ที่มา ประชาไท
เรื่อง: มุทิตา เชื้อชั่ง - อรพิณ ยิ่งยงวัฒนา
ภาพ: วิทยากร บุญเรือง
มัคคุเทศน์: ธนากร สัมมาสาโก
ลูกๆ ของแรงงานหญิงมีมุมกิจรรมวาดรูปในยามว่าง และบรรดาแม่ๆ อยากให้นักศึกษาหรือนักกิจกรรมมาทำกิจกรรมหรือสอนหนังสือเด็กแก๊งค์นี้ที่มีราวสิบกว่าคน (อนุบาล-ป.6) ซึ่งกำลังปิดเทอม ว่าง และซนเป็นลิง
ใต้ถุนตึกกระทรวงแรงงานวันนี้แลไปแล้วคล้ายใต้ถุนตึกกิจกรรมนักศึกษา เพราะมันเต็มไปด้วยป้ายรณรงค์ต่างๆ สัมภาระ และผู้คนกลุ่มใหญ่ที่กระจายตัวทำกิจกรรมนั่นนี่กันอย่างคึกคัก ต่างก็แต่ในช่วงดึกจะมีมุ้งหลากสีกางกันเป็นดอกเห็ดเต็มพื้นที่ด้วย
พวกเธอ คือกลุ่มคนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ผู้จัดทำชุดชั้นในไทรอัมพ์, วาเลนเซียน, สล็อกกี้, อาโมฯ สหภาพฯ นี้มีชื่อเสียงลือเลื่องในแง่ของการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งยาวนานมาตั้งแต่ปี 2523 และนับเป็นขบวนการแรงงานที่ ‘ดื้อรั้น’ ที่สุดอีกกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย
หลังจากพวกเธอ ซึ่งล้วนแต่เป็นสมาชิกสหภาพฯ ถูกเลิกจ้างไป 1,960 คน เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่าออร์เดอร์ลดลง ต้องปรับโครงสร้างการผลิต แต่ขณะเดียวกันบริษัทกลับไปตั้งโรงงานใหม่ที่นครสวรรค์และจ้างงานแบบชั่วคราวที่นั่น ซึ่งเป็นเทรนด์การลดต้นทุนของนายจ้างทั่วโลก ทำให้คนงานประจำที่ทำงานมาสิบยี่สิบปีแล้วถูกเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า รู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรม จึงพากันตั้งเต๊นท์ชุมนุมกันหน้าโรงงาน กดดันให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงาน หรืออย่างแย่ที่สุดก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อตกลงสภาพการจ้างที่เป็นธรรม
ร้อยกว่าวันผ่านไป ทุกอย่างยังเงียบสงัด คนงานบางส่วนจึงเคลื่อนย้ายตัวเองมาปักหลักที่ใต้ถุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงให้รู้แล้วรู้รอด นับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
0 0 0
“เอา 2 เข็ม วิ่งตรงนี้ แล้วเซาะข้างๆ”
“เอาข้างเข้าอีกหน่อยดีกว่า”
“จักรนี้มันใช้เข็มเดี่ยวล้วน ไม่ได้หรอก ต้องใช้ยูดี”
“จักรมันตีนหนัก ยังไม่ได้ปรับเลย ทำไง”
“ยางตรงนี้ต้องมีตัวย่น ถ้าใช้ตัวขัดยางจะช่วยได้เยอะ”
