ที่มา Thai E-News
โดย คุณ วงศ์ ตาวัน
ที่มา เวบไซต์ ข่าวสด
7 ตุลาคม 2552
นักการเมืองในยามไร้อำนาจวาสนา มักพูดจาอยู่ในหลักการ ยึดมั่นในจิตวิญญาณประชาธิปไตยอย่างสูงยิ่ง
แต่เปลี่ยนฐานะเมื่อไร มีอำนาจเต็มมือวันใด คำว่า ผมมีอำนาจตามกฎหมาย มักจะมาแทนที่เสรีภาพข้อมูลข่าวสาร และความคิดเห็นของผู้อื่น
นักข่าวหลายคน รู้สึกถูกหมิ่นแคลน กับคำพูดคำจาของนายกรัฐมนตรี ที่ใช้ในการตอบโต้คำถาม
โดยเมื่อถามถึงกรณีนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ลาออกจากเลขาธิการนายกฯ
ถามถึงกรณีนายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ ลาออกจากการเป็นกรรมการก.ต.ช.
นอกจากจะไม่ยอมตอบด้วยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาแล้ว กลับย้อนใส่นักข่าวว่า มีคนขยันให้ข่าวจริง!?!
ทั้งที่ประเด็นอยู่ที่ว่า เรื่องลาออกของคนเหล่านี้ เป็นความจริงหรือไม่จริง
แล้วสุดท้ายผ่านไปหลายวัน นายกฯ จึงยอมรับว่า เป็นเรื่องจริงทั้งสองราย
ไม่รู้ทำไม นายกฯ จึงรู้ช้าจัง ตอบช้าจัง
ส่วนประเด็นที่ว่า ทำไมนักข่าวจึงรู้ได้เร็วและเสนอข่าวได้ฉับไว อันนั้นเป็นกระบวนการทำงานของสื่อสารมวลชน นักข่าวย่อมต้องมีแหล่งข่าว เมื่อได้ข่าวแล้ว เขาย่อมต้องตรวจสอบก่อนนำเสนอ
จะมีคนขยันให้ข่าว อย่างที่นายกฯ กล่าวอ้างหรือไม่นั้น ไม่ว่าจะอย่างไร นักข่าวเขามีกระบวนการตรวจสอบ
ถ้ามีคนกุข่าวแล้วไม่ตรวจสอบก่อน อันนั้นแหละเป็นเหยื่อข่าวปล่อย!?
กรณีนายนิพนธ์และนายปิยพันธุ์ มีการกลั่นกรองแล้วว่า เป็นข่าวจริงแท้ จึงนำเสนอไป
สุดท้ายก็พิสูจน์แล้วว่า ข่าวทั้งสองนี้ถูกต้องแม่นยำ
คล้ายๆ กับพฤติกรรมที่พบกันบ่อยๆ ในทั่วทั้งสังคม เมื่อมีการตรวจพบว่า เกิดเรื่องผิดปกติขึ้น แล้วเรียกคนที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบมาสอบถาม มักจะได้คำตอบโดยอัตโนมัติว่า ใครนะช่างฟ้อง!!
แทนที่จะตอบว่า จริงหรือไม่จริง กลับพยายามถามหาว่า ใครเป็นคนเอาข้อมูลมาบอก
เป็นวิธีการของเด็กเกเร ที่มักได้ประสบพบกันบ่อยๆ
แต่ถ้าเป็นบุคคลระดับรับผิดชอบประเทศชาติ คงไม่ดีแน่
อีกทั้งเมื่อนักข่าวถามถึงสาเหตุแห่งการลาออกยังตอบอีกว่า ไม่เกี่ยวกับปัญหาแต่งตั้ง ผบ.ตร.!