ที่มา ประชาไท
ท่านผู้อ่านคงยังไม่ลืมวาทะอันลือลั่นของ ท่านรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ว่า “ทหารเปรียบเหมือนม้าแข่ง รัฐบาลคือจ๊อกกี้ขี่ม้าแข่ง เมื่อเสร็จภารกิจแข่งม้าแล้ว จ๊อกกี้ต้องคืนม้าให้เจ้าของคอกม้า”
คำถามคือ ใครคือเจ้าของคอกม้าตัวจริง?
ที่น่าจะเป็นคำตอบคือ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดวาทกรรม “ทหารของพระราชา” และจึงเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.ที่ปัจจุบันถูกสื่อล้อเลียนว่า “คณะมั่งมีแห่งชาติ”)
หลังรัฐประหาร 19 กันยา ผลที่ตามมาก็คือความจริงที่ว่า นอกจากประเทศชาติจะบอบช้ำอย่างหนัก เนื่องจากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ก็ถูกซ้ำเติมด้วยการแตกแยกเป็นฝักฝ่ายของประชาชนในชาติอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง และต่อมายังถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่รุมเร้าหนักหน่วง
แต่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้กลับเป็น “โอกาสทอง” ของกองทัพ เพราะนับแต่รัฐประหาร 19 กันยา กองทัพกลับมามีอำนาจต่อรองทางการเมืองอย่างสูงยิ่งอีกครั้งหนึ่ง
เห็นได้จากงบประมาณปี 2552 กระทรวงกลาโหม ได้รับ 169,092,000,000 บาท และงบประมาณปี 2553 ได้รับ 154,708 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงบฯปี 2552 ลดลง 14,384 ล้านบาท แต่ยังถือเป็นหน่วยราชการอันดับ 4 ที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด และยังมีโครงการใหญ่ที่รอการอนุมัติเงินงบประมาณจากรัฐบาลหลายโครงการ อาทิ โครงการการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ เอ็มไอ 17 จากรัสเซีย ของกองทัพบก โครงการจัดซื้อเรือฟริเกตและจัดซ่อมเรือฟริเกต 6 ลำ วงเงิน 3 พันล้านบาท การปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ของเรือรบ ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น ทดแทน C-801 พร้อมลูกอาวุธปล่อยนำวิถีให้กับเรือฟริเกตชุดเรือรบหลวงเจ้าพระยา วงเงิน 1,599 ล้านบาท ของกองทัพเรือ และโครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่กริพเพนของกองทัพอากาศ เฟส 2 อีก 6 ลำ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท
และการจัดสรรงบประมาณล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ ครม.อนุมัติให้กองทัพบกจัดซื้ออากาศยานฝึกเฮลิคอปเตอร์ขนาดเบา 16 ลำ วงเงินกว่า 1,100 ล้านบาท และโครงการซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์แบบใช้งานทั่วไประยะที่ 2 (ทบ.1395) วงเงิน 980,336,050 บาท และอนุมัติงบประมาณปี 2552 เพิ่มเติมเป็นงบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 234 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการชุมนุมของ “คนเสื้อแดง” (มติชนรายวัน,02/10/2552)
อย่างไรก็ตาม หากมองอย่างรวมๆ ดูเหมือนจะเป็นโอกาสของกองทัพทั้งกองทัพ แต่ถ้ามองลึกลงไปในรายละเอียด ก็เป็นดังที่เราได้ทราบจากข่าวและญาติมิตรเพื่อฝูงซึ่งเป็นทหารชั้นผู้น้อยที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า เบี้ยเลี้ยงไม่ออก หรือออกช้าเกินเหตุ เงินตามสิทธิ์ที่พึงได้ต่างๆ ก็ลือกันว่าเห็นแต่ตัวเลขแต่ยังไม่เห็นตัวเงิน
ขณะเดียวกันเราคงอดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมบรรดา “ผู้นำเหล่าทัพ” จึงร่ำรวยอู้ฟู่กันเหลือเกิน อย่างที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าลำพังเงินเดือนแล้ว ต่อให้ไม่ใช้ไม่กินอะไรเลยจนเกษียณ ก็ไม่มีทางมีเงินมหาศาลถึง 90 ล้าน 100 ล้าน หรือมากกว่านั้น
ยิ่งเมื่อมาดูทรัพย์สินของ “หัวหน้า” กลุ่มผู้ก่อรัฐประหารแต่ละยุค ยิ่งน่าอัศจรรย์ในความร่ำรวย เช่น “บิ๊กบัง” หรือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน มีทรัพย์สินกว่า 90 ล้านบาท “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำรัฐประหารโค่นรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และเป็นผู้ให้ “สัมปทานดาวเทียมสื่อสาร” แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ภายหลังที่เขาเสียชีวิต ก็เกิดศึกชิงมรดกประมาณ 3,900 ล้านบาท ระหว่างเมียหลวง-เมียน้อย ขณะที่จอมพลถนอม กิตติขจร มีทรัพย์สินประมาณ 700-800 ล้านบาท และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีทรัพย์สินประมาณ 2,800 ล้านบาท (มติชนสุดสัปดาห์ 2-8 ต.ค.2552 น.12)
ดังนั้น คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ว่า “หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คนไทยไม่ได้อะไรเลย นอกจากได้เศรษฐีใหม่ส่วนใหญ่เป็นยศพลเอกและได้ทหารที่เข้มแข็งมีอาวุธมากขึ้น” จึงสะท้อนสัจธรรมของรัฐประหารทั้งในปัจจุบันและย้อนไปถึงอดีต
ทหารที่เข้มแข็งมีอาวุธมากขึ้น มีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากขึ้น เนื่องจากเป็นผู้ค้ำบัลลังก์รัฐบาล ย่อมเป็นปรากฏการณ์ที่สวนทางกับความเป็นประชาธิปไตยของการเมืองภาคนักการเมืองที่อ่อนแอลง เป็นการเมืองที่มีพลังเพียงสร้างรัฐบาลภายใต้การกำกับของอำมาตย์ ซึ่งไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วนได้อย่างเป็นอิสระ
แต่อย่างไรก็ตาม ในด้านกลับกันเราพบว่า การเมืองแบบมวลชนเข้มแข็งขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และด้วยความเข้มแข็งของการเมืองแบบมวลชนเท่านั้นที่จะดึงการเมืองภาคนักการเมืองออกมาจากการครอบงำกำกับของอำมาตยาธิปไตยและกองทัพได้
หากมวลชนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เรียนรู้จากบทเรียนในอดีตและเท่าทันกลเกมของอำมาตยาธิปไตยและกองทัพที่โดยความจริงแท้แล้วเป็นพวกหวงอำนาจ โลภจัด และคิดได้เฉพาะวิธีที่จะช่วงชิงเอาผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติมาเป็นของส่วนตัวเท่านั้น (แม้ว่าประเทศชาติจะตกอยู่ในภาวะวิกฤตเพียงใดก็ตาม) แต่ไม่มี “กึ๋น” ที่จะสร้างความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชน
ดังนั้น ก้าวต่อไปของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของมวลชนทั้งสองฝ่าย จะต้องเรียกร้องหรือไม่ลืมที่จะหาแนวทางทำให้กองทัพเป็นของประชาชน เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่มาจากประชาชน และเป็นกองทัพที่อยู่ในอำนาจการกำกับตรวจสอบของประชาชนอย่างแท้จริง