WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, March 26, 2008

'สนธิ' คนที่คุณไม่รู้จัก ตอนจบ

ในที่สุด ก็มาถึงตอนสุดท้ายของการตีแผ่เรื่องราวอีกด้านหนึ่งของ สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำจิตวิญญาณพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเนื้อหาในหนังสือ "อีกด้านหนึ่งของสนธิ" ที่บรรทัดทองคัดลอก มาให้กับท่านผู้อ่านได้รับรู้กันในตอนสุดท้ายนี้ เป็นชื่อตอน "ล้มระรื่น มิใช่ ล้มละลาย" ซึ่งอยู่ในหนังสือ"ล้มแล้วรวย อีกด้านหนึ่งของสนธิ เล่มที่ 2"

ตอน "ล้มระรื่น มิใช่ ล้มละลาย" ผู้เขียน ได้กระชากหน้ากาก สนธิ ลิ้มทองกุลโดยอรรถาธิบายพฤติกรรมอาชญากรเศรษฐกิจ ที่มาในคราบการปล้นของโจรเสื้อนอก ปล้นบริษัทของตัวเอง โดยโยนภาระความรับผิดชอบตกไปอยู่ที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยต้องเสียหายขาดทุนยับเยินจากการกระทำของสนธิ

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้อธิบาย ถึงหมากกลที่เหนือชั้นของสนธิ ประกาศต่อสาธารณะชนว่าเป็นบุคคลล้มละลายด้วยมูลหนี้ 151 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริง เขามีภาระหนี้ที่เขาก่อมากมายนับหมื่นล้านบาทกับความอหังการขยายอาณาจักร เดอะเอ็มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จนเดอะเนชั่น ทนดูพฤติกรรมที่สนธิก่อไว้ไม่ไหวต้องออกมาตีแผ่ความสามานย์ของโจรเสื้อนอก ที่ชื่อสนธิ ลิ้มทองกุล

ในตอน "ล้มระรื่น มิใช่ ล้มละลาย" ที่บรรทัดทองคัดลอกมานี้ ช่างมีเนื้อหาที่เหมาะเจาะกับชื่อของหนังสือเป็นที่สุด "ล้มแล้วรวย อีกด้านหนึ่งของสนธิ เล่มที่ 2"

เอาหล่ะครับ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลากันท่านผู้อ่าน เตรียมล้อมวงกันเข้ามา และถ้าเป็นไปได้ช่วยกันกวักมือเรียกพรรคพวกเพื่อนฝูงมา แล้วเรามารับรู้เรื่องราวของ สนธิ ลิ้มทองกุล ร่วมกันในเนื้อหาด้านล่างกันเลยดีกว่า

////////////////////////////////////////////////////////////////

ล้มระรื่น มิใช่ ล้มละลาย

ท่ามกลางความเลวร้ายอันเป็นผลพวงของวิกฤตที่เศรษฐกิจไทย ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ได้ก่อคุณูปการอย่างใหญ่หลวงประการหนึ่งขึ้นในวงการธุรกิจไทย นั่นคือ ทำให้ได้รู้เห็นว่าวิธีการปล้นของโจรเสื้อนอก หรือ อาชญากรเศรษฐกิจ ทำกันอย่างไร และได้นำมาสู่การสร้างมาตรการป้องกันการปล้นของโจรเสื้อนอก ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้

วันที่ 11 มีนาคม 2543 หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ บ้างพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง บ้างพาดหัวข่าวหน้าธุรกิจ เหมือนกับราวกับนัดกันไว้

"ศาลสั่ง สนธิ ล้มละลาย"

เป็นข่าวที่ดังเกรียวกราวที่สุดของวงการหนังสือพิมพ์ ในห้วงปีนั้น เนื่องจากความเป็นคนดังที่มีทั้งคนรัก และคนชัง ของสนธิ และความที่สนธิ เป็นกรณีตัวอย่างทั้งด้านบวก และด้านลบ หลายต่อหลายเรื่องให้กับคนในวงการหนังสือพิมพ์ ทำให้ข่าวชิ้นนี้ได้รับความสนใจหยิบยกขึ้นมานำเสนอต่อประชาชน จากเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการเดียวกัน มากเป็นพิเศษ

นัยว่าข่าวนี้ถูกเพื่อนๆ ในวงการนำเสนอทั้งด้วยความรัก ความชัง และความหมั่นไส้ ที่มีต่อสนธิ ลิ้มทองกุล

เนื้อหาของข่าวดังกล่าว มีอยู่ว่า .....

"ศาลล้มละลายกลางได้มีคำพิพากษากรณีธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท เดอะเอ็มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ที่ 1 และนายสนธิ ลิ้มทองกุล ลูกหนี้ที่ 2 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 โดยขอให้ศาลสั่งให้ลูกหนี้ทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย

ทั้งนี้ โจทก์ฟ้องว่า ลูกหนี้ที่ 1 ออกหุ้นกู้ประเภทมีหลักประกันทีเอ็มจี และขายหุ้นกู้ตามใบหุ้นลงวันที่ 20 เมษายน 2538 จำนวน 150,000 หุ้น เป็นเงิน 150,000,000 บาท ให้กับบริษัทเงินทุนหลัก ทรัพย์ นครหลวงเครดิต จำกัด ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 19 เมษายน 2540 โดยลูกหนี้ที่ 1 ยอมจ่ายดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์บวกหนึ่ง

ต่อมาโจทก์ซื้อหุ้นกู้จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นครหลวงเครดิต จำกัด โดยสลักหลังโอนหุ้นกู้ของลูกหนี้ที่ 1 ให้กับโจทก์ ทำให้โจทก์รับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ต่างๆ และเพื่อเป็นหลักประกันหนี้ ลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระของลูกหนี้ที่ 1 โดยยินยอมรับผิดชอบร่วมกัน

