WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, December 10, 2009

สาส์นถึงนักสิทธิฯในวันสิทธิมนุษยชน:การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยกม.ไทย

ที่มา Thai E-News


โดย สมัชชาสังคมก้าวหน้า(Social Move Assembly)
10 ธันวาคม 2552

“ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอดและที่จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสารและความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใดๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน”
-ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 19

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สังคมการเมืองระหว่างได้พยายามจะหาทางป้องการความขัดแย้งระหว่างประเทศซึ่งได้เคยลุกลามกลายเป็นสงครามในระดับโลกถึง 2 ครั้ง องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี 2488 เพื่อเป็นองค์กรระหว่างประเทศสำหรับไกล่เกลี่ยข้อพิพาทขัดแย้งระหว่างประเทศ

3 ปีภายหลังการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ที่ประชุมสามัญแห่งสหประชาชาติ (General Assembly) ได้ให้รับรอง “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” (Declaration of Human Rights) ซึ่งนับได้ว่าเป็นความพยายามครั้งแรกที่ให้การสนับสนุนแนวคิดด้านเสรีนิยมทางการเมืองและให้การยอมรับถึงความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์ด้วยกัน โดยไม่มีข้อจำกัดทางเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นทางใด

ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกขององค์การสหประชาชาติก็ได้ให้การรองรับปฏิญญาฉบับนี้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2491 ด้วย แต่อย่างไรก็ตามภายหลังการลงนามในปฏิญญาดังกล่าวแล้วสภาพการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยก็ยังมีข้อบกพร่องอย่างเห็นได้ชัดในหลายๆ ด้าน

โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์หรือไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์หลักของสังคมไทย คือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สิทธิเสรีภาพของผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างก็มักจะถูกละเมิด กระทั่งในบางครั้งถึงขั้นที่นำไปสู่ความไม่ปลอดภัยในชีวิตตนเองและคนใกล้ชิดได้

ในยุคสมัยปัจจุบันการทำลายล้างกันทางการเมืองโดยการใช้กำลังทหารนับว่าเป็นเรื่องล้าสมัย และไม่อาจเป็นที่ยอมรับจากสังคมโลก เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้ใช้อำนาจบริหารโดยการใช้กำลังอาวุธ ซึ่งการรัฐประหารครั้งล่าสุดก็เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยด้วยความรุนแรงโดยตรงอยู่แล้ว แต่ด้วยแรงกดดันจากโลก ได้ทำให้การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยกลุ่มเผด็จการและเครือข่ายได้แสดงออกในรูปแบบที่แนบเนียนยิ่งขึ้น

กระบวนการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนโดยรัฐไทยนั้น เกิดขึ้นมานาน และปรากฏในหลายรูปแบบ เช่น การควบคุมความคิดเห็นประชาชนให้คล้อยตาม โดยการใช้กลไกต่างๆ ของรัฐ เช่น การศึกษา กระบวนการยุติธรรม กฎหมายและการดำเนินงานของฝ่ายตุลาการ เพื่อเป็นการสร้างความหวาดกลัวและป้องปรามการคิดต่าง

ตัวอย่างรูปธรรมของการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างหนึ่ง มาจากปัญหาความล้าหลังของกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ตัวกฎหมายนี้ถูกนำใช้โดยขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยตรง

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการแสดงความเห็นของประชาชนยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ ภายหลังการรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งนับวันระบอบการปกครองโดยนิติรัฐ1 ของไทย จะตกอยู่ในสภาพเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ โดยผู้ที่มีอำนาจใช้กฎหมายเหล่านั้นนั่นเอง

ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการ คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ให้คำจำกัดความปรัชญาพื้นฐานของนิติรัฐอย่างสั้นแต่ได้ใจความว่า

“นิติรัฐคือ รัฐที่จำกัดตนเองอยู่ภายใต้กฎหมายโดยจะกระทำการก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจและกระทำไปได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย กฎหมายเช่นว่าต้องเป็นกฎหมายที่ดี และการกระทำเหล่านั้นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรตุลาการ”



สำหรับในกรณีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งบัญญัติว่า

“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”


การอ่านกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น จะเห็นได้ว่ามีการบัญญัติไว้อย่างคลุมเครือและก่อให้เกิดการตั้งคำถาม เช่น การดูหมิ่น หรือการอาฆาตมาดร้าย หมายถึงอะไรบ้าง เพราะในบางกรณีแม้แต่การตัดต้นไม้ที่ปลูกโดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ก็ยังถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้2

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ กระบวนการยุติธรรมได้สร้างจารีตในการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ขึ้นมาหลายประการเช่น ดำเนินคดีไว้ก่อนแม้ว่าข้อกล่าวหาจะคลุมเครือ การดำเนินคดีและการพิจารณาคดีเป็นการปิดลับ และสื่อมวลชนก็มักหลีกเลี่ยงที่จะรายงานความคืบหน้าการดำเนินคดีเนื่องจากกลัวว่าจะเป็นการเผยแพร่สิ่งที่หมิ่น ทำให้ในที่สุดแล้วสื่อสารมวลชนจึงทำการเซ็นเซอร์ตัวเอง ด้วยการไม่รายงานหรือรายงานโดยละใจความสำคัญซึ่งก่อให้เกิดความคลุมเครือต่อสถานการณ์

ผู้ที่โดนข้อหามาตรา 112 ในหลายๆ กรณีก็ไม่ได้มีการแสดงออกถึงการดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายแม้แต่น้อย ดังเช่น กรณีของนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ซึ่งถูกดำเนินคดีตามบทบัญญัติของกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งที่สิ่งที่นายโชติศักดิ์ กระทำคือการนั่งนิ่งอย่างสงบโดยไม่ลุกขึ้นยืนในโรงภาพยนตร์ในขณะที่มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนที่จะมีการฉายภาพยนตร์ ซึ่งหากพิจารณาโดยสามัญสำนึกแล้วการนั่งนิ่งอย่างสงบโดยไม่ลุกขึ้นยืนย่อมไม่ได้เป็นการดูหมิ่น ทำร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากความคลุมเครือของกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว ในรอบสามปีที่ผ่านมามีชาวต่างชาติถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน หนึ่งในชาวต่างชาติที่ถูกดำเนินคดีคือนายแฮรี่ นิโคไลดส์ สิ่งที่เป็นมูลเหตุแห่งการดำเนินคดีของนายแฮรี่คืองานเขียนของเขาที่เป็นเพียงการกล่าวถึงเรื่องความสัมพันธ์ลับๆ ของสมาชิกพระราชวงศ์โดยไม่แม้แต่จะเอ่ยนามว่า เป็นสมาชิกพระราชวงศ์รายใด ข้อความที่เขียนนั้นยาวเพียง 2 ประโยค จากหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่เพียง 50 เล่ม3

หากมองโดยบรรทัดฐานของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเน้นหลักเสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนเป็นสำคัญ บทลงโทษของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยการจองจำบุคคลเป็นเวลานานนับสิบปีเพียงเพราะการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นต่อบุคคลในที่สาธารณะ นับว่ารุนแรงยิ่งกว่าคดีอาชญากรรมบางคดีเสียอีก

นอกจากนี้ กระบวนการกล่าวหาด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มักถูกนำไปใช้กลั่นแกล้งหรือใช้เป็นอาวุธทางการเมืองอยู่เสมอ เพราะใครก็สามารถเป็นโจทย์ฟ้องร้องได้ทันที โดยเจ้าทุกข์หรือผู้ถูกหมิ่นประมาทไม่ต้องเป็นผู้ฟ้องร้องโดยตรง

สิ่งเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดความเคลือบแคลงของประชาชนโดยทั่วไปต่อความชอบธรรมของข้อกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด และยังสร้างวัฒนธรรมแห่งความกลัวครอบงำสังคมมากกว่าที่ควรจะส่งเสริมเสรีภาพการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดของประชาชน

นวัตกรรมทางกฎหมาย การเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงตั้งแต่สมัยรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด 19 ก.ย. 2549 ในยุคสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งพยายามจะเพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้นอีก ก็คงพอจะชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยว่าอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่พอกัน

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่มีการประกาศใช้ในยุครัฐบาลเผด็จการของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กำลังทำหน้าที่แทนหรือเป็นส่วนขยายของกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะที่ผ่านมารูปแบบของการดำเนินคดี และผู้ที่ได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มีลักษณะไม่ต่างจากกฎหมายอาญามาตรา 112 เท่าใดนัก

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีผู้ถูกดำเนินคดีตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์รวม 4 คนได้แก่นายคฑา ปาจริยพงศ์, น.ส.ธีรนันต์ วิภูชนิน, นายสมเจตน์ อิทธิวรกุล, และพญ.ธัศพร รัตนวงศา สิ่งที่เหมือนกันของที่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีทั้ง 4 รายคือนำเข้าข้อมูลที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และลักษณะการดำเนินคดีก็มีความคล้ายกัน โดยทางตำรวจได้ให้เหตุผลว่าการโพสท์ข้อความของบุคคลทั้ง 4 ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนจิตใจคนไทย และส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่นักลงทุน

สำหรับข้อเท็จจริงที่รับทราบกันโดยการเปิดเผยในกรณีของ น.ส. ธีรนันต์ คือ น.ส.ธีรนันต์ได้ทำการ “แปล” ข่าวที่มีการรายงานในสำนักข่าวบลูมเบอร์ก และเป็นการรายงานข่าวภายหลังจากตลาดหุ้นไทยได้ตกหนักมาตลอดวันที่ 14 ตุลาคมทั้งวันแล้ว จึงมีข้อสังเกตกันว่า ข้อหาที่ว่าเผยแพร่ข่าวเพื่อทุบหุ้นนั้น ดูไม่สมเหตุสมผลเลย

ทางด้านองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) ได้ให้ความเห็นก่อนจะมีการจับกุม พญ. ธัศพร รัตนวงศา ว่าข้อกล่าวหาที่มีต่อบุคคลทั้ง 3 เป็นสิ่งที่ไร้หลักฐานและละเมิดสิทธิในการรายงานข่าวทางเศรษฐกิจหลังจากที่เหตุการณ์หุ้นตกได้เกิดขึ้นแล้ว4

ทางด้านสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รายงานว่าการซื้อขายหุ้นของผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย (น.ส.ธีรนันต์และนายคฑา) ไม่พบสิ่งผิดปกติในการซื้อขายก่อนการปล่อยข่าวลือ แต่เป็นเพียงการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์5

ปัญหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์คือบทบัญญัติที่มีความคลุมเครือและเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตีความอย่างกว้างและสามารถดำเนินการเอาผิดกับผู้ถูกกล่าวหาได้อย่างง่ายดาย แต่ในทางกลับกันได้สร้างปัญหาให้กับประชาชนทั่วไป

เช่นในมาตราที่ 14 (2) ที่บัญญัติว่า

(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชนซึ่งมีบทลงโทษจำคุกถึง 5 ปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

แต่กลับมีการบัญญัติอย่างคลุมเครือเช่น “น่าจะทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศ”และ “ประชาชนตื่นตระหนก”6

ดังที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นแล้วว่า การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประเทศไทย ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งหากทางรัฐไทยยังคงจะดำเนินรูปแบบของนโยบายแบบนี้ต่อไป ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะเลิกหลอกลวงประชาคมโลกเสียทีว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย


หมายเหตุ สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้สรุปรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนถึงเดือนมกราคม 2552 มีดังนี้7

นายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายจักรภพ ต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม 2552 หลังจากถูกกล่าวหาในการบรรยายที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

โจนาธาน เฮด นักข่าวบีบีซี ในกรุงเทพฯ ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หนึ่งในบทความที่เกี่ยวข้องบนเว็บไซต์บีบีซี ที่ไม่ได้เขียนโดย เฮด ซึ่งไม่ได้วางพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวด้านบนของเพจตามธรรมเนียมปฏิบัติในประเทศไทย

นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหนุ่มถูกกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเดือนเมษายน 2551 ในการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพราะไม่ยอมยืนขึ้นถวายความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีที่จะเปิดขึ้นก่อนฉายภาพยนต์ในประเทศไทย

น.ส.จิตรา คชเดช นักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานและเพื่อนของนายโชติศักดิ์ น.ส.จิตราถูกนายจ้างไล่ออกเพราะเสื้อของเธอในเดือนสิงหาคมปีที่แล้วที่ปรากฎบนโทรทัศน์ โดยเสื้อตัวนั้นเขียนข้อความ “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม” ที่หมายถึงนายโชติศักดิ์ แต่ยังไม่ทราบเธอถูกกล่าวหาโดยตำรวจหรือไม่

นายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ อายุ 75 ปี ปัญญาชนชั้นนำและการวิจารณ์ยาวนานถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกนำตัวจากบ้านของเขาที่กรุงเทพฯ ในคืนหนึ่งของพฤศจิกายน2551 และขับรถไป 450 กม. ไปที่สถานีตำรวจในจังหวัดขอนแก่น เขาถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการบรรยายในเดือนธันวาคม หนึ่งปีก่อนหน้านั้น

แฮรี่ นิโคไลดส์ นักเขียนชาวออสเตรเลีย ครูสอนภาษาอังกฤษ และผู้อาศัยในเมืองไทยมายาวนาน นิโคไลดส์ถูกลงโทษจำคุกสามปี สำหรับการทำลายชื่อเสียงพระมกุฎราชกุมาร ในนวนิยายปี 2548 ชื่อว่า “Verisimilitude” ที่ขายได้เพียงเจ็ดเล่ม

น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล รู้จักกันดีในชื่อ “ดา ตอร์ปิโด” นักเคลื่อนไหวสนับสนุนทักษิณถูกจับกุมในเดือนกรกฎาคม 2551 หลังจากการพูดรุนแรง 30 นาทีประนามรัฐประหาร 2549 และสถาบันกษัตริย์ เธอยังคงถูกจำคุก ถึงแม้ว่าเธอถูกกล่าวหาอย่างเป็นทางการ เธอถูกตัดสินว่าผิดและจำคุก 18 ปีในเดือนสิงหาคม 2552

นายสุวิชา ท่าค้อ เขาถูกจับด้วยข้อสงสัยว่าเป็นผู้โพสต์ความเห็นบนอินเตอร์เน็ตที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การจับกุมเขาเป็นเหตุการณ์ร่วมกับการพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่กล่าวว่ากฎหมายนี้ไม่อาจละเมิดได้ เขาถูกตัดสินจำคุก 10 ปีและอยู่ระหว่างขอพระราชทานอภัยโทษ

โอลิเวอร์ จูเฟอร์ ชาวสวิสถูกลงโทษจำคุก 10 ปี ในปี2549 จากการที่เขาเมาเหล้าและพ่นสเปรย์พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษและเดินกลับหลังจากจำคุกสี่เดือน

นายใจ อึ้งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขากล่าววิพากษ์วิจารณ์รุนแรงว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างและเสรีภาพในการพูด เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาเขาในเดือนมกราคม 2552

นายบุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ อาจารย์ปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร เดือนกรกฎาคม 2550 พบว่าตัวเขาถูกสอบสวนในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากตั้งคำถามการสอบนักศึกษาปีหนึ่งว่า “ท่านคิดว่าสถาบันกษัตริย์มีความจำเป็นสำหรับสังคมไทยหรือไม่ อย่างไร และต้องปรับตัวอย่างไรให้เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย จงอภิปราย”8

เสรีภาพ! คือสิ่งซึ่งศิโรราบเพียงเหตุผล อำนาจคุกขื่อคามิจำนน เสรีชนไม่อาจค้อมยอมอธรรม