ที่มา Thai E-News
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
23 ตุลาคม 2552
การเลิกทาสหรือไพร่ และการหันมาใช้แรงงานรับจ้าง ไม่ใช่เพราะความเมตตาของใครแต่อย่างใด มันเป็นเรื่องการใช้แรงงานในลักษณะที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในระบบทุนนิยมต่างหาก การเลิกทาสเลิกไพร่ และการนำระบบเศรษฐกิจการค้าเสรีเข้ามา เปิดโอกาสให้กษัตริย์ไทยสมัยนั้นสามารถสะสมกำไรมหาศาลจากการเป็นนายทุนที่ดิน นายทุนเกษตร และนายทุนธนาคาร ซึ่งมีการถ่ายทอดมรดกจนถึงปัจจุบัน
ทุกวันที่ ๒๓ ตุลาคม นิสิตจุฬาฯ จะถูกเกณฑ์ไปกราบรูปปั้นรัชกาลที่๕ เหมือนกับว่ากราบไหว้เทวดา
แต่การกราบไหว้รูปปั้นของคนในรูปแบบนี้ โดยไม่สนใจที่จะวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของผลงานอันยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่๕ เป็นการสอนให้นักศึกษาเป็นคนปัญญาอ่อน ไม่ใช่สอนให้คิดเองเป็น เพื่อสร้างมาตรฐานวิชาการ
อำมาตย์ชอบเสนอว่า สถาบันกษัตริย์ไทยปัจจุบันเป็นสถาบันเก่าแก่ตั้งแต่สุโขทัย ที่อยู่เคียงข้างสังคมในรูปแบบ “ศักดินา-สมบูรณาญาสิทธิราชย์” คือมองว่าศักดินาไม่ต่างจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเอง
ฝ่ายอำมาตย์มีการรณรงค์ผ่านโรงเรียน และสื่อให้เราเชื่อว่า กษัตริย์มีอำนาจเหนือชีวิตของเหล่าไพร่ทั้งหลาย เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากสมัยอยุธยาเลย
มันเป็นความพยายามเพื่อสร้างภาพเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้ประชาชนเชื่อว่า ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการจงรักภักดีต่อ และเกรงกลัวผู้ปกครองที่เป็นเสมือนพระเจ้าหรือเทวดา
ส่วนฝ่ายซ้ายเก่า เช่น พ.ค.ท. หรือนักวิชาการที่ได้รับอิทธิพลจาก พ.ค.ท. มักมองว่าไทยยังเป็น “กึ่งศักดินา” จนถึงทุกวันนี้ หลายคนมองต่อไปว่าความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองกับแดง เป็นการต่อสู้ระหว่างศักดินากับนายทุนสมัยใหม่ ผมว่าการวิเคราะห์แบบนี้ผิด และไม่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์รองรับเลย
ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์เราจะพบว่า ในรอบ 200 ปีที่ผ่านมาสถาบันกษัตริย์ไทยเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง จากสถาบันในระบบศักดินา ไปเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจรวมศูนย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงรัชกาลที่ ๕
และในการปฏิวัติปี ๒๔๗๕ เปลี่ยนอีกครั้งเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นสถานภาพของสถาบันก็เปลี่ยนแปลงต่อไป
งานเขียนของนักประวัติศาสตร์อย่าง ธงชัย วินิจจะกูล และ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างดี นอกจากนี้ข้อมูลในหนังสือของ Paul Handley ก็ช่วยวาดภาพประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวอีกด้วย
อย่างไรก็ตามนักวิชาการส่วนใหญ่มองข้ามแง่มุมของสถาบันกษัตริย์ไทย ที่เป็นสถาบันสมัยใหม่ในระบบทุนนิยมซึ่งมีบทบาทหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง และเป็นลัทธิความคิด ที่ให้ความชอบธรรมกับทหารผู้มีอำนาจจริงในการครอบงำสังคม
ลักษณะสำคัญของระบบศักดินา
หลายคนเข้าใจผิดว่าการปกครองในยุคศักดินาเป็นการปกครองที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่มีอำนาจเข้มแข็ง แต่ที่จริงแล้วระบบศักดินามีองค์ประกอบสามอย่างที่ทำให้พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจจำกัดคือ
(๑) ระบบการปกครองแบบศักดินาไม่มีข้าราชการ ระบบข้าราชการไทยตั้งขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ฉนั้นพระเจ้าแผ่นดินในยุคศักดินาต้องแบ่งอำนาจในการปกครองกับ ขุนนาง มูลนาย และเจ้าหัวเมือง
(๒) การที่ระบบการผลิตอาศัยการเกณฑ์กำลังงานแรงงานบังคับโดยมูลนายและขุนนาง มีส่วนทำให้พระเจ้าแผ่นดินต้องแบ่งอำนาจทางเศรษฐกิจการผลิตให้กับมูลนายและขุนนางอีกด้วย
