WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, June 14, 2009

ข้อถกเถียงบางประการเกี่ยวกับกรอบโครงความคิดและพันธมิตรฯ

ที่มา ประชาไท

หมายเหตุต้นฉบับ: เมื่อปลายปี 2551 ผู้เขียนได้เสนอบทความ “กรอบโครงความคิดในการปฏิบัติการร่วมทางการเมือง (Collective Action Frames) กรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)” ในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2551) และได้เผยแพร่ในเวบไซต์ประชาไท ต่อมาผู้เขียนได้พัฒนา เพิ่มเติมเนื้อหาขึ้นอีกบางส่วน จึงขอนำเนื้อหาในส่วนดังกล่าว มาเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ ทั้งนี้เนื่องจากความยาวของบทความ ทางประชาไทจึงได้แบ่งนำเสนอออกเป็นสองตอน (อ่านตอนแรก: กรอบโครงความคิด และ “ตีคนเลว ตีคนชั่ว ไม่บาป”)

ในการศึกษาหรือทำความเข้าใจพันธมิตรฯ แน่นอนที่สุด ย่อมมีข้อถกเถียงจำนวนมากที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นในตอนท้ายของบทความนี้ จะนำเสนอข้อถกเถียงที่เกี่ยวข้องกับกรอบโครงความคิดในบางประเด็นที่สำคัญ และเคยถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียง กล่าวคือ มีการอธิบายว่า กลุ่มที่เข้าร่วมมีที่มาในแง่ของแรงจูงใจที่หลากหลาย โดยมีส่วนหนึ่งมาจาก “ภาคประชาชน” ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายหรือโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เคยเคลื่อนไหวมาก่อนหน้า ซึ่งมีนัยว่า ความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลทักษิณที่มีอยู่ก่อนหน้าเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ มีเหตุผลมากไปกว่ากรอบโครงหลักความคิดที่ผู้ประกอบการได้สร้างขึ้น หรือจนกระทั่งอาจจะไม่เห็นด้วยกับกรอบโครงความคิดหลักของพันธมิตรฯ นอกจากเรื่องแรงจูงใจที่หลากหลายแล้ว ยังมีการตั้งข้อสังเกตเลยเถิดไปถึงขนาดที่ว่า อาจจะไม่ได้จากเกิดจาก “ความสมัครใจ” ดังที่เกิดขึ้นในกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ในราวันดา[1] ที่การเข้าร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของประชาชนบางส่วน เกิดจากภาวะถูกบังคับจากสถานการณ์ความรุนแรง
ผู้เขียนเห็นว่า การถกเถียงในเรื่องนี้จำเป็นต้องกลับไปพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์และทางทฤษฎี กล่าวคือ
ประการแรก ในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในรอบแรก มี ภาคประชาชน ซึ่งหมายถึง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ ที่เติบโต มีบทบาท และเคลื่อนไหวมาก่อนหน้า[2] เข้าร่วมจำนวนหนึ่ง อย่างองค์กรที่ประกาศตัวอย่างเป็นทางการ เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน: คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.- มี กป.อพช.ภาคต่างๆ เป็นองค์ในโครงสร้างองค์กร)กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WatchGroup) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (ครส.) นักศึกษา: สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) องค์กรมวลชน-ชาวบ้าน : เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายสลัม 4 ภาค ในนาม “เครือข่ายสลัมเพื่อประชาธิปไตย” คณะกรรมการสมานฉันแรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นอกจากนั้นยังมี “สมาชิก” ของ องค์กรมวลชน-ชาวบ้าน อีกจำนวนเล็กน้อย เข้าร่วมในนามปัจเจก เช่น กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) กลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม “ภาคประชาชน” เหล่านี้ก็ถือได้ว่าเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ชมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ซึ่งก่อนจะรวมตัวกันเป็นพันธมิตรฯ สามารถจัดการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 โดยมีคนเข้าร่วมหลายหมื่นคนเต็มลานพระบรมรูปทรงม้า
กลุ่ม “ภาคประชาชน” เหล่านี้บางส่วนเริ่มถอยห่างจากพันธมิตรฯ ตั้งแต่มีการขอ“นายกพระราชทาน” และการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และทุกองค์กรที่ได้กล่าวมา ยกเว้นสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์[3] ไม่มีองค์กรใดประกาศเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ ในรอบสองเลย นอกจากพวก “ผู้นำ” ที่เป็นปัจเจกที่เวียนว่ายอยู่หลังเวที อย่างที่ประภาส ปิ่นตบแต่ง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากการไปสังเกตการชุมนุมพบว่ามีแต่ “แฟนคลับ” ของ ASTV และ กลุ่มญาติธรรม ในสายมูลนิธิกองทัพธรรม ภายใต้การนำของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ขณะที่“ภาคประชาชนรู้สึกว่าจะมีแต่หัว เหมือนผีกระสือ มีแต่หัวไม่มีตัว เป็นขบวนการภาคประชาชนแบบขาลอย มีแต่ผู้นำ 2-3 คน”
