WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, October 24, 2009

รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ควรเป็นอย่างไร ตอน 5 : สนธิสัญญา-ยุบพรรค

ที่มา Thai E-News


โดย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ที่มา เวบไซต์ thaipost
24 ตุลาคม 2552

รัฐธรรมนุญที่เป็นประชาธิปไตย ควรเป็นอย่างไร
ตอน 1 : ล้างคราบเผด็จการ
ตอน 2 : หมวดพระมหากษัตริย์
ตอน 3 : โครงสร้างระบบ

ตอน 4 : ระบบเลือกตั้ง

ตอน 5 : สนธิสัญญา-ยุบพรรค

** มาตรา 190 เหมือนคณะกรรมการสมานฉันท์ก็ไม่ได้แตะอะไรเลย

"เขาขอให้มีการปรับเรื่องประเภทสัญญา ซึ่งก็โอเค คือ 190 ถ้าจะบัญญัติ คุณต้องทำให้ชัดว่า อะไรเป็นหลัก อะไรเป็นข้อยกเว้น ข้อยกเว้นมันไม่ควรกว้างเป็นทะเล คุณเอาให้ชัดว่า อำนาจในการทำสนธิสัญญาอยู่กับใคร ต้องเขียนจากหลักตรงนี้ก่อน มันอยู่ที่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ พอบอกแล้วว่าอยู่กับใครเป็นหลัก มันมีเรื่องอะไรบ้างที่เป็นเรื่องสำคัญ และต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าไม่เริ่มจากตรงนี้ ก็เขียนกันไปเรื่อย และก็กลายเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการตีความยุ่งยากกันไปอีก"

** บางคนแย้งว่า แค่ออกกฎหมายลูกก็พอ

"ไม่ใช่แต่เรื่องการออกกฎหมายลูกหรอกครับ แต่เป็นประเด็นว่า ตัวถ้อยคำ คือผมอาจจะเห็นต่างจากพวก FTA WATCH ว่า ถ้อยคำมีปัญหา ถ้อยคำแบบนี้ ทำให้ฝ่ายบริหาร ถ้าผมเป็นรัฐมนตรี ผมจะสับสนมากเลยว่า สัญญาแบบไหนที่ผมต้องเอาเข้าสภา สัญญาแบบไหนไม่ต้อง

คือเราต้องเห็นใจคนที่เขาทำงานด้วย คุณต้องเขียนให้ชัด ที่กำหนดในกฎหมายลูก มันเป็นการกำหนดกระบวนการขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ แต่ตัวประเภทของสัญญา มันเขียนในรัฐธรรมนูญ และถ้อยคำที่ใช้กว้างจะตาย แล้วก็ขึ้นอยู่กับจะตีความ

ผมทำไปแล้ว ก็ฝ่ายกฎหมาย กรมสนธิสัญญาเขาบอกว่า ไม่เข้า แต่ไปตีความว่า มันเข้า แล้วผมจะไปรู้ได้อย่างไรว่า มันเข้าหรือไม่เข้า มันก็เป็นความเห็นที่แตกต่างกันใช่ไหมครับ

ในแง่ของการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ถ้าอย่างนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ศาลอุทธรณ์กลับเพราะเห็นต่าง ข้อกฎหมาย มันต้องติดคุกหรือ มันกลับกันไม่ได้หรือ ลักษณะแบบเดียวกันเลย รัฐบาลเห็นแบบนี้ ผมเป็นรัฐมนตรี ผมเห็นแบบนี้ ผมเห็นโดยบริสุทธิ์ใจแบบนี้ คุณเห็นอย่างนั้น ผมก็เคารพของคุณ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะต้องเข้าคุก"

** อาจารย์เห็นว่าเป็นที่ตัวเนื้อรัฐธรรมนูญ

"สำหรับผม 190 คือตัวเนื้อรัฐธรรมนูญ ประเภทของสัญญา คุณจะเอาอะไร ผมเข้าใจพวกที่เคลื่อนไหว เขาก็กลัวว่า ถ้ารัฐบาลมีอำนาจเยอะ เดี๋ยวไปตกลงทำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาผูกมัดประเทศไทย กระทบตรงนั้นตรงนี้ แต่นี่เป็นปัญหาพื้นฐานเรื่องประชาธิปไตยอยู่เหมือนกัน ก็ผมหาเสียงเอาไว้ ผมมีนโยบายอันหนึ่ง มันตัดสินกันในระดับหนึ่งแล้วในตอนที่เลือกตั้ง และผมจะบังคับตามนโยบายผม บางเรื่อง แน่นอน มันมีคนได้คนเสีย คนที่เสียก็ถูกเยียวยาไปตามระบบของเขา แต่ว่าถ้าทำอย่างนี้ หลักมันเพี้ยนไป และมันถูกเอาไปตีความเล่นการเมืองกัน คนทำงานก็จะทำงานลำบาก ลองไปถามคนที่เขาอยู่กระทรวงการต่างประเทศสิ"

** กษิตยังกระดิกไม่ได้เลย

"ถามคุณกษิตก็ได้ คุณกษิตจะตอบได้ดีมากเลย พอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ จะรู้แล้วว่ามันอย่างไร ทำไมท่าทีคุณกษิตถึงเปลี่ยนไปล่ะ เพราะว่าได้มาทำงานเองแล้ว คนไม่ได้ทำงาน พูดอย่างไรก็พูดได้นี่ ว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ คือผมพยายามมองให้มันเหมือนกัน อย่าไปทาสีเขา เพราะวันหนึ่ง คุณอาจจะต้องเข้าไปทำงานเองก็ได้"

** พรรคประชาธิปัตย์ก็อยากแก้ 190

"พอเป็นรัฐบาลเขาเห็นว่ามีปัญหาอย่างไร แต่คนที่ไม่อยากให้แก้ คือคนที่เขาต่อสู้เคลื่อนไหวเรื่องนี้มา พวกเอ็นจีโอ พวก FTA WATCH เขาบอกต้องเอาเข้าสภา

อันที่จริงเอาเข้าสภาในยามที่ฝ่ายบริหารเขามีเสียงในสภา มันไม่มีปัญหาหรอก มันอาจจะทำให้ช้าไปหน่อย ถ้าเขาคุมเสียงในสภาได้ มันก็ผ่าน แต่โอเคมันอาจจะเป็นประเด็นสาธารณะขึ้นมา แต่มันผ่านการชั่งน้ำหนักตอนรัฐธรรมนูญมาแล้วว่า เรื่องแบบนี้เป็นอำนาจในทางบริหาร ซึ่งเขาก็มีความชอบธรรมในเชิงการปกครอง เพราะเขามาจากสภา แต่ว่าระดับความสำคัญไม่ถึงขั้นไปขอความเห็นชอบจากผู้แทนปวงชน ต้องดูประเภทของสัญญา และต้องเขียนให้ชัดพอสมควร"

** ถ้าเป็นเรื่องใหญ่อย่าง FTA ทุกคนคงไม่ขัดข้องว่า ต้องเอาเข้าสภา แต่ตอนนี้งงไปหมดว่า อะไรต้องเข้าสภาบ้าง

"ถูกต้อง ต้องทำให้มันชัดในระดับหนึ่ง ชัดเจน 100% เป็นไปไม่ได้ อาจจะต้องมีส่วนที่ต้องตีความบ้าง แต่ไม่ใช่แบบนี้ ที่เปิดตีความกว้างมาก ตามหลักวิชาเรื่องการใช้การตีความกฎหมาย มีความเห็นของนักนิติศาสตร์สำคัญๆ บางท่านมองว่า การที่กฎหมายหรือผู้ร่างกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญก็ตาม บัญญัติถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงเอาไว้ มันเท่ากับเปิดเป็นช่องว่างให้องค์กรที่ใช้กฎหมาย มีอำนาจตีความและตีความได้มากด้วย และเขาอุดช่องว่างเอง ซึ่งจะขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้คนที่ทำงานเป็นปัญหา

เพราะฉะนั้นในทางรัฐธรรมนูญ เรื่องสำคัญอย่างนี้จะต้องชัด และไม่ว่าอย่างไร การตีความต่างกัน ต้องไม่เป็นความผิดทางอาญา แต่ในบ้านเราเป็นอย่างนี้ เพราะมันขยายต่อเนื่อง ผมถึงบอกว่า เพื่อไม่ให้ลดทอนตรงนี้ และให้คนที่ทำงานเขามั่นใจในการทำงาน ต้องเอาให้ชัด"