(๓) อำนาจของ “เมืองหลวง” เช่นอยุธยา หรือ กรุงเทพฯ ในระบบศักดินา จะลดลงในสัดส่วนที่เท่ากับความห่างจากตัวเมือง เพราะเมืองห่างๆ ไม่จำเป็นต้องกลัวการส่งกองกำลังมาปราบปรามเท่ากับเมืองที่อยู่ใกล้ศูนย์กลาง นอกจากนี้ “หัวเมือง” อาจเป็น “หัวเมือง” ของเมืองอำนาจศูนย์กลางอื่นๆ หลายเมืองพร้อมๆกัน ระบบการแผ่อำนาจแบบวงกลมซ้อนๆนี้ เรียกว่าเป็นระบบ Mandala หรือ Galactic Polity – คือระบบดวงดาวที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ มันเป็นระบบที่ไม่มีแผนที่ ไม่มีพรมแดน เพราะเน้นควบคุมคนและชุมชนเป็นหลัก
การผลิตในระบบศักดินาใช้แรงงานบังคับ ไม่ใช่แรงงานรับจ้าง มีทาสและไพร่ ทาสในระบบศักดินาคือผู้ที่ติดหนี้สินกับมูลนาย ผู้ที่ต้องการความคุ้มครองจากมูลนาย หรือเชลยศึก เขาจะต้องทำงานอยู่กับเจ้านายตลอด ส่วนไพร่นั้นคือผู้ที่เป็นชาวนากึ่งอิสระที่ต้องถูกเกณฑ์ไปใช้งานเป็นประจำโดย ขุนนาง มูลนาย พระเจ้าแผ่นดิน หรือ วัด
ปฏิวัติทุนนิยมล้มศักดินานำโดยรัชกาลที่๕
หลังจากที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เซ็นสัญญาการค้าเสรีกับอังกฤษที่เรียกว่า “สัญญาเบาริ่ง” ในปีพ.ศ. ๒๓๙๘ ระบบทุนนิยมโลกเริ่มที่จะมีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกที ระบบการค้าเสรีและการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตก สร้างทั้งปัญหาและโอกาสกับกษัตริย์ศักดินา และนำไปสู่การปฏิวัติล้มระบบศักดินาโดยรัชกาลที่ ๕
การยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงานบังคับ และการใช้ระบบการปกครองของข้าราชการจากศูนย์กลาง เป็นการทำลายอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของมูลนาย ขุนนาง และ เจ้าหัวเมือง ซึ่งเป็นคู่แข่งของกษัตริย์ โดยที่อำนาจรัฐและอำนาจเศรษฐกิจไปกระจุกอยู่ที่พระเจ้าแผ่นดินภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นครั้งแรก
นอกจากนี้การเลิกทาสหรือไพร่ และการหันมาใช้แรงงานรับจ้าง ไม่ใช่เพราะความเมตตาของใครแต่อย่างใด มันเป็นเรื่องการใช้แรงงานในลักษณะที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในระบบทุนนิยมต่างหาก
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยดังกล่าวต้องถือว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับการปฏิวัติสังคมที่นำไปสู่ระบบทุนนิยมในประเทศไทย และรัฐใหม่ที่รัชกาลที่ ๕ สร้างขึ้นเป็นรัฐทุนนิยม เพื่อประโยชน์นายทุนกษัตริย์ และเพื่อสร้างรัฐชาติไทยขึ้นมาเป็นครั้งแรกในยุคที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญหน้ากับการสร้างรัฐชาติพม่า มาเลย์ และอินโดจีน ภายใต้จักรวรรดินิยมตะวันตก ยิ่งกว่านั้นการเลิกทาสเลิกไพร่ และการนำระบบเศรษฐกิจการค้าเสรีเข้ามา เปิดโอกาสให้กษัตริย์ไทยสมัยนั้นสามารถสะสมกำไรมหาศาลจากการเป็นนายทุนที่ดิน นายทุนเกษตร และนายทุนธนาคาร ซึ่งมีการถ่ายทอดมรดกจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะสำคัญของระบบทุนนิยมคือ มีการลงทุนเพื่อการผลิต และมีการสะสมทุนเพิ่มจากกำไรในการผลิต กระบวนการนี้อาศัยการที่นายทุนเริ่มควบคุมปัจจัยการผลิต เช่นที่ดิน บริษัท หรือโรงงาน ในขณะที่คนธรรมดาต้องไปรับจ้างหรือเช่าที่ดินจากนายทุน
การลงทุนเพื่อการเกษตรแถวๆ รังสิตในสมัยรัชกาลที่๕ กระทำไปโดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยมาเช่าที่ดิน เพื่อขยายการผลิตข้าว โดยเป้าหมายคือการส่งออกในตลาดทุนนิยมโลก มันเป็นระบบรับเหมาทำนา โดยที่นายทุนผู้ครองที่ดินได้ประโยชน์ ดังนั้นนายทุนในระบบทุนนิยมมีหลายรูปแบบ คือเป็นกษัตริย์ ทหาร หรือนักธุรกิจเอกชนก็ได้ ขอให้มีอำนาจคุมปัจจัยการผลิตและความสามารถในการสะสมทุนเท่านั้นก็พอ
รัฐทุนนิยมในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่รัชกาลที่๕ สร้างขึ้น ถูกปฏิวัติล้มไปในปี ๒๔๗๕ และอำนาจรัฐถูกค่อยๆ ขยายไปสู่ส่วนอื่นของชนชั้นนายทุนที่ไม่ใช่กษัตริย์และราชวงศ์ เช่นข้าราชการพลเรือน ทหาร และนายทุนเอกชน ซึ่งการขยายชนชั้นปกครองไปสู่กลุ่มอำมาตย์แบบนี้ ยังมีอิทธิพลต่อการเมืองปัจจุบัน
ทั้งๆ ที่อาจไม่ใช่เจตนาหลักของผู้นำคณะราษฏร์ฝ่ายซ้ายอย่างปรีดี พนมยงค์
--
ติดตามงานของใจ อึ๊งภากรณ์:
http://siamrd.blog.co.uk/
http://wdpress.blog.co.uk/
http://redsiam.wordpress.com/
see YOUTUBE videos by Giles53