ในขณะที่พันธมิตรฯ ถูกตั้งคำถามถึง “ความชอบธรรม” ในการชุมนุม การยกระดับข้อเรียกร้องอย่างรวดเร็วจากคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นขับไล่รัฐบาลหลังจากการชุมนุมใหญ่เพียงหนึ่งวัน[4] การออกมาวิจารณ์ของประภาส ปิ่นตบแต่งว่า พันธมิตรฯ เป็นขบวนการล้าหลังคลั่งชาติ, “ภาคประชาชน” ถอยหนี “มีแต่หัวเหมือนผีกระสือ” และเนื้อหาบนเวทีที่ไม่มีประเด็นต่างๆ ของ “ภาคประชาชน” เลยนอกจากการสร้างเรื่องโกหกและผลิตคำด่าแข่งขันกัน[5] สร้างความไม่พอใจให้กับพันธมิตรฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการทำลายความชอบธรรมของการต่อสู้ โดยเฉพาะอย่างยิง พี่ใหญ่อย่างนายพิภพ ธงไชย เพราะที่ผ่านมาพวกเขาพยายามเสนอภาพว่าตัวเองและคณะเป็นตัวแทนหรือเป็นผู้นำของขบวนการเคลื่อนทางสังคมที่มีอยู่มาโดยตลอด เห็นได้จากการให้ความสำคัญในการตอบโต้ข้อวิจารณ์ดังกล่าว โดยการปราศรัยของบนเวทีของแกนนำ[6]
นอกจากนั้น พันธมิตรฯ ยังได้มีกระบวนการแก้ไขข้อวิจารณ์และสร้างภาพความเป็นตัวแทน “ภาคประชาชน” ขึ้นมา โดยการระดมบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายที่พอเป็นที่รู้จักและมีภาพ “ภาคประชาชน” เข้าร่วมกิจกรรมการเสวนาหรือปราศรัย เช่น นายบำรุง คะโยธา (อดีตที่ปรึกษาสมัชชาคนจน) นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด (อดีตที่ปรึกษาสมัชชาคนจน) ที่ปรึกษา สกน. รศ. ดร. สุธี ประศาสนเศรษฐ์ (อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน) รองประธานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย นายบรรจง นะแส เลขาธิการ กป,อพช. ภาคใต้ นายวีรพล โสภา (อดีตที่ปรึกษาสมัชชาคนจน) ประธานที่ปรึกษาสมัชชาประชาชนอิสาน นายวสันต์ พานิช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายพิทยา ว่องกุล ผู้อำนวยการโครงการวิถีทรรศน์ เป็นต้น และมีการปรับรูปแบบเวทีในบางช่วงเป็นเวทีเสวนา [สภาชาวบ้าน และ มหาวิทยาลัยราชดำเนิน] เพื่อนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ภาคประชาชน”[7] และที่สำคัญคือ มีการจัดเสวนาเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน ในวันที่ 5 มิถุนายน 2551 โดยมีนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด นายบรรจง นะแส นายบำรุง คะโยธา และนายสุทธิ อัชฌาศัย ซึ่งเป็น “ตัวแทน” เอ็นจีโอ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอิสาน ภาคตะวันออก ตามลำดับ เป็นวิทยากร[8] ในวันที่ 6 มิถุนายน 2551 มีการจัดเสวนาเรื่อง “การเมืองภาคประชาชน” เพื่อให้ความรู้กับผู้ชุมนุม และช่วยอธิบายว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เป็นการเมืองภาคประชาชนที่ “แท้จริง” โดยมี รศ. ดร. สุธี ประศาสนเศรษฐ์ รศ. ดร. สุวินัย ภรณวลัย นายสาวิทย์ แก้วหวาน เป็นวิทยากร ทั้ง 2 เวทีนี้กล่าวได้ว่าเป็นการตอบโต้การวิจารณ์โดยตรงเป็นการเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่ม “ภาคประชาชน” เหล่านี้ มีเพียง กป.อพช. ภาคใต้ ภายใต้การนำของนายบรรจง นะแส เลขาธิการ เท่านั้น ที่มีการออกแถลงการณ์เข้าร่วมการเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการ[9] และประกาศ “หยุดงาน 10 วัน” นำเอ็นจีโอในภาคใต้จำนวน 100 คน เข้าร่วมการชุมนุม ขณะที่ กป. อพช ไม่ได้สนับสนุนหรือเข้าร่วมการเคลื่อนไหวแต่อย่างใด[10] นอกจากนั้น คนอื่นๆ ล้วนเข้าร่วมอย่างเป็นปัจเจก ไม่สามารถนำ “มวลชน” หรือสมาชิกกลุ่มองค์กรชาวบ้านที่ตนเองทำงานอยู่ด้วยมาหลายปีเข้าร่วมได้
สำหรับการเข้าร่วมของกลุ่มชาวบ้านที่มีการเคลื่อนไหวมาก่อนในบางพื้นที่ บางส่วนนั้น อาจจะมีข้อถกเถียงได้ แต่ถือได้ว่าเป็นข้อยกเว้นมากกว่าที่จะเป็นลักษณะทั่วไป และหากพิจารณาจากประสบการณ์ในการทำงานพื้นที่แล้ว จะเข้าใจได้ว่า การที่ผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาต่างๆ ซึ่งอาจจะถือว่ามีความเดือดร้อนคับข้องใจอยู่เดิมแล้ว จะลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องสิทธิใน ปัญหาของตนเองนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หรือเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ แต่ต้องผ่านกระบวนการคิดคำนวณเหตุผล ผ่านการถกเถียง หรือการ “จัดตั้ง” และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อแก้ไขตนเองกับการเข้าร่วมกับพันมิตรฯ สำหรับคนเหล่านี้ อย่างหลังย่อมยากกว่า ดังนั้น พวกเขาต้องผ่านกระบวนการคิด การตีความสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ หรือต่อรองความหมายต่างๆใหม่ นั่นเท่ากับว่า ท้ายที่สุด ต้องรับกรอบโครงความคิดของพันธมิตรฯ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ของ ”ตัวแทน” ที่ทำงานอยู่กับพวกเขา
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ และจากฐานทฤษฎีในการเข้าใจการมีส่วนร่วม ไม่เพียงเฉพาะเรื่องกระบวนการสร้างกรอบโครงความคิดที่บทความนี้เสนอเท่านั้น แม้กระทั่งทฤษฎีการระดมทรัพยากร ที่ถือว่าความเดือดร้อนคับข้องใจเป็นเพียง “ปัจจัยจำเป็น” ก็ไม่สามารถที่จะอธิบายได้ว่า การตกเป็น “เหยื่อ” ของ “ระบอบทักษิณ” เป็นแรงจูงใจ หรือเป็น ”ปัจจัยพอเพียง” ที่ทำให้กลุ่มชาวบ้านต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากพัฒนาหรืออื่นๆ เข้าร่วมเคลื่อนไหว