“เวลาต่อยางนี่ต้องต่อข้างนะ ต่อจากข้างหลังมา”
“เราแก้แพทเทิร์นเลยดีกว่า”
“ต้องย่น 32 ดูก่อน”
“ไม่ๆ มันอยู่ที่โพ้งด้วย”
“แซ็กกลาง ให้เป็นซีทรูเห็นเนื้อดีมั้ย จะได้เซ็กซี่หน่อย”
การหารือถึงข้อด้อยของกางเกงในต้นแบบสีขาวตัวแรกดำเนินไปเรื่อยๆ ทว่าจริงจังและยาวนาน มันยุ่งเอาการสำหรับการทำกางเกงในตัวแรกยี่ห้อใหม่ ในชื่อว่า ‘Try Arm’ ให้ออกมาได้มาตรฐานเดียว (หรือใกล้เคียง) กับโรงงานบรรษัทข้ามชาติที่พวกเธอเคยทำ ในสภาวการณ์ที่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือใดๆ นอกจากจักรที่ยังไม่ได้ปรับ 4 ตัวซึ่งคนงานแอบขนจากบ้านเอาเข้ามาในกระทรวง
โชคดีที่เกือบ 200 ชีวิตใต้ถุนตึกนี้มาจากแผนกต่างๆ ที่ซอยยิบย่อยในโรงงาน ซึ่งโดยภาพรวมแล้วถือว่าอยู่กันครบทุกแผนก
“การเจรจาไม่คืบหน้าอะไรเลย เราอยู่ว่างๆ แล้วก็เห็นคนเดินไปเดินมาในกระทรวงนี้เยอะดี เลยคิดจะทำกางเกงในขาย” จิตรา คชเดช หรือ “หนิง” อดีตประธานสหภาพฯ คนก่อนที่ถูกเลิกจ้างก่อนใคร เล่าให้ฟัง
โปรเจ็กส์นี้ถูกระดมสมองกันขึ้นในคืนหนึ่ง ประกอบกับความเป็นไปได้ที่อดีต “ดีไซเนอร์” ของไทรอัมพ์ที่ถูกเลิกจ้างไปแล้วอาสามาออกแบบให้ฟรีๆ เพื่อช่วยคนงาน ยังไม่นับรวมช่างปรับจักรที่ถูกเลิกจ้างที่อาสาช่วยเป็นเบื้องหลังด้วยอีกแรง ส่วนผ้านั้นก็เอามาจากเศษผ้าที่คนงานซื้อเลหลังจากโรงงานไปเก็บไว้ เอามารวมกัน และซื้อเพิ่มเติมบางส่วน
“พี่ดีไซเนอร์เค้าฝีมือดีมาก แต่บริษัทเปลี่ยนไปซื้อแบบเมืองนอกมาแกะ เลยถูกเลิกจ้าง นี่เค้ามาครึ่งชั่วโมง ขีดๆ แป๊บเดียวได้มาตั้ง 6 แบบ...นี่จะเป็นกางเกงในที่มีดีไซน์และฝีมือได้มาตรฐานเดียวกับไทรอัมพ์เลย เพราะคนเดียวกันนี่แหละที่ทำ” พี่สาวใส่แว่นโฆษณาสรรพคุณอย่างภาคภูมิใจ
มันคงไม่เกินความเป็นจริง หากจะบอกว่าพวกเธอ “ภาคภูมิใจ” ในงานที่ทำมายาวนานจนเข้าเส้นอย่างมาก เพราะมันแสดงผ่านมาทางแววตา และรายละเอียดทางสรีระสตรีเพศมากมายเหลือเกินที่หารือกัน จนชวนให้ฉงนสนเท่มากว่า กางเกงในตัวหนึ่ง ทำไมมันถึงทำยากทำเย็นขนาดนี้
“กางเกงในที่ดีมันต้องเป้าตึง แต่ด้านหลังต้องอุ้มก้นด้วย ตรงก้นต้องยืดหยุ่น สามารถเก็บก้นเราไม่ให้ย้วยได้ เวลาเย็บนี่ มือกับด้าย กับจักร มันต้องเคลื่อนไปด้วยกัน พอดีกัน ต้องให้มัน ยืด ย่น ได้ระยะสวย แล้วสองข้างก็ต้องเท่ากันด้วย” พี่จากแผนกเย็นคนนึงสาธยาย
“แล้วพี่อยู่ฝ่ายอะไร” เราหันไปถามจิตรา
“เช็คร้อย”
“!!???”
