ที่มา ไทยรัฐ
"กลัวถูกปาปลาร้าเหมือนที่จังหวัดลพบุรีหรือไม่"
โดยบทโหมโรงของนักข่าวที่ยิงคำถามชวนสะดุ้งใส่นายวิฑูรย์ นามบุตร ผู้แทนฯ อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่
ยิ่งกระตุ้นฉากเร้าใจในวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม
ตามโปรแกรมที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้คิว "รีเทิร์น" จังหวัดอุบลราชธานี ตามโปรแกรมมอบเงินชดเชยค่าเวนคืนที่ดินให้ "แม่ใหญ่ไฮ ขันจันทา"
ภาคสองต่อจากตำนาน "แหวนยายเนียม"
ท่ามกลางเสียงประกาศ "เตรียมตัวต้อนรับ" กองทัพม็อบเสื้อแดงนัดระดมพล ตั้งท่าแห่ตามประกบกันตั้งแต่ลงจากเครื่องบิน
ส่งซิก นัดกันไม่ใส่เสื้อแดงเพื่อไม่ให้โดนกันเข้าถึงตัวนายกฯอภิสิทธิ์
และโดยอาการตื่นตัวของฝ่ายรักษาความปลอดภัย พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ผู้บัญชาการตำรวจภาค 3 พล.ต.ต.ศักดา เตชะเกรียงไกร ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุบลราชธานี ได้ประชุมวางแผนความพร้อมรักษาความปลอดภัยให้นายกฯอภิสิทธิ์
ระดมตำรวจ 800-1,000 นาย เพื่อเตรียมรับกลุ่มเสื้อแดง
"อภิสิทธิ์" ลุ้นจะเจอกับอะไร
แต่คนที่ระทึกไม่แพ้กันก็คือนายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
ตามอารมณ์ฉุนๆของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ที่เพิ่งโกยฝ่าวงม็อบแดงล้อมกรอบที่อำเภอวารินชำราบ ได้แบบเฉียดฉิว คาดโทษล่วงหน้า จี้พ่อเมืองอุบลราชธานี ขยันเคลียร์ม็อบกันหน่อย
หลังนายกฯอภิสิทธิ์เดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว "บุญจง" จะเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีอีกรอบ แล้วจะดูว่า ยังมีกลุ่มคนเสื้อแดงอีกหรือไม่
คำตอบมันรู้กันอยู่แก่ใจอยู่แล้ว
สยบม็อบแดงในภาคอีสาน ว่ายข้ามแม่น้ำโขงไปกลับยังเป็นไปได้มากกว่า
ยิ่งเป็นอะไรที่อยู่ในห้วงเวลาโหมโรง รับ "พ่อใหญ่จิ๋ว" พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี "เชนคัมแบ็ก" กลับมารับเป็นแม่ทัพค่ายเพื่อไทย
"นายใหญ่" เดินยุทธศาสตร์ยึดอีสาน
มันก็ยิ่งต้องปั่นกระแส แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของกองทัพเสื้อแดงให้ดูร้อนแรง
รับมุกกับยุทธศาสตร์กองบัญชาการใหญ่กองทัพ นปช. ตามคิวที่ "ก๊วนสามเกลอ" ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ตามโปรแกรม "แดงทั้งเดือนตุลา" เริ่มประเดิมกันในวันที่ 11 ตุลาคม โบกธงไล่
"อภิสิทธิ์ออกไป เอารัฐธรรมนูญ 40 คืนมา"
คนเสื้อแดงได้เวลากลับมาโหมโรงการเมืองนอกสภา ชิงกระแส ยึดพื้นข่าว
เปิดเกมการเมืองบนถนน ใช้ยุทธศาสตร์มวลชนกดดันวัดใจ ตีคู่ประกบกับรายการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาที่ยังลูกผีลูกคน
กั๊กเหลี่ยม ไม่มีใครไว้ใจใคร
ในอารมณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลก็ระแวงพรรคประชาธิปัตย์เหยียบตีนเล่นกับม็อบพันธมิตรฯในคราบของพรรคการเมืองใหม่ ขณะที่วุฒิสภาสาย "ลากตั้ง" กับ "เลือกตั้ง" ก็แบ่งข้างถือหางสายใครสายมัน
แม้แต่ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ก็ยังไปกันคนละทาง
สายหนึ่งฮึดฮัด ประกาศคว่ำบาตรไม่สังฆกรรมเกมแก้รัฐธรรมนูญ ไม่หลงตามเกมยื้อเวลาของรัฐบาล แต่อีกสายหนึ่งยังอะลุ่มอล่วย ยอมเดินตามแนวการแก้รัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ตามบทสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ
ล่าสุดก็เป็น "สารวัตรเหลิม" ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน ได้ร่อนหนังสือลาออกจากเก้าอี้ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย
สะท้อนอาการ "ขัดใจ" กันอย่างแรง
ในอารมณ์ขบเหลี่ยมกับคิวที่นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ที่แถลงร่วมวงแก้รัฐธรรมนูญกับที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายต่อไป
เพื่อไทย "วงแตก" ก่อนเลย
ล่าสุดก็เป็นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี น้องเขยอดีตนายกฯทักษิณ ออกมาแสดงความเห็นควรที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลัก
และไม่ควรนำเงิน 2,000 ล้านบาท ไปทำประชามติ ซื้อเวลา โดยไม่ถูกต้อง
ตีธงส่งสัญญาณตามแนว "นายใหญ่"
เร่งเกมล้มโต๊ะรัฐบาล มั่นใจกระแส มัดจำเสียงได้ล่วงหน้า
รอไปรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญหลังเลือกตั้ง.
ทีมข่าวการเมือง