ประการที่สอง การเปรียบเทียบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เพื่อต้องการสื่อถึงแรงจูงใจที่หลากหลายในการเข้าร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมโดย “ไม่สมัครใจ” หรือถูกบังคับโดยสถานการณ์นั้น ทั้งสองกรณีแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะกรณีรวันดา เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่การฆ่านั้นเกิดขึ้นในขอบเขตที่กว้างขวางทั่วประเทศ มีผู้เข้ารวมจำนวนมาก การฆ่าเกิดขึ้นทั้งในหมู่บ้าน บนท้องถนน ดังนั้นสถานการณ์จึงบีบรัด บังคับผู้คนจำนวนหนึ่งให้เข้าร่วมแม้ไม่สมัครใจ ทั้งนี้เพราะหากไม่กระทำ ตัวเองหรือครอบครัวก็จะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงหรือถูกฆ่าเสียเอง แต่กรณีพันธมิตรฯ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองธรรมดา ห่างไกลจากสถานการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาก กล่าวคือ ไม่มีสงครามกลางเมือง ไม่มีประชาชนลุกขึ้นมาฆ่ากัน ดังนั้น ประชาชนที่ไม่เข้าร่วมจึงไม่ถูกบังคับจากเงื่อนไขของสถานการณ์ หรือมีเดิมพันเป็นชีวิตของตนเองและครอบครัว อย่างมากที่สุดก็อาจจะถูกกล่าวหา ตำหนิว่าไม่รักชาติ ไม่รักสถาบัน ไม่เสียสละหรือเห็นแก่ตัวเท่านั้น และที่สำคัญที่สุด สามารถที่จะอ้างเหตุได้สารพัดในการปฏิเสธหรือหลบหลีกได้ ดังนั้น ทำให้รูปแบบของการเข้าร่วมจึงเป็นลักษณะของตามความสมัครใจอย่างเดียวเท่านั้น อย่างที่พบรูปแบบที่สำคัญในการเข้าร่วม คือ “ดู ASTV แล้วทนไม่ได้” เพราะได้รับรู้ถึงความชั่วร้ายของระบอบทักษิณ
รูปธรรมของการเข้าร่วมในลักษณะที่กล่าวมานี้ปรากฏให้เห็นในหมู่ผู้เข้าร่วมโดยทั่วไป ซึ่งสามารถพบเห็นได้เมื่อผู้เข้าร่วมอธิบายการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของตนเอง
ในกลุ่ม GTO (Thaksin Get Out)ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่-หนุ่มสาว ผู้ใช้อินเตอร์เน็ท ได้มีเล่าเรื่องราวดังกล่าวไว้ใน Hi5 ของกลุ่ม ในกระทู้ “อยากรู้จังว่าแต่ละคนเข้าเป็นแนวร่วมพันธมิตรได้ยังไง”[11] โดยคุณ “อู๋” [โพสต์เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2551] เล่าถึงการเข้าร่วมของตนเองว่า ในครอบครัวตนเองนั้น ทั้งพ่อและแม่จะติดตามมาตั้งแต่ตอนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ โดยเฉพาะแม่นั้น “แรงมาก” และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวหลายครั้ง ส่วนตนเองมาเริ่มมาสนใจอย่างจริงจังเมื่อเกิดกรณีของนายจักภพ เพ็ญแข และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งแรกกลางปีช่วงปี 2551 คุณ “พลอย” [โพสต์เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2551] อธิบายว่า ที่บ้านของตนเป็นพันธมิตรฯ 100% ตั้งแต่ปี 49 ขณะที่ตนเองนั้น ไม่ได้มาเข้าร่วมชุมนุมหรือจริงจังอะไร จนกระทั่งได้รับรู้ข้อมูลกรณีนายจักรภพ เพ็ญแข และ “เพื่อนบอกว่าหมักจะแก้รัฐธรรมนูญและคิดล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เราก็เลยไปกับเพื่อน... ยิ่งรับรู้ข้อมูลยิ่งทนไม่ได้กับรัฐบาลชุดนี้ ตั้งแต่วันนั้นก็ไปร่วมชุมนุมแทบจะทุกวันจนถึงปัจจุบัน” คุณ “จิ้งจอกหน้าหยก เซียวอิงจวิ้น”[ โพสต์เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2551] เล่าว่า ตนเองเข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เดือนกันยายน 2548) โดย “แบบว่า ตอน เมืองไทยรายสัปดาห์ยังอยู่ช่อง 9 ผมก็ดูมาตลอด ตอนลูกแกะหลงทางผมก็ดูอยู่ด้วย”[12]
การรวมตัวของกลุ่มราชนิกุลก็เช่นเดียวกัน “คุณหญิงเอ๋ย“ ม.ร.ว.รำพิอาภา เกษมศรีอธิบายจุดเริ่มต้นของกลุ่มว่า “เนื่องจากรับไม่ได้กับพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมีท่าทีจาบจ้วงสถาบันอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2549 โดยเฉพาะกรณีที่มีการเรียกประชุมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และกล่าวในเชิงตำหนิ ว่า ‘ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ’ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง” โดยกลุ่มของตนได้ติดตามรายการเมืองไทยรายสัปดาห์มาโดยตลอด และเมื่อถูกถอดก็ได้ติดตามไปฟังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สวนลุมพินี และเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และสนามหลวง [13]
มากไปกว่านั้น การตระหนักถึงความร้ายแรงของระบอบทักษิณในเรื่องนี้ยังปรากฏในหมู่ ”นักกิจกรรม” ที่เข้าใจว่าตนเองเป็น “ฝ่ายซ้าย” อย่างกรณีของนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด [อดีตเลขาธิการ สนนท.ปี 2538 ผู้ปฏิบัติงานกลุ่มเพื่อนประชาชน] ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้กล่าวบนเวทีปราศรัย ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ว่า
พี่น้องที่เคารพ สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นดำรงอยู่มายาวนาน เป็นที่ยึดโยงความคิด ทำให้ชาตินั้นมีความหมาย ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว พวกเราจะมีชาติ มีประชาชนอยู่หรือครับพี่น้อง...
