โดย เรืองยศ จันทรคีรี
เรื่องของบุรีรัมย์ที่ กกต. มีการให้ใบแดงว่าที่ ส.ส. ของพรรคพลังประชาชนจำนวน 3 ราย ตอนแรกๆผมคิดว่ามันคงไม่มีปัญหาอะไรนัก...แต่เมื่อหยิบเรื่องมาศึกษาในรายละเอียดพบว่าประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเสียแล้ว...เป็นการให้ใบแดงที่น่าจะผิดสังเกต และ กกต. ก็คงอธิบายกับสังคมให้แจ่มแจ้งได้ยากนัก?
มีข้อน่าสังเกตอยู่ประการหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อมูลที่เพิ่งจะโผล่ขึ้นมา เพราะจากหลักฐานและข้อมูลต่างๆ แม้กระทั่งการแถลงของ กกต.กลางก็ยังระบุออกมาว่า “การให้ใบแดงว่าที่ ส.ส.บุรีรัมย์ถือเป็นข้อเสนอของ กกต.จังหวัด” อย่างไรก็ตาม ก่อนเรื่องจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษนั้น นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “พรรคได้เตรียมข้อมูลเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาในวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อพิจารณามติของ กกต. ในการให้ใบแดงแก่ 3 ว่าที่ ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 1 พปช. ซึ่งมีข้อมูลใหม่ปรากฏขึ้นมา ทั้งจากเอกสารและการบันทึกคำพูดของ กกต จังหวัดบุรีรัมย์ มีการยืนยันว่าไม่เคยเสนอ กกต.กลางสำหรับการให้ใบแดงดังกล่าว”
ข้อมูลใหม่ตรงนี้ท่าทางจะกระทบกระเทือนตั้งแต่ยอดเขากระโดนในจังหวัดบุรีรัมย์มาจนถึงสำนักงานใหญ่ กกต. ในกรุงเทพมหานครค่อนข้างจะชัดเจน แต่ท้ายที่สุดแล้วคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษก็พิจารณาเรื่องว่าผ่าน โดยเห็นว่า กกต. ดำเนินการต่างๆไปอย่างถูกต้องตามกระบวนการและตัวบทกฎหมายทุกประการ!
เรื่องของใบแดงที่จังหวัดบุรีรัมย์ถึงจะเกมไปเรียบร้อย แต่ก็ยังมีปัญหาอีกหลายข้อสงสัย ตั้งแต่การกระทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตรงนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่มีหลายฝ่ายตั้งคำถาม โดยเฉพาะคุณสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจกรรมพรรคการเมือง ซึ่งก็ยอมรับว่า “การให้ใบแดงแก่ 3 ว่าที่ ส.ส.บุรีรัมย์เป็นผลจากการประชุมเพื่อรับฟังสำนวนที่ กกต. ส่งให้สันติบาลลงไปสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม...โดย พล.ต.ต.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล รอง ผบ.ก.สันติบาล เป็นผู้เสนอ ที่ผ่านมาในหลายจังหวัดเห็นว่ามีมูล จึงให้สันติบาลแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมสอบสวนเพิ่มเติม...”
