ที่มา ประชาไท
(หมายเหตุ การเน้นข้อความและขยายขนาดตัวอักษรมาจากตันฉบับโดยผู้เขียนบทความเอง)
1.การเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิก รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญในการต่อต้านการรัฐประหาร ต่อต้านระบอบอำมาตยาธิปไตยอย่างสันติวิธี เพื่อให้การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และให้ระบอบอำมาตยาธิปไตยยุติการครอบงำสังคมไทย
2. กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มาจาการรัฐประหารที่นิยมอำนาจแบบเผด็จการ จึงไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ให้อำนาจกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการ เป็นพวกพ้องของคณะรัฐประหาร (เป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำมาตยาธิปไตย) และได้ยึดครององค์กรอิสระทั้งหลายเรียบร้อยแล้ว
3. รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ องค์กรอิสระนั้น มาจากการเลือกหรือสรรหาของคนเพียง 7 คน คือศาล 5 คน และตัวแทนพรรคการเมืองเป็นส่วนประกอบอีก 2 คน ซึ่งที่ผ่านมาการเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ส่วนใหญ่แล้วผู้ได้รับการเลือกสรรล้วนเป็นอดีตข้าราชการและผู้ที่ไม่เคยมีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนเลย นอกจากนี้แล้วยังกำหนดให้มีองค์กรอิสระองค์กรเดียวรวมอำนาจการจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมไว้ด้วยกัน
4. รัฐธรรมนูญ 2550 มาตราที่ 30 กำหนดขึ้นเพื่อรองรับพรบ.ความมั่นคงภายในประเทศที่จะให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับผู้บังคับบัญชาการทหารบก
5. รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้เพิ่มอำนาจสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง แม้ว่าประชาชนสามารถ 10,000 ชื่อเสนอกฎหมายได้ และถอดถอนนักการเมือง 30,000 ชื่อได้ก็ตาม แต่ถูกล็อกและหมกเม็ด เพราะอำนาจในกระบวนการกฎหมายขึ้นอยู่กับวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง คือประชาชน 12 ล้านเลือกได้ 76 คน แต่อีก 74 คน มาจากการสรรหาโดยคนเพียง 7 คน ซึ่งมีศาลครอบงำอยู่ด้วย ส่วนใหญ่สมาชิกวุฒิสภาที่จะได้รับการแต่งตั้งก็จะเป็นข้าราชการ คิดแบบราชการ เฉกเช่นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกแต่งตั้งโดยอำนาจคณะรัฐประหาร
และที่ผ่านมาการเสนอกฎหมายของภาคประชาชน เช่น พระราชบัญญัติป่าชุมชน ก็ถูกขัดขวางบิดเบือนจากกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ พระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย และสิ่งแวด- ล้อมในสถานประกอบการก็ถูกขัดขวางจากกรมแรงงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ
6. รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ยอมรับสิทธิการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิทธิในการพัฒนาที่จะทำให้ประชาชนสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้ ไม่ยอมรับการปฏิรูประบบสวัสดิการทางสังคม เช่น การจัดสวัสดิการด้านสาธารณสุขแก่ทุกคน การจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุทุกคน ไม่ยอมรับการปฏิรูประบบภาษีให้เป็นมาตรการในการกระจายรายได้เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมอย่างการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก หรือภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ไม่ยอมรับการคุ้มครองสิทธิเกษตรกรรายย่อย เพื่อรักษาอธิปไตยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศชาติ ไม่ยอมรับสิทธิในที่อยู่อาศัยและความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกคน และไม่ยอมรับสิทธิและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคมไทยในการสร้างความเสมอภาคความยุติธรรมให้เกิดขึ้น
7. ถึงเวลาที่ต้องนำรัฐธรรมนูญ 40 มาใช้และปรับแก้ไขให้ก้าวหน้าขึ้น โดยใช้กระบวนการเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญ 40 มีหลักการสำคัญคือ สร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ ลดทอนอำนาจระบอบอำมาต- ยาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติไว้ว่า ห้ามให้ใครผู้ใดคณะบุคคลใดกระทำการรัฐประหาร ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ
เพิ่มพื้นที่ประชาธิปไตย เช่น ให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีทางตรง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การกำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งและไม่ต้องกำหนดวุฒิการศึกษา การให้ผู้ใช้แรงงานเลือกตั้งในสถานที่ประกอบการ ฯลฯ