WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, October 24, 2009

รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ควรเป็นอย่างไร ตอน 6 (จบ) : ประชามติ - กฎหมายกร่อนหมดแล้ว

ที่มา Thai E-News


โดย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ที่มา เวบไซต์ thaipost
24 ตุลาคม 2552

รัฐธรรมนุญที่เป็นประชาธิปไตย ควรเป็นอย่างไร

ตอน 1 : ล้างคราบเผด็จการ
ตอน 2 : หมวดพระมหากษัตริย์
ตอน 3 : โครงสร้างระบบ
ตอน 4 : ระบบเลือกตั้ง
ตอน 5 : สนธิสัญญา-ยุบพรรค

ตอน 6(จบ) : ประชามติ-กฎหมายกร่อนหมดแล้ว

"ถามว่าเรื่องไหนควรจะต้องแก้ ความจริงมีประเด็นในทางเทคนิคอีกหลายเรื่อง ซึ่งอธิบายความไป ก็จะเห็นถึงความไม่รับกันในทางระบบของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น การโฆษณาว่า ประชาชนมีรัฐธรรมนูญ ประกันสิทธิเสรีภาพที่ดี เพราะประชาชนสามารถจะไปฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ในมาตรา 212 ก็เป็นการเขียนที่ผิดพลาดในทางระบบ จริงๆ ทำไม่ได้หรอก เพราะโดยกลไกรัฐธรรมนูญเขียนมา ก็ไม่มีที่ใช้ วันนี้คุณไปฟ้องสิ ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำฟ้อง บอกไม่เข้าเงื่อนไข คุณเขียนล็อกเอาไว้เอง"

"หรือกระบวนการตรวจสอบความชอบรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ที่คุณมีทั้งระบบตรวจสอบก่อนและหลังประกาศใช้กฎหมาย มันก็ซ้ำซ้อนกัน มีประเด็นปัญหาที่ถามกัน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งบังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องตรวจสอบทุกฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญตรวจแล้ว บอกไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ครั้นเอามาใช้แล้ว มีคนเห็นว่าขัด ถามว่า จะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้อีกไหม เป็นฟ้องซ้ำหรือเปล่า นี่ก็ยุ่งอีก"

"พวกนี้เป็นปัญหาในทางเทคนิคที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 2550 แน่นอนรัฐธรรมนูญ 2540 ที่วิพากษ์วิจารณ์กัน ก็มีบางเรื่องที่แก้ เช่น ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องวิธีพิจารณา ผมเคยวิจารณ์มานานแล้วว่า ให้ศาลทำเองไม่ได้ อันนี้เขาก็เขียนให้สภาเป็นคนทำ ก็ถูกต้องตามหลัก แต่มันมีเรื่องอื่นๆ ที่ทำเข้ามาใหม่ อาจจะด้วยความหวังดีของคนทำรัฐธรรมนูญ แต่พอทำเข้ามาแล้ว โดยเหตุที่ไม่ได้ศึกษากันอย่างรอบคอบ ก็เกิดเป็นปัญหาทางเทคนิคตามมา มันก็ทำให้กฎหมายตอนนี้วุ่นวาย สอนกฎหมายก็สอนยาก มันต้องสอนในแง่ของการชี้ให้เห็นหลัก และก็ดูว่า รัฐธรรมนูญของเราเป็นอย่างไร มากกว่าที่จะสอนรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นคุณค่าเป็นพื้นฐาน ที่ทุกคนยอมรับนับถือ"

** ที่น่าคิดคือปัญหาทางเทคนิคเหล่านี้ เวลาเอาไปทำประชามติ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วย

"ประชามติคราวที่แล้ว นับว่าเป็นประชามติอย่างไร นี่ไม่ใช่เพราะผมแพ้นะ ผมเห็นแล้วโดยบรรยากาศ มันไม่ชนะ มันแพ้แหงๆ อยู่แล้ว แต่อย่างน้อย ก็ได้พยายามชี้ให้เห็นว่าเป็นอย่างไร คนที่บอกว่า รับๆ ไปก่อนแล้วค่อยแก้ วันนี้เป็นอย่างไรกันบ้างล่ะ แต่ละคน"

** ตอนนี้ก็เถียงกันว่า จะทำประชามติหรือจะแก้โดยสภ

"ภายใต้บรรยากาศแบบนี้ มันไม่แก้ปัญหาอะไรเลย มันก็เป็นการเล่นการเมืองกันไป มันเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ในระดับพื้นฐานของเรา มันไม่แก้ปัญหาอะไร ผมถึงบอกว่า ผมขี้เกียจให้สัมภาษณ์เรื่องนี้"

