ที่มา Thai E-News
พลังแดงในอังกฤษ-รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ กับชุมชนคนไทยรักประชาธิปไตยในสหราชอาณาจักรไปประท้วงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ไปพูดเรื่องประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยออคซฟอร์ด พร้อมจัดตั้งการประชุมขึ้นทุกเดือน เร่งทวงคืนประชาธิปไตยให้แก่มาตุภูมิ
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
15 มีนาคม 2552
*อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง อภิสิทธิ์ไปสปีชที่อ๊อกฟอร์ด ผู้จัดเกณฑ์คนเข้าฟัง คนเสื้อแดงประท้วงพรึบ
ใจ อึ๊งภากรณ์โต้มาร์คโกหกคำโตแหลพัฒนาประชาธิปไตย แถมให้ร้ายเขาเรื่องหนีคดีหมิ่นมาอังกฤษ ช่างกล้าบอกกระบวนการยุติธรรมไทยพึ่งได้ ร่วมประชุมเสื้อแดงสหราชอาณาจักร ได้ฉันทามิติออคซฟอร์ดประชาชนต้องปฏิรูปการเมืองเองสถาบันพระปกเกล้าอย่าแหลม ชูรธน.40กลับมาใช้เร่งเลือกตั้งในสิ้นปี นักเรียนไทยในอังกฤษเอาด้วยให้ปฏิรูปรธน.50เหตุไม่เป็นประชาธิปไตย ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ แล้วเร่งยุบสภาเลือกตั้งใหม่ หากมาร์คอยากขึ้นสู่ตำแหน่งให้ถูกหลักประชาธิปไตย
ใจชี้มาร์คโกหกคำโต-โต้เรื่องถูกกล่าวหาหนีคดี
รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ กล่าวถึงการมากล่าวสุนทรพจน์ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดเมื่อ14มีนาคมว่า คำพูดของอภิสิทธิ์ที่ออคซ์ฟอร์ดเต็มไปด้วยคำโกหกหลอกลวงและคำแก้ตัว แต่ทั้งๆที่เขามั่นใจคิดว่าคนทั่วโลกโง่ คนไทยส่วนใหญ่และคนต่างประเทศที่เข้าใจการเมืองไทยไม่มีวันเชื่ออะไรที่ออกมาจากปากเขา อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นคือนักวิชาการหอคอยงาช้างสองคน คืออธิการบดีออคซ์ฟอร์ดและประธาน St John’s College ที่ชมว่าอภิสิทธิ์เป็น “นักประชาธิปไตย” และสมุนเกณฑ์ของสถานทูตไทยหลายคน ที่พร้อมจะเชื่อทุกอย่างที่เจ้านายสั่งมา สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือทางรัฐบาลไทยกลัวประชาชนมาก มีการกีดกันคนไทยธรรมดาที่อยากเข้าไปตั้งคำถามจำนวนมาก
อภิสิทธิ์โกหกว่าเขาได้รับการ “เลือกตั้งมาเป็นนายกฯ” และอวดว่าตนเองเป็น “ผู้ปกป้องประชาธิปไตยไทย” แต่กระนั้นเขายังยืนยันว่าต้องมีกฎหมายหมิ่นฯ “เพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศ” และมองว่าผมควรถูกลงโทษจากการเขียนหนังสือวิจารณ์รัฐประหาร 19 กันยา “เพราะไปดูหมิ่นกษัตริย์” เมื่อถูกถามว่าหมิ่นตรงไหนในหนังสือ อภิสิทธิ์บอกว่าจำไม่ได้ ทั้งๆ ที่อ้างว่าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เลยแก้ตัวว่ามีคนเล่าให้ฟังว่าหมิ่น นอกจากนี้อภิสิทธิ์พูดว่าคดีคุณโชติศักดิ์ได้ยกเลิกไปแล้ว และการจับคุมผู้บริหารประชาไทเป็น “ความผิดพลาดของตำรวจ” ซึ่งเขาได้ “เคลียร์เรื่องนี้” โดยการโทรศัพท์ไปหาผู้บริหารประชาไทแล้ว หลังจากนั้นอภิสิทธิ์อ้างว่าแกนนำพันธมิตรที่ยึดสนามบินจะโดนคดีแน่ๆ และนายพลที่มีส่วนในการฆ่าคนที่ตากใบจะถูกลงโทษอีกด้วย หลังจากที่เราเอาเขาออกจากตำแหน่งอภิสิทธิ์ควรหากินเป็นนักแสดงตลก มั้ง?
