ที่มา มติชน
วิเคราะห์
จากเหตุการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2552 ทำให้ทุกฝ่ายมองเห็น "ตัวจริง" ของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล
เมื่อคืนวันที่ 4 ตุลาคม ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้เข้าพูดคุยเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วยพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคกิจสังคม
น่าสังเกตว่าในการประชุมครั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้พบปะกับ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเจอมรสุมกระทั่งต้องพักร้อนทางการเมือง และพรรคชาติไทยต้องคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญจนต้องยุบ และตั้งพรรคชาติไทยพัฒนาขึ้นมา
ยังน่าสังเกตอีกว่า ในวันนั้นมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนาที่ติดแหงกอยู่ในกลุ่มบ้านเลขที่ 111 ตั้งแต่ครั้งแรกที่พรรคไทยรักไทยต้องคำพิพากษาให้ยุบ
ในคืนวันนั้นนายสุวัจน์มาในนามของพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
น่าสังเกตต่อไปว่า คืนวันนั้น นายเนวิน ชิดชอบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งแต่ละคนต่างต้องคำพิพากษาให้เว้นวรรคทางการเมือง ก็มาในฐานะแกนนำพรรคภูมิใจไทย
ยังมี นายพินิจ จารุสมบัติ และว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ที่มาในฐานะแกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน
และนายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคกิจสังคม
สังเกตได้ว่าการเคลื่อนทางของพรรคร่วมรัฐบาลในระยะหลัง มิได้เคลื่อนไหวผ่าน "ตัวแทน" ที่มีสถานะทางกฎหมาย
หากแต่เป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่ม "ขุน" กลุ่ม "โคน" เพื่อต่อรองสิ่งที่ต้องการด้วยตัวเอง
และจากปรากฏการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อีกเช่นกันที่ผลักดันให้ "ตัวจริง เสียงจริง" จากฟากฝั่งของพรรคฝ่ายค้านปรากฏตัว
เมื่อพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค อันประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคภูมิใจไทย และพรรคกิจสังคม ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์เสนอ
ต่อมามีการประชุมร่วมระหว่างประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ประสานประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และประธานคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา (วิปวุฒิฯ)
จับมือตกลงประสานเจตนาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยทำประชามติตามข้อเสนอแนะของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ขึ้นที่พรรคเพื่อไทย
เมื่อคราแรก นายวิทยา บูรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้านออกโรงคัดค้าน แต่เมื่อมีกระแสข่าวว่ามีการประชุมร่วมกับแกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยเดิม
นายวิทยาก็กลับมายืนยันต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายว่า พรรคฝ่ายค้านเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ครานั้นมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า แกนนำที่ให้ข้อแนะนำแก่นายวิทยาให้ตอบรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ กลุ่มแกนนำเดิมของพรรคไทยรักไทย อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ฯลฯ
น่าสังเกตอีกว่า ทั้ง 3 คนที่ปรากฏชื่อก็คือ คนสนิท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเจอมรสุมต้องเว้นวรรคทางการเมืองเช่นกัน
แต่ปรากฏการณ์ที่ชี้ชัดให้เห็นตัว "ขุน" ที่แท้จริงของฝ่ายค้าน กลับไม่ใช่บุคคลทั้ง 3 คน
หากแต่เป็นการประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
การประกาศลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว มีผลทำให้ "ตัวจริง เสียงจริง" ทางฟากฝ่ายพรรคเพื่อไทยต้องแสดงตัว
เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย โฟนอินเข้ามาประกาศคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสนับสนุนให้นำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาใช้
ต้องตรงกับความต้องการของกลุ่มคนเสื้อแดง
และดูเหมือนว่า คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะสามารถสั่งการให้พรรคเพื่อไทยคล้อยตามได้
วันนี้ "ขุน" ของฝ่ายค้านก็ปรากฏ
และเมื่อผนวกรวมกับกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ บุคคลที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็น "ลูกป๋า" ประกาศเข้าเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทยและกล่าวพาดพิงถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ทำนองตัดพ้อ
"ขนาดจะขอลาบวช ยังไม่ได้เข้าพบ"
กระทั่งกระเทือนวงการจนกระทั่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ใช้โอกาสในการเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ รุ่นที่ 13 ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ชี้แจงข้อเท็จจริง
พร้อมเผยข้อเท็จจริงก่อน พล.อ.ชวลิต เข้าพรรคเพื่อไทย
"เรื่องที่มีคนไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์ในทำนองว่า ผมไปว่าเขาเป็นคนทรยศต่อชาติ ซึ่งไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ถูกต้องคือ วันนั้น ก่อนที่จิ๋วจะไปสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย ผมให้คนไปบอกเขาว่า จะทำอะไร ขอให้คิดให้รอบคอบ ไตร่ตรองให้รอบคอบ ผมใช้คำว่า ไตร่ตรองให้รอบคอบ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการกระทำที่เป็นการทรยศต่อชาติ นี่เป็นข้อความที่ผมขอให้เขาสื่อไปถึงจิ๋วในตอนเช้าวันนั้น ดังนั้น ผมไม่ได้กล่าวหาว่า เขาเป็นคนไม่ดีทรยศต่อชาติบ้านเมือง มันไม่ใช่"
พิเคราะห์จากถ้อยคำของบุคคลระดับประธานองคมนตรี
การปะทะกันเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา
ยิ่งปรากฏว่า ในงานที่ พล.อ.เปรม เปิดใจต่อหน้าสื่อมวลชน ได้มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงษ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ยืนอยู่เคียงข้าง
หรือนี่คือ "ขุน" และ "โคน" การเมือง "ตัวจริง...เสียงจริง"