ภายหลังหุ้นกู้ดังกล่าวครบกำหนดไถ่ถอน ลูกหนี้ที่ 1 ไม่ไถ่ถอน แม้ทวงถามก็เพิกเฉย โจทก์จึงไปทวงถามลูกหนี้ที่ 2 ก็ยังเพิกเฉย ลูกหนี้ทั้งสองจึงเป็นหนี้โจทก์อยู่ 151,063,013.69 บาท การกระทำของลูกหนี้ทั้งสองเป็นการแสดงพฤติการณ์ให้เห็นชัดเจนว่า เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้ ต้องสันนิษฐานตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย

ศาลเห็นว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันของลูกหนี้ที่ 1 กล่าวคือ เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเหนือหลักทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ในทางจำนำตามมาตรา 6 เมื่อปรากฏว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องลูกหนี้ที่ 1 เป็นคดีล้มละลาย โดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 10 (2) คือมิได้กล่าวมาในฟ้องว่า เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยินยอมสละหลักทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ที่เป็นหลักประกันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักทรัพย์ประกันดังกล่าวมาในฟ้อง คำฟ้องของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับลูกหนี้ที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎ หมาย แม้ลูกหนี้ที่ 1 จะไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นมาพิจารณาได้เอง

ส่วนลูกหนี้ที่ 2 ต้องข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่า เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และตามลูกหนี้ที่ 2 ได้ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้ที่ 2 แสดงให้เห็นว่าได้พยายามขวนขวายชำระหนี้ให้โจทก์แต่ประการใด กรณีนี้จึงไม่อาจฟังได้ว่า ลูกหนี้ที่ 2 ไม่สมควรเป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด

ศาลจึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาด ให้ลูกหนี้ที่ 2 ชดใช้ค่าธรรมเนียมแทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ สำหรับค่าทนายความ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้กำหนดให้ตามที่เห็นสมควร

พิพากษายกฟ้องของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เฉพาะ บริษัท เดอะเอ็มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ที่ 1 ให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนลูกหนี้ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 2 พันบาท"

คำพิพากษานี้ หากพิจารณาเพียงชั้นเดียว ก็จะเชื่อโดยสุจริตใจว่า สนธิ ลิ้มทองกุล เจ็บปวดกับการต้องเป็นบุคคลล้มละลาย แต่หากมองมากกว่าหนึ่งชั้น ก็จะต้องถือว่าสนธิ โชคดีมาก ที่เขาล้มละลายด้วยมูลหนี้เพียง 151 ล้านบาทเศษ ทั้งๆ ที่เขาเป็นผู้ที่ก่อหนี้มากมายนับหมื่นล้านบาท กับการลงทุนสร้างอาณาจักร เดอะเอ็มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

หาคนเชื่อได้น้อยมากว่าสนธิ เจ็บปวดจริงๆ กับการถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายในวันนั้น เหมือนๆ กับที่สนธิ ก็ไม่เชื่อว่า พร สิทธิอำนวย เจ้านายเก่าของเขา เจ็บปวดจริงๆ กับการล่มสลายของอาณาจักร PSA ในอดีตเมื่อครั้งที่เขายังฟูเฟื่องในฐานะขุนพลคนหนึ่งของตึกดำ

หากแต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าสนธิ ยินดีอย่างยิ่งกับการเป็นบุคคลล้มละลาย ด้วยมูลหนี้เพียง 151 ล้านบาทเศษ ในขณะที่เขาก่อหนี้ไว้มากกว่ามูลหนี้จำนวนนี้นับร้อยเท่า และไม่มีใครบอกได้ว่าสนธิ นำเงินได้จากการก่อหนี้ไปลงทุนในธุรกิจจริงๆ หรือนำไปใช้เพื่อความสุขสบายในชีวิตของตนเอง

คำสั่งศาลให้เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของสนธิ ทั้งด้านชีวิตส่วนตัว และการดำเนินธุรกิจ

สนธิ ยังคงใช้ชีวิตอย่างสุขสบายอยู่ในคฤหาสน์ 4 หลังงาม ในรั้ว "พีเค วิลล่า" บนถนนสุโขทัย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่จัดตั้งรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา และเป็นสวรรค์ชั้นเจ็ดสำหรับเขากับสาวงาม ที่หาซื้อได้ด้วยเงินตรา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

นอกเหนือจากคำสั่งศาลให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว สนธิ ลิ้มทองกุล ยังมีคดีติดตัว และเป็นคดีเศรษฐกิจที่เข้าข่ายการฉ้อโกงบริษัทมหาชน หรือ ฉ้อโกงประชาชน ที่เรียกกันว่าเป็นอาชญากรเศรษฐกิจ จากกรณีที่ถูกกลต. กล่าวโทษว่ากระทำการทุจริต ปลอมมติผู้ถือหุ้น บริษัท แมเนเจอร์มีเดียกุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MGR ไปค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ เดอะเอ็มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งข่าวนี้ถูกตีแผ่ไปทั่วโลก โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่รายงานว่า ...

ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้เข้าแจ้งความต่อกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ(สศก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม เพื่อกล่าวโทษให้ดำเนินคดี 4 อดีตกรรมการ บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป(MGR) ได้แก่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสุรเดช มุขยางกูร น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ และน.ส.ยุพิน จันทนา กรณีร่วมกันปลอมเอกสารประกอบการทำสัญญาในนามของ MGR เพื่อค้ำประกันเงินกู้ 1,078 ล้านบาท ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป(TMG) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MGR โดยที่คณะกรรมการ MGR ไม่ได้รับทราบ จนทำให้ MGR เสียหายอย่างมากในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีมีผู้ร้องเรียนก.ล.ต. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2542 ว่า บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง(IEC)ไม่เปิดเผยข้อมูลการค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้แก่ TMG ซึ่งก.ล.ต.ได้ตรวจ สอบพบเป็นจริงและกล่าวโทษอดีตผู้บริหาร IEC ไปแล้ว แต่ระหว่างการตรวจสอบกรณี IEC นั่นเองก็พบหลักฐานที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้แก่ TMG ว่า มี MGR ร่วมค้ำประกันเงินกู้ 1,078 ล้านบาทนี้ด้วยเช่นกัน และต่อมา TMG ได้ผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลให้ MGR ต้องรับภาระเป็นผู้ชำระหนี้แทนถึง 259 ล้านบาท

จากการตรวจสอบสัญญาที่ MGR ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวรวม 6 ฉบับ ระหว่าง 30 เมษายน 2539 ถึง 31 มีนาคม 2540 พบมีการลงนามโดยบุคคลทั้ง 4 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ MGR โดยคณะกรรมการ MGR ไม่ได้รับทราบด้วย และไม่ได้เปิดเผยให้ถูกต้องในงบการเงินของ MGR จึงเป็นการกระทำผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตราด้วยกัน ด้วยเป็นการกระทำโดยทุจริต ใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายไปแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้เพื่อผู้อื่น จนเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและผลประโยชน์ของ MGR รวมทั้งการปลอมสำเนารายงานประชุมคณะกรรมการ MGR เพื่อลวงให้กรุงไทยหลงเชื่อ และการไม่เปิดเผยข้อมูลการค้ำประกันเงินกู้ ทำให้ผู้ลงทุนได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนตามความจริงจนเสียหายต่อการตัดสินใจลงทุน

หนังสือพิมพ์กระแสหุ้น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวนี้ เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 307 และ 311 แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลอาญากฎหมายอาญา กรณีการกระทำดังกล่าวของบุคคลทั้ง 4 ราย เป็นการกระทำทุจริตโดยใช้อำนาจที่ตนได้รับมอบหมายแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้เพื่อผู้อื่น อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและผลประโยชน์ของ MGR โดยตรง

ทั้งนี้ กรณีความผิดทั้ง 3 ข้อดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 -1,000,000 บาท

พฤติกรรมของสนธิ ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยกลต. นั้น หากกล่าวภาษาชาวบ้าน กล่าวกันง่ายๆ ก็คือ การปล้นบริษัทตัวเอง นั่นเอง เพราะสนธิ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MGR แต่กลับเอา MGE ไปค้ำประกันเงินก็ให้กับเอ็มกรุ๊ป จนเป็นเหตุให้ MGR ต้องรับผิดชอบภาระหนี้ที่เอ็มกรุ๊ป ก่อไว้มากกว่า 1,000 ล้านบาท และเป็นเหตุให้ MGR และผู้ถือหุ้นรายย่อยของ MGR ต้องเสียหาย ขาดทุนย่อยยับจากการกระทำของสนธิ ในครั้งกระนั้น

ทั้งๆ ที่เป็นบุคคลล้มละลาย และเป็นผู้ต้องหาคดีเศรษฐกิจ เป็นผู้ต้องหาคนสำคัญของ กลต. แต่ สนธิ ไม่ได้มีทีท่าเดือดร้อนกับชะตาชีวิตของเขา และไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเองอีก

สนธิยังทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยหยุดแม้แต่วันเดียว และมีความสุขสบายในการทำธุรกิจมากขึ้นอีกด้วย กับการที่ไม่ต้องรับภาระและความรับผิดชอบใดๆ ในทางกฎหมาย เนื่องจากสถานะบุคคลล้มละลายของเขานั่นเอง

ช่วงแรกของการทำธุรกิจในนามของบุคคลล้มละลาย สนธิ ลิ้มทองกุล ใช้ตัวแทนหรือโนมินีหลายคน ซึ่งในจำนวนนั้น มี จิตตนารถ ลิ้มทองกุล ลูกชายของเขา และ พชร สมุทวนิช ลูกชายของ ชัยอนันต์ สมุทวนิช ผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธ ไปเปิดบริษัทเล็กๆ ที่ไม่มีใครเคยได้ยินชื่อ แต่ยังคงทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน เช่นเดิม เช่น บริษัทเวิล์ดไวด์มีเดีย จำกัด ทำธุรกิจสื่อโทรทัศน์ รายการก่อนจะถึงจันทร์ รายการเมืองไทยรายวัน เมืองไทยรายสัปดาห์ และรายการวิทยุ คลื่นเอฟเอ็ม 97.5 เวปไซต์ manager.co.th

สื่อใหม่ๆ เหล่านี้ เป็นกลไกลทางธุรกิจที่สำคัญของสนธิ ลิ้มทองกุล ในการทำรายได้จากการเวลาและพื้นที่โฆษณาให้กับหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ที่ถูกจัดให้มาเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของสนธิ และผูกปีเป็นขาประจำกันชนิดที่สื่ออื่นๆ ได้แต่มองตาปริบๆ

การทำธุรกิจภายใต้ชื่อบุคคลอื่นของสนธิ เป็นที่สนใจใคร่รู้ของเพื่อนๆ ในวงการว่าการกลับมารอบนี้ เขาจะไปได้สักกี่น้ำ และจากความสนใจก็กลายมาเป็นการจ้องมองเพื่อตรวจสอบว่าสนธิ กำไต๋ อะไรไว้ในมือ จึงกล้าลงทุนมากมาย ขยายกิจการไปทุกด้าน เปิดแนวรบทุกทิศ ทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เวปไซต์ และดาวเทียม ซึ่งคาดการณ์กันว่าสนธิ ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่าหลักพันล้านบาท กับการบุกเบิกกิจการใหม่ๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักสำหรับบุคคลที่อยู่ในภาวะล้มละลาย