ถ้าพวกเราไม่ออกมาทำหน้าที่ 2 สถาบันที่เหลืออยู่ [คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ตุลาการ-ผู้เขียน] ก็จะถูกระบอบทักษิณทำลาย[14]
กรณีที่ยกมาข้างต้นสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของนายสุริยะใส กตะศิลา เรื่อง “แรงจูงใจ” ในการเข้าร่วมของผู้หญิง “อาซิ้ม-อาซ้อ” ว่ามี 3 ประการ คือ ประการแรก ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก คือ การเปิดโปงขบวนการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์โดยรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และกลุ่มพันธมิตรฯ จึงทำให้สามารถระดมผู้หญิงสูงวัย ซึ่งอาจจะมีความคิดในเชิงอนุรักษนิยม ที่มีความผูกพันภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าร่วมได้อย่างต่อเนื่องจำนวนมาก ประการที่สอง “พลังสื่อสารของเอเอสทีวี” ที่กลายเป็นทีวีของครอบครัว เป็นทีวีทางเลือกที่มีสาระ เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถระดมผู้หญิงให้ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรฯ กับสามีและลูกๆ ประการที่สาม การชุมนุมและการจัดกิจกรรมของกลุ่มพันธมิตรฯ มีทั้งเนื้อหา และสีสันที่หลากหลาย เช่น การมีนักร้องดารา เข้าร่วมกิจกรรมบนเวที[15]
ถึงแม้ว่าการวิเคราะห์ข้างต้นจะแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอันผิดพลาดเรื่อง “แรงจูงใจ” เพราะใน ประการที่สอง สื่ออย่าง ASTV ไม่ได้เป็นแรงจูงใจโดยตัวมันเอง [ยกเว้นเสียแต่จะอธิบายว่าการเข้าร่วมนั้นเพื่อ “ออกทีวี”] แต่ทำหน้าที่เป็นสื่อ-ตัวกลาง ในการสร้างแรงจูงใจเท่านั้น (ซึ่งจะทำการวิเคราะห์ในหัวข้อต่อไป) ขณะเดียวกัน ใน ประการที่สาม การมีกิจกรรมที่มีสีสัน สนุกสาน มีดารานักร้อง แม้จะจัดประเภทว่าเป็นแรงจูงใจได้ก็ตาม แต่อาจจะถือว่าเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้การเข้าร่วมเป็นไปอย่างสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ และตรึงคน รักษาการเคลื่อนไหวไว้ได้ในระดับหนึ่ง เพราะไม่มีคนปกติธรรมดาแสวงหาความรื่นรมย์ในชีวิตด้วยการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทีมีต้นทุนและความเสี่ยง โดยที่ตนไม่เห็นด้วยในจุดหมายปลายทางของขบวนการ แต่อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ของนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้คลุกคลีอยู่กับผู้ชุมนุมอย่างใกล้ชิด ก็ได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งสำคัญ 2 ประการในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ คือ (1) ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะแรงจูงใจที่สำคัญและเป็นปัจจัยหลัก และ (2) การทำงานของสื่ออย่าง ASTV ในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างแรงจูงใจนั้น โดยทั้ง 2 ประเด็นนี้ สามารถใช้อธิบายครอบคลุมได้ทุกกลุ่มไม่เฉพาะกรณีผู้หญิง “อาซิ้ม-อาซ้อ” อย่างที่ปรากฏในลักษณะเดียวกันกับกรณีกลุ่ม GTO และกลุ่มราชนิกุล อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องของการเข้าร่วมโดยสมัครใจทั้งสิ้น
ประการที่สาม นอกจากตัวอย่างที่ได้ยกมาในประการที่สองแล้ว ยังมีกรณีตัวอย่างอีกจำนวนมากเช่น กรณีอาอี๋อายุ 60 กว่าปี ที่“วันหนึ่งลูกสาวติดจานเอเอสทีวีให้ อาอี้ก็กลายเป็นขาประจำ อีกคนที่เดินเข้าสู่ถนนราชดำเนินสายนี้”[16] พี่บุญมี คนขับแท็กซี่ที่ฟังวิทยุเอฟเอ็ม 97.75 “แล้วตาสว่าง” [17] “คุณพริก” กานต์ชนิต ซำมะกุลดาราสาวเซ็กซี่ พยาบาลอาสา ที่ “ฟังเอเอสทีวีอยู่ที่บ้านประมาณหนึ่งอาทิตย์ ฟังทุกวัน ฟังจนติดไปเลย ขนาดนอนเรายังเปิดฟัง ตื่นมาก็ฟัง ให้มันเข้าหัว” แล้วสรุปว่า “ทีนี้มันต้องมาแล้วล่ะ” เพราะ “มันเป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยเหลือประเทศชาติ ช่วยเหลือพระมหากษัตริย์ของเรา[18] ที่ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสื่อกับการเข้าร่วมในการเคลื่อนไหว
