WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, June 18, 2009

ใครปกครองอิหร่าน: โครงสร้างทางการเมืองอิหร่านโดยสังเขป

ที่มา ประชาไท

ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมืองอิหร่าน ซึ่งประธานาธิบดีไม่ใช่ผู้นำสูงสุด หากแต่ยังมีอีกหลายสถาบันการเมืองและผู้นำศาสนาที่ไม่เพียงแต่มีอำนาจเหนือประธานาธิบดี แต่ยังมีอิทธิพลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กระทั่งควบคุมวิถีชีวิต และความคิดของคนอิหร่าน


(ที่มา: ดัดแปลงจากภาพกราฟฟิค AP แปลและเรียบเรียงข้อมูลจาก: AP, Wikipedia, National Democratic Institute)

โครงสร้างสถาบันทางการเมืองอิหร่าน จำแนกเป็นส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
(ที่มา: ดัดแปลงจาก BBC)
การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา ตามมาด้วยการประท้วงผลการเลือกตั้งของผู้สนับสนุนผู้สมัครฝ่ายค้านและบานปลายเป็นเหตุจลาจลและเกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมในขณะนี้ ทำให้ทั่วโลกจดจ้องมายังสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่ถือเป็นการเลือกตั้งผู้นำประเทศสูงสุดของอิหร่าน เพราะในอิหร่าน ยังมีหลายสถาบันการเมืองและทางศาสนาที่ไม่เพียงแต่มีอำนาจเหนือประธานาธิบดี แต่ยังมีอิทธิพลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กระทั่งควบคุมวิถีชีวิต และความคิดของคนอิหร่าน และต่อไปนี้จะเป็นคำอธิบายโครงสร้างทางการเมืองโดยสังเขปของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

ประมุขสูงสุด: ผู้มีบารมีตามรัฐธรรมนูญ

คุมกองทัพ ศาล ทหาร สื่อ

โครงสร้างหรือระบบการเมืองของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน อยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญปี 1979 (2522) ประกอบด้วยสถาบันการเมืองที่ซับซ้อน โดยมีอยาตุลเลาะห์ หรือประมุขสูงสุด (Supreme Leader) คือ อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมนี (Ali Kamenei) ซึ่งเป็นผู้ควบคุมและกำหนดแนวนโยบายทั่วไปของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เป็นผู้นำของประเทศในการนำละหมาดในวันศุกร์ เป็นผู้รับรองผลการเลือกตั้ง
ประมุขสูงสุดเป็นทั้งผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ ควบคุมกองทัพ หน่วยข่าวกรอง และปฏิบัติการด้านความมั่นคง มีอำนาจในการประกาศสงครามแต่เพียงผู้เดียว
ประมุขสูงสุด ยังเป็นผู้แต่งตั้งประธานคณะตุลาการของอิหร่าน ผู้บริหารเครือข่ายวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐ ผู้บัญชาการตำรวจ และกองทัพ รวมทั้งสมาชิก 6 จาก 12 คนของสภาผู้พิทักษ์ (Guardian Council) โดยที่มาของประมุขสูงสุดไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง แต่มาจากสภาผู้เชี่ยวชาญ (Assembly of Experts) ซึ่งทำหน้าที่ทั้งแต่งตั้งและถอดถอนประมุขสูงสุด โดยพิจารณาว่ามีคุณสมบัติและได้รับการยอมรับจากประชาชนหรือไม่
สำหรับ อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมนี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติอิสลามอิหร่าน เป็นผู้ใกล้ชิดกับอยาตุลเลาะห์ โคไมนี่ (Ayatollah Khomeini) ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เคยเป็นประธานาธิบดีในปี 1981-1989 ก่อนที่จะได้รับเลือกจากสภาผู้เชี่ยวชาญให้เป็นประมุขสูงสุดของรัฐ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่จนเสียชีวิต

