ที่มา มติชน
บทนำมติชน
ความปรองดองและความสมานฉันท์ได้ถูกเรียกร้องจากหลายฝ่าย เพราะไม่อยากเห็นความขัดแย้ง แตกแยกทั้งในแวดวงนักการเมือง/พรรคการเมือง กลุ่มองค์กรมวลชนและขยายวงไปสู่ประชาชน ซึ่งใช้สีเหลือง สีแดงเป็นสัญลักษณ์ มีสีขาวแทรกตัวขึ้นมาขอให้ทุกสี ทุกฝักฝ่าย "หยุดทำร้ายประเทศไทย" อันสะท้อนถึงความแตกต่างในแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง มีนักคิด นักวิเคราะห์แสดงความเป็นห่วงว่า กลัวจะเกิดสงครามประชาชนและการนองเลือดครั้งใหญ่ อาจเลยเถิดไปถึงขั้นคนไทยเกิดความรู้สึกต้องการจะแบ่งเป็นภูมิภาค กล่าวคือ ภาคใต้ ส่วนหนึ่ง ภาคเหนือและภาคอีสานอีกส่วนหนึ่ง หากไม่หาทางยุติความขัดแย้ง แตกแยกเสียแต่วันนี้ แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะเกิดความสมานฉันท์ได้ด้วยวิธีใด
หลังเหตุการณ์ "สงกรานต์เลือด" กลางเมืองหลวง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้จัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรประชุมร่วมกับวุฒิสภา) เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นองเลือดในกรุงเทพฯและความวุ่นวายที่พัทยา จังหวัดชลบุรี จนทำให้ต้องล้มเลิกการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หลังอภิปรายที่มีแต่การโต้เถียงไม่ต่างไปจากคนทะเลาะกัน นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประกอบไปด้วย ส.ส.และตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองและวุฒิสมาชิก
น่าเสียดายที่ข้อเสนอของคณะกรรมการฯทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวเพื่อนำไปสู่ความสมานฉันท์ไม่ได้รับความสนใจแม้แต่น้อย พรรคการเมืองในส่วนของรัฐบาลโดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์คิดแต่เพียงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นที่ล้วนแต่เป็นเรื่องนักการเมืองทั้งสิ้น มิได้เกี่ยวข้องกับประชาชนเลย มิหนำซ้ำยังจะจัดให้มีการออกเสียงลงประชามติเรื่อง 6 ประเด็นที่จะแก้ไขโดยมินำพาต่อเสียงทักท้วงและคัดค้านว่า เป็นเรื่องไม่ถูกหลักของการออกเสียงประชามติทั้งที่ควรจะสอบถามประเด็นใหญ่ เช่น ต้องการรัฐธรรมนูญ 2550 หรือรัฐธรรมนูญ 2540 และยังจะต้องเสียเงิน 2,000 ล้านบาทไปโดยเปล่าประโยชน์ กระทั่งต่อมาวิปของวุฒิสภาออกมาแถลงข่าวว่าไม่ขอเข้าร่วมกับวิปรัฐบาลอีกต่อไป ทำให้เหลือแค่วิปรัฐบาลฝ่ายเดียว จึงเท่ากับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นและการจะออกเสียงประชามติล้มครืนทันที แต่กระนั้นก็ยังไม่ท่าทีจากนายอภิสิทธิ์ว่าจะ "ถอย" หรือจะ "ดันทุรัง" ต่อไปโดยไม่ฟังเสียงใคร
จากกรณีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาโดยเรียกทูตไทยประจำกรุงพนมเปญกลับประเทศไทย รวมถึงทบทวนพันธกรณีและความร่วมมือต่างๆ และจะนำไปสู่การยกเลิกบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณเพราะไม่พอใจที่สมเด็จฯฮุน เซน แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ แม้ว่าในด้านหนึ่ง รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้น จะด้วยจำใจหรือเต็มใจที่ใช้ "ไม้แข็ง" โดยไม่กลัวว่า ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศที่สะบั้นและเสื่อมทรามลงนั้นจะนำไปสู่ผลกระทบต่อประโยชน์ร่วมกันมากน้อยแค่ไหนเพียงไรด้วยถือว่า รัฐบาลกัมพูชาควรจะถือเอาความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยเป็นหลักมากกว่าจะถือเอาความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ในอีกด้านหนึ่ง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ต้องการปิดล้อม พ.ต.ท.ทักษิณทุกวิถีทาง โดยหากนำตัวมารับโทษจำคุกได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี นอกจากนี้ยังจะดำเนินการถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชฯอีกด้วย
ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณเห็นแก่ประเทศชาติ ด้วยการหยุดเคลื่อนไหวแล้วกลับมาติดคุก 2 ปีซึ่งเป็นไปไม่ได้และเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณเคลื่อนไหวต่อสู้โดยมีพรรคเพื่อไทย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และมวลชนคนเสื้อแดงเป็นแรงสนับสนุน ทำให้วิกฤตความขัดแย้ง แตกแยกนับวันจะแผ่ขยายออกไป ประกอบกับ นปช.นัดชุมนุมคนเสื้อแดงที่ทำเนียบแบบยืดเยื้อในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไปเพื่อขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ชนิด "ไม่ชนะ ไม่เลิก" จึงเป็นปัญหาว่า การชุมนุมที่จะต้องเข้มข้นนั้นจะลงเอยถึงขั้น "แตกหัก" และเกิดการหลั่งเลือดกันอีกครั้งหรือไม่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลอภิสิทธิ์จะบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพไปได้อย่างไร หากการต่อต้านรัฐบาลจากฝ่ายตรงข้ามถูกยกระดับให้สูงขึ้นจนบ้านเมืองมีแต่ความปั่นป่วน วุ่นวาย ระส่ำระสาย