แต่สนธิ ในวันนั้นไม่ได้มีสภาพเหมือนบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด เขาสามารถหาเงินมาลงทุนได้ หาเงินไปล่าซื้อตัวคนเก่ง คนดีๆ จากทุกค่าย ทุกสำนักข่าวมารวมตัวกันอยู่ในอาณาจักรของเขา อย่างที่ทุกคนได้แต่ยืนมองด้วยความประหลาดใจ

ไม่มีใครรู้ว่าสนธิ มีอยู่ในมือ หรือ ซ่อนไว้ในบัญชีของใครเท่าไร และทำไมทางการจึงตรวจไม่พบทรัพย์สินเหล่านี้

เดอะเนชั่น เป็นสื่อมวลชนรายแรกที่ตรวจสอบสนธิอย่างเข้มข้น ด้วยการทำสกู๊ป 4 ตอนรวดเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของการลดหนี้กว่า 6 พันล้าน ให้หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และเอ็มกรุ๊ป ซึ่งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ล้วนเป็นสถาบันการเงินของรัฐ โดยบรรณาธิการเนชั่นยืนยันเป็นการเสนอข่าวตามปกติ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง

หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ในหน้าเศรษฐกิจ ฉบับวันอังคารที่ 9 เมษายน 2544 รายงานว่า เจ้าหนี้ของบริษัท เอ็ม กรุ๊ป อาจยอมตัดยอดหนี้ 70% จากทั้งหมด 6,070 ล้านบาท ตามแผนปรับโครงสร้างของบริษัทในไตรมาส 3 ของปีนี้

บริษัทเอ็ม กรุ๊ป ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ประสบปัญหาทางการเงินตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540

เดอะเนชั่น อ้างแหล่งข่าวในกลุ่มเจ้าหนี้ เปิดเผยว่า เจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัทเอ็ม กรุ๊ป เช่น บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย ลงความเห็นร่วมกันว่า บริษัทดังกล่าวไม่สามารถหารายได้เพียงพอชำระหนี้ที่มีอยู่ และจะเชิญผู้ลงทุนภายนอกจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับเอ็ม กรุ๊ปและซื้ออาคารสำนักงานของบริษัท

"เราเชื่อว่าการปรับลดยอดหนี้ จะเป็นทางออกที่ดีกว่าการขายหลักทรัพย์ที่จำนองไว้ การขายหลักทรัพย์ที่จำนองไว้จะสามารถชำระหนี้ได้เพียง 5-10% ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้จะช่วยให้เจ้าหนี้ได้รับเงินคืน 20-30%"

นอกจากนี้บรรดาเจ้าหนี้เตรียมจะให้หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเอ็ม กรุ๊ป ที่รับประกันเงินกู้ของบริษัท ชำระหนี้บางส่วน แต่แหล่งข่าวไม่ได้เปิดเผยชื่อของผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือจำนวนเงินกู้ที่ต้องชำระคืน

ทั้งนี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในเอ็ม กรุ๊ป ซึ่งถือหุ้น 44.82% ยังคงถูกจัดเป็นบุคคลล้มละลายภายใต้กฎหมายล้มละลาย และจะพ้นสถานะดังกล่าวในวันที่ 18 มีนาคม 2546

เดอะเอ็ม กรุ๊ป เป็นบริษัทแม่ที่มีบริษัทในเครือจำนวนมาก รวมทั้ง ผู้จัดการ มีเดีย กรุ๊ป(MGR) ที่พิมพ์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เดิมมีหนังสือพิมพ์เอเชีย ไทม์ส และเอเชีย อิงค์ รวมทั้งบริการออนไลน์ และการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และการสื่อสารดาวเทียม

เอ็มจีอาร์ และบริษัทในเครือส่วนใหญ่ของเอ็ม กรุ๊ป ซึ่งรวมถึง อีสเทิร์น พรินต์ติง(EPCO) ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จเรียบร้อยแล้วในช่วงปี 2543-2544

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างหนี้เอ็ม กรุ๊ป ดำเนินการล่าช้ากว่าบริษัทในเครืออื่นๆหนึ่งในบรรดาเจ้าหนี้รายใหญ่ กล่าวว่า สถานะทางการเงินที่มีปัญหาของบริษัททำให้ประกอบธุรกรรมได้น้อยไม่เพียงพอสร้างรายได้ ส่วนรายได้ที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียวของเอ็ม กรุ๊ปคือ เงินที่ได้จากบริษัทในเครือ

เดอะเนชั่น อ้างนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทิสโก้ ให้ความเห็นว่า รายงานแสดงสถานะทางการเงินของ MGR และEPCO ยังคงมียอดขาดทุนสุทธิและยอดขาดทุนสะสมสูงขึ้นเมื่อเทียบกับบริษัทสำนักพิมพ์อื่นๆ MGR รายงานว่ายอดรายได้เพิ่มขึ้น 12.5% และมีกำไรในปี 2544 แต่ยังไม่สามารถตัดยอดหนี้และยอดขาดทุนสะสมได้

เมื่อปลายปี 2543 เอ็ม กรุ๊ปรายงานยอดขาดทุนสุทธิ 329.9 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากยอดขาดทุนปี 2542 เป็นจำนวน 162 ล้านบาท

และในปี 2544 เมื่อรัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศ ฐานะการเงินของMGR ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากได้รับสัญญาทำรายการโทรทัศน์ ได้แก่ รายการ"ก่อนจะถึงวันจันทร์"และรายการข่าวและสัมภาษณ์"เมืองไทยรายวัน"