** คือจะแก้ 6 ประเด็น จะทำประชามติหรือไม่ ก็ไม่ได้ช่วย

"ไม่ได้ช่วยอะไรอย่างที่ควรจะช่วย ก็จะเสียเงิน ก็ทำไปเหอะ ผมไม่คิดว่า มันจะช่วยอะไร

คือประชามติ ไม่ใช่ทำเป็นเรื่องเล่นๆ มันเป็นเรื่องซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดแล้วของปวงชน เวลาทำ มันไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือทำกันเล่นๆ แต่ให้มีความศักดิ์สิทธิ์ ให้มีหลักมีฐาน ให้เขามีทางเลือก ให้เขาได้ตัดสินใจ ทำแล้วก็จะได้ยอมรับกติกานั้น แต่มันจะต้องผ่านเรื่องหลักการมาก่อน อาจจะเถียงกันในเรื่องความเห็นที่แตกต่าง แต่หลักเหมือนกัน

เช่น เคารพหลักประชาธิปไตยเหมือนกัน ระบบเลือกตั้งอาจจะเหลื่อมกันนิดหน่อยว่า จะเอาแบบไหน อันนี้อาจจะต่างกันได้ แต่วันนี้ ผมไม่คิดว่า เราผ่านในลักษณะแบบนั้น เพราะความคิดพื้นฐานไม่ตรงกัน"

"วันนี้นักการเมืองของเรา ถูกทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับด้วย แน่นอน นักการเมืองก็มีส่วน ผมไม่ได้ปฏิเสธบทบาทตัวนักการเมือง แต่ปัญหาที่ผมเห็นและคิดว่ามันยุ่งยาก คือนักการเมืองด้วยกันเอง ไม่ทำให้ตัวสถาบันนักการเมืองดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน คุณต้องคิดพ้นไปจากพรรคของตัว แต่คิดถึงตัวคุณค่าที่เป็นพื้นฐานในทางประชาธิปไตย พอไปถึงตรงนั้นแล้ว คุณต้องทิ้งเรื่องของพรรค คุณต้องมายืนอยู่ในจุดนั้น ตรงจุดเดียวกันทุกพรรค ถ้ามีอะไรที่มันเป็นนอกระบบมา คุณต้องปฏิเสธ และคุณก็สู้กันในเชิงระบบ แต่ไม่ใช่คุณฉวยเอาตรงนั้นมา และใช้ในทางการเมืองเป็นประโยชน์ของตัวเอง"

** มองอีกอย่าง การให้ทำประชามติก็ไม่แฟร์ เพราะตอนแรกที่ตั้งกรรมการสมานฉันท์ ก็จะให้ร่างเพื่อแก้ไขในสภาไม่กี่ประเด็น

"เรื่องประชามติ ถ้าพูดกันในทางตัวรัฐธรรมนูญเองก็เป็นปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยกลไกของมัน ซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้วนะ ถ้าจะเอาอันนี้กลับไปยัน เขากำหนดกระบวนการแก้ไขไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ตอนทำประชามติ คุณก็เขียนเอาไว้ว่า จะแก้ไขได้ด้วยวิธีการอะไร แล้วทำไมเวลาจะแก้ไข คุณไม่ทำตามวิธีการที่เขียนเอาไว้ ซึ่งผ่านประชามติแล้วล่ะ

ถ้าพูดแบบนี้ก็พูดได้เหมือนกัน เพียงแต่ประชามติครั้งที่แล้ว ในทางคุณค่าไม่ได้สูงส่งอะไรมากมาย ผมถึงไม่ค่อยอยากเอาเหตุผลนี้มาแย้ง"

"มิหนำซ้ำ ตอนที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ร่างรัฐธรรมนูญยังบอกอีกว่า รับไปก่อน หลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญ คมช. แล้วพอรับไปแล้ว ก็ใช้ไป และก็แก้ และก็กำหนดกระบวนการแก้เอาไว้ พอครั้นเขาจะแก้ตามกระบวนการที่คุณกำหนดเอาไว้ คุณบอกห้ามแก้ ถ้าแก้ต้องลงประชามติ มันก็กลับไปกลับมา หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้เลยบ้านเมือง"

** ถ้าจะลงประชามติ ก็ควรร่างใหม่ทั้งฉบับใช่ไหม

"ถ้าลงประชามติ ก็ทำมาทั้งฉบับเลย และมาเทียบกับ 2550 ให้เขาเลือก คุณจะเอาอันนี้หรือเอาที่ยกร่างขึ้นมาใหม่"

** บางคนบอกให้เทียบ 2540

"ก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่า 2540 ก็ควรจะปรับ ฉะนั้นก็ทำกันอีกฉบับเลย และวัดกันเลยคุณจะเอาฉบับไหน"

