ที่มา ประชาไท
เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์หวั่นวิธีการเข้าถึงอีเมล์ของเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิของบุคคลซึ่ง รธน.คุ้มครอง เรียกร้องให้ปฏิรูป พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะ ม.14 ชี้เปิดช่องให้นำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองและลิดรอนสิทธิเสรีภาพได้ง่าย พร้อมเรียกร้องให้มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
วานนี้ (9 พ.ย.) เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์เรื่อง “เรื่อง การร้องขอความชัดเจนกรณีใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จับกุมผู้ใช้เน็ตในเดือนตุลาคม 2552” กรณีที่มีการควบคุมตัวนายณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ และกรณีควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 3 ราย ในข้อหากระทำผิดมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้
แถลงการณ์ เรื่อง การร้องขอความชัดเจนกรณีใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จับกุมผู้ใช้เน็ตในเดือนตุลาคม 2552 สืบเนื่องจากกรณีดังต่อไปนี้ (ตัวหนาเน้นโดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต) 1. พนักงานสอบสวนดีเอสไอควบคุมตัว นายณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ อายุ 27 ปี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไปยื่นคำร้องฝากขังต่อศาลอาญาในวันที่ 13 ตุลาคม 2552 โดยคำร้องฝากขังระบุว่า พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ขออนุญาตศาลอาญาเข้าถึงข้อมูลในอีเมลของ นายอีมิลิโอ เอสเทแบน (Emilio Esteban) อายุ 46 ปี ชาวอังกฤษ ผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ไว้ในเว็บบล็อก โดยใช้อินเทอร์เน็ตจากประเทศสเปน จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า วันที่ 21-23 ก.ค.2552 ได้มีอีเมลของ นายณัฐ ผู้ต้องหา ส่งข้อมูล ภาพ และเสียงที่มีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ให้กับ นายอีมิลิโอ จำนวน 3 คลิป ซึ่งเป็นคลิปเดียวกันกับที่มีการเผยแพร่ในเว็บบล็อกของ นายอีมิลิโอ พนักงานสอบสวนจึงขออนุมัติหมายจับนายณัฐต่อศาลอาญา (อ้างอิงข่าว นสพ. เอเอสทีวี ผู้จัดการ วันที่ 15 ตุลาคม 2552 2. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 3 ราย ในข้อหากระทำผิดมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (“พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์”) คือ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน” เมื่อปลายเดือนตุลาคม และต้นเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งการจับกุมดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกรณีข่าวลือในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นักลงทุนจำนวนมากตื่นตระหนกจนพากันเทขายหุ้นระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม 2552 (อ้างอิงข่าว นสพ.คมชัดลึก วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 – http://www.komchadluek.net/detail/20091103/35639/รวบเสี่ยโต๊ะสนุกชลผู้ต้องหาทุบหุ้นอีก.html) เครือข่ายพลเมืองเน็ตเห็นว่า การเข้าถึงอีเมลของนายอีมิลิโอตามข้อหนึ่ง และกระบวนการสืบค้นตัวและจับกุมผู้ต้องหาอีกสองรายตามข้อสอง อาจเป็นการใช้อำนาจรัฐและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (“พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์”) โดยละเมิดสิทธิของบุคคลในความเป็นอยู่ส่วนตัวและเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 35 และ มาตรา 36 ส่วนในกรณีหลังคือการจับกุมผู้ต้องสงสัย 3 รายโดยอ้าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น อาจเป็นการใช้กฎหมายในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้ต้องหาอาจไม่รู้ว่าข่าวลือที่นำมาส่งต่อนั้นเท็จจริงหรือไม่อย่างไร ทั้งอาจไม่มีเจตนาที่จะก่อความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เครือข่ายพลเมืองเน็ตเห็นว่า กรณีเดียวที่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหามีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จนั้น คือกรณีที่ผู้ต้องหาดังกล่าวมีส่วนในการสร้างราคาหุ้น อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (“พ.ร.บ.หลักทรัพย์”) จากกรณีที่เกิดขึ้น เครือข่ายพลเมืองเน็ตจึงมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ 1. ขอให้รัฐเปิดเผยว่าเข้าถึงอีเมลของนายอีมิลิโอด้วยวิธีการใด ใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับใด เนื่องจากอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในความเป็นอยู่ส่วนตัวและเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน 2. ขอให้รัฐเปิดเผยแนวทางการดำเนินคดีสร้างราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อมิให้ประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกิดความตื่นตระหนก และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการสื่อสารภายในหมู่ประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครองไว้ 3. ขอให้รัฐพยายามจับกุมผู้กระทำความผิดที่แท้จริง มิใช่จับกุมตัวกลาง (intermediaries) หรือ “ผู้ให้บริการ” เนื่องจากการดำเนินการกับตัวกลางจะส่งผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ มากมายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อีกทั้งยิ่งจะทำให้การจับกุมผู้กระทำความผิดยุ่งยากลำบากมากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นผลเสียต่อสาธารณะ สุดท้ายนี้ เราขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงรวมถึงสาธารณชน ร่วมกันตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ และแสดงจุดยืนเรียกร้องให้มีการปฏิรูป พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะมาตรา 14 ซึ่งมีความคลุมเครือจนเปิดโอกาสให้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้โดยง่าย รวมถึงร่วมผลักดันการออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถแยกแยะระหว่างการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก กับผู้มีเจตนาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการทุจริต ได้อย่างเที่ยงตรงและชัดเจนกว่าที่แล้วมาในอดีต ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของพลเมือง เครือข่ายพลเมืองเน็ต วันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 |