ที่มา ประชาไท
ต้องการดูให้ครบคลิ้กที่นี่
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
1. โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G คืออะไร
โทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ 3 หรือ 3G เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีขีดความสามารถสูงกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ 2 ที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบัน เนื่องจากสามารถใช้ในการสื่อสารข้อมูลด้วยความเร็วสูง เช่น สามารถดาวน์โหลดข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว สามารถส่งคลิปวิดีโอผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และใช้เป็นโทรศัพท์แบบมองเห็นหน้ากันได้ เป็นต้น
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ประกาศว่า จะรีบดำเนินการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่น 3G จำนวน 4 ใบ ให้เสร็จโดยเร็วภายในปีนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถให้บริการได้ภายในต้นปีหน้า บทความนี้จะตอบคำถามว่า ทำไมการประมูลใบอนุญาตคลื่น 3G จึงต้องเร่งรีบเช่นนี้? ผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีมากน้อยเพียงใด และใครจะได้ประโยชน์?
2. มูลค่าคลื่นความถี่ 3G
มูลค่าคลื่นความถี่ 3G จะสูงเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการจะสามารถนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้มากเพียงใด โดยทั่วไป ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการเป็นเจ้าของคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ก็คือการนำคลื่นดังกล่าวไปให้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงดังที่กล่าวมาข้างต้น ในทางปฏิบัติ เราสามารถตีมูลค่าคลื่นความถี่ 3G ได้จากผลการประมูลคลื่นความถี่ 3G ที่ผ่านมา ในบางประเทศ การประมูลคลื่นทำรายได้ให้แก่รัฐบาลมหาศาล เช่น สูงถึง 1.6 ล้านล้านบาทในกรณีของอังกฤษ และ 1.9 ล้านล้านบาทในกรณีของเยอรมนี แม้การประมูลในประเทศอื่นในช่วงหลังจากนั้น จะทำรายได้ไม่สูงเท่ากับทั้งสองประเทศนี้ก็ตาม โดยทั่วไปก็ถือว่า คลื่นความถี่ 3G เป็นสมบัติที่มีมูลค่ามหาศาล
อย่างไรก็ตาม มูลค่าของคลื่น 3G ในประเทศไทยนั้นแตกต่างออกไปจากต่างประเทศมาก ในการจะตีมูลค่าของคลื่น 3G ในประเทศไทยได้ เราต้องเข้าใจระบบสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ก่อน
ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยรายใหญ่ทั้งสามรายคือ เอไอเอส ดีแทคและทรูมูฟ ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้สัมปทานที่มีอยู่กับรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งคือ ทีโอที (กรณีเอไอเอส) และ กสท. โทรคมนาคม (กรณีดีแทคและทรูมูฟ) โดยมีเงื่อนไขของสัญญาที่สำคัญก็คือ ผู้ประกอบการเหล่านี้จะต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้แก่รัฐวิสาหกิจที่ให้สัมปทาน ประมาณร้อยละ 25 ไปจนกว่าสัญญาจะหมดอายุในอีก 5-8 ปีข้างหน้า (ดูภาพที่ 1) หลังจากนั้น เมื่อสัมปทานหมดอายุ รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งก็จะได้สิทธิในการประกอบการแทนเอกชนต่อไป
ภาพที่ 1 ระบบสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน
3. คลื่นโทรศัพท์ 3G: ขุมทรัพย์แสนล้านของใคร?
จากที่กล่าวมา จะเห็นว่า ประโยชน์ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ต่อผู้ให้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย 3 รายใหญ่ในปัจจุบันมี 3 ส่วนดังนี้
1. ประโยชน์จากการนำไปให้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงเช่นเดียวกับกรณีของต่างประเทศ
2. ประโยชน์จากการโอนย้ายลูกค้าจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตใหม่ที่ออกโดย กทช. ซึ่งจะทำให้ ผู้ประกอบการสามารถลดเงินที่ต้องจ่ายให้รัฐจากปัจจุบันประมาณร้อยละ 25 ของรายได้ เหลือเพียงร้อยละ 6.5 ของรายได้ หรือลดลงประมาณร้อยละ 18.5 (ดูภาพที่ 2)
3. ประโยชน์จากการได้สิทธิในการประกอบการต่อไปหลังสัมปทานหมดอายุ โดยจะสามารถประกอบการต่อไปได้ตามอายุใบอนุญาตใหม่ 15 ปี หรือสามารถประกอบการต่อไปได้อีก 8-10 ปีหลังสัมปทานหมดอายุ
ภาพที่ 2 ประโยชน์จากการโอนย้ายลูกค้าจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต
ตารางต่อไปนี้ สรุปมูลค่าของประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ประกอบการจะได้จากการได้รับจัดสรรคลื่น 3G จาก กทช.
ประโยชน์ที่จะได้รับ | มูลค่าที่ประมาณการ | วิธีการประมาณการ |
1. กำไรจากการให้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง | เทียบเคียงจากมูลค่าการประมูลเฉลี่ยในต่างประเทศ ปรับด้วยขนาดเศรษฐกิจไทย | |
2. การลดเงินที่ต้องจ่ายให้รัฐ ในช่วง 5-8 ปีข้างหน้า จากการโอนย้ายลูกค้า | AIS จะได้ 7.2 หมื่นล้านบาท DTAC จะได้ 6.1 หมื่นล้านบาท True Move จะได้ 1.9 หมื่นล้านบาท | ประมาณการโดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ อาจแตกต่างไปบ้างแล้วแต่สมมติฐานว่า การโอนย้ายลูกค้าเกิดขึ้นเร็วเพียงใด |
3. การได้สิทธิให้บริการหลังสัมปทานหมดอายุไปอีก 8-10 ปี | ไม่น้อยไปกว่าส่วนที่สอง | ประมาณการโดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ |
จากตารางจะเห็นว่า ประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ประกอบการรายเดิมทั้งสาม จะได้จากการได้รับจัดสรรคลื่น 3G ครั้งนี้ อยู่ในระดับประมาณ 3.3 แสนล้านบาท แม้จะใช้สมมติฐานในการประมาณการที่แตกต่างออกไปอย่างไร ก็ไม่น่าจะน้อยกว่า 2 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน
น่าตกใจที่ว่า ใบอนุญาตใช้คลื่น 3G แต่ละใบที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทนี้ กำลังจะถูก กทช. ตั้งตัวเลขเริ่มต้นประมูลเพียงไม่กี่พันล้านบาทเท่านั้นตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนที่อ้างแหล่งข่าวจาก กทช. คำถามที่ กทช. ต้องตอบแก่เราทุกคนก็คือ กทช. มีสิทธิอะไรที่จะเอาทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลของเราทุกคน ไปประมูลขายถูกๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ?