ที่มา มติชน
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ
คล้ายกับว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเปลี่ยนพรรคแกนนำรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ไปเป็นพรรคอื่น เพราะถ้าไม่ใช่ประชาธิปัตย์ก็ต้องเป็นพรรคเพื่อไทย ซึ่งการเมืองก็จะวุ่นวายอยู่ดี
แม้ว่าประชาชนส่วนหนึ่งจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่ฝ่ายต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยไม่เห็นตาม การต่อต้านช่องทางที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมามีอำนาจยังดำเนินการอย่างจริงจัง และไม่ยอมถอย
อย่างไรเสียหากต้องการความสงบทางการเมือง พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำยังอำนวยให้เกิดขึ้นได้มากกว่าพรรคเพื่อไทย
ทุกพรรคยังมีความสุขกับมีอำนาจบริหารประเทศ ไม่มีใครอยากพ้นจากอำนาจ
ดูเหมือนว่าความเปลี่ยนแปลงไม่ควรจะเกิดขึ้น
คำถามก็คือว่า ทั้งที่แทบมองไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ทำไมกระแสเสียงที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ และนับวันจะแรงขึ้นทุกขณะ จนเชื่อกันไปแล้วว่าน่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้
นั่นเป็นคำถามที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีวันเข้าใจเด็ดขาด หากมองในทางปกป้องตัวเอง
นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์เองยังทำเหมือนไม่เข้าใจ เพราะเชื่อว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทุ่มเทและมากด้วยผลงาน
เช่นเดียวกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ไม่มีทางเข้าใจ เมื่อมองเห็นแต่ด้านบวกของนายอภิสิทธิ์
จะเข้าใจได้อย่างไรในเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง หากมองว่าทำงานกันดีอยู่แล้ว
จะเข้าใจได้ต้องมองอีกมุมหนึ่ง โดยตั้งคำถามว่า ที่มาของเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากอะไร
ตัดเสียงของฝ่ายตรงกันข้ามที่เชื่อว่าเสนอด้วยอคติออกไปเลยก็ได้ ดูกันเฉพาะเสียงที่เห็นว่าน่าจะเป็นเสียงสะท้อนที่บริสุทธิ์ อย่างเช่นเสียงของนักธุรกิจ หรือกลุ่มประชาชนที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ว่าทำไมถึงได้เปลี่ยนไปในวันนี้
มองให้ดีแล้วจะเห็นว่ามันมีคำตอบบางอย่างอยู่
ผลงานที่ไม่มีอะไรเป็นไปตามความคาดหวังคือสาเหตุของเสียงที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง
ต่างคนต่างรู้ว่าการเมืองเป็นต้นเหตุของความยุ่งยากทั้งหมด มีความคาดหวังว่าเมื่อพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นแกนนำรัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไป
แน่นอนทุกคนเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคลี่คลาย เพราะความแตกแยกของคนในชาตินั้นถูกกระทำให้ขยายทั้งในด้านกว้างและลึก
ที่ต้องการเห็นคือความพยายามของรัฐบาลที่จะทุ่มเทแก้ไข
ทว่าช่วงที่ผ่านมา นอกจากไม่เห็นความพยายามในเรื่องนี้แล้วกลับกลายเป็นพรรคประชาธิปัตย์เองกลับเข้าไปแสดงบทบาทขยายความขัดแย้งเสียเอง
จากผู้มีหน้าที่ต้องเชื่อมประสานให้ความแตกแยกเบาบางลง กลับทำตัวเป็นคู่กรณี คู่ขัดแย้งเสียเอง
ความเบื่อหน่ายของประชาชนต่อการเมืองที่เป็นปัญหาของทุกเรื่องราวสะท้อนออกมาในเสียงเรียกร้องให้มีการปลี่ยนแปลงในรัฐบาล
สะท้อนให้เห็นความผิดหวัง
หมดหวังที่รอพรรคประชาธิปัตย์ในการคลี่คลายความขัดแย้ง
ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะปรับเปลี่ยนรัฐบาล เพราะไม่ว่าใครมาเป็นก็ไม่มีอะไรดีกว่านี้
แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่พิจารณาตัวเอง ว่าทำไมจึงทำให้ประชาชนเลิกคาดหวัง
แม้ยังมองไม่เห็นทางเลือกอื่น ประชาชนก็อยากจะเปลี่ยน
เปลี่ยนเพราะหมดหวังกับพรรคประชาธิปัตย์