ที่มา มติชน
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญนิยม : สิ่งที่ยังขาดในสังคมไทย" โดยนายธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชาการ และไม่ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดของรัฐธรรมนูญนิยม ดังนั้นรัฐธรรมนูญไทยจึงไม่มีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดเลย ในหลักการแบ่งแยกอำนาจ ภายใต้รัฐธรรมนูญนิยมที่แบ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่รัฐธรรมนูญ 2550 จัดให้องค์กรตุลาการเข้ามามีอำนาจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอำนาจการเสนอร่างกฎหมาย และการสรรหาบุคคลในองค์กรอิสระ หากองค์กรตุลาการวางหน้าที่ไม่ดี ใช้อำนาจหน้าที่ผิด รัฐธรรมนูญนี้จะเป็นตัวทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรตุลาการเอง
นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเมืองไทยที่ยังมีปัญหา มาจาก 3 ส่วน คือ รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง และสถาบันทหาร เชื่อว่าในปี 2553 สถานการณ์การเมืองไทยจะหนักมากขึ้น และจะกลับมาสู่คำถามเดิมอีกว่าจะมีการยึดอำนาจอีกหรือไม่
"ถ้านิยามการเมืองไทยวันนี้ ก็มี 2 คำ คือ ตุลาการเพี้ยน เสนาพลาด การเมืองไทยเวลานี้ยังเหมือนพายเรือในอ่างอยู่ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะมีส่วนแก้ไขได้ ต้องคิดด้วยความมีสติและปัญญา ไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะกลับไปสู่คำถามว่ายึดหรือไม่ยึด" นายสุรชาติกล่าวว่า