เช็คร้อย คือส่วนของการตรวจสอบคุณภาพ สินค้าชิ้นหนึ่งเมื่อผลิตเสร็จเรียบร้อย ต้องผ่านกระบวนการกระชาก เพื่อทดสอบว่าไม่ฉีกขาดง่าย ผ่านการดึงให้ยืด หากยืดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ถือว่าผ่าน และผ่านการตรวจสอบความสมดุล เช่น ลูกไม้สองข้างเมื่อจับประกอบกันแล้วเรียงตรงกันไหม ฯลฯ
“ฝีมือพวกเราไม่ธรรมดานะ ยี่ห้อดังระดับโลกหลายยี่ห้อก็ต้องมาจ้างไทรอัมพ์เย็บ และไทรอัมพ์ไทยก็ละเอียด เนี๊ยบกว่าที่อื่นๆ ด้วย ชุดว่ายน้ำที่ใช้ประกวดนางสาวไทยเมื่อคืนก่อน ก็ฝีมือพวกเรา เป็นล็อตสุดท้ายเลยก่อนถูกเลิกจ้าง ประกวดสำคัญๆ ทีไรมาให้เราทำตลอด”
ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกมันว่าสำนึกความเป็นสถาบัน ได้หรือเปล่า….
0 0 0
ความจริงแล้วเหตุผลการก่อกำเนิด ‘Try Arm’ มีมากกว่ากิจกรรมฆ่าเวลา แต่มันเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของแขนของกรรมาชีพผู้มีความพยายามอย่างไม่ลดละ โดยพยายามหาคำพ้องเสียงกับองค์กรที่ตนเองสังกัด (และหวังจะได้สังกัดอีกครั้ง) และทำให้เห็นด้วยว่า เราสามารถสร้างสินค้าคุณภาพดีได้ในราคาถูกและไม่ต้องขูดรีดเอาเปรียบแรงงาน
“เราว่าจะขายเริ่มต้นราคา 19 บาทนะ เน้นกลุ่มลูกค้าวัยกลางคนหน่อย” หนิงว่า
และด้วยราคาแบบนี้ มันก็อาจเป็นความหวังในการหารายได้มาจุนเจือขบวนการ หลังจากที่ต้องควักเอาเงินกองกลางมาใช้นานหลายเดือนแล้ว มันเป็นเงินส่วนตัวที่หลายคนได้มาจากกองทุนนัดหยุดงาน ซึ่งเป็นกองทุนของสหภาพฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 43 หลังการนัดหยุดงานเมื่อปี 42 แล้วถูกนายจ้างปิดงาน 42 วัน แรงงานสะสมเงินนี้เดือนละ 10 บาท และเมื่อถูกเลิกจ้างก็จะได้มันไป แต่พวกเขาก็เอามาไว้ตรงกลางเพื่อการเคลื่อนไหวต่อสู้ครั้งนี้
วันที่ 20 ตุลาคมนี้ กระทรวงแรงงานจะเริ่มขยับมาเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างคนงานและนายจ้าง เพื่อหาทางออกให้กับคนงานอีกครั้ง ไม่มีใครรู้ว่าจะลงเอยอย่างไร ... แต่ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในระยะอันใกล้นี้ ก็เตรียมพบกับกางเกงใน Try Arm ได้ที่ใต้ถุนตึกกระทรวงแรงงานภายใน 2-3 วันนี้
“เราเริ่มจากกางเกงในก่อน แล้วถ้ามันไปได้ จะเริ่มทำชุดชั้นใน แล้วไปที่ชุดว่ายน้ำ เพราะพวกเราส่วนมากเชี่ยวชาญชุดว่ายน้ำ ถ้าถึงวันนั้นอาจเปิดแถลงข่าว จัดเดินแฟชั่นโชว์ แล้วก็เปิดให้ประมูลชุดว่ายน้ำชุดแรกของ Try Arm เหมือนยี่ห้อดังๆ เลย” จิตราพูดไปหัวเราะไป
“แต่เบื้องต้นเราจะมอบกางเกงในตัวแรกให้อธิบดีกรมแรงงานก่อน แกเดินไปเดินมาแถวนี้ เราแอบสังเกตไซส์แกไว้แล้ว” พี่ใส่แว่นอีกคนพูดพร้อมยักคิ้วหลิ่วตา ….