ที่มา ประชาไท
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) เขียนจดหมายถวายกษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช หนึ่งวันก่อนวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม เพื่อเรียกร้องให้ทรงพระราชทานอภัยโทษต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตซึ่งกำลังถูกจำคุก หรือกำลังถูกดำเนินคดี ในข้อหาอันเกี่ยวข้องกับความเห็นแตกต่างที่พวกเขาถูกกล่าวหา โดยการแสดงออกทางออนไลน์
องค์กรผู้สื่อข่าวกล่าวว่า “หากทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้การพระราชทานอภัยโทษ จะเป็นการแสดงให้ทั้งโลกได้ประจักษ์ว่า กษัตริย์ทรงมีความเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออก และทรงปฏิบัติตามที่เคยทรงตรัสไว้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2548 ในการปกป้องเสรีภาพนี้”
ในจดหมายได้เรียกร้องให้กษัตริย์ทรงให้มีการปล่อยตัวสุวิชา ท่าค้อ บล็อกเกอร์ซึ่งถูกขังในคุกคลองเปรม สุวิชาถูกตัดสินจำคุก 10 ปี เมื่อวันที่ 3 เมษายน ในข้อหาหมิ่นฯ ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานใดๆที่จะเอาผิดกับเขาก็ตาม สุวิชาไม่ได้เป็นนักการเมือง หรือเป็นนักเคลื่อนไหว เขาไม่เคยวิจารณ์กษัตริย์ หรือโพสต์ข้อความใดๆเกี่ยวกับพระองค์
หากทรงให้การพระราชทานอภัยโทษต่อผู้บริสุทธิ์ซึ่งเผชิญกับความยากลำบากแสนสาหัสนี้ จะเป็นการแสดงท่าทีอันชัดเจนเพื่อยืนยันพระราชดำรัสของพระองค์ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในปี 2548 ซึ่งมีพระราชดำรัสส่วนหนึ่งว่า “แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน” “แล้วก็ไม่กลัว ถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน”
จดหมายยังได้เรียกร้องให้กษัตริย์ทรงมีพระเมตตา โดยทรงยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด ต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหลาย:
ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพ ซึ่งโดนตั้งข้อหาหมิ่นฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม เนื่องจากหนังสือ “รัฐประหารสำหรับคนรวย” ที่ตีพิมพ์ในปี 2550 และสามารถหาโหลดได้จากเว็บไซต์ของเขา เขาไม่เคยวิจารณ์กษัตริย์
โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกแจ้งดำเนินคดีหมิ่นฯโดย พ.ต.ท.วัฒนศักดิ์ มุ่งกิจการดี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 โดยปราศจากหลักฐานใดๆ และไม่มีข้อมูลความคืบหน้าการสืบสวนใดๆ ที่มีต่อตัวเขา
ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ บล็อกเกอร์ ซึ่งถูกคุมตัวไว้นานถึง 10 วันเมื่อเดือนตุลาคมในข้อหาส่งวิดีโอลิ้งค์ไปยังบล็อกเกอร์ที่สเปน ผู้ซึ่งกำลังรณรงค์ให้มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ได้กล่าวไว้ในเวลานั้นว่า “เมื่อคุณวิจารณ์กฎหมาย คุณไม่ได้วิจารณ์กษัตริย์ หรือคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ” ณัฐถูกกล่าวหาว่า ละเมิด พ.ร.บ.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 -ประชาไท) และคดีของเขายังไม่มีคำตัดสินใดๆ
พระยาพิชัย บล็อกเกอร์ผู้ถูกตั้งข้อหาในเดือนกันยายน 2550 ว่าวิจารณ์ราชวงศ์ อัยการมีเวลาจนถึงปี 2560 ที่จะตัดสินว่า จะดำเนินคดีต่อเขาหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ จากมุมมองของทั้งด้านสิทธิในการปกป้องตัวเอง และสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรี
ทัศพร รัตนวงศา แพทย์ประจำโรงพยาบาลธนบุรี ธีรนันต์ วิภูชนันธ์ อดีตผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ยูบีเอส คธา ปาจริยพงษ์ ลูกจ้าง บริษัทหลักทรัพย์เคที ซีมิโก้ และสมเจตน์ อิทธิวรกุล บุคคลเหล่านี้ถูกตั้งข้อหาด้วยมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ปี 2550 (พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 – ประชาไท) ว่ากระทำการโพสต์ข้อมูลเท็จอันเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งสิ่งที่บุคคลเหล่านี้กระทำเป็นเพียงแค่ต้องการ หาคำอธิบายในการดิ่งลงของตลาดหุ้น
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกล่าวต่อว่า “เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช จะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้พระราชทานอภัยโทษ” “การละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกต่อพสกนิกรในประเทศไทย การตั้งข้อหาหมิ่นฯ และข้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ภายใต้ พ.ร.บ.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์นั้น เป็นการทำลายภาพพจน์ของทั้งองค์กษัตริย์ และราชอาณาจักรของพระองค์”
อ่านต้นฉบับที่ http://www.rsf.org/King-asked-to-pardon-Internet.html