"แต่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ มันกลายเป็นปัญหาที่ชิงไหวชิงพริบในทางการเมืองกันไปแล้ว แม้แต่ตอนที่พลังประชาชนชนะการเลือกตั้งมาตอนแรกๆ การผลักประเด็นพวกนี้ ก็ไม่ได้ทำกันจริงจัง คือเขาพยายามทำแล้วก็มีแรงต้าน เลยไม่ทำต่อ

แต่คราวนี้ ผมจะบอกว่า ถ้ายังยืนอยู่อย่างนี้ สังคมไทยก็จะมาถึงจุดซึ่งหลีกเลี่ยงการปะทะกันลำบาก มันจะชนกันโดยรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จะต้องชน ผมเคยพูดเอาไว้ตอนที่มีการดีเบตรัฐธรรมนูญ ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 จะนำพาประเทศไปสู่ทางตัน ถ้ารับ เพราะมันจะเป็นปัญหา

คือตัวกติกาแบบนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับ และที่สุดมันจะต้องแก้ และมันก็จะมีคนที่ไม่อยากให้แก้ พอรับมาแล้วจะเป็นแบบนี้ ซึ่งตอนนี้มันเป็นอย่างนั้นแล้ว คุณจะกลับได้สติกันไหมล่ะ ซึ่งผมเห็นว่ายังไม่ได้นะ"

** 6 ประเด็นก็ไม่มีประโยชน์ และจะเป็นชนวนรบกัน

"ถูกต้อง ผลที่จะได้ไม่ได้อะไร แต่มันจะทำให้คนรบกัน"

"ตอนนี้ก็มีคนบอกว่า นักการเมืองทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง และจะไปล่ารายชื่อแก้รัฐธรรมนูญประโยชน์ทับซ้อน ผมถามว่า ถ้าอย่างนั้นที่รัฐธรรมนูญเขาให้ ส.ส. สว.แก้รัฐธรรมนูญ คือจะทำไม่ได้เลยใช่ไหม

แปลว่ารัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้หรือ ตีความอย่างนั้นหรือ ส่วนได้เสียนี่ตีความกันเลอะไปหมด ไม่รู้เลยว่า หลักการนี้ เมื่อใช้กับฝ่ายนิติบัญญัติไม่เหมือนกับคนที่เป็นฝ่ายบริหารกับฝ่ายตุลาการ คุณไม่เข้าใจ เวลาที่ ส.ส.เขาออกกฎหมาย ถ้าบอกว่า เรื่องที่ตัวเองมีส่วนได้เสียแล้วออกไม่ได้ ส.ส.ก็เป็นประชาชนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

อย่างออกกฎหมายเรื่องภาษี ก็ได้เสีย แต่อันนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนได้เสีย เพราะนี่เป็นการออกกฎเกณฑ์ที่มีผลทั่วไป วิธีคิดมันอีกอย่างหนึ่ง ตอนนี้มันมั่วกันมาก หยิบเอาทุกเรื่องทุกราวมาเป็นประเด็นและต่อสู้ทางการเมืองได้หมด ไม่ต้องศึกษา ไม่ต้องหาความรู้กัน ใช้ความคิดความรู้สึกของตัวตลอด

ผมจึงขำมากที่บอกว่า แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะมีส่วนได้เสีย ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไม่ได้ใช่ไหมเนี่ย แล้ววันหนึ่ง สมมติคนที่เคลื่อนไหววันนี้ อยากจะแก้ มีมาตราหนึ่งในอนาคต แต่อีกข้างเขาบอกว่า อย่าแก้นะเพราะมีส่วนได้เสีย มันไม่เจ๊งหรือประเทศ ทำกันเป็นเรื่องเด็กเล่นเลยนะ"

** ในทางวิชาการ เรื่องทางเทคนิคบางเรื่อง ไม่ควรต้องทำประชามติถามประชาชนใช่ไหม สมมติเช่นการให้ตุลาการเกษียณอายุ 60 หรือ 70

"ใช่ มันเป็นเรื่องยาก ปกติเขาจะถามการตัดสินใจที่กระทบโดยตรง คือประชามติ อาจจะเป็นไปได้ว่า บางเรื่องกระทบกับเขาโดยตรง เป็นกรณีที่กระทบสิทธิของเขา เวลาที่เราพูดถึงสิทธิมีส่วนร่วมในการปกครอง มันก็กว้าง คือทุกเรื่องมันก็เป็นส่วนร่วมในการปกครองหมด ถามว่า เรื่องไหนทำประชามติได้ไม่ได้ มันก็แทบจะไม่มีข้อจำกัด เว้นแต่ว่าประชามติที่มันเกี่ยวกับเรื่องของตัวคน"

