WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, August 30, 2009

จาตุรนต์ ฉายแสง สวนกระแส"ยุบพรรค" "อดีตไม่ใช่สิ่งสมมุติ"

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์

สัมภาษณ์พิเศษ

จาตุรนต์ ฉายแสง สวนกระแส"ยุบพรรค" "อดีตไม่ใช่สิ่งสมมุติ"

การแสดงความเห็นต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัวในฐานะผู้ที่ต่อสู้ทางการเมืองมาและเป็นนักการเมืองในระบบรัฐสภา ไม่ได้พูดแทนพรรคไทยรักไทยหรือคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด ผมมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายใด แต่ถ้ามีก็ไม่ควรเป็นสาเหตุให้ต้องยุบพรรคไทยรักไทย เพราะพรรคไทยรักไทยและมวลสมาชิกเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

: มองการเมืองในขณะนี้อย่างไร ?

การเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตที่รุนแรงและซับซ้อน บางเรื่องคล้ายกับในอดีต และบางเรื่องก็เป็นเรื่องใหม่มากๆ ไม่ใช่เพียงเรื่องรัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือพรรคการเมืองบางพรรคจะถูกยุบหรือไม่

แต่เป็นวิกฤตของระบอบประชาธิปไตย ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ นั่นคือระบอบประชาธิปไตยจะก้าวหน้าพัฒนาต่อไป หรือจะถอยหลังครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ขณะนี้บุคคลและกลุ่มบุคคลต่างก็แสดงความคิดเห็นทางการเมืองกันอย่างหลากหลาย ต่างก็อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความคิดของตน ต่างก็ว่าความคิดของตนถูก ปัญหาอยู่ที่ว่าใครจะตัดสินว่าจะมีข้อยุติอย่างไร จะอาศัยกระบวนการ วิธีการอย่างไร และจะส่งผลต่อระบบอย่างไร

ทุกฝ่ายดูจะอ้างประชาชน และสุดท้ายแล้ว ทั้งกระบวนการ วิธีการที่จะใช้ตัดสิน และระบบที่จะตามมาเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งก็ต้องดูว่าเชื่อมโยงกับประชาชนหรือไม่ ประชาชนตรวจสอบได้หรือไม่ ปัญหาวิกฤตการเมืองไทยขณะนี้คงต้องพูดกันยาว ย้อนอดีตกันเล็กน้อย วิเคราะห์ปัจจุบัน และมองไปข้างหน้า

: สรุปว่า การเมืองขณะนี้เป็นปัญหาอะไร?

พูดให้ง่ายๆ คือ ปัญหาว่าอำนาจในการกำหนดความเป็นไปในบ้านเมืองจะเป็นของใคร เป็นของคณะบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือของประชาชน หรืออำนาจอธิปไตยจะเป็นของประชาชนจริงหรือไม่

ถ้าจะให้อำนาจเป็นของประชาชนจะแสดงออกอย่างไร จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร นี่คือปัญหาดั้งเดิมของการเมืองไทยมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปัญหานี้ดำรงอยู่ตลอดมา มีการพัฒนาแบบลุ่มๆ ดอนๆ ก้าวหน้าบ้างถอยหลังบ้าง แต่ก็มีวิวัฒนาการมามากพอสมควร จนมีความซับซ้อนมากขึ้น และขณะนี้ก็เกิดวิกฤตที่ทำให้ไม่แน่ใจเลยว่าจากนี้ไประบอบประชาธิปไตยจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่

เพราะอย่างน้อยในช่วงหลายเดือนมานี้ก็ถอยหลังไปบ้างแล้ว และกำลังอยู่ในภาวะทรงกับทุรด หากแก้กันได้ดีก็คงกระเตื้องขึ้น ก็จะพ้นวิกฤตกันไปได้ แล้วตั้งหลักกันใหม่แล้วก้าวต่อไป แต่ถ้าตั้งหลักไม่ดีก็จะถอยหลังก้าวใหญ่ และจะชะงักงันล้าหลังไปอีกนาน

: ที่ว่าเป็นปัญหาดั้งเดิมคืออย่างไร

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา การเมืองไทยลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด มีการปกครองในระบบรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ สลับกับการทำรัฐประหารยึดอำนาจ แล้วใช้รัฐธรรมนูญการปกครองไม่กี่มาตรา ซึ่งเป็นเผด็จการ บางช่วงก็เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ

เนื้อหาสาระที่แตกต่างกันมาตลอดก็คือ อำนาจในการปกครองประเทศอยู่ที่ใคร แม้ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาตั้งแต่ร่างโดยใคร มาจากประชาชนมากน้อยเพียงใด และเนื้อหาในรัฐธรรมนูญก็ยังเป็นการชิงกันอยู่ระหว่างจะให้ฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งมีอำนาจมากกว่ากัน

เวลาที่การร่างรัฐธรรมนูญถูกกำหนดโดยคณะบุคคลที่ยึดอำนาจมา เนื้อหาก็จะเน้นไปทางผู้มีอำนาจเอง และผู้ที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าร่างกันในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ อย่างรัฐธรรมนูญปี 2517 หรือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นอกจากให้น้ำหนักมาทางฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ยังเพิ่มและเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังมีเรื่องการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจ และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นพิเศษ

ในแต่ละช่วงของพัฒนาการที่แตกต่างกันนี้ มีรูปแบบ กลไกสำคัญๆ ที่ต่างกัน เช่น มีคณะปฏิวัติ ธรรมนูญการปกครอง สภาร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติ มีการใช้ประกาศคณะปฏิวัติที่มีผลเท่ากับ พ.ร.บ.

อีกทางหนึ่งก็จะมีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร มีการเลือกตั้งและมีสาระสำคัญอื่นๆ อีกพอสมควร แต่เนื้อหาสาระจริงๆ แล้วก็อยู่ที่อำนาจในการปกครองบ้านเมืองจะอยู่ที่ใคร มาจากไหน จะเป็นเผด็จการโดยคณะบุคคลหรือเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา จะต้องให้ทุกคนปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ ซึ่งก็คือจะรับรองระบอบรัฐธรรมนูญหรือไม่

: นักวิชาการบางท่านเห็นว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การไปเลือกตั้ง

การเลือกตั้งนั้นจะเท่ากับทั้งหมดของประชาธิปไตยก็คงไม่ใช่ จะเป็นประชาธิปไตยแต่ยังต้องมีเรื่องอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น การมีสิทธิเสรีภาพของประชาชน การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การตรวจสอบผู้มีอำนาจ เป็นต้น แต่การเลือกตั้งก็เป็นกลไกสำคัญที่จะเชื่อมโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ การเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ เป็นปัญหาสำคัญ แต่การมีการเลือกตั้งหรือไม่นั้นสำคัญมากกว่า

การปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะที่ใช้ระบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็ต้องการมีเลือกตั้ง และให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งและองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งทั้งนั้น

: การเมืองในปัจจุบันน่าจะมาไกลกว่าที่พูดมามากแล้ว

ความจริงก็มาไกลมากแล้ว แต่ก็กำลังมีปัญหาถึงขั้นที่อาจจะถอยหลังไปอย่างมากก็ได้

ปัญหาการเมืองในช่วงหลายเดือนมานี้ เกิดจากความไม่พอใจนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ทั้งตัวบุคคล นโยบาย และการบริหารราชการ จนกระทั่งเกิดการเคลื่อนไหวให้นายกฯ ออกจากตำแหน่ง และกดดันให้ออกไปจากการเมือง

ฝ่ายรัฐบาลได้มีการยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งขึ้น ต่อมามีการวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งไม่ชอบ ต้องเลือกตั้งกันใหม่ โดยที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเลือกตั้งกันเมื่อไรแน่

ในหลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีข้อเสนอหลายข้อที่มีเนื้อหามุ่งที่จะแก้ปัญหาที่เกิดจากความไม่พอใจดังกล่าวด้วยวิธีการต่างๆ นัยว่ามีเจตนาเพื่อบ้านเมืองและประชาชน แต่สิ่งที่เสนอนั้นไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย

เช่น

- ให้ออก พ.ร.ฎ.ยกเลิก พ.ร.ฎ.ยุบสภา (และกำหนดวันเลือกตั้ง) เพื่อให้กลับมามีสภาตามเดิม

- ให้นายกรัฐมนตรี และ ครม. ลาออก เพื่อเข้าสู่เงื่อนไขมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี

- ให้ออก พ.ร.ฎ.ยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อขอรัฐบาลใหม่

- ให้มีการปฏิรูปการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อนที่จะให้มีการเลือกตั้ง

ในการเสนอข้อเสนอเหล่านี้ มีการเสนอความคิดเห็นประกอบในเรื่องที่เป็นหลักการสำคัญที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย

เช่น หากให้เลือกตั้งก็จะได้ผลอย่างเดิม เพราะฉะนั้น ควรจะปฏิรูปการเมืองเสียก่อน หรือขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตเป็นพิเศษ จะมัวยึดรัฐธรรมนูญกันอยู่ไม่ได้ หรือปัญหาของบ้านเมืองสำคัญอยู่ที่ให้ได้คนดีมาปกครอง จะเป็นระบบอะไรก็ได้ไม่สำคัญ

หรือแม้กระทั่งถ้าทหารจะปฏิวัติ ต้องปฏิวัติเพื่อประชาชน อย่าปฏิวัติเพื่อตัวเอง เพราะจะอยู่ได้ไม่นาน เหล่านี้เป็นต้น ข้อเสนอและความคิดเห็นเหล่านี้ควรจะได้มีการอธิบายโต้แย้งกันด้วยปัญญาและเหตุผล

: ความเห็นต่อข้อเสนอและความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ

หนึ่ง การออก พ.ร.ฎ.ยกเลิก พ.ร.ฎ.ยุบสภา เพื่อให้สภากลับมาใหม่นั้น ถึงวันนี้คงไม่มีใครคิดถึง เพราะล่วงเลยเวลามานานแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นถึงการไม่เคารพเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาเป็นการถ่วงดุลกับสภา และเมื่อยุบสภาแล้วก็ต้องมีการเลือกตั้งโดยเร็ว จะย้อนกลับไปใหม่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเห็นว่าการยุบสภามีเหตุผลเพียงพอ และเหมาะสมหรือไม่ก็ตาม

สอง การออก พ.ร.ฎ.ยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อขอรัฐบาลใหม่ก็เป็นไปไม่ได้ แม้จะมีเหตุการณ์ทำนองนี้ในอดีต แต่ระบบรัฐธรรมนูญพัฒนามาถึงขั้นนี้แล้ว จะย้อนไปอย่างนั้นไม่ได้ พ.ร.ฎ.มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญมาก การออก พ.ร.ฎ. ที่ขัดรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีผล เรื่องเล็กกว่านี้ที่ไม่ใช่เรื่องขัดรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองก็เพิ่งวินิจฉัยให้ พ.ร.ฎ. ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแล้ว

สาม การขอให้นายกรัฐมนตรี และ ครม. ลาออก เพื่อให้เข้าข่ายมาตรา 7 นั้น สืบเนื่องมาจากการที่พยายามเสนอว่าบ้านเมืองกำลังอยู่ในวิกฤต แม้มีการเลือกตั้ง แต่พรรคฝ่ายค้านก็ไม่ลงสมัคร เป็นเหตุการณ์พิเศษ เลือกไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นที่ยอมรับ เรื่องไม่เป็นที่ยอมรับนั้นผมก็เห็นด้วยตั้งแต่ต้น แต่เขาเสนอให้ใช้มาตรา 7 ซึ่งไม่เข้าข่าย ต่อมาจึงเสนอให้นายกฯ และ ครม. ลาออกเพื่อจะให้เข้าเงื่อนไข เพราะเมื่อครม.ว่างลง รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกไว้ว่าใครจะมาทำหน้าที่ ครม. ได้อย่างไร

แต่ถ้า ครม. ลาออกทั้งคณะจะมีผลอย่างไร ก็ต้องมีคณะบุคคลมาทำหน้าที่ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการแต่งตั้ง เช่น อาจตั้งปลัดกระทรวงก็ได้ หรือใครก็ได้มาทำหน้าที่ นี่คือขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อ่านรัฐธรรมนูญสักหน่อยประกอบกับศึกษาความเป็นมา เหตุผลที่เขาร่างรัฐธรรมนูญกันมาอย่างนี้ก็จะพบว่า ในอดีตเมื่อมีการรัฐประหารยึดอำนาจ คณะรัฐประหารก็จะให้ปลัดกระทรวงหรือใครก็ได้มาทำหน้าที่รัฐมนตรีไปพลางจนกว่าจะตั้ง ครม. ซึ่งก็มาจากการแต่งตั้งอีก และก็อาจจะมาจากข้าราชการประจำ คือเป็นทั้งรัฐมนตรีและข้าราชการประจำในเวลาเดียวกัน

เขาจึงกำหนดในรัฐธรรมนูญปิดช่องทางที่จะให้ทำอย่างนั้นได้อีก โดยให้ ครม. ที่พ้นจากตำแหน่งแล้ว ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ครม. ใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะมีขึ้นหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ส.ส. ลงมติเลือกนายกฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว และมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม. ใหม่และเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณเสียก่อน จึงจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ครม. เก่าจึงจะยุติการปฏิบัติหน้าที่ได้

หมายความว่ารัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้ข้าราชการประจำหรือใครที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งมาทำหน้าที่รัฐมนตรีได้เลยแม้แต่วินาทีเดียว หากให้เกิดขึ้นก็ไม่ต่างอะไรจากกรณีที่มีการยึดอำนาจรัฐประหาร ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ต่อต้านคัดค้านอยู่แล้ว

สี่ สำหรับการแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการเมืองเสียก่อน จึงให้มีการเลือกตั้งนั้นก็คือ การฉีกรัฐธรรมนูญดีๆ นี่เอง ถ้าทำอย่างนั้นใครจะเป็นคนแก้รัฐธรรมนูญ จะเชื่อถือกันได้อย่างไรว่าจะทำเพื่อประชาชนและจะเป็นประชาธิปไตย ประชาชนจะตรวจสอบได้อย่างไร

รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าอำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ที่รัฐสภา ขณะนี้ยังไม่มีรัฐสภาที่สมบูรณ์ จึงยังแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ จะชอบหรือไม่ชอบรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นก็ต้องรอให้มีขึ้น แล้วจึงแก้รัฐธรรมนูญได้

ถ้าแก้รัฐธรรมนูญโดยคณะบุคคล ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จะต่างอะไรกับการร่างรัฐธรรมนูญในยุคเผด็จการ อาจจะบอกว่าสามารถเลือกคนดีมาแก้ พวกที่ยึดอำนาจในอดีตก็อ้างอย่างเดียวกัน หลายคนก็เป็นคนดีด้วย แต่เป็นระบบที่ทั่วโลกเข้าไม่ยอมรับและก็ได้แค่รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจริง

: มีกระแสข่าวเรื่องปฏิวัติ - รัฐประหาร เพื่อเป็นทางออก

ประเด็นที่ดูจะแหลมคม แต่อาจจะคลุมเครืออยู่บ้าง ว่าผู้พูดต้องการหมายถึงอย่างไร คือ เรื่องทหารปฏิวัติ ฟังดูเผินๆ คล้ายกับเตือนทหารว่าอย่าปฏิวัติ แต่พอมีคำว่า "เพื่อตัวเอง" ก็มีคนเข้าใจว่าถ้าปฏิวัติเพื่อประชาชนก็เป็นเรื่องดีได้ ซึ่งความเห็นทำนองนี้มีการเสนอมาก่อนแล้ว

ความจริงคำว่าปฏิวัตินี่ต้องเรียกว่ารัฐประหาร คือ ยึดอำนาจโดยคณะบุคคลที่มีกำลังอาวุธอยู่ในมือ ในอดีตเวลาจะยึดอำนาจก็อ้างประเทศชาติและประชาชน เสร็จแล้วก็เห็นทำเพื่อตัวเองและพวกพ้อง ปราบประชาชน ทำร้ายประเทศชาติและประชาชนกันทั้งนั้น

การรัฐประหารยึดอำนาจเป็นระบบเผด็จการโดยคณะบุคคลไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่มีทางที่จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติได้เลย จะทำให้ประเทศเสื่อมถอยตกต่ำ ไม่เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก จึงไม่ต้องแยกว่าทหารปฏิวัติเพื่อประชาชนหรือเพื่อตัวเอง เพื่ออะไรก็ไม่ดีทั้งนั้น ถ้าเห็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญต้องคิดอย่างนี้

เมื่อรวมกับความเห็นทำนองว่า บ้านเมืองวิกฤตมากจะมัวยึดถือรัฐธรรมนูญกันอยู่ไม่ได้ หรือขอให้ได้คนดีด้วยวิธีการอย่างไร ระบบอย่างไรก็ได้นั้น จะเห็นว่ากลุ่มความเห็นข้อเสนอเหล่านี้ ไม่ยึดถือสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เห็นว่าความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่ การมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หรือการมีระบบรัฐสภา ซึ่งเขามีกันทั่วโลก เป็นเรื่องสำคัญจริงจังอะไร

ตรงกันข้ามกลับถือเอาว่า ความคิดของกลุ่มบุคคลคณะบุคคลซึ่งรวมทั้งพวกของตนเป็นใหญ่ สามารถกำหนดความดี ความถูกต้องได้ โดยประชาชนไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะเกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมได้อย่างไร ความเห็นเหล่านี้มีแต่จะนำไปสู่ระบบเผด็จการโดยคณะบุคคลรูปแบบใหม่ที่ซับซ้อนกว่าเดิมเท่านั้น

: การปฏิรูปการเมือง - แก้รัฐธรรมนูญ

ที่มีการเสนอให้ปฏิรูปการเมือง แก้รัฐธรรมนูญ ดูจะมีการกล่าวถึงกันเป็นระยะๆ มีการให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังมากน้อยต่างกันไป