** คนผิด หรือ รธน.ผิด มาตรา 237 วรเจตน์ยืนยันตลอดมาว่าไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว

"หลักของผมง่ายๆ คนที่ไม่ได้ทำความผิด ไม่ควรถูกลงโทษ คือเรื่องยุบพรรค ก็คงเข้าใจตรงกันแล้วมั้งว่าไม่แก้ปัญหาอะไร มันฝืนกับหลักสากล เพราะฉะนั้น ก็กลับสู่หลักปกติ ถ้าคุณกระทำความผิด คุณรู้เรื่องเกี่ยวกับการกระทำความผิด คุณต้องโดน คนที่ไม่เกี่ยวก็ไม่โดน ถ้าอย่างนั้นก็โอเค"

** กลไกนี้พิการไปแล้วด้วย เพราะทุกวันนี้เราก็เห็นเนวิน บรรหาร เล่นการเมืองอยู่

"ใช่ ก็เลยทำให้ระบบเพี้ยนไปหมด แต่ปัญหาสำคัญมันไปสร้างอำนาจมหาศาลให้กับศาลรัฐธรรมนูญ ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตัวกฎหมายแบบนี้ไม่ได้มองในทางกฎหมายเท่านั้น แต่มองในทางการเมือง

มันทำให้ให้ชะตากรรมของรัฐบาล แขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะถ้ามีการร้องเรียนแล้ว พรรคนั้นไปตั้งรัฐบาล ตัวกรรมการบริหารพรรคเป็นนายกฯ ถูกยุบพรรค ก็คือถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง ทำให้พรรคแตกกระจัดกระจาย

มันถึงเกิดการประท้วงอยู่ว่า คนที่ย้ายพรรคไม่เคารพเจตจำนงคนในพื้นที่ที่เลือกมา คือผลในทางการเมืองมีอยู่

ต่อไปเวลาที่คุณยุบพรรค ในระหว่างที่เลือกตั้งมาแล้ว และ ส.ส.แตกไป เขาบอกว่า ตอนเลือกเพราะคุณอยู่พรรคนี้ ถึงเลือกคุณ มันก็มีปัญหา และอย่าคิดว่าอันนี้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทยนะ

ส.ส.เปลี่ยนพรรคขณะอยู่ในสมัยสภา ในอังกฤษก็มี ส.ส.ออกจากพรรคไปเข้าอีกพรรค คนประท้วงนะ ในเขตเลือกตั้งว่า ตอนที่เขาเลือกเพราะคุณอยู่พรรคนี้"

"ตัวระบบอย่างนี้ มันอธิบายไม่ได้หลายอย่าง และมันทำลายพัฒนาการทางการเมือง มันทำให้กติกาในทางการเมืองที่จะสู้กัน ถูกแทรกโดยอำนาจอย่างอื่น ถ้ามีการกระทำความผิด ก็ว่ากันไปตามตัวคน แต่เอาให้จริงจัง เราไม่ค่อยลงโทษจริงจังตรงนี้"

** บางคนเขาอธิบายว่า การที่รัฐธรรมนูญไปกำหนดอะไรเยอะแยะ มันไม่ได้เป็นความผิดรัฐธรรมนูญ แต่เป็นที่ตัวคนเอาไปใช้

"ก็เป็นปัญหาเริ่มโทษกัน ผมเห็นคำพูดแบบนี้เยอะว่า อยู่ที่คนไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ และพูดเป็นสโลแกนไปแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้ผิดอะไร

ทำไมจะไม่ผิด กติกาที่ไปวางเอาไว้โดยไม่อยู่บนหลักการที่ถูกต้อง มันเป็นปัญหาอยู่แล้วในตัวของมัน

คือขึ้นชื่อว่าคน มีปัญหาหมดในทุกๆ หน่วย คนมีปัญหาทั้งนั้น ไม่ใช่แต่นักการเมือง ตอนนี้เวลาพูดว่า นักการเมือง ผมจะพูดในความหมายที่กว้าง เพราะทุกวันนี้ เราพูดถึงนักการเมืองในความหมายที่แคบ หลายคนพูดถึงนักการเมืองในระบบที่ผ่านการเลือกตั้ง