ทั้งๆที่อภิสิทธิ์ขี้ขลาดไม่ยอมรับคำท้าของผมเพื่อโต้วาทีสดในรายการโทรทัศน์ไทย เขาหน้าด้านกล่าวหาผมว่าหนีคดีที่เมืองไทย โดยเสนอว่าศาลมีความยุติธรรม เขาพูดต่อว่า “อย่าดึงกษัตริย์มาในเรื่องการเมือง” แต่คงไม่กล้าพูดอย่างนี้กับเจ้านายของเขาในกองทัพหรือในพันธมิตรฯ ผมจึงแสดงความเห็นว่าทั้งอภิสิทธิ์และ(เซ็นเซอร์)อ่อนแอ และไร้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ในขณะที่เจ้านายแท้ของสังคมคือทหาร
ฉันทามติออคซฟอร์ดให้เลือกตั้งใหม่ใต้กติการธน.40ในสิ้นปีนี้
หลังเสร็จสิ้นการปาฐกถาของอภิสิทธิ์ในภาคเช้า ในภาคบ่ายกลุ่มคนไทยรักประชาธิปไตยในสหราชอาณาจักรกว่า100คน จัดประชุมร่วมกับรศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ ซึ่งรศ.ใจเปิดเผยผลประชุมว่า ในการประชุมเสื้อแดงที่ออคซฟอร์ดในช่วงบ่าย คนเสื้อแดงในอังกฤษยืนยันจุดยืนเพื่อประชาธิปไตยและตกลงกันว่าจะประชุมเป็นประจำทุกเดือน เราตกลงกันว่าเราจะเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศก่อนสิ้นปีภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญปี ๔๐ นอกจากนี้เรายืนยันจุดยืนว่า(เซ็นเซอร์)ต้องไม่ยุ่งการเมือง ต้องไม่ถูกใช้โดยผู้ที่ทำลายประชาธิปไตยอีกด้วย และประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์(เซ็นเซอร์)
ในเรื่องการปฏิรูปการเมือง เราเสนอว่าประชาชนไทยต้องเป็นผู้ทำ ไม่ใช่ปล่อยให้สถาบันพระปกเกล้าที่ไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตยเป็นผู้เสนอการปฏิรูป
นักเรียนอังกฤษ ยื่นข้อเสนอ ‘มาร์ก’ เรียกร้องปฏิรูป รธน.- กฎหมายหมิ่นฯ ตามด้วยยุบสภา
ประชาไทรายงานว่า ระหว่างการเยือนอังกฤษของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และการกล่าวปาฐกถา ที่ เซนต์จอห์น คอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กลุ่มนักเรียนไทยในอังกฤษได้ร่วมกันร่างจดหมายข้อเรียกร้องเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี มีรายละเอียดดังนี้
เนื่องจากความห่วงใยต่อเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา และความปรารถนาดีต่อพัฒนาการที่ยั่งยืนของประชาธิปไตยไทย ในวาระที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มากล่าวปาฐกถา ณ เซนต์จอห์น คอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ข้าพเจ้าทั้งหลายดังรายนามข้างท้าย ขอเสนอข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้**
ประการแรก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการตีพิมพ์เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของระบบประชาธิปไตยที่พึงได้รับการ ปกป้อง การที่กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ถูกบังคับใช้ในลักษณะที่ลิดรอนเสรีภาพข้างต้น ส่งผลเสียหายต่อกระบวนการตรวจสอบของประชาชน และเสรีภาพในการเรียกร้องการรับผิดจากผู้มีอำนาจ คำกล่าวที่ว่ากฎหมายเหล่านี้เป็นธรรมแล้วเพราะถูกบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั้นไม่ตรงประเด็น เนื่องจากปัญหาที่แท้จริงนั้นอยู่ในเนื้อหาของกฎหมายที่ไม่ชัดเจน และเอื้อต่อการถูกบังคับใช้ที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ นายกรัฐมนตรีควรร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปฏิรูปกฎหมายเหล่านี้โดยทันที
ประการที่สอง รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 นั้นมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยโดยเปิดทางให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้าแทรกแซงทางการเมือง ทั้งยังเพิ่มอำนาจให้กับสถาบันตุลาการเป็นอย่างมาก อันส่งผลให้เกิดความไม่สมดุล ระหว่างอำนาจตุลาการ นิติบัญญัติ และบริหาร สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการที่ยั่งยืนของประชาธิปไตยไทย การที่พรรคการเมืองสามารถถูกยุบได้อย่างง่ายดายส่งผลให้พรรคการเมืองมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะพัฒนาไปเป็นสถาบันทางการเมืองที่มั่นคงได้สำเร็จ ขณะนี้นายกรัฐมนตรีมีโอกาสที่จะปฏิรูปรัฐธรรมนูญโดยไม่ถูกกล่าวหาว่ามีประโยชน์ทับซ้อน ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีผลักดันให้มีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด
ประการสุดท้าย เหตุการณ์ทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้ท่านเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังเป็นที่จดจำและถูกตั้งคำถามโดยประชาชนไทย เหตุการณ์ปิดสนามบินของผู้ชุมนุมและการตัดสินยุบพรรคการเมืองแกนนำรัฐบาลอย่างรวดเร็ว ตลอดจนบทบาทของกองทัพในการผลักดันกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยร่วมรัฐบาลก่อนหน้าให้หันมาเข้าร่วม กับรัฐบาลปัจจุบัน ได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนต่อหนทางการก้าวขึ้นสู่อำนาจของท่าน
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังเคยกล่าวยอมรับกับสื่อต่างประเทศว่า "ผมไม่สบายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และหากเลือกหนทางได้ ผมจะเลือกเข้าสู่อำนาจหลังการเลือกตั้ง"
ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงขอเสนอว่า ทันทีที่ข้อเสนอทั้งสองประการข้างต้นได้รับการปฏิบัติแล้ว นายกรัฐมนตรีควรตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ นี่คือทางเดียวที่ท่านจะสามารถกล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้นำที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนอย่างแท้จริง
**ข้อเสนอเหล่านี้เป็นความเห็นร่วมของนักศึกษาดังรายนามข้างท้าย และมิได้อิงกับกลุ่มการเมืองใด
Chalongkwan Tavarayuth (Development Studies)
Pornthep Benyaapikul (Economics)
Chinnawut Techanuvat (Sociology)
Prach Panchakunathorn (PPE)
Grace Vesom (Medical Image Analysis)
Thorn Pitidol (Social Policy)
La-Bhus Jirasavetakul (Economics)
Wanwiphang Manachotphong (Economics)
Nirawat Thammajak (Chemistry)
Yaowaluck Roshorm (Clinical Medicine)
Panote Prapansilp (Molecular Pathology)