หน้าที่ของสื่ออย่าง ASTV หรืออื่นๆ ในเครือผู้จัดการ แม้กระทั่งสื่อทั่วไปนั้น ไม่ใช่การเสนอข้อมูล-ข้อเท็จจริง หรือ “ความจริง” ที่สื่อเลือกนำเสนอเท่านั้น แต่เป็นกรอบโครงความคิดซึ่งล้วนแต่ผ่านการตีความของผู้นำเสนอทั้งสิ้น กล่าวคือ ในระดับแรก เมื่อเราไปสัมผัสกับวัตถุบางอย่างเช่น เห็นภาพการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ถ้าไม่มีความคิดบางอย่างเกี่ยวกับ “ความจงรักภักดี” หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็จะไม่มีความหมายอะไรเลย ในระดับที่สอง ต่อให้มีความคิดดังกล่าวที่จะจัดตั้ง (organize) ความเข้าใจของเรา แต่ก็ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความร้ายแรงที่จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนราชบัลลังก์หรือเลยเถิดไปถึงระบบสาธารณรัฐ แต่อาจเป็นแค่การแสดงความคิดเห็น การแสดงทางการเมือง “ธรรมดา” ในระบอบประชาธิปไตย ระดับที่สาม ต่อให้มีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสาธารณรัฐจริง ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นปัญหาที่ต้องทำอะไรสักอย่างหรือออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ แต่รูปแบบของการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวในลักษณะดู ASTV หรือรับสื่ออื่นๆ ของผู้จัดการแล้ว “ทนไม่ได้” ต้องลุกมาต่อสู้หรือเข้าร่วมการเคลื่อนไหวนั้น แสดงให้เห็นถึงการรับกรอบโครงความคิดที่ได้อธิบายอย่างละเอียดแล้ว ที่ผู้ประกอบการนำเสนอผ่านสื่อ โดยการที่กลุ่มพันธมิตรฯ มีสื่อเป็นของตนเอง สามารถถ่ายทอดสด กุมเนื้อหาทั้งหมดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ก็ทำให้กระทำได้ง่ายขึ้น ทั้งในการเสนอกรอบโครงความคิดของตนเอง และทำลายความชอบธรรมของกรอบโครงความคิดที่เป็นทางเลือกอื่นๆ หรือของฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาแข่งขันต่อสู้ รวมทั้งกำหนดวาระทางสังคมให้สื่อมวลชนหรือฝ่ายอื่นๆ ต้องเข้ามาถกเถียง หรือ “เล่นตาม”
และนี่เองที่เป็นสาเหตุให้นักพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมกับพันธมิตรฯ “จัดหา” จานรับสัญญาณ ASTV ไปติดตั้งตามบ้านเรือนหรือในชุมชนที่ตนเคยทำงานด้วย และทำให้พวกเขาเหล่านั้นออกมาเคลื่อนไหวกับตน
ประการที่สี่ จะอธิบายการเข้าร่วมของนักพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งผู้สนับสนุนอยู่ภายนอกอย่างไร โดยที่เชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยต่อคำอธิบายที่ว่า พวกเขาไม่ได้เห็นด้วยกับกรอบโครงความคิดทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์หรือการดูถูกดูแคลนประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แม้ว่าในเชิงข้อเท็จจริง แกนนำอย่างนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หรือนายสุริยะ ใสกตะศิลา ใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นปกติเสมอ
คำอธิบายของนางศยามล ไกรยูรวงศ์ เอ็นจีโอภาคใต้ ในการให้ความชอบธรรมกับการตัดสินใจในการเข้าร่วม ของ กป.อพช. ภาคใต้ เมื่อถูกตั้งคำถามถึงปัญหาการของเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในประเด็นดังกล่าว[19] ว่า “นี่คือสงคราม“ นั้น สามารถที่จะเป็นคำอธิบายที่สั้นและกุมใจความได้ทั้งหมด กล่าวคือ เห็นว่า ระบอบทักษิณ เป็นปัญหาของชาติ และมีความเป็นไปได้สูง “ที่จะทำให้ประเทศชาติของเราล่มจม ผู้คนจะถูกกระทำย่ำยี สังคมจะเสื่อมโทรมในทุกมิติ ความเป็นชาติไทย สังคมไทยจะสูญสิ้น”[20] นี่จึงไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมืองปกติธรรมดา แต่เป็นการกระทำสงคราม ที่มีชีวิตผู้คนและประเทศชาติเป็นเดิมพัน หากไม่ชนะ ก็จะถูกฝ่ายศัตรูยึดครอง ดังนั้น เมื่อไม่ใช่ภาวะปกติ การทำร้ายคนบริสุทธิ์หรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง การใช้คนอื่นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายของตน และอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อห้ามในสถานการณ์ปกติ หรือแม้กระทั่งหลักการอื่นๆ ที่ตนเองอ้างหรือยึดถือมาโดยตลอด ก็จะกลายเป็นเรื่อง “เล็กๆน้อยๆ” ที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถยอมรับหรือยินยอมได้ เพื่อรักษาเป้าหมาย คือ การชนะสงครามไว้ หรืออย่างที่กล่าวกันว่า “ในสงคราม อะไรก็เกิดขึ้นได้” สิ่งเหล่านี้ ล้วนสะท้อนถึงการยอมรับกรอบโครงความคิดที่ผู้ประกอบการสร้างขึ้น ยกเว้นบอกปัดความรับผิดชอบต่อปัญหาเหล่านั้น และอาจรวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยในการเมืองใหม่ซึ่งแน่นอนยังมาไม่ถึง และต้องผ่านการต่อรองกันต่อไป หลังจากชนะสงครามแล้ว
ประการสุดท้าย กรอบโครงความคิดที่ผู้ประกอบการสร้างนี้ มิได้มีความหมายเดียวหรือเป็นสิ่งเดียวกับอุดมการณ์ของผู้ประกอบการ เพราะเป็นเพียงผลผลิตของกระบวนการสร้างความหมายต่อสิ่งต่างๆ ในการระดมทรัพยากร ระดมแรงสนับสนุนจากผู้คนเพื่อต่อสู้และแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม ทำลายการระดมจัดตั้งของฝ่ายศัตรู รวมทั้งให้ความชอบธรรมต่อกิจกรรมและการรณณรงค์ของตน กล่าวในแง่นี้ ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือมีอุดมการณ์ตามกรอบโครงความคิดที่สร้างขึ้น รูปธรรมในกรณีพันธมิตรฯ คือ ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ แกนนำหลายท่านได้กล่าวถึงหรือปฏิบัติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะที่ห่างไกลเกินจากการเป็น“ผู้จงรักภักดี”หรือ “Royalist” โดยในช่วงเริ่มต้นของรัฐบาลทักษิณ ที่ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับรัฐบาลยังคงราบรื่นอยู่ บางท่านถึงกับเสนอให้ผู้เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวที่อยู่บนฐานของประเด็นปัญหา ลดระดับการคัดค้าน-ต่อต้านรัฐบาลลง เพราะการกระทำดังกล่าวจะเป็นการทอนกำลัง ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล เพราะ“เราต้องสามัคคีกับทักษิณต่อสู้กับศักดินา”
อย่างไรก็ตาม กระบวนการสร้างกรอบโครงความคิดเกี่ยวข้องกับการเรียบเรียงหรือขยายความส่วนของเหตุการณ์ ประสบการณ์ คุณค่าและความเชื่อที่ดำรงอยู่ ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ โดยความสำคัญของอุดมการณ์ต่อกระบวนการนี้ คือ อุดมการณ์ เป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรม[21] ที่ขบวนการเคลื่อนไหวสามารถใช้สำหรับสร้างกรอบโครงความคิด และ ดังนั้น จึงมีบทบาทในการเอื้ออำนวย (facilitate) และจำกัด (constrain) กระบวนการสร้างกรอบโครงความคิด ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องนำมาดัดแปลง ปรับแต่งให้เข้ากับสถานการณ์ และเป้าหมายของขบวนการเคลื่อนไหว
เชิงอรรถ:
[1] ดู Scott Straus, The Order of Genocide: Race, Power, and War in Rwanda (Ithaca and London: Cornell University Press, 2006)
[2] แม้ “ภาคประชาชน”, “การเมืองภาคประชาชน” จะเป็นคำที่มีปัญหาข้อถกเถียงจำนวนมากก็ตาม แต่ในบริบทของการถกเถียงที่เกิดขึ้นนี้ สามารถจำกัดกลุ่มหรือนิยามได้อย่างชัดเจนอย่างที่ผู้เขียนตั้งขึ้น
[3] ในกรณี สรส. ในการเคลื่อนไหวรอบสองนี้ นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการฯ ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกบนเวที พร้อมอ่านแถลงการณ์เรื่อง “การตอบโต้รัฐบาลหากใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม” ในค่ำวันที่ 1 มิถุนายน 2551 (ดู “พันธมิตรย้ำจุดยืนไล่รัฐบาลออกหรือยุบสภาฯ,” ไทยรัฐ, 2 มิถุนายน 2551 ) หลังจากนั้น เขาก็เริ่มมีบทบาทสำคัญบนเวที ในการนำเสนอประเด็นปัญหาเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเรื่อง “ภาคประชาชน” ดังจะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม สรส. ได้มีการจัดการประชุมประธานสหภาพแรงงานที่เป็นสมาชิก 43 แห่ง และ “ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะเข้าร่วมการชุมนุมกับพันธมิตรฯ” ในวันที่ 17 มิถุนายน 2551 (ดู แถลงการณ์สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ฉบับที่ 2 เรื่อง แสดงจุดยืนและแนวทางปฎิบัติการเข้าร่วมต่อสู้กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อยู่ใน “ชาว รสก.มติเอกฉันท์แถลงร่วมสู้กับพันธมิตรฯ พร้อม ‘อารยะขัดขืน’ ต้านรัฐบาลหุ่นเชิด,” ผู้จัดการออนไลน์, 17 มิถุนายน 2551)
ต่อมา เมื่อ สรส. มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้สมาชิกสมาพันธ์ทั้ง 43 แห่ง พร้อมใจนัดกันหยุดงานทั่วประเทศ และหยุดกระบวนการผลิตทั้งสาธารณูปโภคและสาธารณูปการทั้งระบบ” ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน เป็นต้นไป จนกว่านายสมัครและคณะรัฐมนตรีจะลาออกนั้น ( “43 รัฐวิสาหกิจ ‘หยุดงาน’ ดีเดย์3ก.ย.,” มติชนรายวัน, 2 กันยายน 2551) กลับปรากฏว่า รัฐวิสาหกิจทั้ง 43 แห่ง ไม่ได้หยุดงานประท้วงทั่วประเทศร่วมกันอย่างที่ประกาศไว้ มีเพียงบางแห่งเท่านั้นส่งสมาชิกเข้าร่วมชุมนุม ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการน้ำ ไฟ ไม่ได้งดให้บริการตามคำขู่ จนนายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำ ต้องออกมา ”แก้เกี้ยว” ว่า มาตรการที่ประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องของ สรส. ไม่เกี่ยวกับแกนนำพันธมิตรฯ (“ยุติคุ้มครองยึดทำเนียบ,มติชนรายวัน, 5 กันยายน 2551 และดู“ตัด ‘น้ำ-ไฟฟ้า’ ยังไร้ผล,” มติชนรายวัน, 4 กันยายน 2551; “ ‘ศิริชัย ไม้งาม’ ผิดหวังคนรัฐวิสาหกิจไม่ตัดน้ำ-ไฟตามที่ตกลง,” ประชาไท, 4 กันยายน 2551)