ปัญหาคือ จนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครเสนออะไรที่ชัดเจนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร ที่ว่าจะปฏิรูปการเมืองนั้นจะปฏิรูปอย่างไร มีประเด็นสำคัญๆ อยู่บ้าง แต่ไม่ชัดเจนเพียงพอ และถ้าให้ผู้ที่สนใจทั้งหลายมาหารือกันจะตรงกันหรือไม่ก็ไม่ทราบ

บางทีก็ไปถึงขั้นว่า แก้ปัญหาบุคคลเสียก่อนแล้วค่อยมาแก้รัฐธรรมนูญ แล้วการปฏิรูปการเมืองก็จะเกิดขึ้นได้เอง

: ทางออกควรจะเป็นอย่างไร

ความจริงการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองขณะนี้ ทางออกสำคัญอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการเมือง ทุกฝ่ายควรจะให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง สภาพการณ์ทางการเมืองทุกวันนี้ ใครจะพอใจหรือไม่ก็ตาม ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง ระบบ มันมีความเป็นมาและมีการพัฒนาการ จากความไม่พอใจนายกฯ รัฐบาล และการใช้อำนาจ รวมไปถึงเรื่องของพรรคการเมืองก็ดี การตรวจสอบที่ล้มเหลวก็ดี และอื่นๆ นั้น ต้องไม่ลืมว่านี่เป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมืองครั้งล่าสุด

ในการปฏิรูปการเมืองครั้งล่าสุด ต้องการแก้ปัญหาสำคัญๆ ทางการเมืองและปัญหาของประเทศชาติให้ได้ดีที่สุด โดยพยายามนำเอาสิ่งที่เห็นว่าดีๆ ทั้งหลายบรรจุในรัฐธรรมนูญ มีการพูดถึงความคิดรัฐธรรมนูญนิยมที่ต้องยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกันครั้งใหญ่อย่างเป็นระบบ จนกระทั่งทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายถือว่าเป็น รธน. ที่ดีที่สุด เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

ในส่วนของการเมืองต้องการแก้ปัญหาการได้มาของผู้มีอำนาจทั้งหลาย ต้องการให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม แก้ปัญหาการมีรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ ไม่เข้มแข็ง และไม่มีประสิทธิภาพ ให้มีองค์กรตรวจสอบที่เข้มแข็งและสามารถถ่วงดุลกัน กับต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

หลายเรื่องที่เกิดขึ้นก็คือ ผลของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้นั่นเอง ถ้าเห็นว่ามีข้อบกพร่องก็ต้องแก้ และต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญ ต้องมีความหวังและเชื่อว่าจะแก้ได้

ผมได้เสนอความเห็นมาตั้งแต่ก่อนยุบสภาแล้วว่า วิกฤตการเมืองครั้งนี้ต้องอาศัยการแก้รัฐธรรมนูญ มาถึงวันนี้ก็ยังเห็นอย่างเดิม เพียงแต่ว่าปัญหาที่เร่งด่วนมากกว่าที่จะต้องมาพิจารณากันคือการรักษารัฐธรรมนูญ รักษาระบอบประชาธิปไตย เคารพเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ช่วยกันคิดแก้รัฐธรรมนูญให้ดีขึ้น โดยวิถีทางตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

อย่าลืมว่ากว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาเป็นเรื่องยากเย็น ต้องสู้กับ รสช. ต้องเสียเลือดเนื้อของผู้คนไปไม่น้อย ถ้าย้อนอดีตไปอีกหน่อย กว่าจะได้ประชาธิปไตยมาเมื่อ 14 ตุลา 16 ก็ยิ่งต้องยากลำบากเสียหายกันมาก สิ่งที่ประชาชนต้องการร่วมกัน นอกจากให้บ้านเมืองดีขึ้นแล้ว ที่เป็นจุดร่วมคือความเป็นประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องหมายที่สำคัญ

รัฐธรรมนูญที่เรียกร้องหรือแก้ไขกันมานี้ ไม่ใช่เป็นเพียงสัญลักษณ์ แต่เป็นหลักประกันของความเป็นประชาธิปไตย ที่จะยืนยันว่าบ้านเมืองจะปกครองโดยคณะบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ได้ ต้องมีกติกา มีครรลองที่ถูกต้อง ต้องกำหนดให้ชัดว่ามาจากประชาชนตามวิถีทางที่เป็นที่ยอมรับ ประชาชนตรวจสอบได้

มาถึงวันนี้เราจะลืมเรื่องเหล่านี้เสียหมด ถือเอาเป็นเรื่องสมมติเหมือนกับไม่เคยเกิดขึ้น จะย้อนกลับไปอยู่ในอดีตในรูปแบบใหม่ที่ซับซ้อนกว่าอย่างนั้นหรือ

