ที่มา โลกวันนี้
“วันนี้ในทางการเมืองความชอบธรรมหมดไปแล้ว เราเรียกร้องความรับผิดชอบจากนายกฯ จะลาออก หรือถ้ากลัวว่าลาออกแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะมีอำนาจ ท่านจะยุบสภาก็ได้ แต่ท่านไม่ควรเพิกเฉย เพราะถ้าไม่ทำอะไรก็เท่ากับทำร้ายบ้านเมือง และกำลังทำร้ายระบบการเมือง เพราะระบบการเมืองในวิถีระบอบประชาธิปไตย
ไม่มีที่ไหนในโลกที่ประชาชนถูกทำร้ายจากภาครัฐ
แต่รัฐบาลที่มาจากประชาชนไม่แสดงความรับผิดชอบ
และจนกว่าเราจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้ พรรคไม่สามารถเข้าร่วม ผมจึงได้ทำหนังสือปฏิเสธการเข้าร่วมเจรจาเพื่อตั้งคณะทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่ารัฐบาลไม่ได้แสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ปัญหา ซึ่งพรรคจะติดตามสถานการณ์ต่อไป และจะทำทุกวิถีทางที่ทำได้ เพื่อรักษาความยุติธรรม และให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่เป็นเหยื่อในครั้งนี้”
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงกับผู้สื่อข่าวหลังการสลายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บกว่า 400 คน
เรียกร้องให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนั้น แสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา ไม่ใช่ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง
แต่การสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 23 คน และบาดเจ็บ 852 คน นายอภิสิทธิ์กลับอ้างว่าเป็นมือของ “ผู้ก่อการร้าย” ไม่ใช่ทหาร ทั้งที่มาจากการสั่งสลายการชุมนุมของรัฐบาล
ดังนั้น วันนี้จึงมีหลายฝ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศนำคำพูด
และการประกาศจุดยืนทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ที่ผ่านมา
เพื่อสะท้อนให้เห็นว่ามีสำนึกความเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย
หรือเป็นแค่นักการเมืองที่โกหกปลิ้นปล้อน
และยึดผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องมากกว่าบ้านเมืองและประชาชน
อย่างที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาในทันที เพราะผู้นำต้องมีสำนึกความรับผิดชอบต่อแผ่นดินและต่อปัญหาทั้งปวงที่เกิดขึ้น
“ไม่ใช่มองว่าฉันเป็นรัฐบาล เขาเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพราะอย่างนี้จะแก้ไม่ได้ ผมเสียใจที่พยายามพูดมานานให้คนคนนี้มีความสำนึกในเรื่องนี้ เพราะหัวใจเป็นเรื่องสำคัญมาก คนจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่ไม่ให้เกียรติกับคนที่เป็นคู่กรณี ไม่ตระหนักในความรู้สึกหรือปัญหาของเขา ไม่มีทางแก้ได้ เราแก้กันมามากแล้ว แก้กันมาตลอดชีวิตแล้ว วันนี้มันเกิดความอับอายมาก ผมไม่เคยเห็นเพื่อนฝูงในกลุ่มอาเซียนมีความรู้สึกต่อประเทศไทยหรือผู้นำของไทยเหมือนครั้งนี้เลย น่าเสียใจมาก”
เมื่อครั้งเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 พล.อ.ชวลิตที่มีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรับผิดชอบในเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งในทันทีที่มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บ
ที่สำคัญนายอภิสิทธิ์ยังพยายามโยนความผิดไปที่ “ผู้ก่อการร้าย” และประกาศที่จะสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงอีกครั้งเมื่อระยะเวลา กำลังทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกอย่างมีความพร้อม ซึ่งแสดงว่าทั้งนายอภิสิทธิ์ กองทัพ และผู้มีอำนาจ ไม่ได้รู้สึกสำนึกและรับผิดชอบกับการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนและทหารเลย
นายอภิสิทธิ์ยังหมกมุ่นแต่จะแก้ปัญหาทางการเมืองมากกว่าปัญหาของประชาชน เป็นนักการเมืองที่เชื่อในอำนาจ “นิติรัฐ” มากกว่าประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
จึงไม่แปลกที่นายอภิสิทธิ์จะเห็นดีเห็นชอบกับการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และอ้างความชอบธรรมตามกฎหมายที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยเพิกเฉยกับการเรียกร้องให้ยุบสภาและแสดงความรับผิดชอบใดๆ นอกจากการกล่าวหาว่าเป็นเพราะผู้ก่อการร้ายและการชุมนุมของคนเสื้อแดง
แต่นายอภิสิทธิ์กลับลืมคำพูดตัวเองที่เคยประณามรัฐบาลนายสมชายว่า รัฐบาลจะบริหารประเทศให้ดีขึ้นได้อย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 แล้วและไม่มีการแสดงความรับผิดชอบ แทนที่จะรักษาความถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลที่มาจากประชาชน เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้กับประชาชนต้องแสดงความรับผิดชอบก่อน
จึงมีการตั้งคำถามว่า “ยุบสภา” ใครคือผู้เสียหาย?
คำตอบคือ ยุบสภามีแต่นักการเมืองที่ “เสียหาย” ประชาชนมีแต่ “ได้” เพราะได้อำนาจของตนเองกลับคืน อำนาจที่จะตัดสินใจอนาคตของตัวเองและบ้านเมือง ไม่ใช่เป็นอำนาจของนักการเมืองคนใดหรือกลุ่มใด
เพื่อไทย
Monday, April 19, 2010
จุดเปลี่ยนหรือจุดหายนะ?
โดย สุรชัย ปากช่อง