นอกจากนั้น ยังมีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอีกจำนวนหนึ่งที่ออกมาปฏิเสธมติและมาตรการดังกล่าวอย่างเปิดเผย เช่น สหภาพแรงงาน ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า “ไม่ขอเข้าร่วมและไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น” สหภาพแรงงาน ขสมก. ยืนยันที่จะเดินรถเหมือนปกติ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน สหภาพแรงงาน ทีโอที จำกัด แถลงว่า พนักงานคนใดจะหยุดงานก็หยุดได้ แต่ถ้าจะให้ทุกคนหยุดงานไปเลยคงทำไม่ได้ นอกจากนั้นก็ไม่มีนโยบายที่จะตัดสายโทรศัพท์ตามที่แกนนำใน สรส. ประกาศไว้ เพราะจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน (“รสก.เสียงแตกตัดน้ำ-ตัดไฟ,” เดลินิวส์, 3 กันยายน 2551) ขณะที่ สหภาพแรงงานองค์การค้าคุรุสภา แถลงว่า สหภาพแรงงานไม่สบายใจและไม่เห็นด้วยกับมติของ สรส. ที่จะใช้มาตรการตัดน้ำตัดไป มาสร้างอำนาจในการต่อรองให้บรรลุเป้าหมาย เพราะจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนส่วนรวม (“อนุพงษ์ เคลียร์สมัครอย่าบังคับเรื่องการใช้กำลังไปจัดการม็อบ หยุดงานไม่เวิร์ก,” ไทยรัฐ, 4 กันยายน 2551)
[4] ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2551 หลังจากการชุมนุมใหญ่เพียง 1 วัน แกนนำเริ่มยกระดับการชุมนุมไปสู่การขับไล่รัฐบาล โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวปราศรัยว่า “การชุมนุมวันนี้ไม่ใช่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เปลี่ยนจุดหมายมาขับไล่รัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้เลย” (“สั่งตร.ห้ามปะทะม็อบเตือนระวังซ้ำรอยพฤษภาทมิฬ,” ข่าวสด, 27 พฤษภาคม 2551) ต่อมาได้ออกแถลงการณ์ประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 พฤษภาคม 2551 (“พันธมิตรฯ ลั่น! ยกระดับชุมนุมไล่รัฐบาล ‘หุ่นเชิด’,” ผู้จัดการออนไลน์, 30 พฤษภาคม 2551)
[5] กองบรรณาธิการ, “ประภาส ปิ่นตบแต่ง : ไปให้พั้น 2 ขั้ว,” แทบลอยด์, ไทยโพสต์, 1 มิถุนายน 2551 หรือดูใน “บทสัมภาษณ์ ประภาส ปิ่นตบแต่ง : วิเคราะห์พันธมิตรฯ-ภาคประชาชน และไปให้พ้น 2 ขั้ว,” ประชาไท, 2 มิถุนายน 2551
[6] บทสัมภาษณ์ของประภาสเผยแพร่ในวันที่ 1 มิถุนายน 2551 นายพิภพ ธงไชย ได้ขึ้นปราศรัยตอบโต้ด้วยตนเองทันทีในค่ำวันเดียวกัน รวมทั้ง รศ.ดร. ไชยยันต์ ไชยพร นักวิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน
ในวันนั้น นายพิภพ ธงไชย ปราศรัยด้วยความรู้สึกกริ้วโกรธอย่างเห็นได้ชัดว่า “นักวิชาการที่เคารพรัก พี่ก็เป็นเพื่อนกับพวกผม อย่ามาโจมตีพันธมิตรฯว่ายังเล่นไม่เลิก ต้องสนับสนุนใช่ไหมครับ... นักวิชาการที่เคารพ ทำไม่ไม่ไปกดดันให้สมัครออกจากนายกฯ คุณมากดดันพวกเราทำไม คุณจะเอาอย่างไรแน่ นักวิชาการ คิดต่างกันได้ ผมรู้ แต่ยุทธศาสตร์ต้องร่วมกัน ยุทธิวิธีต้องสอดคล้องสนับสนุนกัน” และ “ถ้าจะติพันธมิตรฯ ให้มามติกับผมหลังเวทีครับ อย่าติบนหน้าหนังสือพิมพ์ เรากำลังรบกันอยู่ มาถ่วงทำไม มาติเราทำไม” (ดู ” ’พิภพ‘ เรียกร้องอัยการเร่งทำคดี ’ทักษิณ’,” ผู้จัดการออนไลน์, 1 มิถุนายน 2551) หลังจากนั้นก็มีคนอื่นๆ กล่าวถึงประเด็นนี้ต่อเนื่องกันอีกหลายวัน อย่างเช่น ศ.ดร. ภูวดล ทรงประเสริฐ นักวิชาการชื่อดัง เป็นต้น
[7] เช่น ปัญหาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ [“เศรษฐกิจกับรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน” วันที่ 3 มิถุนายน 2551], ปัญหาความยากจน [“3 เดือนกับความล้มเหลวการแก้ไขปัญหาความยากจน” วันที่ 5 มิถุนายน 2551, “ปากท้องชาวบ้าน ข้าวยากหมากแพง” วันที่ 6 มิถุนายน 2551] , ปัญหาการฆ่าตัดตอน [“ฆ่าตัดตอนศาลเตี้ยในระบอบทักษิณ” วันที่ 4 มิถุนายน 2551] โดยมีวิทยากรจาก “ภาคประชาชน” ที่กล่าวมา เป็นวิทยากร
[8] “องค์กรเอกชนร่วมสู้ชี้ 3 เดือน ‘หุ่นเชิด’ ไร้ประโยชน์นัดฮือจันทร์นี้,” ผู้จัดการออนไลน์, 6 มิถุนายน 2551