: ประเทศไทยกับสังคมโลก

ข้อเสนอหลายๆ ข้อที่เสนอกันในช่วงนี้มีหลักเหตุผลว่าต้องการให้ได้คนดีและสภาพการปกครองที่ดี โดยไม่คำนึงถึงวิถีทางและระบบหรือผลต่อระบบ คนดีและคนไม่ดีนั้นมีในทุกระบบ แต่ระบบที่ดีคือระบอบประชาธิปไตยนั้น นอกจากมีหลักประกันว่าถ้าได้อะไรไม่ดีเกิดขึ้น นอกจากประชาชนจะสามารถตรวจสอบและเปลี่ยนแปลงได้โดยสันติแล้ว ยังเป็นที่ยอมรับของสังคมโลกอีกด้วย

นอกจากนั้นเวลาสังคมโลกมองไปที่ประเทศกำลังพัฒนาประเทศใดประเทศหนึ่ง เขาไม่เพียงมองเฉพาะเหตุการณ์ชั่วขณะๆ หนึ่ง แต่มองความเป็นมาและความต่อเนื่อง ถ้ามองความเป็นประชาธิปไตยก็ต้องดูว่าเป็นมาต่อเนื่องนานแค่ไหน ความคิดที่ยอมให้ประชาธิปไตยหยุดชะงักชั่วคราว ล้มกระดานแล้วตั้งหลักกันใหม่ จึงสร้างความเสียหายในแง่ของการทำลายความต่อเนื่องของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความเสียหายที่มีราคาแพง จะกู้คืนมาได้ก็ต้องใช้ความพยายามอีกมาก และใช้เวลานานมาก เพราะต้องนับหนึ่งกันใหม่ ไม่เหมือนกับการที่จะพยายามช่วยกันแก้ไขข้อบกพร่องสำคัญๆ และพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเสียหายน้อยกว่า ไม่ว่าจะมองว่าระยะผ่านจะมีอะไรที่ไม่น่าพอใจมากเพียงใด ก็ยังเสียหายน้อยกว่าการถอยหลังไปที่ศูนย์ เสร็จแล้วเริ่มนับหนึ่งใหม่

อีกแง่มุมหนึ่งที่ควรพูดเสียด้วยก็คือ ผลทางเศรษฐกิจ หากประเทศไทยเราเปลี่ยนไปในทางที่สังคมโลกไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับแล้ว ผลเสียหายทางเศรษฐกิจจะตามมาอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง โดยเฉพาะขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจก็รุมเร้ามามากอยู่แล้วด้วย

: มีความเป็นห่วงว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป อาจจะนำไปสู่ความรุนแรง

ที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็เป็นห่วงและยังเป็นห่วงกันอยู่ มีข้อดีที่ทุกฝ่ายพยายามเต็มที่ไม่ให้เกิดความรุนแรง ฝ่ายประท้วงก็ยืนยันเสมอมา ฝ่ายรัฐบาลก็กำชับเต็มที่ไม่ให้ใช้ความรุนแรง แต่ก็จะเห็นว่าเมื่อสถานการณ์เขม็งเกลียวขึ้น ทุกคนก็ห่วง เพราะอาจมีการสร้างสถานการณ์ขึ้นจากใครก็ได้ เพราะฉะนั้น ความวิตกว่าจะเกิดความรุนแรงและความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงจึงได้นำไปสู่ทางออก เช่น การยุบสภา หรือการประกาศเว้นวรรคของนายกรัฐมนตรี จากนี้ไปอาจเกิดสภาพที่เป็นความเสี่ยงขึ้นอีกก็ได้ ยังไม่ทราบสถานการณ์จะพัฒนาไปอย่างไร

เรื่องที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้ความรุนแรง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นก็คือ การทำให้เกิดสถานการณ์ที่อาจจะกลายเป็นความรุนแรง และหลักเหตุผลวิธีคิดที่ว่า หากเกิดความรุนแรงขึ้น รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้และจะต้องหลีกเลี่ยงด้วยการถอยไปเสียด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งถ้ายอมรับวิธีคิดแบบนี้ ในระยะยาวจะเป็นปัญหาคือ รัฐบาลใดที่ไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ก็จะอยู่ไม่ได้ ซึ่งก็จะกลายเป็นวิถีทางที่ไม่สอดคล้องกับครรลองของระบอบประชาธิปไตย เพราะการไปการมาของรัฐบาลไม่เป็นไปตามที่กำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ

: มีข้อเสนอให้ 3 ศาลมาดูแลการเลือกตั้ง

เข้าใจว่าข้อเสนอนี้คงไม่ได้ให้ศาลมาจัดการหรือดำเนินการเลือกตั้ง แค่ต้องการให้มาตัดสินคดีความให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม บางคนเสนอให้ กกต. ทำหน้าที่ต่อไป แต่ให้จัดการเลือกตั้งอย่างเดียว และไม่เห็นใครเสนอให้กลับไปให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง

การให้ศาลมีหน้าที่ตัดสินว่าการเลือกตั้งเขตใดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือผู้สมัครคนใดทุจริตหรือไม่ ไม่ใช่ไม่เคยใช้กันมาก่อน ความจริงเป็นอย่างนั้นมาเป็นส่วนใหญ่นับแต่มีการเลือกตั้งกันมา เมื่อก่อนกระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง มีปัญหาก็ใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ คือ ตำรวจ อัยการ และศาล ถ้าตัดเรื่องใครจัดการเลือกตั้งออกไป ลองดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับการใช้กระบวนการยุติธรรมปกติมาดูแลความยุติธรรม ความสะอาดของการเลือกตั้ง ก็จะพบว่ามีการลงโทษผู้กระทำผิดน้อยมาก และทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะก็น้อยมากจนเกือบไม่เกิดขึ้น นี่คงเป็นเหตุที่เขาหันมาใช้ กกต. เพียงแต่ให้ทำหน้าที่ทั้งจัดการและตัดสินความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง เรื่องจึงยากหน่อย

ส่วนการตั้งศาลเลือกตั้งโดยมีองค์ประกอบของ 3 ศาลนั้น ก็คงต้องดูปัญหาที่จะตามมาว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันหรือไม่ โดยเฉพาะเจตนารมณ์ที่ให้มีระบบศาลคู่ ไม่ใช่ศาลเดี่ยว ให้มีศาลหลายศาลที่เป็นอิสระจากกันและไว้คานกันได้ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเคยแย้งศาลปกครองมาแล้ว ต้องถามว่าจะแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องนี้หรือไม่ และถ้ายังไม่ได้แก้ก็ต้องถือว่า "3 ศาล" อาจหารือหรือควรหารือกันได้ว่าจะรักษาความยุติธรรม ความถูกต้องตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หรือจะส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างไร

แต่ถึงขั้นตกลงกันว่าจะวินิจฉัยรายละเอียดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปทางเดียวกัน โดยละทิ้งความเป็นอิสระจากกันหรือการคานอำนาจกัน คงไม่ถูกต้อง

: ความเห็นต่อการยุบพรรคการเมือง

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายก็ต้องปฏิบัติตาม ผมถือหลักนี้ในทุกเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ถึงศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ก็ขอแสดงความคิดเห็นโดยความบริสุทธิ์ใจด้วยความเป็นห่วง ซึ่งไม่ใช่ห่วงว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร แต่ห่วงกระแสความคิดเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ มีประเด็นที่อยากเสนอให้พิจารณา 2-3 ประเด็นดังนี้

หนึ่ง ดังที่เป็นข่าว ซึ่งผมไม่ทราบรายละเอียดข้อเท็จจริง ไม่อาจยืนยันหรือโต้แย้งอะไรได้ถูก ผมยึดหลักกฎหมายทั่วไปและหลักเหตุผลแบบสามัญสำนึกปกติ คือ แม้ว่ามีการกระทำผิดขึ้นของทุกพรรคจริง จะถือว่าเป็นความผิดของคณะกรรมการบริหารทั้งคณะหรือทั้งพรรคได้อย่างไร ในเมื่อคณะกรรมการบริหารและสมาชิกพรรคเกือบทั้งหมดไม่รู้เห็นด้วยเลย

สอง ในจำนวนพรรคที่จะถูกวินิจฉัยยุบนั้น จะมี 2 พรรคใหญ่อยู่ด้วย พรรคหนึ่งเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด เคยมีที่นั่งในสภาสูงสุด กับอีกพรรคหนึ่งเป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุด หากคำนึงถึงคำถามในข้อหนึ่ง และคำนึงถึงหลักในเรื่อง "การคำนึงถึงผล" ที่เกิดขึ้นอย่างที่เคยใช้พิจารณาการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราจะอธิบายต่อสังคมโลกได้อย่างไรว่า เกิดอะไรขึ้น

มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่มีกรณีอย่างนี้ ลำพังการยุบพรรคการเมืองถ้ามีเหตุตามกฎหมายก็คงไม่แปลก แต่การยุบพรรคใหญ่ที่สุด 2 พรรคนั้น สิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบต่อระบบพรรคการเมืองอย่างรุนแรง