ทั้งสองรายการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ของภาครัฐและได้รับสปอนเซอร์จากกิจการของรัฐ หรือบริษัทที่เคยเป็นกิจการของรัฐ เช่นธนาคารกรุงไทย ปตท. และ การบินไทย ฯลฯ

MGRยังได้รับสิทธิจัดรายการวิทยุทางคลื่นเอฟเอ็ม 99.5 ซึ่งมีรายได้จากโฆษณาของรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง

ในตอนท้าย เดอะเนชั่น ยังได้บอกว่า นี่คือ 1 ใน 4 ตอน ที่จะตีพิมพ์เกี่ยวข้องกับเครือเอ็มกรุ๊ป ในยุครัฐบาลภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นายพนา จันทรวิโรจน์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น บอกว่า การนำเสนอรายงานดัง กล่าว เป็นการนำเสนอข่าวปรับโครงสร้างตามปกติธรรมดา เหมือนกับการเขียนรายงานทั่วไป ไม่ได้เป็นประเด็นที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังเป็นพิเศษ และก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ก็เคยเสนอเรื่องดังกล่าว แต่ไม่มีข้อมูลอะไรมากนัก ดังนั้น ทางเดอะเนชั่นจึงได้ติดตามหาข้อมูลเพิ่มเติมมานำเสนอ ซึ่งได้ข้อมูลที่คืบหน้าพอสมควร โดยแบ่งเนื้อหานำเสนอทั้งหมด 4 ตอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ คอลัมน์ "ป้อมพระสุเมรุ" ในเว็บไซต์ www.manager.co.th ที่เขียนโดย รุ่งอรุณ สุริยามณี ได้เขียนถึงความขัดแย้งในกลุ่มเนชั่น ทำให้ผู้บริหารของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น นำเรื่องการปรับโครงสร้างของเอ็ม กรุ๊ป มานำเสนอบ้าง

สกู๊ปตอนที่ 2 ของ เดอะเนชั่น หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ระบุว่า อาณาจักรทางธุรกิจของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้โอกาสต่อลมหายใจอีกครั้ง โดยเบนเข็มจากสิ่งพิมพ์เป็นวงการโทรทัศน์ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทย ทำให้นายสนธิ ได้สัญญาผลิตรายการสถานการณ์ข่าวทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ได้แก่ รายการ ก่อนจะถึงวันจันทร์ และเมืองไทยรายวัน

รายการก่อนจะถึงวันจันทร์ได้รับสปอนเซอร์จากรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น ธนาคารกรุงไทย การบินไทย และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นต้น และรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ยังให้สปอนเซอร์รายการเมืองไทยรายวันด้วย รายการนี้ผลิตโดยบริษัท ไลฟ์ ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นอีกบริษัทหนึ่งของนายสนธิ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของเอ็ม กรุ๊ป เป็นเจ้าของ

เดอะเนชั่น อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดนายสนธิ เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยปล่อยเงินกู้ให้กับไลฟ์ ไทยแลนด์ จำกัด ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ทั้งสองรายการจำนวน 40 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ยังได้สัญญาจัดรายการวิทยุนาน 3 ชั่วโมง ทางสถานีวิทยุคลื่น 99.5 โดยมีธนาคารกรุงไทย การบินไทย และปตท. เป็นสปอนเซอร์

การลงทุนผลิตรายการทางโทรทัศน์มีขึ้น แม้ว่าสองปีที่แล้วเอ็ม กรุ๊ป ปลดพนักงานเกือบ 1,000 คน ในบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

ในปี 2540 เอ็ม กรุ๊ปเผชิญ วิกฤติเศรษฐกิจ มีหนี้สินรวมกว่า 20,000 ล้านบาท โดยเฉพาะเอ็มกรุ๊ป มีหนี้ 6,000 ล้านบาท, แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป 4,700 ล้านบาท และโรงพิมพ์ตะวันออก 2,300 ล้านบาท

ขณะที่หนังสือพิมพ์เอเชีย ไทม์ส ขาดทุน 24 ล้านเหรียญสหรัฐ และเอ็ม กรุ๊ป ต้องรับประกันหนี้เงินกู้ 1,200 ล้านบาท ที่ธนาคารกรุงไทย อนุมัติให้บริษัท อินเตอร์แนชั่นแนล เอ็นจิเนียริงพีแอลซี(ไออีซี) ซึ่งนายสนธิ ซื้อกิจการไว้

เมื่อมองถึงภาระหนี้สินจำนวนมหาศาลและโอกาสสร้างกำไรยากมาก การอนุมัติสปอนเซอร์จากรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเอ็ม กรุ๊ป กับรัฐบาล รวมทั้งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มตรวจสอบความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างนายสนธิ กับนักการเมืองและนักธุรกิจชั้นนำบางคน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟื้นคืนชีพทางธุรกิจของนายสนธิหรือไม่

ปรากฏการณ์แมลงวันตอมแมลงวัน สื่อตรวจสอบสื่อที่เดอะเนชั่น เปิดเกมขึ้นนั้นได้รับการตอบรับอย่างชื่นชมจากนางอรุณีประภา หอมเศรษฐี คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ว่า เป็นเรื่องปกติที่สื่อจะนำเสนอเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องทางธุรกิจและข้อมูลที่สามารถเสนอเป็นข่าวได้ แต่ไม่ทราบว่า การเสนอข่าวดังกล่าวมีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ อย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่า การตัดสินใจของรัฐที่จะดำเนินการอะไรสักอย่าง จะมีทั้งกลุ่มที่ได้และเสียประโยชน์ เพียงแต่การปรับโครงสร้างครั้งนี้ เป็นกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสื่อ