[9] “เอ็นจีโอใต้ประกาศหนุนพันธมิตรล้มระบอบทักษิณ,” ประชาไท, 5 มิถุนายน 2551 โดยนายบรรจง นะแส ได้ตอบโต้การวิจารณ์ถึงความ “ล้าหลังคลั่งชาติ” ของพันธมิตรฯ ไว้อย่างน่าสนใจว่า ทักษิณต่างหากที่เป็นฝ่ายได้สร้างระบบคลั่งชาติขึ้นในสังคมไทยกรณีปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ดังนั้นนักวิชาการอย่านำเสนอประเด็นลอยๆ เพื่อสร้างวาทกรรมเท่านั้น แต่ต้องหยิกยกรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงมาวิเคราะห์ด้วย”
[10] ทั้งนี้ กป.อพช. ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน ข้อเรียกร้องทางการเมืองไว้ก่อนหน้านั้นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 คือ (1) รัฐบาลต้องมีความอดทนอดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การรัฐประหาร (2) ยุติการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (3) ให้กลุ่มพันธมิตรฯ คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม ยุติการสร้างสถานการณ์ที่ยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรง (4) ฝ่ายทหารอย่าฉกฉวยสถานการณ์ก่อการรัฐประหาร ดู “กป.อพช. ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรง,” ประชาไท, 31 พฤษภาคม 2551
[12] “ลูกแกะหลงทาง” เป็นข้อความที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล นำมาอ่านในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ครั้งสุดท้าย ทางช่อง 9 ในวันที่ 9 กันยายน 2548 โดยมีนัยเปรียบเทียบในเรื่องต่างๆ ระหว่าง “พ่อ” ที่มีลูกกว่า 60 ล้านคน กับ “ลูก” ซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรี ที่ “คิดวัดรอยเท้าพ่อ” ดู “พ่อของแผ่นดิน – ลูกแกะหลงทาง,” ผู้จัดการออนไลน์, 9 กันยายน 2548
[13] “ราชนิกุล-สตรีผู้สูงศักดิ์ ประกาศชน มารโค่นล้ม‘สถาบัน’,” ผู้จัดการรายวัน, 31 ตุลาคม 2551
[14] ดาวน์โหลดไฟล์เสียงคำปราศรัยนี้ได้ที่ URL ms://tv.manager.co.th/videoclip/radio/1002/1002-8127.wma และล่าสุดนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ได้นำ “เครือข่ายประชาชนเชียงใหม่รักในหลวง” ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเร่งหามาตรการปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ดูใน “เสื้อเหลืองยื่นหนังสือถึงนายก ขอให้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์,” สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่, 8 เมษายน 2552
[15]สตรีภิวัตน์ นักรบ ’อาซิ้ม-อาซ้อ’,” บทบรรณาธิการ, ไทยโพสต์, 29 สิงหาคม 2551 ในชิ้นเดียวกันนี้ นายสุทิน วรรณบวร ผู้สื่อข่าวเอพี เห็นว่า “เงื่อนไขสำคัญของพลังการต่อสู้ครั้งนี้คือสื่อเอเอสทีวี ที่เป็นที่ติดอกติดใจของบรรดากลุ่มสตรีแม่บ้าน แล้วก็เป็นชนวนผลักดันมวลชนให้ออกมาสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ”
[16] ภาวินี อินเทพ, “ม็อบสั่งได้! มารู้จักม็อบสายพันธุ์ใหม่,” เนชั่นสุดสัปดาห์, 16: 838 (20-26 มิถุนายน 2551), หน้า 18
[17] เชี่ยวชวนะ “เสียงจากสะพาน ‘มัฆวาน’,“ ผู้จัดการออนไลน์, 10 มิถุนายน 2551
[18] “เปลือยใจ ’พริก กานต์ชนิต’ เผยเหตุเข้าร่วมพันธมิตร,” ผู้จัดการออนไลน์, 21 กรกฎาคม 2551
[19] เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในการเสวนาเรื่อง “เปลี่ยนผ่าน ‘การเมือง’ อย่างสันติ เสนอปฏิรูปการเมือง ตั้ง สสร. 3” จัดโดย กป.อพช. ในวันที่ 11 มิถุนายน 2551 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุล
[20] “เอ็นจีโอใต้ประกาศหนุนพันธมิตรล้มระบอบทักษิณ,” ประชาไท , 5 มิถุนายน 2551
[21] เดวิด สโนว์ และ โรเบิร์ต เบนฟอร์ด ได้ทำการสรุปรวบยอดความคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอุดมการณ์ และ กรอบโครงความคิด ไว้ดังต่อไปนี้ 1) ideology as a cultural resource for framing activity2) framing [may also function] as remedial ideological work. 3) framing mutes the vulnerability of ideology to reification 4) framing, in contrast to ideology, is a more readily empirically observable activity อยู่ใน David A. Snow and Robert D. Benford, “CLARIFYING THE RELATIONSHIP BETWEEN FRAMING AND IDEOLOGY IN THE STUDY OF SOCIAL MOVEMENTS: A COMMENT ON OLIVER AND JOHNSTON” ดาวน์โหลดบทความได้ที่ www.ssc.wisc.edu/~oliver/PROTESTS/ArticleCopies/SnowBenfordResponse.pdf