การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองจะเป็นกุญแจที่สำคัญต่อการพัฒนาบ้านเมืองให้พ้นจากความปัญญาอ่อนของอำมาตยาธิปไตยไทยโดยเร็ว และจะต้องไม่เปิดช่องให้อำมาตย์เจ้าเล่ห์ทั้งหลายเข้ามาเสี้ยมได้
พออดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร กลับคืนสู่ประเทศไทย เสียงวิจารณ์ว่าบัดนี้เรามีนายกรัฐมนตรีซ้อนกันสองคนก็กระหึ่มขึ้น
ขนาดเจ้าตัวแถลงแล้วแถลงอีกว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ขออยู่กับครอบครัวให้มันสมใจกับที่จากกันไปนาน อย่างมากก็อาจจะเป็นที่ปรึกษาแบบไม่มีตำแหน่งในรัฐบาลบ้างเท่านั้น คนก็ยังเชื่อว่าภูมิทัศน์ทางการเมืองจะเปลี่ยนไปตามความเคลื่อนไหวของคุณทักษิณอยู่นั่นเอง
เรื่องแบบนี้พูดยาก คงจะใช้เวลาและความจริงเท่านั้นที่จะสยบความเคลื่อนไหวนั้นได้
ความจริงการมีคนเก่งๆถึงสองคนมาร่วมกันบริหารชาติบ้านเมืองในคราวเดียวกันก็คงไม่เลวนัก แต่เขาคงกลัวความปีนเกลียวระหว่างผู้ใหญ่ทั้งสองคน ซึ่งอาจจะสร้างความชุลมุนวุ่นวายมาก
คนที่มองอย่างนั้นออกจะประเมินความเป็นผู้ใหญ่ของท่านนายกรัฐมนตรีและคุณทักษิณต่ำไปหน่อย
คือไปมองว่าคุณทักษิณจะไปแย่งคุณสมัครทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือไม่ก็มองว่าคุณสมัครเองคงจะเกิดวิตกจริตเมื่อเอ่ยชื่อคุณทักษิณขึ้นมาจนไม่เป็นอันทำงานเหมือนกัน
ประเด็นคือทั้งสองท่านไม่ใช่เด็กอนุบาล และเท่าที่ทราบจากคนใกล้ชิด ทั้งสองท่านก็มีความรักใคร่นับถือกันและกันเป็นอย่างยิ่งด้วย
คุณทักษิณซาบซึ้งใจที่คุณสมัครยอมลำบากมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยร่วมกันก่อตั้งขึ้นใหม่ ทั้งที่ขณะนั้นไม่รู้เลยว่าจะออกหัวก้อยอย่างไร ตัวคุณสมัครเองก็อยู่ในวัยที่อ้างได้ตลอดว่าขอพักผ่อนเสียที
คุณสมัครนับถือคุณทักษิณว่าเป็นผู้นำการเมืองรุ่นน้องที่มีความสามารถสูง และทำอะไรให้กับบ้านเมืองหลายอย่าง โดยเฉพาะในบางโครงการที่คุณสมัครเคยพูดถึงฝันถึง แต่ไม่เคยได้รับอำนาจรัฐแบบเต็มไม้เต็มมือสักครั้งเลย
ความรู้สึกบวกๆนี้ควรแรงพอที่จะกลบทับความแตกต่างในสไตล์และบุคลิกภาพระหว่างคนทั้งสองได้
มองจากมุมคนไทยที่รู้จักทั้งคุณสมัครและคุณทักษิณ ได้แต่นึกว่าถ้านำจุดเด่นของแต่ละคนมารวมกันแล้วมารับใช้ชาติอย่างเป็นระบบ บ้านเมืองจะได้คณะผู้บริหารประเทศที่เข้มแข็งอย่างยิ่ง