ระบบรัฐสภากับระบบพรรคการเมืองนั้นเป็นของคู่กัน ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้ เมืองไทยเราสลับกันระหว่างการปกครองแบบให้มีพรรคการเมืองกับไม่มีพรรคการเมืองเลย คือยึดอำนาจเกือบทุกครั้งก็ยุบเลิกพรรคการเมือง ยึดทรัพย์สินของพรรคการเมืองเสียด้วย ระหว่างที่มีพรรคการเมืองก็เริ่มต้นจากการมีพรรคการเมืองที่อ่อนแอ บางครั้งไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองก็ได้ ผ่านการมีพรรคเล็กพรรคน้อย มีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ เนื่องจากมีหลายพรรคเกินไป

เราผ่านการเลือกตั้งที่คนไม่สนใจพรรค ไม่เข้าใจระบบพรรคมาแล้ว และก็ได้พยายามให้ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง มาถึงวันนี้เราต้องการเห็นผลอะไร คงไม่ใช่ต้องการให้คนกลับไปเลือกตั้งโดยไม่สนใจนโยบายพรรค แต่ได้รองเท้ามาแล้วข้างหนึ่ง แล้วเลือกผู้สมัครเพื่อให้ได้รองเท้าอีกข้างหนึ่งอย่างสมัยก่อนกระมัง

หรือเราต้องการเพียงเพื่อจัดการให้บุคคลคนใดคนหนึ่งพ้นไปจากการเมือง แต่ไม่มีวิธีตามครรลองปกติ จึงเลือกใช้วิธีนี้ โดยไม่คำนึงถึงว่าจะเกิดอะไรกับการพัฒนาประชาธิปไตย สังคมโลกจะมองประเทศไทยอย่างไร นี่คือ "ผล" ที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นหรือ

สาม กระบวนการพิจารณายุบพรรคที่กำลังทำกันอยู่นี้จะได้ข้อยุติเมื่อไร บางกระแสว่าอาจใช้เวลานาน 3-6 เดือน ซึ่งก็มีผู้ชี้ช่องบ้างแล้วว่า สุดท้ายจะนำไปสู่วิถีทางไม่ปกติ ซึ่งพอเข้าใจได้เพราะถ้านานอย่างนั้น เรื่องก็คงยุ่งเหยิงมากทีเดียว ลองนึกดูว่ากำหนดวันเลือกตั้ง 15 ตุลาคม 2549 ก็คงไม่ได้ ถ้าไม่ได้และยืดออกไปนานๆ นอกจากเรื่องจะยุ่งยากแล้ว ก็ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว คือ 60 วันหลังยุบสภา แต่ถ้ามีการเลือกตั้ง 15 ตุลาคม 2549 จริงแล้ว ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน มีการยุบพรรคใหญ่ 2 พรรค ใครจะลงเลือกตั้งได้บ้าง การเลือกตั้งจะมีผลอย่างไร ยอมรับกันได้หรือ ถ้าโยงกับกระแสความคิดหลายๆ ประเด็นที่ผมกล่าวมาแล้ว ชวนให้น่าคิดว่าทั้งหมดนี้ต้องการให้เกิดอะไรขึ้นกับระบบรัฐสภา การเลือกตั้ง และระบบพรรคการเมืองกันแน่

: มีข่าวอยู่บ่อยๆ ว่า จะลาออก ช่วยแสดงจุดยืนให้ชัดเจน

ผมเคยพูดไปแล้วว่าจะไม่ลาออก ขอขยายความว่าจะเป็นรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดยเคยให้เหตุผลว่ามีงานด้านการศึกษาต้องทำอีกมากและงานเหล่านี้รอไม่ได้ กับไม่ต้องการเปิดช่องให้เรื่องลุกลามไปจนถึงขั้นต้องใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีใครทำหน้าที่ ครม.

นี่ไม่ใช่ข้ออ้างเพื่ออยู่ในตำแหน่ง แต่คิดอย่างนั้นจริงๆ รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า เมื่อยุบสภาแล้ว ครม. ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม. ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ เจตนารมณ์ในเรื่องนี้ก็คือ "ไม่ต้องการให้ผู้ใดที่ไม่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ได้ยึดโยงกับการเลือกตั้งของประชาชนมาทำหน้าที่รัฐมนตรีได้แม้แต่วินาทีเดียว"

ซึ่งเป็นการสรุปบทเรียนปัญหามาจากอดีต ที่เมื่อมีการรัฐประหารยึดอำนาจก็มักตั้งปลัดกระทรวงรักษาการแทนรัฐมนตรี หลังจากนั้นก็ตั้งใครก็ได้มาเป็นรัฐมนตรี โดยไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการตัดสินใจของประชาชน