ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
13 มิถุนายน 2552
*ชมคลิปข่าว พันธมิตรปิดหอบังคับการบิน เพื่อควบคุมไม่ให้มีการบิน และขนส่งสินค้าทางอากาศ คลิ้กที่นี่ และ ที่นี่
สาวเหตุตำรวจโยนกลองคดียึดสนามบินหลังจากดองมาครึ่งปียังไม่มีการดำเนินคดี อ้างรอกรมขนส่งทางอากาศสรุปความเสียหายทางกฎหมายมาก่อน ทั้งที่ไม่มีอะไรซับซ้อนยุ่งยาก เนื่องจากไทยลงนามข้อตกลงสากลปราบปรามการยึดสนามบินไว้แล้ว ออกกฎหมายรองรับไว้ชัดแจ้ง"ใครทำให้การให้บริการของท่าอากาศยานหยุดชะงักลง โทษหนักถึงประหารชีวิต" แต่เหตุที่คดีโดนเป่าอาจเนื่องจากสะดุดตอใหญ่ เพราะกฎหมายกำหนดโทษ"ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด โดนประหารด้วย"
ก่อนหน้านี้พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายให้คุมคดีพันธมิตรยึดสนามบิน เปิดเผยว่าจะดำเนินคดีกรณีพันธมิตรยึดสนามบินได้ภายในปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ต่อมาเมื่อวันที่3มิ.ย.กลับอ้างว่าตำรวจทำคดีเต็มที่แล้ว แต่เหตุที่ล่าช้าเนื่องจาก กรมขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคมยังไม่ได้สรุปความเสียหายว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ มายังพนักงานสอบสวน เพื่อใช้ประกอบสำนวนการสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น
จากการตรวจสอบพบว่า ไทยได้ลงนามในพิธีสารเพื่อการปราบปรามการกระทำรุนแรงอันมิชอบด้วยกฎหมาย ณ ท่าอากาศยาน ซึ่งให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( อ่านรายละเอียด คลิ้กที่นี่ )และมีผลใช้บังคับสำหรับประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้นมา โดยมีข้อตกลงในพิธีสารนี้ที่สำคัญว่า
พิจารณาเห็นว่า การกระทำรุนแรงอันมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นอันตรายหรือน่าจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัย ของบุคคล ณ ท่าอากาศยานซึ่งให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือซึ่งเป็นผลร้ายต่อการดำเนินการ อย่างปลอดภัยของท่าอากาศยานนั้น บ่อนทำลายความไว้วางใจของประชาชนแห่งโลกในความปลอดภัย ณ ท่าอากาศยาน เหล่านั้น และรบกวนความปลอดภัยและความเป็นระเบียบในการดำเนินงานการบินพลเรือนของรัฐทั้งปวง
พิจารณาเห็นว่า การที่การกระทำเช่นว่านั้นอุบัติขึ้นเป็นเรื่องน่าห่วงใยอย่างมากต่อชุมชนระหว่างประเทศ และเพื่อความประสงค์ที่จะยับยั้งการกระทำเช่นว่านั้น ย่อมมีความจำเป็นอันรีบด่วนที่จะจัดหามาตรการ อันเหมาะสมเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด
พิจารณาเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องรับเอาข้อบทเพิ่มเติมต่อจากอนุสัญญาว่าด้วยการปราบปราม การกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายต่อความปลอดภัยของการบินพลเรือน ทำที่เมืองมอนตริออล เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๑๔ เพื่อจัดการกับการกระทำรุนแรงอันมิชอบด้วยกฎหมายเหล่านั้น ณ ท่าอากาศยานซึ่งให้บริการการบินพลเรือน ระหว่างประเทศ
ได้ตกลงกันต่อไปนี้
"๑ ทวิ บุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำความผิด หากได้กระทำดังต่อไปนี้อย่างมิชอบด้วยกฎหมายและโดยเจตนา โดยใช้เครื่องมือ วัสดุ หรืออาวุธใด ๆ
(ก) กระทำการอันรุนแรงต่อบุคคล ณ ท่าอากาศยานซึ่งให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุให้หรือน่าจะเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสหรือความตาย หรือ
(ข) ทำลาย หรือทำความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยาน ซึ่งให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือต่ออากาศยานที่ไม่ได้ให้บริการ ซึ่งจอดอยู่ ณ ท่าอากาศยานนั้น หรือทำให้การบริการของท่าอากาศยานหยุดชะงักลง หากการกระทำนั้นเป็นอันตรายหรือน่าจะเป็นอันตราย ต่อความปลอดภัย ณ ท่าอากาศยานนั้น"
"๒ ทวิ ในทำนองเดียวกัน รัฐภาคีแต่ละรัฐต้องดำเนินมาตรการที่อาจจำเป็นเพื่อกำหนดเขตอำนาจศาล ของตนให้ ครอบคลุมเหนือการกระทำผิด ตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑ วรรค ๑ ทวิ และในข้อ ๑ วรรค ๒ เท่าที่วรรคนั้น เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเหล่านั้น ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดปรากฏตัวในอาณาเขตของรัฐภาคี และรัฐนั้นมิได้ส่งตัวบุคคลนั้นข้ามแดนตามข้อ ๘ ไปให้รัฐที่ระบุไว้ในวรรค ๑ (ก) ของข้อนี้"
สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทยคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2538 (รายละเอียดคลิ้กที่ ลิ้งค์ )ระบุว่า
มาตรา 6 ทวิ(1) ผู้ใด
(1) กระทำการประทุษร้ายผู้อื่นในท่าอากาศยานที่ให้บริการการบินพลเรือนจนเป็นเหตุให้หรือน่าจะเป็นเหตุให้ผู้อื่นนั้นรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตายหรือ
(2) ทำลาย หรือทำให้เสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานที่ให้บริการการบินพลเรือน หรือต่ออากาศยานที่ไม่อยู่ในระหว่างบริการและอยู่ในท่าอากาศยานนั้น หรือทำให้การให้บริการของท่าอากาศยานหยุดชะงักลง
ทั้งนี้ โดยใช้กลอุปกรณ์ วัตถุ หรืออาวุธใด ๆ และการกระทำนั้นเป็นอันตรายหรือน่าจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของท่าอากาศยานนั้น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี
มาตรา 11(2) ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 หรือมาตรา 6 ทวิ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการ
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยได้ให้ภาคยานุวัติต่อพิธีสารเพื่อการปราบปรามการกระทำรุนแรงอันมิชอบด้วยกฎหมาย ณ ท่าอากาศยานซึ่งให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศเพิ่มเติมต่อจากอนุสัญญาว่าด้วยการปราบปรามการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายต่อความปลอดภัยของการบินพลเรือนทำที่นครมอนทรีออล เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2514 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาฯพิธีสารดังกล่าวมีผลกำหนดให้การกระทำอันเป็นอันตรายหรือน่าจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัย ณ ท่าอากาศยานซึ่งให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศเป็นความผิดเพิ่มขึ้นตามอนุสัญญาฯ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามพิธีสารดังกล่าวโดยกำหนดให้การกระทำดังกล่าว ณ ท่าอากาศยานซึ่งให้บริการการบินพลเรือนภายในประเทศเป็นความผิดด้วยจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้