ที่มา Thai E-News
การวิเคราะห์สัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งสะท้อนความเป็น“ซิวิไลซ์”(civilized-อารยะ,ความเจริญรุ่งเรือง) เมื่อบางคนเห็นว่าสยามซิวิไลซ์ และบางคนเห็นว่าเรายังไม่เป็นสยามซิวิไลซ์ ซึ่งต่อมาเมื่อเกิดเปลี่ยนชื่อประเทศไทย เราอธิบายประเทศไทยเป็นซิวิไลซ์ รวมทั้งประเมินถึงความเป็นประชาธิปไตย โดยพินิจศิลปะแห่งสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญของยุคคณะราษฎร
โดย อรรคพล สาตุ้ม
9 ธันวาคม 2552
ผมค้นคว้าจากข้อมูลเอกสาร ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุค 2475 โดยการเกิดสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ เป็นเรื่องซับซ้อนที่น่าสนใจ ถึงประเด็นที่มาเกี่ยวกับการสร้างศิลปะแห่งสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
ซึ่งความเป็นมาในอดีตเรื่องความเป็น“ซิวิไลซ์”(civilized-อารยะ,ความเจริญรุ่งเรือง) และพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ นายกราชบัณฑิตสภาในขณะนั้น ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่า “ซิวิไลซ์” บางคนเห็นว่าสยามซิวิไลซ์แล้ว บางคนเห็นว่ายัง แต่ว่าไม่มีใครอธิบายว่าจะประเมินอย่างไร หลายคนกล่าวขวัญถึง อังกฤษ จีน ยุโรป ไฮติ ธิเบต และอื่นๆ ทั้งนี้ ว่าด้วยความเป็นซิวิไลซ์ แล้วบ้าง หรือ ยังไม่ซิวิไลซ์ก็มาก แต่ไม่กระจ่างว่า ประเทศเหล่านั้นมีอะไรจึงนับว่า ซิวิไลซ์ หรือขาดอะไร และนับว่ายังไม่ซิวิไลซ์ กับประเทศสยาม
พระองค์ทรงพิจารณาต่อไปในปาฐกถาว่า ทรัพย์ อำนาจ อาณาเขตของประเทศ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งปาฐกถาพิเศษนี้ทรงแสดงภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ได้ 6 เดือน ขณะที่ความขัดแย้งตึงเครียดระหว่างฝ่ายนิยมเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎรยังดำรงอยู่ตลอดเวลาขณะนั้น จึงเป็นไปได้อย่างมากที่ปาฐกถานี้ คือ เล็งเป้าไปที่คณะราษฎร และพวกผู้สนับสนุน เพราะคนเหล่านั้นมักโจมตีเจ้า และเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ประเทศสยามเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทั้งหลาย(1)
จากการเปลี่ยนแปลงของความเป็นซิวิไลซ์ ก็กลายเป็นมาคำว่า ศิวิไลซ์ ในภาษาไทย ก็คือ ความหมายของcivilized(อารยะ,ความเจริญรุ่งเรือง) เป็นต้น
จนกระทั่ง ข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ และต่อมาความขัดแย้งของกลุ่มที่มาทำให้เกิดข้อโต้แย้งในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ ซึ่งเขียนสรุปตอนท้ายว่า “
เราได้พร้อมใจไขประตูเปิดช่องทางแก่ราษฎรแล้วจะรีๆรอๆไม่นำราษฎรต่อไปให้ถึงต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งราษฎรจะได้เก็บผลเอาจากต้นไม้นั้น คือ ผลแห่งความสุขความเจริญ ดั่งที่ได้มีพุทธทำนาย กล่าวไว้ในเรื่องศาสนาพระศรีอาริย์”โดยปรีดี พนมยงค์ จากนั้นเป็นต้นมาก็ทำให้ปรีดี โดนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเขาเป็นคอมมิวนิสต์ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างสำคัญที่สุด คือ ข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศ และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่
ซึ่งนั่นเป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏ เพราะนำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ “กบฏบวรเดช”ใน พ.ศ.2476 โดยสำนักงานโฆษณาการของหลวงกลการเจนติต(เภา วสุวัต) กับบริษัทถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ก็บันทึกภาพเหตุการณ์สู้รบจริง ซึ่งเกิดกรณีกบฏบวรเดช ที่มีความยาวของภาพยนตร์ถึง 7ม้วน และภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกร และชัยชนะของทหารผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญต่อทหารของฝ่ายกบฏนั้น ที่มีการถูกอธิบายว่าฝ่ายกบฏเป็นศัตรูต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้ภาพทหารของรัฐธรรมนูญเด่นชัดขึ้น ขณะที่ทหารของพระเจ้าแผ่นดินค่อยๆเลือนหายไป(2)