"การที่สื่อตรวจสอบกันเองเป็นเรื่องดี เพราะคนที่ได้ประโยชน์คือ ประชาชน ประชาชนก็อยาก จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสื่อ สื่อมีความโปร่งใสแค่ไหน เพราะคนที่จะรู้เบื้องหลังเบื้องลึกก็จะมีเพียงคนที่อยู่ในวงการสื่อสารมวลชนเท่านั้น แมลงวันตอมแมลงวันบ้างก็ดี หากไม่ตอมกันเลยก็คงไม่ต้องตั้งสภาการหนังสือพิมพ์ฯขึ้นมา กลายเป็นสภามาเฟียไป"

สกู๊ปตอนสุดท้ายของ เดอะเนชั่น เป็นตอนที่สำคัญและมีทีเด็ดที่ทุกคนในวงการต้องตกตะลึง เมื่อเดอะเนชั่น เปิดเผยถึงวิธีการที่นายสนธิ ขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว และเป็นเจ้าของผ่านการถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งล้วนจดทะเบียนในเกาะบริติช เวอร์จิน

เดอะเนชั่น ระบุว่านายสนธิ เริ่มขยายธุรกิจสิ่งพิมพ์ โดยเริ่มจากซื้อกิจการนิตยสารเอเชีย อิงค์ในฮ่องกงนิตยสารบัซในแคลิฟอร์เนีย และเปิดตัวหนังสือพิมพ์เอเชีย ไทม์ส ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังขยายการลงทุนในด้านอื่นๆ เช่น กิจการดาวเทียมในลาว โรงแรมในมณฑลยูนานของจีน และโรงงาน ผลิตปูนซีเมนต์ในเวียดนาม เป็นต้น

การขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วทำให้หลายคนสงสัยว่า เขาหาเงินทุนจำนวนมากได้อย่างไร นายสนธิ เริ่มจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท แมนเนเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในฮ่องกงเมื่อปี 2533 หลังจากนั้นกิจการก็เริ่มขยายขอบเขตกว้างขวาง สามารถตั้งบริษัทใหม่ 4 แห่งภายในไม่กี่ปี และจนถึงปี 2538 นายสนธิ มีบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงนับสิบแห่ง

นายสนธิ แผ่ขยายกิจการที่มีเครือข่ายซับซ้อนเพื่อทำให้มีอำนาจควบคุมทางอ้อมมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ โดยใช้วิธีการถือหุ้นไขว้ นายสนธิ จะถือหุ้นโดยตรงในแต่ละบริษัทเพียงเล็กน้อย แต่จะมีอำนาจควบคุมจากการเป็นเจ้าของบริษัทโฮลดิ้ง ที่ซื้อหุ้นในบริษัทอื่นในเครือ และบริษัทโฮลดิ้งเหล่านี้รวมทั้งเอ็ม กรุ๊ป จดทะเบียนก่อตั้งที่เกาะบริติช เวอร์จิน

การดำเนินกิจการของหนังสือพิมพ์เอเชีย ไทม์ส เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด นายสนธิและผู้บริหารเอ็ม กรุ๊ป หลายคนถือหุ้นในหนังสือพิมพ์เอเชีย ไทม์ส จำนวนเล็กน้อย แต่บริษัท แมนเนเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ถือหุ้นใหญ่ในเอเชีย ไทม์ส และเอ็ม กรุ๊ป ก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในแมนเนเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

โครงสร้างดังกล่าวทำให้เสียภาษีน้อยลง และป้องกันการเกิดปัญหาทางการเงินได้มากขึ้น เจ้าหนี้และพนักงานของเอเชีย ไทม์ส ทราบภายหลังว่า โครงสร้างนี้เอื้อประโยชน์ให้นายสนธิ ไม่ต้องรับผิด ชอบเมื่อหนังสือพิมพ์ประสบปัญหาและต้องปิดตัวลง

และในปี 2539 นายสนธิ เริ่มประสบปัญหาทางการเงิน ธุรกิจในต่างประเทศก็ล้มพับแต่ไม่รุนแรงนัก กิจการดาวเทียมในลาวก็ล้มเลิกไป ขายนิตยสารเอเชีย อิงค์ให้พนักงานและผู้ร่วมลงทุนต่างชาติซื้อบริษัทเอเชียน แอดเวอร์ไทซิงและมาร์เก็ตติงไว้

นายสนธิ แสดงจุดยืนแข็งกร้าวเกี่ยวกับหนี้ต่างประเทศ และโน้มน้าวให้ลูกหนี้คนไทยทั้งหลายหยุดชำระหนี้ต่างประเทศ และขณะที่เจ้าหนี้ในหลายประเทศยื่นฟ้องเพื่อเรียกเงินคืน ทรัพย์สินในต่างประเทศบางส่วนของนายสนธิ ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการล่มสลายของอาณาจักรธุรกิจของเขา

บริษัทที่จดทะเบียนในฮ่องกงบางแห่งที่นายสนธิ เป็นผู้อำนวยการยังคงดำเนินกิจการและแม้หนังสือพิมพ์เอเชีย ไทม์ส ปิดไปแล้ว เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ยังคงเผยแพร่ข่าวสารตามปกติ

ทั้งนี้ สำหรับเกาะ บริติช เวอร์จิน ได้ถูกกล่าวขานกันไปทั่วโลกว่าเป็นแหล่งใหญ่ของการฟอกเงิน