ประธานาธิบดี: มีอำนาจแต่ไม่ใช่ตัวจริง

ส่วนประธานาธิบดีอิหร่านถือเป็นประมุขฝ่ายบริหาร ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี และเป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องได้รับการรับรองจากสภาผู้พิทักษ์ก่อนว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่ออุดมการณ์ปฏิวัติอิสลามหรือไม่ ประธานาธิบดีเป็นผู้ทำตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ยกเว้นหน้าที่ที่เป็นของประมุขสูงสุด ซึ่งถือเป็นผู้เห็นชอบทุกสิ่งทุกอย่างในขั้นตอนสุดท้าย
ประธานาธิบดียังมีรองประธานาธิบดีอีก 8 คน และมีคณะรัฐมนตรีไม่เกิน 22 คน ซึ่งการแต่งตั้งเหล่านี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาเสียก่อน อย่างไรก็ตามคณะผู้บริหารและรัฐมนตรีของอิหร่านไม่เหมือนรัฐบาลอื่นตรงที่ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจควบคุมกองทัพ แม้ตามรัฐธรรมนูญประธานาธิบดีจะมีอำนาจตั้งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและกระทรวงข่าวกรอง แต่ตามธรรมเนียมแล้วประธานาธิบดีต้องได้รับความเห็นชอบจากประมุขสูงสุด ก่อนที่ประธานาธิบดีจะนำรายชื่อรัฐมนตรีให้เสนอต่อสภาเพื่อให้ลงมติเห็นชอบ
สำหรับประธานาธิบดีอิหร่านปัจจุบันคือนายมะห์มุด อะห์มาดิเนจัด ซึ่งถือเป็นประธานาธิบดีที่ไม่ใช่อิหม่ามคนแรก นับตั้งแต่ปี 2524 อะห์มาดิเนจัดชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 เหนืออดีตประธานาธิบดีอาลี อัคบาร์ ฮาชิมี่ ราฟซานจานี่ (Ali-Akbar Hashemi Rafsanjani) และกำลังจะหมดวาระและมีการเลือกตั้งใหม่เมื่อ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่การเลือกตั้งที่มะห์มุด อะห์มาดิเนจัดมีคะแนนห่างพรรคฝ่ายค้านนี้ กลับสร้างความกังขาให้กับผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน
ตัวของอะห์มาดิเนจัด เคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพนักศึกษา ซึ่งสหภาพนักศึกษาดังกล่าวเคยบุกยึดสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะรานในปี 2522 แต่ตัวเขาปฏิเสธว่าไม่ใช่ชุดที่บุกเข้าไปจับคนเป็นตัวประกันด้านในสถานทูต
อะห์มาดิเนจัดเป็นผู้ยึดมั่นในหลักการ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ในบ้านหมายถึงภายในประเทศที่เขาไม่ใช่ผู้เห่อการพัฒนาหรือเป็นนักการเมืองนิยมแนวทางปฏิรูป ส่วนนอกบ้านหมายถึงในต่างประเทศที่เขามักสะท้อนจุดยืนต่อต้านโลกตะวันตก และยืนกรานที่จะดำเนินโครงการพัฒนาด้านนิวเคลียร์
ผู้สนับสนุนเขาส่วนหนึ่งมาจากคนอิหร่านที่ยากจน และผู้เคร่งศาสนาในพื้นที่นอกกรุงเตหะรานซึ่งมีการขยายตัวของประชากรอย่างรวดเร็ว

สภา: การเลือกตั้ง และสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เดิมทีก่อนการปฏิวัติอิหร่าน อิหร่านใช้ระบบสองสภาคือมีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ภายหลังการปฏิวัติอิสลามอิหร่าน ได้ยกเลิกวุฒิสภา เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎรที่เรียกว่า Majlis โดยสภาดังกล่าวมีสมาชิกทั้งหมด 290 คน มาจากการเลือกตั้ง มีวาระทั้งหมด 4 ปี สภาทำหน้าที่พิจารณาและอนุมัติกฎหมาย ให้สัตยาบันสัญญาระหว่างประเทศ พิจารณางบประมาณของรัฐบาล โดยสมาชิกสภาทั้งหมดต้องผ่านการรับรองจากสภาผู้พิทักษ์จึงจะทำหน้าที่ได้
สำหรับสภาผู้พิทักษ์ ประกอบด้วยผู้พิพากษา 12 คน 6 คนแรกไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งของประมุขสูงสุด อีก 6 คนมาจากการเลือกของสภา ตามการเสนอรายชื่อของประมุขฝ่ายตุลาการ สภาผู้พิทักษ์ยังมีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจยับยั้ง (Veto) รัฐสภาด้วยหากร่างกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญหรือชารีอะห์ (Sharia) และร่างกฎหมายจะถูกส่งมายังรัฐสภาจะต้องทบทวนกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้การทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาให้กับประมุขสูงสุด ยังทำให้สภาผู้พิทักษ์เป็นหนึ่งในสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในอิหร่านทีเดียว
ในระดับท้องถิ่นจะมีสภาเมือง ซึ่งเป็นสภาระดับท้องถิ่น จะได้รับเลือกจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีระยะเวลาในตำแหน่ง 4 ปี ตามรัฐธรรมนูญอิหร่านมาตรา 7 สภาท้องถิ่นเหล่านี้ร่วมกับรัฐสภาจะมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการบริหารรัฐ โดยมาตรานี้เดิมทีไม่มีผลในทางปฏิบัติ จนกระทั่งในปี 1999 ที่มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นเป็นครั้งแรก โดยสภาท้องถิ่นมีหน้าที่คล้ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในไทย ตั้งแต่ เลือกตั้งนายกเทศมนตรี บริหารงานของเทศบาล วิจัย ผังเมือง ประสานงานชุมชน สังคม วัฒนธรรม การศึกษา สวัสดิการ และอื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

อิหม่ามและสภาผู้เชี่ยวชาญ

พวกอิหม่ามเป็นผู้มีบทบาทครอบงำสังคมอิหร่าน
อิหม่ามเท่านั้นที่สามารถได้รับเลือกเข้าไปในสภาผู้เชี่ยวชาญ (Assembly of Experts) ซึ่งทำหน้าที่แต่งตั้งประมุขสูงสุด และทำหน้าที่ตรวจสอบและถอดถอนประมุขสูงสุดได้ในทางทฤษฎี หากประมุขสูงสุดไม่ทำตามหน้าที่ ผู้นำของสภาผู้เชี่ยวชาญปัจจุบันคืออดีตประธานาธิบดีอาลี อัคบาร์ ฮาชิมี่ ราฟซานจานี่ (Ali-Akbar Hashemi Rafsanjani) ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็นนักปฏิบัตินิยมและอนุรักษ์นิยม
สำหรับสภาผู้เชี่ยวชาญจะมีการประชุมปีละ 1 หน เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ สมาชิกไม่ใช่คนทั่วไป แต่จะเป็น “86 อิหม่าม” ผู้มี “ศีลธรรมและความรู้” ซึ่งได้รับเลือกจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีวาระในตำแหน่ง 8 ปี และเช่นเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภา ผู้สมัครเลือกตั้งสภาผู้เชี่ยวชาญต้องได้รับการพิจารณาคุณสมบัติจากสภาผู้พิทักษ์เสียก่อนว่ามีคุณสมบัติลงสมัครเลือกตั้งได้หรือไม่
สภาผู้เชี่ยวชาญจะทำหน้าที่เลือกประมุขสูงสุด และมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะถอดถอนผู้นำสูงสุดเมื่อใดก็ได้ บันทึกการประชุมและความเห็นของพวกสภาผู้เชี่ยวชาญถือเป็นความลับอย่างยิ่ง สภาผู้เชี่ยวชาญไม่เคยเลยที่จะเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ว่าในบรรดาพวกเขามีใครที่ท้าทายการตัดสินใจของประมุขสูงสุด
อดีตประธานาธิบดีสายปฏิรูปอย่างโมฮัมหมัด คาตามี่ กล่าวหาอิหม่ามว่าขัดขวางแผนการปฏิรูปของเขา และยังเตือนให้ระวังอันตรายของ “เผด็จการ” ทางศาสนา
อิหม่ามยังมีอิทธิพลต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอิงอยู่กับกฎหมายชารีอะห์ (Sharia)
หลายปีก่อน พวกอนุรักษ์นิยมจัดในอิหร่านใช้ระบบศาลบ่อนเซาะการปฏิรูปอิหร่านด้วยการจำคุกนักปฏิรูปและผู้สื่อข่าว และปิดหนังสือพิมพ์ของพวกปฏิรูป