ศิลปะแห่งสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
คำอธิบายภาพ : ศิลปะแห่งสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็ใช้อักษรย่อว่า พ.ร.ธ. เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จกล้าหาญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญนั้นสำหรับเป็นบำเหน็จความชอบ แก่ผู้ช่วยเหลือราชการทั้งฝ่ายทหาร และ พลเรือนในการปราบกบฏบวรเดช ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นสมควร ได้รับ พระราชทาน โดยให้ตรา “พระราชบัญญัติเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๖” ขึ้นใช้ไว้ ตั้งแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป คือ วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๖ ปัจจุบันเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทาน
ด้านหน้าของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็มีภาพสมุดรัฐธรรมนูญวางบนพานแว่นฟ้าสองชั้น อยู่ภายในวงพวงมาลัยชัยพฤกษ์ แผ่รัศมีกระจายทั่วมณฑล ด้านหลังของเหรียญ ก็มีรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์ ยืนลอยอยู่เหนือตัวอักษรตามขอบล่างว่า “ปราบกบฏ พ.ศ.๒๔๗๖” ภายใต้ห่วงอันมีอักษรว่า “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” แพรแถบสีธงไตรรงค์ กว้าง 28 มิลลิเมตร ห้อยบนแพรแถบมี เข็มโลหะทองแดงรมดำ จารึกอักษรว่า “สละชีพเพื่อชาติ” และการสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นต้น
กระนั้น เราเข้าใจเรื่องการต่อสู้ของทหาร จึงเกิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญในฐานะทหารรัฐธรรมนูญ ผ่านศิลปะแห่งสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งสะท้อนความแตกต่างกับ“เหรียญปราบฮ่อ” ซึ่งมีลักษณะเป็นเหรียญเงินรูปกลม ด้านหน้าของเหรียญเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลักษณะพระพักตร์เสี้ยว ซึ่งผินพระพักตร์ไปทางซ้าย และพวงมาลัยรองรับ เบื้องบนเป็นแถวอักษรตามแนวขอบเหรียญเป็นข้อความ “จุฬาลงกรณ บรมราชาธิราช” ด้านหลังของเหรียญ ก็เป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงช้างถือพระแสงของ้าว ซึ่งเหรียญ ก็มีควาญอยู่ท้ายช้างคนหนึ่ง และรองรับด้วยกลุ่มแพรแถบ เบื้องบนของรูปนั้น ก็มีอักษรตามแนวขอบเหรียญเป็นข้อความว่า “ปราบฮ่อ ๑๒๓๙,๑๒๔๗,๑๒๔๙” เหรียญนี้ จึงใช้ห้อยกับแพรแถบสีดำริมสีเหลือง ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ที่แพรแถบประดับเข็มบอกปีจุลศักราชที่มีการปราบฮ่อ ได้แก่ “๑๒๓๙” (พ.ศ. 2420) “๑๒๔๗” (พ.ศ. 2428) และ “๑๒๔๙” (พ.ศ. 2430) ซึ่งใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย และเข็มปีจุลศักราชที่ประดับบนแพรแถบประดับให้สำหรับผู้ที่ไปราชการสงครามปราบฮ่อ นั่นเอง
ซึ่งราชกิจจานุเบกษา รัชกาลที่ 5 เริ่มประกาศรายชื่อขุนนางที่ได้รับพระราชทานเหรียญปราบฮ่อใน ร.ศ.117 เป็นปีเริ่มต้น โดยเริ่มพระราชทานแจกในวันที่ 21 กันยายน ร.ศ.117 (พ.