สกู๊ปตอนที่ 4 ของเดอะเนชั่น จบลงด้วยการไม่ปรักปรำ ใส่ร้ายสนธิ ลิ้มทองกุล หากแต่ให้ประชาชนผู้อ่าน พิจารณากันเองว่าสนธิ เป็นนักธุรกิจประเภทใด และมีกระบวนการภายใต้อำนาจรัฐ โอบอุ้มช่วยเหลือเขาอยู่จริงหรือไม่

ผู้อ่านสกู๊ปทั้ง 4 ตอนของเดอะเนชั่น ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า การเกิดขึ้นของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือ จุดเปลี่ยนที่สำคัญของสนธิ ลิ้มทองกุล และเป็นเหมือนการปลุกผีที่ตายไปแล้ว ให้กลับคืนชีพ เป็นผีดิบ มาสูบเลือดสูบเนื้อสูบทรัพย์สินของประเทศ อีกครั้งหนึ่ง

จากการตรวจสอบเอกสารการซื้อขายเวลา และพื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ หน่วยงานของรัฐ ที่ทำสัญญากับกิจการใหม่ๆ ของสนธิ พบว่ามีรายการจัดซื้อรายการหนึ่งที่น่าสนใจ และคงไม่เกินเลยไปนัก หากจะบอกว่าสัญญาฉบับนี้ มี สนธิ เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ทำได้ และกล้าทำ

เช่นเดียวกับสัญญาซื้อโฆษณาของ ปตท. ที่ทำกับ 11 News 1 ด้วยงบประมาณ 60 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่า 11 News 1 จัดตั้งขึ้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และสัญญาการรับชำระหนี้ของธนาคารกรุงไทย ที่ให้สิทธิพิเศษแก่สนธิ ด้วยการรับชำระหนี้ด้วยหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แทนการใช้เงิน ที่ได้เปิดเผยไปแล้ว ในอีกด้านหนึ่งของสนธิ เล่มที่ 1

สัญญาที่ตรวจสอบพบฉบับนี้ ก็เป็นของธนาคารกรุงไทย เช่นเดียวกัน เป็นสัญญาที่ธนาคารกรุงไทย ทำกับบริษัทเวิลด์ไวด์มีเดีย จำกัด ให้มีการปรับเปลี่ยนสัญญาการซื้อสื่อโฆษณา ในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2547 เป็นการโฆษณาบนเวปไซต์ manager.co.th แทน รวมมูลค่า 3,465,000.00 บาท ซึ่งหมายความว่า เฉพาะเวปไซต์ manager.co.th มีรายได้จากการขายแบนเนอร์โฆษณาให้แก่ธนาคากรุงไทย เดือนละ 1,155,000 บาท ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นเวปไซต์ที่ทำรายได้สูงที่สุดในประเทศไทย หรืออาจจะในโลกด้วยซ้ำ และธนาคารกรุงไทย ก็น่าจะเป็นลูกค้าแบนเนอร์ รายใหญ่ที่สุดเท่าที่เวปไซต์ manager.co.th เปิดมาจนถึงทุกวันนี้

สัญญาฉบับดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 ระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด กับ บริษัทเวิล์ดไวด์มีเดีย จำกัด ซึ่ง ข้อ 2 ของสัญญาดังกล่าวระบุว่า

2. ชดเชยโฆษณาที่ไม่ได้ออกอากาศในรายการ "สภาท่าพระอาทิตย์" เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2547 ดังนี้

2.1 โฆษณาบน WEBSITE : manager.co.th ในลักษณะ Banner 3 ขนาด คือ ขนาด A1 = 468x60 pixels , A2 = 173x350 pixels และ A3 = 173x95 pixels ดังนี้

- หน้าแรก (Homepage ) ลง Banner ขนาด A1 , A2 และ A3 เฉลี่ยเดือนละ 1,500,000 IMP รวมเป็น 4,500,000 IMP มูลค่ารวม 2,700,000 บาท

- หน้าหมวด (ธุรกิจ) ลง Banner ขนาด A1 เดือนละ 310,000 IMP รวมเป็น 930,000 IMP มูลค่ารวม 465,000 บาท

- หน้าข่าว ลง Banner ขนาด A2 เดือนละ 250,000 IMP รวมเป็น 750,000 IMP มูลค่ารวม 300,000 บาท

- ไม่คิดค่าใช้จ่ายในการออกแบบและสร้าง Banner ขนาดละ 1 แบบ มูลค่ารวม 75,000 บาท

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจที่ได้รับการโอบอุ้มด้วยดีจากอำนาจรัฐ ในวันที่ความ สัมพันธ์ระหว่างสนธิ กับรัฐบาล ยังดีเยี่ยม

ไม่เพียงแต่ ธนาคารกรุงไทยเท่านั้น ความมีน้ำใจไมตรีแบบนี้ ยังมีจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่เข้าไปสนับสนุนเวปไซต์ manager.co.th เป็นเงินถึง 1,100,000 บาท โดยได้รับสิทธิประโยชน์เป็น Banner ขนาด A1 และ A2 ที่หน้าแรก และขนาด A1 ที่หน้าหุ้น เป็นเวลา 9 สัปดาห์ หรือประมาณ วันละ 17,460 บาท ซึ่งเป็นราคาที่หอมหวนยิ่งสำหรับเจ้าของธุรกิจเวปไซต์ทุกคน แต่มีเพียงสนธิ คนเดียวเท่านั้นที่ทำได้เช่นนี้

การกลับคืนสู่วงการธุรกิจสื่อของสนธิ ด้วยสถานภาพบุคคลล้มละลาย ไม่ได้ยากลำบากเหมือนบุคคลล้มละลายทั่วไป เขาได้รับการตอบรับอย่างดีจากรัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่ไปเยือน และไม่เคยผิดหวังกับการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องที่ยื่นไป ไม่ว่าจะเป็นรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย รายเดียว ถึงปีละ 38,000,000 บาท

