ที่มา ไทยรัฐ
ความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากชาวบ้าน ที่ฝากผ่านไปถึง นายกรัฐมนตรี มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะความรู้สึกของชาวบ้านกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ ละครั้ง เหมือนถูกหลอก เหมือนถูกจับเป็นตัวประกันขาประจำอย่างไรอย่างนั้น
ข้อสงสัยประการแรก เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ อย่างไม่สมเหตุสมผลหรือไม่ โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ จะต้องมีการทำประชามติ อย่างที่ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันมาตลอด อาจจะมีข้ออ้างว่าเป็นการให้ประชาชนตัดสินใจหรือเป็นการลงทุนในการพัฒนาประชาธิปไตย
หรือแท้จริงเป็นการหวังผลทางการเมือง
ยกตัวอย่างการทำประชามติแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณเป็นพันล้านบาท เมื่อเทียบความคุ้มค่าดูแล้ว หากนำงบประมาณจำนวนนี้มาสร้างอาคารเรียน เพื่อให้มีการศึกษาและเรียนรู้ ประชาธิปไตยจริงๆ สมมติอาคารเรียนหลังละ 2 ล้านบาท ก็ได้ 500 หลังแล้ว ใช้งานได้อย่างน้อยก็ 20 ปี
แต่รัฐธรรมนูญบางฉบับใช้ได้ไม่ถึงปีด้วยซ้ำ
และมีอะไรค้ำประกันได้ว่ารัฐธรรมนูญที่แก้กันแล้วกันอีก จะป้องกันการปฏิวัติรัฐประหาร หรือการทุจริตคอรัปชันได้ เชื่อว่า การทำประชามติคงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน หรืออาจต้องมีการยกร่างแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา 6 เดือน หรือ 9 เดือนขึ้นไป
อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาล
ทั้งนี้ ไม่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะรู้จักและเข้าใจรัฐธรรมนูญอย่างถ่องแท้ แม้แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญบางท่าน ก็ยังไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญได้ถ่องแท้ทุกประเด็น เพราะถ้ามีการเข้าใจรัฐธรรมนูญจริงทำไมต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือยังมีการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญกันอยู่อีก
ข้อเสนอก็คือว่า เมื่อมี ส.ว. และ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วถือว่าเป็นตัวแทนประชาชนให้คนเหล่านี้มาทำหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าผ่านความเห็นจากประชาชนได้
ที่ผ่านมาการลงประชามติใช้รัฐธรรมนูญปี 50 ก็ช่วยอะไรไม่ได้ รัฐธรรมนูญยังถูกหมกเม็ดเป็นกระบวนการลับลวงพราง และสร้างความวุ่นวายในระบอบรัฐสภาและการบริหารงานประเทศไม่รู้จบ
ดังนั้น หากมีการลงประชามติอีกก็ อาจจะมีรายการลับลวงพรางเกินขึ้นมาอีก ได้รัฐธรรมนูญที่มีปัญหาตามมาอีก สร้างความสับสนให้กับประชาชนไม่เลิก
การแก้รัฐธรรมนูญแต่ละครั้งสร้างความสับสนและบางครั้งก็กลายเป็นวิกฤติการเมือง เพราะกลไกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่บริสุทธิ์ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับลับลวงพรางไปเรื่อยๆ
สุดท้ายก็ต้องหาเรื่องฉีกรัฐธรรมนูญกันอีก.
หมัดเหล็ก