ที่มา บางกอกทูเดย์
ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลับเข้ามาอีกครั้งนั้น เป็นข้อสงสัยของใครหลายคนว่าต้องมีปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์กลับมารุนแรงหรือไม่
หากมองจากข่าวและข้อมูลที่ฝ่ายความมั่นคงเปิดเผย ถึงความต้องการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จะพบว่า มีข้อหนึ่งที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องการ “ยกระดับ” การก่อเหตุให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และนำไปสู่ประเด็นการต่อสู้ทางศาสนาดังจะเห็นได้จากการมุ่งทำร้ายประชาชนในเชิงสัญลักษณ์ด้านศาสนา ทั้งบุกยิงชาวไทยมุสลิมเสียชีวิตอย่างน้อย 11 ศพ และบาดเจ็บอีกกว่า 10 คน ถึงในมัสยิด ที่บ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ช่วงทำพิธีละหมาด เมื่อค่ำวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมาเหตุการณ์กราดยิงพระสงฆ์ขณะบิณฑบาตในพื้นที่ อ.เมือง จ.ยะลา เป็นเหตุให้พระสงฆ์มรณภาพ 1 รูป และบาดเจ็บอีก 1 รูปขณะที่เหตุการณ์บุกยิงชาวบ้านในมัสยิดนั้น เริ่มมีท่าทีขององค์การการประชุมอิสลามหรือโอไอซีออกมาแสดงท่าทีต่อกรณีดังกล่าวแล้วนายเอกเมเลดดิน อิชซาโนกลู เลขาธิการองค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลไทยสอบสวนเรื่องนี้อย่างเต็มที่และจับผู้อยู่เบื้องหลังให้ได้ พร้อมขอให้รัฐบาลปกป้องชาวมุสลิมในประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ โอไอซี เพิ่งมีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกชาติอิสลามจากทั่วโลกเมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ไม่มีกรณีปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งมีความพยายามตีประเด็นในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมในพื้นที่ บรรจุเข้าสู่วาระการหารือเป็นกรณีพิเศษตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ทำให้รัฐบาลไทยออกมาอ้างถึงความสำเร็จในการทำความเข้าใจกับโลกอิสลาม เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 5 ปีเต็มขณะที่ นายเคิร์ท แคมป์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกิจการเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ มีแผนเยือนประเทศไทยในเดือนหน้า อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามส่งเสริมเสถียรภาพในชาติพันธมิตรที่เก่าแก่การออกมาแสดงท่าทีต่อเหตุการณ์ความไม่สงบของโอไอซีและทางการสหรัฐฯ นั้น เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่านานาชาติได้หันมามองปัญหาความไม่สงบในทิศทางที่เปลี่ยนไปแม้ว่าที่ผ่านมาไทยจะพยายามบอกว่าเป็นเรื่องภายในประเทศไม่ได้เป็นเรื่องการต่อสู้ทางศาสนาที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องการยกระดับศ.วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของรางวัลยูเนสโกเพื่อการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2547 มองว่าปัญหาความไม่สงบกำลังบานปลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ผู้ก่อสถานการณ์ยังคงนิรนาม แม้ผ่านมาหลายเหตุการณ์หลายปีแล้วก็ตาม ซึ่งผลกระทบจะยิ่งกว้างขวางมากขึ้น เพราะเหตุเกิดมานานแต่ยังไม่รู้ว่าใครทำ สุดท้ายต่างประเทศจะตั้งคำถามรวมถึงองค์การการประชุมอิสลาม (ไอโอซี) ด้วย
“คำถาม คือ เราจะตอบโอไอซีว่าอย่างไร เพราะเขาเพิ่งชะลอการบรรจุประเด็นภาคใต้ในการประชุมใหญ่เมื่อปลายเดือนที่แล้ว จากนั้นก็มาเกิดคดีตากใบ ซึ่งมีคำถามว่าตอบสนองความต้องการของประชาชนในเรื่องความยุติธรรมได้หรือไม่ เพราะความยุติธรรมนั้นแค่ทำอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำให้เห็นด้วย” ศ.วิทิต กล่าวขณะที่รัฐบาลเริ่มจับทางได้แล้วว่า ฝ่ายตรงข้ามกำลังเดินเกมเพื่อให้ฝ่ายรัฐตกหลุมพรางหรือ “กับดัก” ที่วางไว้เรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เอาไว้อย่างน่าสนใจโดยระบุว่าลักษณะพิเศษของเหตุการณ์ถ้าเทียบกับในหลายๆ ประเทศที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน การแสดงตัวของความเป็นองค์กร โดยเฉพาะในลักษณะที่มีโครงสร้างการบังคับบัญชาในทางดิ่งนี้ มันไม่ได้ปรากฏชัด จะไม่เหมือนกับที่ไอร์แลนด์ ระเบิดตูมปุ๊บก็มีเสียงประกาศออกมาเลยว่าฝีมือใครในประเทศไทยเกิดเหตุรายวันแต่ก็เหมือนปริศนาว่าใครเป็นคนทำ อันนี้เป็นความแตกต่าง แต่ถามว่ามีตัวตนหรือไม่? มีหลายคนที่ทำงานพอทราบ ส่วนรัฐบาลมีนโยบายเจรจาหรือไม่นั้น? รัฐบาลเจรจาไม่ได้ เพราะรัฐบาลถือว่าจะแก้ไขปัญหานี้ซึ่งเป็นปัญหาภายในของเรา“สิ่งหนึ่งซึ่งฝ่ายตรงข้ามต้องการมาก คือ บอกว่าเป็นการเจรจา เพื่อในที่สุดจะดึงประเทศที่สองที่สามเข้ามา แล้วจะยิ่งเป็นการแสดงออกว่าปัญหานี้ต้องไปยกระดับ ไปแก้ระดับนานาชาติซึ่งไม่ใช่นโยบายรัฐบาล” นายอภิสิทธิ์ กล่าว ■