ความเด่นของคุณทักษิณนั้นชัดเจนอยู่ นั่นคือการมองปัญหาได้ครบทั้งกระบวนการและรู้จักวางวิธีการอันแยบยลที่จะบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหานั้นๆ อีกประการหนึ่งคือความเชื่อมั่นในลัทธิ "เราทำได้" หรืออย่างที่คนอเมริกันชอบเรียกว่า can-do spirit ทำให้เกิดทัศนะ "พุ่งตรงไปข้างหน้า" และใช้เวลาเพียงน้อยนิดกับอดีตหรือประวัติศาสตร์
บางครั้งจึงเกิดปัญหาการ "ละเมิด" พื้นที่หวงห้ามหรือเขตศักดิ์สิทธิ์ได้โดยง่าย และกลายเป็น "จุดตาย" ของคุณทักษิณในเวลาต่อมา
ส่วนคุณสมัครก็เป็นนักคิดเชิงนโยบายมาตลอดชีวิต แต่ไม่ใช่คน "ใจร้อน" ที่จะนำนโยบายเหล่านั้นมาปฏิบัติ อาจเป็นเพราะไม่สบโอกาส หรือโดยธรรมชาติแล้วเป็นคนยอมรับสภาพที่ตนและบ้านเมืองดำรงอยู่ ไม่เปรี้ยงปร้างอย่างคุณทักษิณที่ตรงเข้ามาเปลี่ยนแปลง "สถานภาพเดิม" หรือ "status quo" เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในทันทีอย่างที่คุณทักษิณทำ
วิธีการของคุณสมัครจึงมีแนวโน้มที่จะไม่สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้กับใครจนถึงกับต้องออกมาตั้งกองต่อต้านกีดกัน หรือต้องให้สัญญาณไฟเขียวให้เหล่าผู้เสียประโยชน์มารวมตัวกันในภารกิจต่อต้าน เหมือนอย่างที่เขาทำกับคุณทักษิณ
ถ้าใครเก่งพอที่จะนำความก้าวไกลของคุณทักษิณมาผสานกับความรอบคอบระมัดระวังของคุณสมัครได้ เห็นจะหาใครในสนามการเมืองนี้มาเทียบเคียงได้ยาก อย่างน้อยก็ในชั่วโมงนี้
เมืองไทยก็จะได้รับประโยชน์มากจากสองครรลองของสองสิงห์
แต่ปัจจัยแปรปรวนที่ต้องควบคุมให้ดีคือลูกน้องของแต่ละฝ่ายที่จะนำเรื่องราวต่างๆมากรอกหูจนอาจเกิดความเข้าใจผิดกันได้ โดยเฉพาะเมื่อคุณทักษิณกลับเมืองไทยแล้ว แม้จะเข้าๆออกๆ อยู่ในห้วงแรกบ้าง เพราะจะมีคนเข้าถึงตัวได้มากกว่าตอนที่อยู่ต่างประเทศ
เรื่องนี้มาโชคดีที่นายกรัฐมนตรีสมัครไม่นิยมมีลูกน้องมากๆ และไม่ได้ฟังใครเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด จึงออกจะเป็นคนหูหนักเอาการอยู่
การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองจะเป็นกุญแจที่สำคัญต่อการพัฒนาบ้านเมืองให้พ้นจากความปัญญาอ่อนของอำมาตยาธิปไตยไทยโดยเร็ว และจะต้องไม่เปิดช่องให้อำมาตย์เจ้าเล่ห์ทั้งหลายเข้ามาเสี้ยมได้
วัสสการพราหมณ์ในเมืองไทยยังมีตัวอยู่นะครับ ไปอ่านทวน "สามัคคีเภทคำฉันท์" ให้ดีๆเถิด
"...อย่าติคะรู หลู่พระจะเลย ท่านสิเสวย ภัทกะอะไร..."
กาหลิบ
////////////////////////////////
คอลัมน์: เลือกคบไม่เลือกข้าง...
จากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับประจำวันที่ 3/03/2551