แม้จะเป็นบุคคลล้มละลาย สนธิ ยังคงใช้ชีวิตอย่างมีสีสันไม่เปลี่ยนแปลงจากยุคสมัยที่เป็นเศรษฐีมีทรัพย์สินนับหมื่นล้านบาท ไปไหนมาไหนด้วยรถยนต์คันหรู มีบริวารล้อมหน้าล้อมหลัง กินดื่มในโรงแรมชั้นหนึ่ง และซื้อหาความสุขบนเตียง ด้วยเงินทองส่วนที่เก็บไว้ หรือพูดให้ชัดก็คือ ที่ได้ผ่องถ่ายไว้ (ผ่องถ่ายออกจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหลาย)

สภาพที่สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นอยู่ จึงไม่อาจเรียกได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ "ล้มละลาย" หากแต่น่าจะเป็น "ล้มระรื่น" มากกว่า

เพราะล้มแล้วก็ระรื่นได้ ดังเดิม บางทีอาจจะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

////////////////////////////////////////////////////////////////

เป็นอย่างไรกันบ้านครับ กับเรื่องราวด้านมืดของสนธิ ลิ้มทองกุล ในหนังสือ "อีกด้านหนึ่งของสนธิ" เล่มที่ 1 และเล่มที่ 2 ที่บรรทัดทอง ทนหลังขดหลังแข็งนั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๊อ จิ้มพิมพ์คอมพิวเตอร์ ให้กับท่านผู้อ่านได้รับรู้กันทั้ง 5 ตอน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาในเล่มที่ 1 "อีกด้านหนึ่งของสนธิ" ในตอน "Return on สนธิ" ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการล้มลุกคลุกคลานของอาณาจักรในเครือ เดอะ เอ็ม กรุ๊ป ของกลุ่มผู้จัดการ ก่อนที่จะกลับมายืนอยู่ในระดับแถวหน้าของกลุ่มผู้จัดการ หรือหัวข้อเรื่อง "สนธิ ON AIR - Manager ON Lie" ที่อธิบายเรื่องราวการเข้ามาทำธุรกิจสื่อทางโทรทัศน์ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล และหัวข้อเรื่อง "แค้นสั่งฟ้า" ที่อธิบายเรื่องราวของปมปัญหาหนี้สินของสนธิ ลิ้มทองกุล แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จนนำไปสู่การชำระแค้น

ส่วนในเนื้อหาเล่มที่ 2 "ล้มแล้วรวย" ตอน "ฝันล่ม อาณาจักรสลาย โมกุลดับชีพ" ที่อธิบายเรื่องราวของคนที่ทะเยอทะยานจนเกินพอดี อย่างสนธิ ลิ้มทองกุล จนท้ายที่สุดต้องพังพาบลง เพราะความทะยานอยาก และตอนสุดท้าย "ล้มระรื่น มิใช่ ล้มละลาย" ที่ท่านเพิ่งอ่านจบไปเมื่อสักครู่

ที่บรรทัดทอง นำเนื้อหาจากหนังสืออีกด้านหนึ่งของสนธิทั้งเล่ม 1 และเล่ม 2 มาเผยแพร่ให้กับท่านผู้อ่าน เพื่อจะได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ล้วนแต่เกิดจากกรณี "น้ำผึ้งหยดเดียว" จากความเห็นแก่ตัวของสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ทะเยอทะยาน คิดการใหญ่เกินกำลัง

แต่พอธุรกิจต้องพังพาบลง กับออกมาร้องแรกแหกกระเชอ เอะอะโวยวายกล่าวหา คนโน้นคนนี้ โดยเฉพาะกับรัฐบาลไทยรักไทย และนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ยอมยื่นมือเข้าด้วยช่วยเหลือ ปล่อยให้เขาต้องเผชิญกับความโหดร้ายของปัญหาหนี้สินจำนวนมหาศาล และกลายเป็นที่มา "แค้นสั่งฟ้า" ปลุกระดมมวลชนเพื่อโค่นพ.ต.ท.ทักษิณ โดย "อ้างฟ้า อิงแผ่นดิน" หลอกประชาชนว่า "เราจะสู้เพื่อในหลวง" บ้าง "กู้ชาติ" บ้าง โดยเชื้อเชิญคณะทหาร ออกมาทำการปฏิวัติรัฐประหาร จนส่งผลสูญเสียต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง และทำให้ประชาชนต้องตกอยู่ในสภาวะตึงเครียดกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

บรรทัดทอง ได้ลิ้มรสชาติกับการ "กู้ชาติ" ของสนธิ ลิ้มทองกุล ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว ขอบอกตามตรงว่า รสชาติมันปะแล่ม ปะแล่ม ยังไงบอกไม่ถูก มันไม่หวานอม แต่จำทนต้องขมกลืน รู้สึกอดอยาก เพราะที่ริมฝีปากมันแห้งแกร็ก จนแทบจะไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ ก็เพราะสนธิ นี่แหละครับ

แล้วท่านผู้อ่านหล่ะครับ...? มีความชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกันบ้างไหมครับกับความสำเร็จในการกู้ชาติของสนธิ ลิ้มทองกุล

อ่าน'สนธิ' คนที่คุณไม่รู้จัก ตอนที่ 4 คลิ๊กที่นี่

อ่าน'สนธิ' คนที่คุณไม่รู้จัก ตอนที่ 3 'แค้นสั่งฟ้า' คลิ๊กที่นี่

อ่าน'สนธิ' คนที่คุณไม่รู้จัก ตอนที่ 2 คลิ๊กที่นี่

อ่าน'สนธิ' คนที่คุณไม่รู้จัก ตอนที่ 1 คลิ๊กที่นี่

บรรทัดทอง

จาก hi-thaksin