ที่มา ประชาไท
อำนาจใดที่ปกครองประชาชนด้วยกำลังรุนแรงอันเปล่าเปลือยแต่ด้านเดียว โดยปราศจากการครอบงำทางจิตวิญญาณและอุดมการณ์แล้ว อำนาจนั้นก็ไม่อาจอยู่ได้นาน
17 มิถุนายน 2552
การต่อสู้ “สงกรานต์เลือด” ระหว่างเผด็จการอำมาตยาธิปไตยกับขบวนการประชาธิปไตยเสื้อแดงได้สิ้นสุดลงด้วยการสะดุดชั่วคราวของฝ่ายประชาธิปไตย แม้จะประสบความเสียหายในระดับหนึ่ง และเฉพาะหน้านี้ ก็ตกอยู่ในสถานะเป็นฝ่ายรับทางยุทธวิธี แต่ในทางยุทธศาสตร์ ขบวนประชาธิปไตยยังคงมีความเข้มแข็ง และอยู่ในกระบวนการปรับตัว สรุปบทเรียน ยกระดับมวลชนและการจัดตั้ง เพื่อเตรียมพร้อมรับการเคลื่อนไหวใหญ่ที่จะมาถึงอีกครั้งในอนาคต
1. สดุดีมวลชนคนเสื้อแดง
การเคลื่อนไหวประชาธิปไตยครั้งใหญ่ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมถึงการนองเลือด 13-14 เมษายน 2552 เป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนประชาธิปไตย ที่เข้าปะทะกับฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก แม้ว่ามวลชนคนเสื้อแดงจะยังอ่อนเล็ก ไร้ซึ่งกำลังอาวุธใด ๆ แต่พวกเขาก็ได้แสดงให้เห็นถึงความอดทนเด็ดเดี่ยว ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างยืดเยื้อ ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อย ไม่กลัวความยากลำบาก ท่ามกลางการโจมตี ใส่ร้ายป้ายสี บิดเบือน และเหยียดหยามจากสื่อสารมวลชนกระแสหลักทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ที่รับใช้อำมาตยาธิปไตย
เมื่อรัฐบาลประชาธิปัตย์ประกาศภาวะฉุกเฉินขั้นร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพในวันที่ 12 เมษายน เอื้ออำนวยให้อำมาตยาธิปไตยที่คุมอำนาจรัฐที่แท้จริงสามารถเคลื่อนกำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม เข้าปราบปรามด้วยกำลังรุนแรงต่อประชาชนคนเสื้อแดงที่มีแต่สองมือเปล่า มวลชนคนเสื้อแดงก็ยืนหยัดต่อสู้ต่อต้านเพื่อป้องกันตนเอง สู้ไปพลาง ถอยไปพลาง บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก กระทั่งในวันที่ 14 เมษายน ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แม้ว่าพวกเขารู้ชัดถึงภยันตรายร้ายแรงที่ล้อมกรอบเข้ามาจากทุกด้าน แต่พวกเขาก็ยังคงยืนหยัดชุมนุมต่อไปจนถึงนาทีสุดท้าย เตรียมใจพร้อมที่จะเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด ณ ที่ตรงนั้น ...
“สงกรานต์เลือด” 8-14 เมษายน จึงเป็นการต่อสู้ในสนามรบจริงเป็นครั้งแรกของประชาชนคนเสื้อแดง ไม่ว่าพวกเขาจะยังอ่อนหัดและผิดพลาดทั้งทางยุทธศาสตร์ ยุทธการและยุทธวิธีสักเพียงใด ทั้งประสบความสูญเสียในระดับหนึ่ง แต่พวกเขาก็ได้แสดงให้พวกอำมาตยาธิปไตยได้เห็นประจักษ์แล้วว่า มวลชนคนเสื้อแดงนั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยวีรภาพของวีรชนประชาธิปไตย ที่ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อย ไม่กลัวยากลำบาก ไม่กลัวตาย
กรณี “สงกรานต์เลือด” จึงเป็นการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่เพื่อช่วงชิงประชาธิปไตยที่มีลักษณะมวลชนอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นการช่วงชิงประชาธิปไตยของชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทุกอาชีพ โดยมีชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทเป็นทัพหลวงอย่างแท้จริง!
ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ มิได้ตายเปล่า!
2. สดุดีแกนนำคนเสื้อแดง
ทั้งก่อนและหลังกรณี “สงกรานต์เลือด” ถึงปัจจุบัน แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์แกนนำกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม “ความจริงวันนี้” ในหลายประเด็นถึงปัญหาการนำขบวนในทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี คำขวัญ รวมทั้งประเด็นรูปธรรมของการต่อสู้ในแต่ละขั้นตอน แต่แกนนำกรุงเทพฯก็ได้พิสูจน์ตนเองครั้งแล้วครั้งเล่าแล้วว่า พวกเขารักใคร่ ห่วงใยในสวัสดิภาพของมวลชนที่มาร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวอย่างแท้จริง
สิ่งที่แกนนำเผชิญอยู่ในขณะนั้นคือ การใช้กำลังรุนแรงของอำมาตยาธิปไตยเข้าปราบปรามประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันที่ 14 เมษายน เมื่อกองกำลังทหาร ประสานร่วมมือกับกลุ่มอันธพาลติดอาวุธ “เสื้อสีน้ำเงิน” ที่จัดตั้งโดยนักการเมืองทรยศ เข้าปิดล้อมมวลชนเสื้อแดงในบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล จนเป็นที่ชัดเจนว่า ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยกำลังวางแผนลงมือฆ่าหมู่ประชาชนอย่างนองเลือด ดังที่พวกเขาได้กระทำมาแล้วกับนิสิตนักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ในครั้งนี้ กระทำด้วยกำลังทหารและกลุ่มอันธพาล “เสื้อสีน้ำเงิน” ติดอาวุธจำนวนมาก ซึ่งด้วยปริมาณมวลชนหน้าทำเนียบรัฐบาลที่มากมายยิ่งกว่า การสังหารหมู่ 14 เมษายน 2552 จะนองเลือดยิ่งกว่า 6 ตุลาคม 2519 ทั้งนี้เพื่อสร้างความตกใจและหวาดกลัวอย่างที่สุดในหมู่ประชาชน ให้พวกเขาจำยอมจำนน ยุติการต่อสู้อย่างสิ้นเชิง และก้มหน้าเป็นผู้ถูกปกครองที่ว่านอนสอนง่ายต่อไป
เบื้องหน้าสถานการณ์ความเป็นความตายเช่นนี้ แกนนำกรุงเทพฯได้ตัดสินใจอย่างชาญฉลาดและกล้าหาญยิ่งด้วยการยุติการชุมนุม ให้มวลชนที่ยังมีจำนวนราวหมื่นคน สามารถเดินทางออกมาได้อย่างปลอดภัย สงวนไว้ซึ่งชีวิตและเลือดเนื้ออันมีค่าของพี่น้องมวลชนคนเสื้อแดง ยอมถอยไป รักษาชีวิตไว้ แล้วกลับมาสู้ใหม่เมื่อเวลานั้นมาถึง
การตัดสินใจดังกล่าวเป็นสิ่งถูกต้องและเป็นการเสียสละอย่างสูงของแกนนำคนเสื้อแดง ที่สมควรจะได้รับการสดุดีจากผู้รักประชาธิปไตยทั้งปวง แกนนำได้พิสูจน์ตนเองอีกครั้งหนึ่งว่า พวกเขาห่วงใยในสวัสดิภาพของพี่น้องมวลชนประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และจะไม่ใช้ชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนไปแลกกับจุดประสงค์และความปลอดภัยของตนเอง
3. การยุทธ์ “สงกรานต์เลือด” ของขบวนการประชาธิปไตย
ได้มีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสมของยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการเคลื่อนไหว “สงกรานต์เลือด” ตลอดจนผลลัพธ์ “เสื้อแดงแพ้แล้ว?”
ข้อวิจารณ์ประการสำคัญที่สุดคือ การที่แกนนำได้ “ยกระดับ” เป้าหมายของการเคลื่อนไหวขึ้นอย่างรวดเร็วจากข้อเรียกร้อง “สี่ข้อ” ไปเป็น “ขับไล่นายกรัฐมนตรี” และในที่สุด “เรียกร้องให้องคมนตรีบางคนลาออก” อาจวิจารณ์ได้ว่า เป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ เป็นการตั้งข้อเรียกร้องและเป้าหมายที่ “เป็นไปไม่ได้” ซึ่งก็คือ ขัดกับหลักการ “มีเหตุผล ได้ประโยชน์ และรู้ประมาณ”
ประวัติศาสตร์มีบทเรียนมากมายว่า การชุมนุมเดินขบวนแสดงกำลังหรือประท้วงของประชาชนแต่ลำพังนั้น ไม่ว่ามีจำนวนมากมายมหาศาลสักเพียงใด ก็ไม่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญได้หากปราศจากการแตกแยกกันเองในหมู่ชนชั้นปกครอง แม้แต่การเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 ก็เป็นเช่นนี้ การเคลื่อนไหว “สงกรานต์เลือด” จึงมีลักษณะเล็งผลเลิศ ตั้งเป้าหมายเกินกว่าดุลกำลังที่เป็นจริง เป็นการเอาเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ (คือการขจัดระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตย) มาเป็นเป้าหมายทางยุทธวิธี เป็นการตั้งเป้าหมายเฉพาะหน้าที่ “เป็นไปไม่ได้” และนำไปสู่ทางตันทางยุทธวิธี
หากพิจารณาจากข้อเรียกร้องดังกล่าวเพียงโดด ๆ ก็แน่นอนว่า การเคลื่อนไหว “สงกรานต์เลือด” ประสบความพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง เพราะไม่บรรลุเป้าหมายดังกล่าวเลย แล้วยังถูกตีโต้กลับด้วยการปราบปรามอย่างนองเลือด รวมทั้งอำมาตยาธิปไตยและรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปและดูเหมือนจะเข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น ขณะที่ขบวนการประชาธิปไตยประสบการสูญเสียทั้งจำนวนคนบาดเจ็บล้มตาย การสูญเสียเครื่องมือสื่อสารโทรทัศน์ วิทยุชุมชน และพื้นที่บนสื่อสารออนไลน์ไปจำนวนหนึ่ง รวมทั้งการตั้งคดีข้อหาร้ายแรงต่อแกนนำทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด อีกทั้งขบวนการประชาธิปไตยก็ยังถูกใส่ร้ายป้ายสีอย่างชั่วร้ายโดยสื่อสารมวลชนกระแสหลัก นอกจากนี้ ก็ยังมีข้อวิจารณ์ถึงความเหมาะสมเชิงยุทธวิธีของการปิดถนนในกรุงเทพฯวันที่ 9 เมษายน “กรณีพัทยา 11 เมษายน” และการปะทะที่กระทรวงมหาดไทย 12 เมษายนอีกด้วย
แต่การประเมินความหมายทางยุทธศาสตร์ของการเคลื่อนไหว “สงกรานต์เลือด” นั้น นอกจากจะพิจารณาในปริบทของเหตุการณ์ช่วง 25 มีนาคม-14 เมษายนแล้ว ยังต้องมองจากปริบทภาพรวมของการต่อสู้สองแนวทางในสังคมไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2549 อีกด้วย
ความขัดแย้งนับแต่ปี 2549 เป็นต้นมานั้น เป็นการต่อสู้ครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ระหว่างระบอบจารีตนิยมอำมาตยาธิปไตยด้านหนึ่ง กับขบวนการประชาธิปไตยในอีกด้านหนึ่ง อันประกอบด้วยการยุทธ์สำคัญหลายครั้ง โดยที่ฝ่ายเผด็จการประสบชัยชนะในการยุทธ์ครั้งสำคัญ ๆ ได้แก่ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 19 สิงหาคม 2550 การโค่นล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงษ์สวัสดิ์ การจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดประชาธิปัตย์ และท้ายสุดคือ การปราบปรามประชาชนด้วยกำลังอาวุธในกรณี “สงกรานตเลือด” ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยประสบชัยชนะสำคัญเพียงครั้งเดียวเท่านั้นคือ การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 และการได้มาซึ่งรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงษ์สวัสดิ์
ในสงครามใหญ่นั้น การแพ้ชนะในการยุทธ์แต่ละครั้งในแต่ละสนามรบมิได้หมายถึงการชนะสงครามทั้งหมด ประวัติศาสตร์มีตัวอย่างมากมายที่ฝ่ายที่เข้มแข็งกว่าประสบชัยชนะในการยุทธ์ต่อเนื่องหลายครั้งเป็นเวลาหลายปี และฝ่ายที่อ่อนแอต้องพ่ายแพ้การยุทธ์ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในระหว่างนั้น ดุลกำลังระหว่างสองฝ่ายกลับมีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ เพราะแม้ฝ่ายเข้มแข็งที่กดขี่และเป็นอธรรมจะชนะในทางการยุทธ์ แต่ฐานะและกำลังทางยุทธศาสตร์กลับอ่อนลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ฝ่ายอ่อนแอที่อยู่ข้างความเป็นธรรมแม้จะแพ้การยุทธ์หลายครั้ง แต่หากมีการศึกษา สรุปบทเรียน สะสมกำลัง และยกระดับยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็กลับมีกำลังและฐานะทางยุทธศาสตร์ที่ค่อยเข้มแข็งขึ้น กระทั่งในท้ายสุด ก็เข้มแข็งพอที่จะเอาชนะฝ่ายอธรรมได้ในการยุทธ์สำคัญเพียงหนึ่งหรือสองครั้ง นำมาซึ่งความพ่ายแพ้สงครามอย่างเด็ดขาดของฝ่ายอธรรม
เมื่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เผด็จการอำมาตยาธิปไตยมีกำลังเข้มแข็งอย่างยิ่ง สามารถใช้พลังอำนาจทางอุดมการณ์ ประสานกับกลไกทหารและกฎหมายได้ตามใจชอบ สอดประสานกันทำลายล้างฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบและทั่วด้าน แต่หลังจากนั้น กำลังของพวกเขาก็อ่อนแอลงอย่างช้า ๆ หนทางเลือกของพวกเขาจำกัดลงเรื่อย ๆ การใช้กำลังทหารเพื่อก่อรัฐประหารและปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเปิดเผยมิอาจทำได้ง่าย ๆ พวกเขาใช้กลไกทางกฎหมายอย่างพร่ำเพรื่อและโจ่งแจ้งเสียจนทำให้องค์กรเหล่านั้นสูญเสียซึ่งศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือยำเกรงไปสิ้น
แต่จุดแข็งที่สุดของฝ่ายจารีตนิยมอำมาตยาธิปไตยคือ การครอบงำทางอุดมการณ์ที่ฝังรากลึกมายาวนาน นี่เป็นอาวุธสำคัญที่สุดที่ใช้ในการสร้างความชอบธรรมในการปกครองของพวกเขามาตลอดยุคประวัติศาสตร์ การที่ผู้คนยอมสยบทั้งกายวาจาใจโดยดุษฎีให้กับระบอบจารีตนิยมอำมาตยาธิปไตยนั้น ก็เพราะ “อาวุธทางอุดมการ” นี้เป็นหลักสำคัญ ในขณะที่ “อาวุธทางกายภาพ” คือการกดขี่ด้วยกฎหมายและกำลังอาวุธนั้น เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนเท่านั้น
แต่ในการต่อสู้ช่วงสามปีมานี้ การครอบงำทางอุดมการณ์ของเผด็จการอำมาตยาธิปไตยได้อ่อนแอลงอย่างช้า ๆ การปราบปรามประชาชนอย่างนองเลือดในวันที่ 13-14 เมษายนเป็นฟางเส้นสุดท้ายในหมู่ประชาชน เป็นเส้นแบ่งสุดท้ายของฝ่ายเผด็จการที่ตระหนักชัดว่า การครอบงำทางอุดมการณ์ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป พวกเขาจึงหันมาใช้ “กำลังทางกายภาพ” ชนิดเปล่าเปลือย ปราบปรามและบังคับประชาชนให้ยอมจำนน
นี่คือความหมายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของการเคลื่อนไหว “สงกรานต์เลือด”
ก่อนวันที่ 13-14 เมษายน 2552 ประชาชนจำนวนมากมาย รวมทั้งมวลชนคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งยังคงมี “ความหวังอันเลือนลาง” อยู่บ้าง พวกเขาจึงออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมอย่างสันติ โดยหวังว่า ชนชั้นปกครองจะยอมโอนอ่อนผ่อนตามความเรียกร้องต้องการทางประชาธิปไตยและความเป็นธรรมของประชาชน แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับเป็นการตอบแทนกลับเป็นอาวุธสงครามและการใช้กำลังรุนแรงอย่างไร้ปราณี ประชาชนได้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของอำมาตยธิปไตยว่า เต็มไปด้วยความหลอกลวง มือถือสากปากถือศีล และพร้อมที่จะใช้กำลังรุนแรงปราบปรามประชาชนหากมาตรการอื่น ๆ ใช้ไม่ได้ผล
เมื่อเที่ยงวันที่ 14 เมษายน ประชาชนคนเสื้อแดงยุติการชุมนุม ยอมถอยกลับด้วยน้ำตาและความเจ็บแค้น พร้อมกับร้องตะโกนด้วยเสียงอันดังว่า “นับแต่นี้ เราขาดกัน!”
อำนาจใดที่ปกครองประชาชนด้วยกำลังรุนแรงอันเปล่าเปลือยแต่ด้านเดียว โดยปราศจากการครอบงำทางจิตวิญญาณและอุดมการณ์แล้ว อำนาจนั้นก็ไม่อาจอยู่ได้นาน