ที่มา มติชน
บทนำมติชน
จากค่ำวันที่ 8 มิถุนายน ที่เกิดเหตุการณ์คนร้ายบุกเข้าไปกราดยิงชาวไทยมุสลิมขณะทำพิธีละหมาดในมัสยิด ที่บ้านไอปาแยร์ ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 11 ศพ และบาดเจ็บอีกกว่า 10 ราย มาจนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ แต่ดูเหมือนไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคคลหลายกลุ่มหลายฝ่ายและหลายคนออกมาให้ความเห็นพร้อมกับวิเคราะห์วิจารณ์ไปต่างๆ นานาโดยเฉพาะผู้ที่น่าสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อเหตุความรุนแรง ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามว่าการใช้การเมืองนำการทหารดังที่นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกให้สัมภาษณ์นั้นจะทำอย่างไรและจะเห็นผลเมื่อใด เพราะการให้สัมภาษณ์ไม่มีรายละเอียด และในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ไม่มีปฏิบัติการใดๆ จากฝ่ายนโยบายที่จะปรับนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะขบวนการแบ่งแยกดินแดน
แม้จะเกิดความรุนแรงในลักษณะทำลายชีวิตผู้คนแทบทุกวันๆ ละหลายจุด ทั้งครู ชาวบ้าน ทหาร พระสงฆ์ ฯลฯ ตกเป็นเหยื่อกระสุนปืน คมมีด และระเบิดที่ลอบทำร้าย จนเกิดอาการขวัญผวาไปทั่ว แต่การสังหารหมู่ 11 ศพ ที่มัสยิด บ้านไอปาแยร์ก็เกิดกระแสข่าวลือที่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็วดุจไฟลามทุ่งโดยข้าราชการระดับสูงทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือนตลอดทั้งนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรียืนยันว่าเป็นฝีมือของขบวนการก่อการร้ายซึ่งเคยก่อเหตุรุนแรง แต่นักการเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับไม่ปักใจว่าจะเป็นเช่นนั้น โอกาสจะเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐก็มีอยู่มาก สำหรับชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จำนวนไม่น้อยลงความเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่ชาวไทยมุสลิมจะบังอาจฆ่าพวกเดียวกันในมัสยิด น่าจะเป็นฝ่ายรัฐมากกว่า
ข้อถกเถียงจากการวิเคราะห์และการคาดหมายไปกันคนละทางสองทางเช่นนี้ผูกพันกับสถานะของบุคคลว่าเป็นใคร ดำรงตำแหน่งหรือสถานะอะไร ความแตกต่างทางศาสนา การมีประสบการณ์ในอดีตและความคิด ความเชื่อซึ่งยากจะไปเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม หากคนในพื้นที่ชายแดนใต้พากันเข้าใจว่าคนของรัฐ นั่นคือ ทหารพรานเป็นคนทำ โดยพูดกันปากต่อปากและมีมือมืดทำใบปลิวแจกจ่ายจนกลายเป็นสงครามจิตวิทยา ย่อมไม่เป็นผลดีกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ทหารพรานจะยังคงกำลังไว้ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยให้กับชาวบ้าน
การยุติกระแสข่าวลือของชาวไทยมุสลิมที่มองเจ้าหน้าที่รัฐเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาความรุนแรงถึงขนาดลอบสังหารชาวไทยมุสลิมขณะทำพิธีละหมาดในมัสยิด มิใช่แค่การให้สัมภาษณ์ของผู้นำทางการเมืองหรือผู้นำกองทัพปฏิเสธว่าคนของรัฐไม่ทำอย่างนี้เด็ดขาด หรือโปรยยาหอมว่าตำรวจจับกุมคนร้ายได้แน่นอนเพราะชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีใครเชื่อถือ เพราะต้องยอมรับว่าการวางทหารและอาวุธครบมือไว้เต็มพื้นที่ 3 จังหวัดประมาณ 40,000 นาย ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้าน ดังนั้น เพื่อขจัดความคลุมเครือว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุสังหารโหดในมัสยิด 11 ศพ รัฐบาลจึงควรตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระประกอบไปด้วยคนในพื้นที่และผู้ทรงคุณวุฒิมาสอบสวนหาข้อเท็จจริง แทนที่จะปล่อยให้ตำรวจทำคดีไปตามปกติ
ตราบใดที่เหตุการณ์กราดยิงมัสยิดบ้านไอปาแยร์ 11 ศพ ยังปล่อยให้คลุมเครือ ไม่รู้ใครเป็นคนร้ายกันแน่ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน ผนวกเข้ากับความไม่เชื่อถือภาครัฐว่าจะให้ความเป็นธรรมกับชาวไทยมุสลิมได้ ย่อมเป็นเงื่อนไขให้คนในพื้นที่คิดแบ่งแยกดินแดนนำไปเป็นข้ออ้างในการโฆษณชวนเชื่อเพื่อดึงมวลชนไปอยู่กับฝ่ายตน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ยากต่อการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี