ที่มา ไทยรัฐ
วิกฤติเศรษฐกิจที่บ้านเราได้รับบทเรียน เมื่อปี 2540 จะไม่เหมือนกับวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ ผลพวงจากการลดค่าเงินบาท ทำให้สถาบันการเงินปั่นป่วน กระทบเป็นลูกโซ่ แต่ก็มีจังหวะมีเวลาให้เตรียมตัวเตรียมใจ แต่วิกฤติเศรษฐกิจที่เรากำลัง เผชิญหน้าอยู่ ตกในระนาบเดียวกันทั่วโลก
ไม่รู้จะถึงจุดต่ำสุดเมื่อไหร่
ความเสียหายยังประเมินไม่ได้ มีนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ พยายามพยากรณ์ว่าจะฟื้นเมื่อนั้นเมื่อนี้ ผมว่าออกจะด่วนสรุปไปหน่อยเพราะต้นตอวิกฤติครั้งนี้อย่างสหรัฐฯ ยังจับทางไม่ ค่อยถูก อยู่ในระหว่างทดลองยาด้วยซ้ำ
เดี๋ยวมาตรการทางด้านดอกเบี้ย เดี๋ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ เดี๋ยวจะรีดภาษีเอาจากคนรวยและตลาดหุ้น จะว่าสะเปะสะปะ ก็ไม่น่าผิด
ฝรั่งเองยังมึน
แต่บ้านเรามึนกว่า ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจประดังประเดเข้ามาพร้อมกันทีเดียวทุกด้าน บนวิกฤติการเมือง อีกกระทอก ส่งออกอ่วม ธุรกิจทยอยเจ๊ง เอสเอ็มอีปิดกิจการเป็นระลอก
ดัชนีการบริโภค เดือน ม.ค.-ก.พ. ลดลงอย่างน่าใจหาย ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็ง สถานการณ์เป็นอย่างนี้ไปอีกระยะ อีก 2-3 เดือนข้างหน้า คนจะเกิดความตระหนก โดยเฉพาะคนในเมืองจะมี ความอ่อนไหวมากที่สุด ตัวเลขการส่งออก การบริโภค การท่องเที่ยว บริการติดลบ
คนไม่กล้าใช้เงิน
ในขณะที่มาของรายได้รัฐยังไม่ชัดเจน บวกกับการเมืองร้อนในเดือนสองเดือนนี้ ตลาดทุนจะมีผลกระทบตามมาเป็นสองเด้ง ลดต้นทุน ลดการผลิต ลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากวิกฤติการเมือง
ผมว่าเศรษฐกิจบ้านเราจะเห็นน้ำเห็นเนื้อกันในอีกเดือนสองเดือนนี้เช่นกัน เท่านั้นยังไม่พอ การสร้างความเชื่อมั่น ของรัฐบาล ยังไม่มีประสิทธิภาพ
อย่าว่าแต่ต่างประเทศที่ยังจดๆจ้องๆ ในบ้านเราเองก็ไม่มี ความมั่นใจ ยิ่ง นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือ รมว.คลัง คุณ กรณ์ จาติกวณิช ออกมาพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจด้วยแล้วก็ยิ่ง ว้าเหว่
วันนี้บอกเศรษฐกิจจะบวก วันพรุ่งนี้ออกมายอมรับว่า จีดีพี จะติดลบ อีกวัน ยืนยันเศรษฐกิจจะฟื้นอีกแล้ว กลับไปกลับมาหาความแน่นอนไม่ได้
แล้วจะสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างไร
ความตั้งใจ ความมุ่งมั่นในการทำงานของรัฐบาลก็เป็นอีกเรื่อง แต่วิสัยทัศน์และการมองปัญหาให้ทะลุ ตีโจทย์ให้แตกจะเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ตอกย้ำความเป็นมือ ใหม่หัดขับอยู่อย่างนี้.
หมัดเหล็ก