ระบบศาลในอิหร่าน

สำหรับกระบวนการยุติธรรมของอิหร่าน ประมุขสูงสุด จะเป็นผู้แต่งตั้งประธานคณะตุลาการของอิหร่าน ซึ่งประธานคณะตุลาการจะเป็นผู้แต่งตั้งประธานศาลสูงสุดและอัยการสูงสุด ของอิหร่าน โดยอิหร่านมีหลายระบบศาล รวมถึงศาลสาธารณะ (public courts) ที่ใช้ตัดสินคดีแพ่งและคดีอาญา และ “ศาลปฏิวัติ” (revolutionary courts) ที่ใช้ตัดสินคดีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ การพิพากษาของศาลปฏิวัติถือเป็นที่สิ้นสุดและไม่สามารถอุทธรณ์ได้
นอกจากนี้ยังมี “ศาลพิเศษทางศาสนา” (Special Clerical Court) ที่ใช้ตัดสินคดีที่อิหม่ามเป็นผู้กระทำผิด รวมถึงคดีที่อิหม่ามเป็นตัวการใช้ผู้อื่นไปกระทำผิดด้วย ศาลนี้จะเป็นอิสระจากระบบศาลอื่นในอิหร่านแต่จะขึ้นตรงกับประมุขสูงสุดคืออยาตุลเลาะห์แต่เพียงผู้เดียว และเช่นเดียวกับศาลปฏิวัติ คำตัดสินจากศาลพิเศษทางศาสนาถือเป็นที่สิ้นสุดไม่สามารถอุทธรณ์ได้

กองทัพ: เครื่องมือกำราบฝ่ายค้าน

กองทัพอิหร่านประกอบด้วยกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามอิหร่าน หรือ IRGC และ กองกำลังประจำการ ทั้งสองกองทัพอยู่ภายใต้การบัญชาการของผู้บัญชาการคนเดียวกันคือโมฮัมหมัด อาลี จาฟารี (Mohammad Ali Jafari)
ตามรัฐธรรมนูญอิหร่านที่พวกอิหม่ามร่างขึ้น กำหนดให้ กองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามอิหร่าน (Iran's Islamic Revolution Guards Corps - IRGC) หรือ Pasdaran มีอำนาจปกป้องระบอบการปกครองแบบอิสลามของประเทศภายหลังการปฏิวัติอิหร่านให้เป็นรัฐศาสนาได้สำเร็จ และเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับกองกำลังประจำการหรือ Artesh ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน้าที่ป้องกันชายแดนและควบคุมความสงบเรียบร้อยในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติกองกำลัง Pasdaran มันมีบทบาทล้ำเส้นกับกองกำลังประจำการหลัก เพราะ Pasdaran ยังมีบทบาทด้านรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ มีการพัฒนากำลังอาวุธของตนเองทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ กองกำลัง Pasdaran นี้ประมาณการว่ามีกองกำลังพร้อมรบกว่า 125,000 นาย และยังอ้างว่ามียุทโธปกรณ์ทั้งภาคพื้นดิน ทางเรือ และทางอากาศ และขีปนาวุธระยะไกลด้วย
นอกจากนี้ Pasdaran ยังอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการทางทหารของอิหร่านหลายครั้ง เช่นในเดือนมีนาคมปี 2550 ได้ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการทูตกับอังกฤษ ด้วยการควบคุมตัวนาวิกโยธินของอังกฤษ 15 ราย ขณะลาดตระเวนที่ปากแม่น้ำชัต อัล-อาหรับ (Shatt al-Arab) ที่คั่นระหว่างชายแดนอิรักและอิหร่าน
สหรัฐอเมริกาเองก็เคยกล่าวหาหน่วยคุด (Quds Force) กองกำลังที่มีภารกิจปฏิบัติการนอกประเทศอิหร่าน ซึ่งมีกำลังพลกว่า 15,000 คน ที่อยู่ภายใต้ Pasdaran ว่าเป็นตัวการส่งมอบวัตถุระเบิดชนิดเจาะเกราะ (explosively formed projectiles - EFPs) ให้กับนักรบชีอะห์ซึ่งต่อต้านสหรัฐในอิรัก
หน่วยคุดนี้ เชื่อกันว่าเจ้าหน้าที่ประจำการในสถานทูตอิหร่านของหลายประเทศทั่วโลก พวกเขาถูกกล่าวหาว่าทำงานข่าวกรองในต่างประเทศ จัดตั้งค่ายฝึกอาวุธและขนอาวุธทางเรือให้กับกลุ่มนักรบต่างชาติที่อิหร่านสนับสนุน อย่างเช่นกลุ่มเฮซโบลเลาะห์ (Hezbollah)
ด้วยอำนาจอย่างมหาศาล ทำให้กองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามอิหร่านหรือ Pesdaran การที่ประธานาธิบดี มะห์มูด อะห์มาดิเนจัดก็เคยเป็นสมาชิกของกองกำลังนี้ และ Pasdaran ก็มีความใกล้ชิดและได้รับการสนับสนุนจากผู้นำสูงสุดอย่าง อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมนี ทำให้ Pasdaran เป็นตัวแสดงสำคัญในทางการเมืองของอิหร่าน
และเชื่อกันว่า อยาตุลเลาะห์ คาเมนี ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ใช้อำนาจของเขาในการขยายอิทธิพลของเขาและ Pasdaran ผ่านการแต่งตั้งสมาชิก Pasdaran หลายคนให้มีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง และใช้กองกำลังนี้กำราบฝ่ายที่ต่อต้านเขาและพวกนิยมปฏิรูปในอิหร่าน
ล่าสุดหลังการเลือกตั้งในปี 2548 ประธานาธิบดีอะห์มาดิเนจัดได้แต่งตั้งอดีตทหารผ่านศึกใน Pasdaran ให้เป็นรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ
นอกจากนี้ กองกำลัง Pasdaran ยังมีอำนาจในสถาบันทางสังคมของพลเรือน และมีบทบาททางเศรษฐกิจราว 1 ใน 3 ของอิหร่านผ่านการสงเคราะห์และการให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ย
ฝ่ายวิศวกรรมของ Pasdaran ที่ชื่อว่า Khatam-ol-Anbia หรือที่เรียกในชื่อย่อว่า GHORB ได้รับงบประมาณหลายพันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อว่าจ้างในโครงการก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงโครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติอิหม่ามโคไมนี่ (Imam Khomeini international airport) สนามบินแห่งใหม่ในเตหะรานด้วย
Pasdaran ยังเป็นเจ้าของหรือควบคุมห้องทดลองของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง บริษัทผลิตอาวุธ หรือแม้แต่บริษัทผลิตรถยนต์ด้วย
โดยหนังสือพิมพ์ไฟแนลเชียล ไทม์ (The Financial Times) ประมาณการว่าร้อยละ 30 ในภารกิจของ Pasdaran เกี่ยวข้องกับเรื่องธุรกิจ และส่งภาษีให้กับรัฐราว 2,000 เหรียญสหรัฐต่อปี
นอกจากนี้กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติหรือ Pasdaran ยังคงควบคุมกองกำลัง Basij (Basij Resistance Force) ซึ่งเป็นทหารอาสาสมัครอิสลาม มีกำลังพลทั้งชายและหญิงราว 90,000 คน และสามารถระดมพลในรัศมี 1 ไมล์ได้ทันที โดยทหารอาสา Basij มักถูกระดมพลบ่อยครั้งให้ออกมาตามท้องถนนเพื่อใช้สลายการชุมนุมของฝ่ายต่อต้าน พวกเขามีสาขาอยู่ทุกๆ ตำบลของอิหร่าน
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
วิกิพีเดีย, http://en.wikipedia.org/wiki/Iran
Profile: Iran's Revolutionary Guards, BBC, 26 October 2007 16:59 UK
http://news.bbc.co.uk/2/hi/middle_east/7064353.stm
Guide: How Iran is ruled, BBC, Tuesday, 9 June 2009 10:42 UK