคือชาติไม่ใช่ผู้อื่น
เพราะรัฐบาลแม้ว่าถ้าหากเป็นระบอบราชาธิปไตย ใครไม่อยู่ข้างรัฐบาลที่เป็นฝ่ายกษัตริย์อาจเป็นผู้ทรยศชาติได้ แต่ทว่าประชาชนก็เป็นองค์ประกอบที่มีน้ำหนักเท่าเทียมกัน และหากได้มีการดัดจริตบอกว่าประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเสียแล้ว( ที่จริงประเทศไทยได้สูญเสียความเป็นประชาธิปไตยไปตั้งแต่ การที่มีบางพรรคการเมือง ร่วมกับฝ่ายอนุรักษ์ ขับไล่นายปรีดีฯออกนอกประเทศด้วยการใส่ร้ายป้ายสีว่า “ฆ่าในหลวง (รัชกาลที่ ๘)” และการนำการยึดอำนาจมาใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๙๐)รัฐบาลก็ต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกของประชาชน รัฐบาลและประชาชนก็ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความเป็นชาติ
และหากยิ่งคิดว่า การปกครองของประเทศไทยปกครองโดยหัวหน้าเหล่าอำมาตย์แล้ว หัวหน้าเหล่าอำมาตย์นี้ก็ต้องแสดงตัวออกมาว่าเป็นผู้ปกครองในนามของรัฐบาล ไม่ใช่อีแอบที่ชักใยรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆต่อประชาชน
แต่การที่ท่านได้หลุดปากออกมาเช่นนั้นแสดงว่า ท่านนึกอยู่เสมอว่าท่านคือผู้ปกครองประเทศ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของคำว่าชาติเทียบเท่ากับประชาชน
ดังนั้น การคิดว่าประชาชนเป็นเพียง ไพร่ ทาส จะฆ่าเสียเหมือนผักปลาก็ไม่แปลกเพราะแนวคิดแบบศักดินา อำมาตย์แบบล้าหลังนี้ ย่อมไม่เห็นชีวิตของไพร่ ทาส มีความสำคัญแต่ประการใด ตรงกันข้ามเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ต่างๆที่ตนเองครอบครองอยู่ต่างหาก
จากเหตุผลข้างต้น จึงเชื่อว่าแม้ประชาชนจะเดินหน้าอย่างสงบ อหิงสาอย่างไรก็ตาม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็อาจเกิดขึ้นได้สมควรที่จะต้องคิดการไว้ล่วงหน้า อย่าหวังพึ่งเหล่าอำมาตย์ บริวารและไพร่ ทาสอื่นๆที่ไปสยบต่ออำมาตย์นั้นอย่างเด็ดขาด
กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ วิธีการของคานธีนั้นเขาใช้กับอังกฤษซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่เป็นผู้ยึดกฎเกณฑ์ตามกฎหมายและเป็นผู้ดี ย่อมไม่ยอมเสียชื่อ ต่างกับอำมาตย์ไทยที่คงจะลงมือฆ่าอย่างเหี้ยมโหดได้เนื่องจากเห็นว่าประชาชนเป็นเพียงไพร่ ทาส หรือ ขี้ข้าเท่านั้น ไม่มีความหมายใดๆ เหมือนกับชาวโรมัน หรืออินคาฆ่าสังเวยชีวิตทาสฉันใด ก็ฉันนั้น
ดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมจึงเป็นเรื่องจำเป็น การรู้ถึงนิสัยใจคอและการกระทำที่ผ่านๆมาของฝ่ายอำมาตย์ และหลายชีวิตที่ต้องพลีไปจะรู้ตัวว่าใครทำหรือไม่ก็ตาม น่าจะเป็นบทเรียนสอนใจให้ชาวเสื้อแดงเตรียมพร้อมได้อย่างดี ขอเพียงแต่คิดว่าเขาฆ่าแน่ เขาไม่ยั้งมือ และมีเมตตาแน่การไม่ประมาทก็จะเกิดขึ้น หวังว่าการดำเนินการต่างๆของชาวเสื้อแดงจะพึงระลึกถึงสิ่งเหล่านี้ไว้จงหนัก
และหวังว่าองค์พระสยามเทวาธิราชจะทรงลงโทษผู้ที่ทรยศต่อชาติและทำร้ายประเทศไทยเหล่านี้ให้สาสม
************