ที่มา มติชน
บทนำมติชน
เมื่อการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้เกิดเหตุการณ์ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ในวงการตำรวจขึ้นมา โดยการพิจารณาในวาระการสอบสวนการกล่าวหาว่า มีการซื้อขายตำแหน่งในการโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ในสมัยที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปรากฏว่า ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ กรรมการข้าราชการตำรวจคนหนึ่ง ได้นำเอาหลักฐานเป็นเอกสารพร้อมลายเซ็นของกรรมการข้าราชการตำรวจบางคน ที่ทำถึง พล.ต.อ.พัชรวาท เพื่อฝากให้พิจารณานายตำรวจบางคนในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ จนเป็นเหตุให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานในที่ประชุมได้สักพักการประชุม และเลื่อนการประชุมออกไปโดยไม่มีกำหนด ก่อนเดินทางกลับ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ได้สะท้อนภาพหลายๆ อย่างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะภาพแห่งการแต่งตั้งโยกย้าย เพราะวัตถุประสงค์ในการตั้งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจขึ้นมา โดยกำหนดหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจนั้น เนื่องจากต้องการให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจเป็นไปตามระบบคุณธรรม ยึดอาวุโส ความสามารถ และความเหมาะสมตามหลักตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมาในรูปคณะกรรมการ และคาดหวังว่าการดำเนินการเช่นนี้ จะทำให้การแทรกแซงจากอำนาจการเมืองยุติลง ขณะเดียวกันก็ปรากฏอยู่เสมอว่า แม้จะมีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ แต่การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ก็ยังไม่สามารถรอดพ้นจากการแทรกแซงจากอำนาจฝ่ายต่างๆ ได้ บางครั้งถึงกับมีการกล่าวหาว่า กรรมการข้าราชการตำรวจเองก็ "แบ่งเค้ก" แลกเปลี่ยนตัวบุคคลในการแต่งตั้งโยกย้าย แต่ทุกอย่างก็เป็นเพียงคำครหา หาได้มีตัวผู้กล่าวหา และมีพยานหลักฐานใดๆ ไม่
แต่การอภิปรายพร้อมแสดงหลักฐานของ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ กลางที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กลับมิได้เป็นข้อกล่าวหาเหมือนอย่างที่เคย หากแต่มีทั้งผู้กล่าวหา คือ ร.ต.อ.ปุระชัย ที่เป็นถึงกรรมการข้าราชการตำรวจ มีทั้งข้อกล่าวหาคือ การฝ่าฝืนจริยธรรมในการบริหารงาน มีทั้งหลักฐานคือ เอกสารและหลักฐานเป็นลายมือและลายเซ็นของกรรมการข้าราชการตำรวจบางคนที่เขียนฝากให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ สมัยเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณาคุณสมบัติของนายตำรวจบางคนในการแต่งตั้งโยกย้าย และมีตัวผู้ถูกกล่าวหาคือ กรรมการข้าราชการตำรวจ บางคนที่ ลงลายมือและลายเซ็นเพื่อสนับสนุนให้นายตำรวจบางคนได้รับการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งถือเป็นการกล่าวหาที่ครบองค์ประกอบที่สุดเท่าที่เคยปรากฏ ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนายสุเทพ เทือกสบุรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องพิจารณาถึงข้อกล่าวหาที่ ร.ต.อ.ปุระชัยกล่าวหา เพื่อเป็นบรรทัดฐานของกรรมการข้าราชการตำรวจแห่งชาติว่า การดำเนินการฝากนายตำรวจของกรรมการข้าราชการตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายด้วยนั้น มีความผิดหรือไม่ประการใด มีความควรหรือไม่บังควรเช่นไร หรือไม่ประการใด ตัวกรรมการข้าราชการตำรวจที่ดำเนินการดังกล่าว สมควรจะแสดงความรับผิดชอบหรือไม่อย่างไร เพราะนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ถือเป็นผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์เองก็เป็นตัวแทนฝ่ายการเมืองที่ต้องการสร้างบรรทัดฐานการบริหารงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เกิดขึ้น ดังนั้น ทั้งนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ควรมีคำตอบในข้อกล่าวหาที่ ร.ต.อ.ปุระชัยนำเสนอขึ้นมาในที่ประชุม อย่าปล่อยให้ทุกอย่างเหือดหายไปตามกระแส โดยไม่รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด