คล้ายกับการมองข้ามไปยังแนวโน้มที่พรรคพลังประชาชนจะถูกยุบของ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ แห่งพรรคมัชฌิมาธิปไตย จะเป็นเงาสะท้อนหนึ่งของความเพ้อฝัน
เพราะว่านี่มิได้เป็นการมองและสรุปเป็นหนแรกของ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์
ตรงกันข้าม นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และหลายคนที่แวดล้อมอยู่โดยรอบในพรรคมัชฌิมาธิปไตยก็มีความเชื่อเช่นนี้ตั้งแต่ต้น
การร้องทุกข์กล่าวโทษโดย นายวีระ สมความคิด จึงเสริมความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น
การนำความขึ้นฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีการเมืองโดย นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยิ่งทำให้ความเพ้อฝันแปรเปลี่ยน
แปรเปลี่ยนเป็นความใฝ่ฝัน
ยิ่งเมื่อมีการทำสำนวนกรณี นายยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้สมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วน กลุ่มจังหวัดที่ 1 พรรคพลังประชาชนว่าอาจผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 ยิ่งทำให้ความใฝ่ฝันของ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นเอกภาพกับความใฝ่ฝันของพรรคประชาธิปัตย์มากยิ่งขึ้น
ในเมื่อพรรคไทยรักไทยก็เคยถูกยุบมาแล้ว โอกาสที่พรรคพลังประชาชนจะถูกยุบย่อมมีความเป็นไปได้
การเคลื่อนไหวที่กระตือรือร้นอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็น นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หรือ พรรคประชาธิปัตย์ จึงพ้นไปจากเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแล้วอย่างเกือบจะสิ้นเชิง เพราะประเด็นได้ขยับขับเคลื่อนมาสู่ประเด็นเรื่องการยุบพรรคพลังประชาชนมากกว่า
กล่าวในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล แม้จะได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่บทบาทนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ก็เท่ากับสูญ
เพราะถูกปฏิเสธจากบรรดา ส.ส.จำนวน 6 คน ที่มีอยู่ของพรรค
ขณะเดียวกัน กล่าวในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ แม้กระทั่งพันธมิตรในแนวร่วมโดยพื้นฐานอย่าง พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน ก็มิอาจรั้งดึงไว้ได้
ยิ่งกว่านั้น แม้ด้วยพลานุภาพอันลึกลับทางการเมืองที่ดำรงอยู่จะยังสามารถรั้งดึง พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน เอาไว้อยู่ แต่ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะกวาดต้อนเอา พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคประชาราช มาเป็นพวกได้
ความหวังในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคพลังประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์จึงริบหรี่และหมดความหมายไปอย่างสิ้นเชิง
ที่ยังเหลืออยู่จึงเป็นประเด็นในเรื่องการยุบพรรคพลังประชาชนมากกว่า
ใครที่ประเมินการต่อสู้ทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ว่ามีจุดเริ่มต้นจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 อาจเป็นการประเมินที่ไม่ถูกต้อง ครบถ้วน
แท้จริงแล้ว เป็นการต่อสู้ตั้งแต่เมื่อแรกที่มีการจัดตั้งพรรคไทยรักไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2541 มากกว่า
และเพิ่มความเข้มข้นในห้วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป สมัย 6 มกราคม 2544
ความหวังของพรรคประชาธิปัตย์ในตอนนั้นวางน้ำหนักอยู่ที่คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.เมื่อเดือนธันวาคม 2543 ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน
แต่แล้วพรรคไทยรักไทยก็ได้รับเลือกมากถึง 248 จาก 500
รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ส่งผลสะเทือนให้พรรคไทยรักไทยถูกคำวินิจฉัยจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ยุบในเดือนพฤษภาคม 2550
แต่แล้วพรรคพลังประชาชนก็ได้รับเลือกมาถึง 233 จาก 480
เมื่อไม่สามารถขจัดพรรคไทยรักไทยได้โดยกระบวนการรัฐประหาร โดยกระบวนการยุบพรรค เพราะพรรคไทยรักไทยได้เกิดใหม่เป็นพรรคพลังประชาชน ความหวังที่เหลืออยู่จึงวางน้ำหนักไว้กับการยุบพรรคพลังประชาชนอีกครั้งหนึ่ง
เป็นความหวังร่วมของพรรคประชาธิปัตย์ และ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์
การเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่จุดที่ยากประนีประนอมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
เด่นชัดยิ่งว่า เป็นการเมืองในลักษณะทำลายล้าง เป็นการทำลายล้างบนพื้นฐานของการบ่าวประกาศในเรื่องสมานฉันท์และปรองดอง
เป็นการทำลายล้างโดยไม่สนใจต่อเจตจำนงร่วมประชาชนที่สำแดงผ่านการเลือกตั้ง