ที่มา มติชน
วิเคราะห์
คำตอบก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังเรียกความเชื่อมั่นในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับคืนมา
เป็นการเรียกความเชื่อมั่นในภาวะผู้นำ ภายหลังจากเหตุการณ์หลายๆ อย่างได้บั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลงไปอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเหตุการณ์การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
โดยเฉพาะเหตุการณ์การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น เป็นเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากที่สุด
เพราะในการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. ปรากฏว่ามีกรรมการเป็นเสียงข้างมาก ลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี ในประเด็นการเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในเดือนกันยายนนี้
ทั้งๆ ที่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติที่มีฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นกรรมการที่อยู่ในซีกฝั่งรัฐบาล
แต่เสียงส่วนใหญ่กลับโหวตคว่ำความเห็นของนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น เมื่อปรากฏข่าวออกมาสู่สาธารณะ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาวะผู้นำของนายอภิสิทธิ์
และกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างมิอาจปฏิเสธ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ได้พยายามกอบกู้ศักดิ์ศรีของความเป็น "นายกรัฐมนตรี"
ประการแรก คือ การพูดคุยกับแกนนำอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง การพูดคุยกับนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี การพูดคุยกับนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ให้การสนับสนุนนายอภิสิทธิ์มาโดยตลอด
กระทั่งในที่สุดได้ปรากฏกระแสข่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติครั้งต่อไป คณะกรรมการจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับนายอภิสิทธิ์อย่างแน่นอน
เพียงแต่จะเป็น พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ หรือ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือจะเป็นนายตำรวจระดับ พล.ต.อ.คนใดนั้น
วันนี้ยังไม่แน่นอน?
มีข่าวว่า ความแน่นอนจะเกิดขึ้นเมื่อนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ กลับจากต่างประเทศ !
ทั้งนี้ หากนายอภิสิทธิ์ สามารถปรับความคิดกับคณะกรรมการ ก.ต.ช. จนเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้
ศักดิ์ศรีความเป็นนายกรัฐมนตรีย่อมกลับคืน
แต่ถ้านายอภิสิทธิ์ยังดื้อเหมือนครั้งที่ผ่านมา โอกาสเกิดวิกฤตทางการเมืองย่อมมีสูง
ประการที่สอง คือ ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดล่าสุด นายอภิสิทธิ์ได้แสดงภาวะผู้นำ ทั้งในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับปลัดกระทรวง และการรักษาความสงบในช่วงการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง
โดยเฉพาะการรักษาความสงบในช่วงการประชุมใหญ่ของคนเสื้อแดง นายอภิสิทธิ์ตัดสินใจประกาศใช้พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน
ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน
ครอบคลุมวันที่ 30 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศชุมนุมใหญ่
พร้อมกันนั้นนายอภิสิทธิ์ได้มอบให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ
เท่ากับว่า รายละเอียดการดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมด มอบให้นายสุเทพเป็นผู้ดำเนินการ
ถือเป็นการแก้โจทย์เรื่องการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโจทย์เรื่องการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงไปพร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ตาม การกู้วิกฤตภาวะผู้นำที่นายอภิสิทธิ์กำลังดำเนินการอยู่นี้ จะเห็นผลชัดเจนก็ต่อเมื่อ
หนึ่ง การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงผ่านพ้นไปอย่างสงบเรียบร้อย
และสอง การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นไปตามที่เหมาะที่ควร
แต่หากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงรุนแรง ไม่สงบ นายอภิสิทธิ์คงจะต้องแก้โจทย์ที่ยากขึ้น
เช่นเดียวกับการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หากยังปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรียังไม่สามารถหาจุดลงตัวที่ดีได้ นายอภิสิทธิ์ก็จะดำรงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลำบาก
ในยามนี้จึงถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ นายอภิสิทธิ์คงต้องใช้เวลาอยู่กับตัวเอง รับฟังความรอบข้าง
คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง
คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก
เพราะในขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะนายอภิสิทธิ์เท่านั้นที่ต้องรับผลกระทบจากการตัดสินของนายอภิสิทธิ์
หากแต่การเมืองไทยในขณะนี้กำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย
แขวนอยู่บนการตัดสินใจของคนที่ชื่อ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"