ผมอยากให้เราจินตนาการในมิติที่กว้างขึ้นไปหน่อย ก็คือนักการเมืองซึ่งไม่ได้เล่นการเมืองในเชิงระบบ คือคนที่วิ่งล็อบนี้ คนที่อยู่ในองค์กรอิสระพวกนั้น พวกนี้ คุณก็มีผลประโยชน์ของคุณ คุณมีอำนาจของคุณ แต่บอกว่า คุณไม่ใช่นักการเมือง คนพวกนี้ไม่ใช่นักการเมืองหรือ คนพวกนี้ก็ต้องนับเป็นนักการเมืองด้วย จึงจะพูดถึงเชิงผลประโยชน์ เชิงการเมืองได้ถูกต้อง ไม่ใช่ว่านักการเมืองมีแต่กลุ่มนี้ เพราะเขาอยู่ในเวทีที่เห็นภาพชัด สื่อก็คุ้ย แต่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นนักการเมืองในความหมายที่กว้าง คุณอาจจะนั่งเป็นผู้ทรงคุณธรรมอยู่ในที่ต่างๆ แต่คุณเล่นการเมืองตลอดเวลา ถ้าบอกว่าไม่มีการเมืองผมก็ไม่เชื่อ แล้วทำไม ผบ.ตร.ตั้งไม่ได้ นี่คือสภาพที่ปรากฏชัด"

"เมื่อเห็นตรงนี้ ทำไมเราไม่คิดจากฐานของตัวระบบ เพราะคนมีปัญหาหมด หลายคนที่พูดว่า รัฐธรรมนูญไม่มีปัญหา ก็เป็นคนร่าง ก็พูดอย่างนี้ ปํญหาคือกติกาที่คุณร่างมา มันไม่ได้รับการยอมรับในทางหลักพื้นฐานตั้งแต่ต้น คือแน่นอน ไม่มีหรอก กติกาที่ทุกคนจะรับกันเอกฉันท์ มันมีแต่หลักหรือคุณค่าพื้นฐานที่ตกลงกันและรับกัน อาจจะเห็นต่างกันบ้าง แต่ 2550 มีปัญหาตั้งแต่ตอนเริ่มต้น

คือคุณเริ่มต้นวางหมากเรื่องประชามติ ก็ผิดมาแล้ว อีกอย่างคือกลไกรัฐธรรมนูญ มันหยุมหยิมมาก รายละเอียดมาก มีคนบอกว่า นักการเมืองไม่เคยเจอพิษของรัฐธรรมนูญที่กำหนดเอาไว้แบบนี้ ก็เลยดิ้น

ผมบอกไม่ใช่ ถ้ากำหนดกติกาแบบนี้กับองค์กรอื่น ที่ไม่เป็นนักการเมือง มันก็ให้ผลแบบเดียวกัน กับราชการระดับสูง กับองค์กรอิสระ และก็ให้อีกฝ่ายเป็นคนตีความบ้าง ลองพลิกกลับข้างกัน มันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน มันจึงเป็นปัญหาที่กติกา คนเป็นปัญหาอยู่ทุกสมัย ถ้าใครบอกว่าเป็นปัญหาที่คน ผมไม่เถียง แต่ของเราไม่ใช่เฉพาะแค่คนเป็นปัญหา ตัวระบบตัวกติกาเป็นปัญหาด้วย มันเลยเป็นอย่างนี้"

** บางคนอ้างว่า ศาลฎีกาก็มีอยู่ก่อนแล้ว ศาลปกครองก็มีอยู่ก่อนแล้ว กฎหมายทรัพย์สินนักการเมืองก็มีอยู่ก่อนแล้ว

"มันต้องดูบริบทสภาพการเมือง และการต่อสู้กันทางการเมืองด้วย กฎหมายฉบับหนึ่งเขียนเหมือนกัน วางอยู่ต่างระบอบกัน มันจะไม่เหมือนกัน สภาพในทางการเมืองที่แตกต่างกัน มันส่งผลต่อการวินิจฉัย

แน่นอนการสร้างความคิดเรื่องตุลาการภิวัตน์ขึ้นมาในบ้านเมืองเรา และเข้าใจกันคลาดเคลื่อนไป ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา มันกัดเซาะตัวระบบไปทุกที คนจำนวนมาก ยังอาจจะไม่รู้สึกรู้สาอะไร แต่คนจำนวนหนึ่งเขาก็เห็น อย่างที่ผมเคยบอก เมื่อ 2-3 ปีก่อนว่า มันผิดทาง

วันนี้ประเด็นการสู้เรื่องบทบาทของศาล ในความเห็นผม ผู้พิพากษาส่วนใหญ่เขาโอเคนะ เพียงแต่ในเชิงบทบาทที่เขาจะมีต่อคดีสำคัญๆ อาจไม่มากเท่าไหร่ แต่ในเชิงระบบ มันเป็นปัญหา การสร้างความคิดแบบนี้ขึ้นมา มันชักพาให้ผิดไปจากแบบที่ควรจะเป็น และก็พยายามดิ้นอธิบาย

คนที่สนับสนุนเรื่องตุลาการภิวัตน์ พยายามเขียนบทความสร้างความชอบธรรม ว่าเป็นการตีความแบบก้าวหน้า และก็ไปยกตัวอย่างประเทศนั้นประเทศนี้มา แต่ลืมดูว่า บ้านเรามันไม่ใช่ตีความในเรื่องการส่งเสริมสิทธิ แต่เป็นการตีความที่มีผลได้เสียในทางการเมืองโดยตรงของกลุ่มผลประโยชน์ในทางการเมือง มันจึงเทียบไม่ได้

ก็ไม่เข้าใจกัน ก็มาบอกว่า เกาหลียังมีการตีความเรื่องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กำหนดให้คนเข้าถึงได้ ตีความก้าวหน้าแบบนี้ ผมไม่มีปัญหาเลย ผมซาบซึ้ง ยินดีสนับสนุนเลย ถ้าตีความก้าวหน้าและมีเหตุมีผล แบบที่เขาทำกันในที่ต่างๆ ถามว่า ของเรามันเป็นแบบนั้นหรือ ในบริบทของการตีความ ถามว่า คนเสนอตุลาการภิวัตน์ คุณเสนอกันมาในบริบทไหน"

** นั่นแหละที่บางคนบอกว่า รัฐธรรมนูญไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของตุลาการภิวัตน์

"มันสัมพันธ์กัน ผมถามว่า คุณเขียนอายุเกษียณผู้พิพากษา 70 ในรัฐธรรมนูญทำไม ทำไมคุณไม่ปล่อยให้เป็นอำนาจของผู้แทนปวงชนที่มาจากการเลือกตั้ง คุณตัดสินเรื่องนี้ได้อย่างไร แล้วเวลารับรัฐธรรมนูญ ก็รับกันทั้งฉบับ มีใครพูดกันประเด็นนี้ หรือตอนรับรัฐธรรมนูญ แล้วคุณก็มาตีขลุมว่า รับรัฐธรรมนูญคือเห็นด้วย

มันไม่แฟร์ในแง่นี้ มันไม่ใช่เรื่องทุกเรื่องที่คุณจะเห็นด้วย ถ้าอย่างนั้น ผมอยากจะเขียนอะไร ผมก็เขียนลงไปแล้วก็ซ่อนๆ ลงไปในประชามติ ต้องหัดยอมรับกันบ้างว่า เขียนอะไรลงไป เรื่องนิรโทษกรรมก็ฟ้องอยู่โจ่งแจ้ง 309 ในรัฐธรรมนูญ"

** มีข้อแย้งว่า อำนาจศาลเหมือนเดิม แต่แนวคิดตุลาการภิวัตน์เข้ามา

"ตุลาการภิวัตน์ที่พยายามพูดถึงกัน มันใช้ในความหมายซึ่งหมายถึงตัวบทบาทที่แผ่ขยายออกไปของตุลาการ ไม่เฉพาะในทางคดี คุณจะปฏิเสธว่า ทางความเป็นจริง คุณหมายถึงเฉพาะในทางคดีก็ไม่เป็นไร แต่คนทั่วๆ ไปที่เขาดู sense อันนี้ เขาคิดถึงอะไรล่ะ ผู้พิพากษาไปนั่งเป็นกรรมการสรรหาตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้"