"ถ้าเป็นเรื่องเทคนิค สภาพของเรื่องมันทำประชามติไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญต้องเป็นคนบอก แต่ถามหลักการได้ เป็นการตัดสินใจในทางหลักการ เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ถามหลักการทั่วไปได้ เราต้องคิดว่า เวลาทำประชามติ ในประชามติที่เป็นสากลมันต้องมีการรณรงค์ 2 ฝ่าย แล้วประชาชนจะได้เรียนรู้จากการรณรงค์ว่าตัวเองเห็นไปในทิศทางไหน และตัดสินใจ เรื่องเล็กๆ น้อย เรื่องทางเทคนิค ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปถามประชาชน เพราะว่าความชอบธรรมทางการปกครอง สามารถผ่านตัวแทนได้ ผู้แทนเขาก็ทำได้ แต่ถามว่า มีการห้ามเอาไว้ไหม ไม่มี ก็เป็นเรื่องดุลยพินิจ"

"แต่อย่างที่บอกว่า ประชามติครั้งนี้ เป็นเรื่องทางการเมือง มันปฏิเสธไม่ได้ มันหมายถึงเรื่องระยะเวลาในการอยู่ในตำแหน่งของรัฐบาล หลายเรื่องพันกันอยู่

แต่คำถามคือ ถ้าเราพยายามเอาตัวเองออกมาจากความขัดแย้ง แล้วมองว่า ตกลงได้อะไร ถามว่า มันจะยุติความขัดแย้งไหม เพราะประเด็นที่ขัดแย้งกัน ไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้ ในสังคมไทยวันนี้ มันลึกไปกว่านั้น มันก็ได้แต่เคลื่อนเวลาความขัดแย้งเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่า จะรอวันที่ไปแตกหักกันเมื่อไหร่ ในเหตุปัจจัยอะไร แต่ว่ามันกำลังเดินไปสู่ทิศทางแบบนั้น ถ้ายังสัมผัสกับสภาพสังคมไทยอยู่บ้างทุกคนก็เห็น"

"ผมเคยเสนอ พอเลือกตั้งจบแล้ว ให้เริ่มกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเสีย จะได้สลัดคราบของ คมช.ไปให้หมด คราบของการรัฐประหารที่เกาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ออกไป แต่ในทางปฏิบัติก็ยาก เพราะอย่างที่บอก รัฐประหารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย มันมีแต่ทำให้ความร้าวฉานลึกลงไปอีกในสังคมไทย

เราใช้วิธีที่ผิดในเชิงการแก้ปัญหา แต่ตอนนี้ หลายคนก็ยังยืนยันว่า ที่ทำมามันถูก ถ้าถูกมันไม่เป็นแบบนี้หรอก เราคงไม่มายืนอยู่ในจุดที่ไม่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นในวันต่อไปอย่างนี้หรอก มันคงจบไปแล้ว นี่เพราะมันผิด"

** การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ คงเป็นไปไม่ได้ กฎหมายช่วยอะไรไม่ได้แล้วใช่ไหม

"ผมคิดว่าช่วยไม่ได้ มันเลยไปแล้ว อาจจะมีความรู้สึกว่า เป็นนักกฎหมายทำไมพูดอย่างนี้ แต่เราสร้างปมขึ้นมา ขมวดกันจนยุ่งเหยิงขนาดนี้ ผมเห็นว่า เลยมาแล้ว ผมก็นั่งดูแล้วครับตอนนี้ ผมไม่คิดว่า จะเปลี่ยนอะไรกันได้ หลังจากที่เห็นมาช่วง 2 ปี การวินิจฉัยขององค์กรต่างๆ"

** ต่อให้แก้รัฐธรรมนูญแบบไหนก็ช่วยไม่ได้

"มันก็จะไปไม่ได้ เพราะมันยังแตกกันอยู่แบบนี้ แปลว่าเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่า จะหักเลี้ยวออกไปทางไหนอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือในสภาพสังคมที่มันมีกำลังกันอยู่แบบนี้ ทั้ง 2 ทาง และภายใต้ความคิดพื้นฐานที่ต่างกันอย่างนี้ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้เสมอ"

** กฎหมายแก้ปัญหาประเทศไทยวันนี้ไม่ได้แล้ว?

"มันถูกใช้จนมันสึกกร่อนไปหมดแล้ว ตอนนี้ก็ดูไป เว้นแต่จะมีปาฏิหาริย์ว่า กลุ่มผลประโยชน์ยอมถอย กลับมาคิดว่า ทิศทางของแต่ละสถาบัน แต่ละองค์กรที่ควรจะอยู่ คิดกันได้เอง ก็เป็นไปได้ แต่ผมยังมองไม่เห็นทางเลย เพราะว่าประโยชน์มันเยอะ มันมหาศาล ไม่มีใครยอมใคร".