พล.ต.ต.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ในฐานะประธานอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต. จึงมีส่วนเป็นด้านหลักสำหรับกรณีสนับสนุนการแจกใบแดงที่บุรีรัมย์ ตรงนี้นับเป็นอีกข้อสังเกตในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ...ดูออกจะวกวนอย่างไรชอบกล เพราะ กกต.กลางก็เคยแถลงว่าได้มอบหมายอำนาจให้ กกต.จังหวัดดำเนินการสอบสวนว่าที่ ส.ส. ซึ่งถูกใบแดง ...ตกลงเลยไม่รู้ว่าเป็น กกต.จังหวัดหรือฝ่ายสันติบาลกันแน่ที่เล่นบทเป็นพระเอกในเรื่องนี้? อีกประเด็นต่อมาที่เป็นจุดบอดใหญ่ก็คือคำถามว่าการเข้ามาเป็นอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต. ของ พล.ต.ต.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เป็นการเข้ามาทำหน้าที่โดยผ่านการเห็นชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่? ...ตรงนี้เป็นคำถามใหญ่เหลือเกิน มีข้อเท็จจริงอยู่ประการหนึ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง” ขึ้นมาเพื่อคอยประสานงานและทำภารกิจในเรื่องดังกล่าวนี้ ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยฯนี้มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร. ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ เป็นไปตามคำสั่งของ ผบ.ตร. ประเด็นของ พล.ต.ต.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ซึ่งเป็นการประสานของ กกต.กลางเข้าไปสู่สังกัดหน่วยงานสันติบาล โดยตรงนั้นได้ผ่านขั้นตอนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ อันนี้เป็นคำถามที่มีแง่มุมให้ตีความได้ว่ามันเป็นขั้นตอนที่ถูกต้องหรือไม่? เพราะถ้าขั้นตอนตรงนี้ไม่ถูกต้องก็ย่อมส่งผลเรื่อง 3 ใบแดงที่เขต 1 บุรีรัมย์ เพราะ พล.ต.ต.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ในฐานะประธานอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต. เป็นผู้ชงเรื่องนี้ขึ้นมา ถ้าขั้นตอนการแต่งตั้งไม่ถูกต้อง...เรื่องใบแดงทั้ง 3 ใบนั้นจะเป็นปัญหาหรือไม่อย่างไร?...แต่เมื่อกฤษฎีกาชี้ว่าถูกก็คงถูกครับ มีข้อเท็จจริงอีกด้านที่ควรรับทราบ นายสมชัย จึงประเสริฐ นั้นเป็น กกต.ฝ่ายสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กกต. ตามกฎหมายเลือกตั้ง กกต. ก็สามารถจะร้องขอไปยังหน่วยราชการใดก็ได้เพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นให้เข้ามาช่วยงาน กกต. ในระหว่างการเลือกตั้ง ระยะแรกมีตำรวจ 1,200 นาย ซึ่ง กกต.ฝ่ายสืบสวนสอบสวนแต่งตั้งขึ้นมา...ในจำนวนเหล่านี้ไม่มีสินติบาลเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด!
จนกระทั่งวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 คุณอภิชาติ สุขัคคานนท์ ในฐานะประธาน กกต. ได้มีคำสั่งที่ 300/50 แต่งตั้ง “คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตามมติ กกต.” รวมทั้งมีคำสั่งที่ 98/2550 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน ก็เป็นคำสั่งเรื่องสรรหาบุคลากรมาทำหน้าที่สืบสวนและวินิจฉัย ในส่วนที่เป็นตำรวจทั่วประเทศ 1,200 นาย ก็มีการมอบอำนาจให้ “คุณสมชัย จึงประเสริฐ เป็นผู้สั่งการ...” ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 ก็มีคำสั่งอีกครั้งของประธาน กกต. เป็นคำสั่งที่ 358/2550 ให้แต่งตั้งสันติบาลจำนวน 708 นายเข้ามาปฏิบัติหน้าที่... เบื้องหลังของคำสั่งดังกล่าวนี้เป็นการขอมาจากคุณสดศรี สัตยธรรม ภายหลังเวลาที่พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ได้เข้าไปย่างกรายถึง กกต.กลางเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550... สถานการณ์ที่มีการออกคำสั่งเช่นนี้ แล้วให้สันติบาลเข้ามาทำงานเป็นประเด็นที่น่าตั้งคำถามว่าทาง กกต. ได้ประสานงานไปยังศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วหรือไม่? ประเด็นของใบแดง 3 ใบที่จังหวัดบุรีรัมย์มันไม่ใช่เรื่องขี้แพ้ชวนตี แต่เป็นปัญหาในขั้นตอนการดำเนินงานของ กกต. โดยตรง คลุมเครือทั้งขั้นตอนแต่งตั้งสันติบาล ขอบเขตการปฏิบัติงานของ กกต.กลางและ กกต.จังหวัด แม้กระทั่งการแต่งตั้งนายตำรวจที่สงสัยว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแกนนำม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย... ทุกประเด็นและทุกขั้นตอนมีคำถาม...แม้เรื่องราวเหมือนจะจบแล้ว เมื่อโยนไปให้กฤษฎีกาชุดพิเศษที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณา...แต่ผมเชื่อว่ากรณีของบุรีรัมย์ยังคงค้างคาใจใครต่อใครไปอีกนาน... มันไม่จบจากใจคนครับ?
คิดเหนือข่าว
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 9 ฉบับที่ 2198 ประจำวัน พุธ ที่ 9 มกราคม 2008