"บทบาทตรงนี้ ที่แผ่ออกไปมันไม่ได้มีเฉพาะในรัฐธรรมนูญนะ ผมจะบอกให้ วันนี้ไปดูพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน เรื่องคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม ก็เอาประธานศาลปกครองสูงสุดมานั่งเป็นประธานกรรมการสรรหา แผ่ลงไปถึงตัวพระราชบัญญัติแล้วตอนนี้"

** ศาลปกครองเกี่ยวกันตรงไหนกับข้าราชการพลเรือน

"ก็ไม่ได้เกี่ยว แต่เขาเอาประธานศาลปกครองสูงสุดมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา คนที่จะเป็นกรรมการพิทักษ์คุณธรรม มาพิจารณาเรื่องวินัยข้าราชการ เรากำลังใช้ตำแหน่งพวกนี้ออกไปนั่งอยู่ในที่ต่างๆ หลายๆ แห่ง

ถามว่า จุดเริ่มต้นมาจากไหน ก็มาจากรัฐธรรมนูญที่เขียนกันขึ้นมานั่นแหละ ก็เพราะคิดว่า ไม่เหลืออะไรแล้ว เหลือแต่ผู้พิพากษาตุลาการ ก็เลยต้องเอาออกมา

ศาลจำนวนหนึ่ง ผู้พิพากษาตุลาการจำนวนหนึ่ง ท่านไม่ได้สบายใจเลยที่ออกมาแบบนี้

ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ ศาลก็บอกว่า ไม่ได้อยากมา แต่ดึงออกมา ถามว่า การดึงออกมาแบบนี้ มันเกิดขึ้นภายในบรรยากาศอะไร เราปฏิเสธบรรยากาศลักษณะแบบนี้ได้ไหม เพราะองค์กรตุลาการ เดิมทีก็ไม่ได้เป็นองค์กรที่อยู่ในความสนใจหรอก ก็ตัดสินไป คดีแพ่งคดีอาญา มีปัญหาอะไรก็เป็นเรื่องข้างในองค์กรเขา มันก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรในทางการเมือง แต่พอออกมาเป็นแบบนี้ มันกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์แล้ว ในทางตำแหน่ง คุณปฏิเสธไม่ได้นะว่า คุณเป็นตำแหน่งนี้ คุณไปนั่งตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งผมไม่ได้จะว่าผู้พิพากษานะ แต่คนร่าง ก็ไปดึงออกมาให้เขามาทำเรื่องพวกนี้ แล้วคุณจะบอกว่า ไม่เกี่ยวหรือ คุณเขียนในรัฐธรรมนูญ"

ประเด็นไม่ให้ ส.ส.เป็นเลขา หรือที่ปรึกษารัฐมนตรี มาตรา 265 และห้ามแทรกแซงการปฏิบัติราชการตามมาตรา 266 วรเจตน์เห็นว่า เป็นประเด็นปลีกย่อย

** ปัญหาอยู่ที่การตีความ หรืออยู่ที่เขียนรัฐธรรมนูญ

"อยู่ที่รัฐธรรมนูญด้วย แต่ก็เป็นปัญหาเรื่องการตีความเหมือนกัน คุณเขียนแบบนี้ ในบรรยากาศอีกลักษณะหนึ่ง การตีความก็อาจจะเป็นอีกอย่าง ก็เป็นไปได้ แต่พอเขียนแบบนี้ คนกลัวกันหมด เพราะมันอาจจะตายน้ำตื้น"

** อย่างมาตรา 266 ถ้าทำหน้าที่ ส.ส.ไปเดินเรื่องร้องเรียนให้ชาวบ้าน ก็ไม่น่าจะถูกตีความว่าแทรกแซงการปฏิบัติราชการเพื่อผลประโยชน์ตัวเองหรือผู้อื่น

"ถูก จริงๆ มันไม่ใช่ แต่ตอนนี้ในบรรยากาศของการต่อสู้ทางการเมือง ที่เอากฎหมายเป็นเครื่องมือห้ำหั่นฟาดฟันกัน ทุกตัวอักษรถูกใช้หมด เราต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน พอถูกใช้หมด มันจึงกลายเป็นเรื่องระดับรัฐธรรมนูญ เพราะคุณเขียนรัฐธรรมนูญวางเรื่องพวกนี้เอาไว้"