ศ.2441) จำนวน ๔๙ ท่าน เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม), เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม) ฯลฯ เป็นต้น (3) ซึ่งเหรียญปราบฮ่อ ก็สะท้อนถึงอุดมการณ์ของสงครามต่อการกำเนิดทหารในสมัยรัชกาลที่ 5 และเราเห็นประวัติศาสตร์ เปรียบเทียบทางศิลปะ และสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และเหรียญปราบฮ่อ ซึ่งมีลักษณะของสัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราชทรงช้างถือพระแสงของ้าว โดยมีควาญอยู่ท้ายช้างคนหนึ่ง(ช้างดังกล่าวแทนสัญลักษณ์ช้างเอราวัณ คือ ราชาแห่งช้างเผือก?) สะท้อนความหมายแตกต่างกัน เพราะเหรียญปราบฮ่อ เกี่ยวข้องเรื่องทางภูมิศาสตร์ทำแผนที่โดยผู้ไปร่วมราชการปราบฮ่อครบ 3 ครั้ง ก็คือ พระวิภาคภูวดล(เจมส์ แมคาธี)(4) ซึ่งทำแผนที่อาณาเขตของสยาม ส่วนเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็คือ สัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์ ดังนั้น เหรียญทั้งสองแตกต่างกัน ในความหมายทางสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญในเรื่องของทหาร เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญนั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ความเป็นศิลปะและสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จึงสะท้อนความหมายของชีวิตที่มีกล้าหาญแห่งความเป็นอารยะ(Civilized) เชื่อมโยงความหมายของเหรียญทางวัฒนธรรมในเส้นทางเสี่ยงชีวิตต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญ เพราะว่า ทหาร ก็มีการเชื่อมความหมายทางสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งองค์ประกอบของเครื่องแบบทหาร ก็แสดงออกสัญลักษณ์ทางการทหาร (5)
ซึ่งต่อมาจอมพลป. พิบูลสงคราม ก็สร้างสัญลักษณ์ทางศิลปะและสถาปัตยกรรมมากมาย ในเวลาต่อมาจากเปลี่ยนนามประเทศสยามเป็นประเทศไทย รวมทั้งต่อมาปรากฏพระไทยเทวาธิราช ซึ่งเมื่อไทยก็เข้าสู่สงครามอินโดจีน และปรากฏเหรียญชัยสมรภูมิ
ทั้งต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยปรีดี พนมยงค์(รัฐบุรุษอาวุโส ผู้มีเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่รัฐบุรุษเปรม ไม่มีเหรียญดังกล่าว) และปรีดี ก็สร้างเหรียญศานติมาลา แล้วเราในยุคสมัยใหม่ของเวลาปัจจุบัน ซึ่งวันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันรัฐธรรมนูญ ทำให้ผมนึกเขียนถึงศิลปะแห่งสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อวันนี้.
*******
เชิงอรรถ
1.ธงชัย วินิจจะกูล “ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่าศิวิไลซ์ เมื่อชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 5 แสวงหาสถานะของตนเอง ผ่านการเดินทางและพิพิธภัณฑ์ทั้งในและนอกประเทศ.” รัฐศาสตร์สาร 24, 2 (2546) :1-66
2.ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา “ภาพยนตร์กับการต่อสู้ทางชนชั้นในห้วงเวลาแห่งการผลัดแผ่นดิน” ในเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 7 ฉบับที่ 1-2 มกราคม-มิถุนายน 2532:22-27
3.ดูภาพเพิ่มเติม ในหนังสือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ฉบับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2523 และสงครามปราบฮ่อ http://th.wikipedia.org และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของไทย http://www.geocities.com/nongnee_wong/page07_00.htm และเหรียญปราบฮ่อTheHaw Campaign Medal และhttp://www.pralanna.com/shoppage.php?shopid=21231 และเหรียญอันเนื่องมาจากการรบ http://203.144.136.10/service/mod/heritage/king/kruangraj/mframe.htm(หอมรดกไทย)
4.ราม วัชรประดิษฐ์ สัปดาห์พระเครื่อง สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 56 ฉ.44 24-30 ก.ค.2552
5.สุทัศน์ นำพูลสุขสันต์ ในจุลสารโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ปีที่2 ฉบับที่ 2 ม.ค.2518 เก็บความจาก David A.Wilson. “The Military In Thai Politics” ใน John J.Johnson (ed).The Role of the Military in Underdeveloped Countries Princeton New Jersey : Princeton University.Press,1962 :7-9