เรื่องของกาลเวลา มีการกำหนดช่วงจากชั่วโมงเป็นวัน จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี
ในห้วงรอยต่อแห่งกาลเวลาที่เวียนมาบรรจบครบปี ถือเป็นช่วงเหมาะสมที่สุด สำหรับการทบทวนสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในรอบปี
“ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ” จึงขอใช้โอกาสในวันสุดท้ายของปี 2550 เหลียวหลังย้อนกลับไปมองร่องรอยปรากฏการณ์ทางการเมือง ในช่วงขวบปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป
เริ่มจากฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ปีนี้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา
โดยตั้งแต่ช่วงต้นปี เป็นเรื่องของการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นหัวหอกในการยกร่างฯ ตามปฏิทินเวลาที่วางไว้
ทั้งนี้ ในช่วงยกร่างฯ มีการตั้งธงกันเอาไว้หลายประเด็น เช่น มีการเสนอให้นายกรัฐมนตรี มาจากคนนอก ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. เสนอให้ ส.ว.มาจากการสรรหา
แต่สุดท้ายก็ต้านกระแสสังคมไม่ไหว ต้องยอมกำหนดให้ นายกฯ มาจาก ส.ส. ส่วนที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งและสรรหาผสมกัน
ขณะเดียวกัน ก็ยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ส. แบบวันแมนวันโหวต มาใช้แบบรวมเขตเรียงเบอร์
อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีการจัดลงคะแนนเสียง ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยคนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบ
สำหรับการทำหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตลอดปี มีกฎหมายที่สำคัญ จำเป็นต่อการบริหารประเทศออกมาน้อยมาก
แต่มีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นให้เห็น นั่นก็คือสมาชิก สนช.เปิดอภิปราย ทั่วไปรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติ ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ของสภา ที่มาจากการแต่งตั้งในยุครัฐประหาร
ดูแล้วก็คล้ายบรรยากาศแบบประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริง เป็นเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ ที่ไม่ลงตัวของคนฝ่ายเดียวกัน ที่แบ่งกลุ่มแบ่งพวกอยู่ใน สนช.
มาถึงช่วงปลายปีก็เกิดเหตุการณ์ม็อบที่ไม่พอใจการพิจารณาร่างกฎหมาย ในช่วงใกล้เลือกตั้งปีนรั้วรัฐสภาบุกเข้าไปถึงหน้าห้องประชุม สนช.
ปรากฏการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงการชิงการนำของกลุ่มพลังภายใน สนช.ที่มีทั้งสายพันธมิตร สายเอ็นจีโอ สายข้าราชการพลเรือน และสายทหาร
สรุปภาพรวม 12 เดือนที่ผ่านมาของฝ่ายนิติบัญญัติ มีสภาพไม่ต่างจากคำเปรียบเปรย
ไก่ตรุษจีนในเข่งที่รอเชือด จิกตีกันเอง
หันมาที่ฝ่ายตุลาการ เป็นที่ชัดเจนว่าช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์การใช้อำนาจของตุลาการรัฐธรรมนูญ สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งเมือง
เมื่อตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิ เลือกตั้งอดีตกรรมการบริหารพรรค 111 คน
ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมามากมาย อาทิ ทำให้ขาดแคลนบุคลากร ทางการเมือง เนื่องจากนักการเมืองระดับแกนนำถูกเว้นวรรคการเมือง 5 ปี
ทำให้เกิดการเมืองในรูปแบบร่างทรง ทั้งหัวหน้าพรรคที่เป็นร่างทรง กรรมการบริหารพรรคร่างทรง และผู้สมัคร ส.ส.ร่างทรง
ทำให้มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่หลายพรรค ส่วนใหญ่ ป้อมค่ายที่แตกตัวออกมาจากพรรคไทยรักไทย
ขณะที่ทางด้านศาลยุติธรรม ในปีนี้ได้มีคำพิพากษาตัดสินคดี ที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองหลายคดี อาทิ
ศาลอาญามีคำพิพากษาให้จำคุกนายสมัคร สุนทรเวช 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีหมิ่นประมาทนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. แต่ให้ประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
ศาลอาญาพิพากษาจำคุกนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ 3 ปี โดยไม่รอการลงโทษ ในคดีปั�นหุ้นทีพีไอโพลีน และมีคำพิพากษาให้จำคุกนายประชัย 1 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในคดีละเมิดอำนาจศาล แต่อนุญาตให้ประกันตัวสู้คดี
ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกนายสมหมาย ภาษี 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีสั่งพักงานอดีตรอง ผอ.บริษัทไทยเดินเรือทะเล (บทด.) ในสมัยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง แต่ให้ประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ส่งผลให้นายสมหมายหลุดจากเก้าอี้ รมช.คลังทันที
ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกนายบุญมาก ศิริเนาวกุล อดีตผู้สมัคร ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ 1 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ในคดีทุจริตเลือกตั้งเมื่อปี 2543 แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติพ้นจากการเป็นผู้สมัคร ส.ส.ก่อนถึงวันเลือกตั้ง
ศาลสถิตยุติธรรม ใช้กฎหมายเข้ม
สำหรับกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นในการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล
โดยเฉพาะคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร
มีการตรวจสอบเรื่องการทุจริตใหญ่ๆของรัฐบาลชุดที่แล้ว 15 เรื่อง ปรากฏว่าในรอบปีนี้ สามารถส่งสำนวนเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลได้เพียง 2 คดี คือ
คดีหลีกเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป และคดีใช้อำนาจ โดยมิชอบซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก
และมีคดีที่ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อส่งฟ้องศาล 1 คดี คือ คดีออกสลากพิเศษ 3 ตัว 2 ตัว ทำให้รัฐเสียหาย
ส่วนที่เหลืออีก 10 กว่าเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการไต่สวน คตส. โดยผู้ถูกกล่าวส่วนใหญ่ขอเลื่อนการเข้าชี้แจงหลายครั้งหลายหน ทำให้การพิจารณายืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม คตส.ได้มีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากและทรัพย์สินที่ครอบครัว บุตร และบริวาร ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้รับจากการขายหุ้นชินคอร์ป หลายระลอกรวมวงเงินกว่า 72,000 ล้านบาท
ในขณะที่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาที่หลบไปตั้งหลักอยู่ต่างประเทศ อ้างเหตุที่ยังไม่มาชี้แจงข้อกล่าวหา ว่าเป็นเพราะไม่มั่นใจในความยุติธรรมของอำนาจรัฐปัจจุบัน และไม่มั่นใจในความปลอดภัย แต่ยืนยันหลังเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่แล้วจะกลับมา
หันมาทางฝ่ายบริหาร ในรอบปีนี้ชัดเจนว่า “รัฐบาลขิงแก่” ภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เกิดปัญหาเครื่องรวนมาตลอด
ช่วงต้นปี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯและ รมว.คลัง เพราะไม่พอใจที่นายกฯ แต่งตั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ทำให้ต้องมีการปรับ ครม.ดึงนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ เข้ามาเป็น รมว.คลังคนใหม่
ถัดมาไม่นาน นายประสิทธิ์ โฆวิไลกูล ลาออกจาก รมต.ประจำสำนักนายกฯ ทำให้ต้องปรับ ครม.อีกครั้ง
ผ่านมาถึงช่วงปลายปี เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ข้อห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ พ่นพิษ ส่งผลให้นายอารีย์ วงศ์อารยะ ต้องลาออกจาก รมว.มหาดไทย นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ลาออกจาก รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ลาออกจาก รมว.ไอซีที นายสวนิต คงสิริ ลาออกจาก รมช.ต่างประเทศ และนางอรนุช โอสถานนท์ ลาออกจาก รมช.พาณิชย์
ทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ต้องปรับ ครม. นั่งควบเก้าอี้ รมว. มหาดไทย ท่ามกลาง กระแสถล่ม เรื่องเขายายเที่ยง ทำให้เสียรังวัดไปพอสมควร
ในด้านผลงานของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีอะไรเข้าตาประชาชน ถึงขนาดถูกตั้งฉายาว่าเป็นรัฐบาลฤาษีขี่เต่า
สำหรับผู้นำรัฐบาลมีจุดแข็งอยู่จุดเดียว ก็คือ เรื่องการคืนอำนาจให้ประชาชน ประกาศเปรี้ยงจะให้มีการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม
แม้มีแรงยื้อจากบางฝ่ายที่อยากให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป ถึงขั้นมีข่าวว่าจะเปลี่ยนตัวนายกฯ แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ก็ยังมั่นคงในจุดยืนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
สรุปแล้วรัฐบาลชุดนี้ เป็นแค่รัฐบาลเฉพาะกาล ที่เข้ามาดูแลประเทศเพื่อรอเวลาเปลี่ยนผ่าน ให้มีการเลือกตั้งกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
เป็นแค่รัฐบาลคั่นเวลาจริงๆ
ส่วนอีกอำนาจหนึ่งที่ซ้อนอยู่กับอำนาจฝ่ายบริหาร นั่นก็คือ คมช.
เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. เกษียณอายุราชการจากเก้าอี้ ผบ.ทบ. ฐานอำนาจ ที่เคยมีอยู่เต็มเปี่ยมก็มีอันต้องเปลี่ยนมือ เกิดอาการตีนลอย อำนาจเบ็ดเสร็จหมดไป สุดท้ายก็ต้องโดดเข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านความมั่นคง
ตรงนี้เป็นปกติของระบบ เมื่ออำนาจปกติเปลี่ยนผ่านเข้ามา อำนาจพิเศษก็ต้องถอยไป
สำหรับอำนาจสำคัญอีกอันหนึ่ง ในสถานการณ์ที่ปีนี้เป็นปีเปลี่ยนผ่าน เพื่อคืนอำนาจประชาธิปไตย ให้ประชาชน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงมีความสำคัญมาก
เพราะต้องทำงานท้าทายในการควบคุมการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม ท่ามกลางการต่อสู้แข่งขันกันอย่างรุนแรงของพรรคการเมืองและขั้วอำนาจ
แม้ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม กกต.ยังไม่สามารถแจกใบเหลืองใบแดงผู้สมัคร ส.ส.ที่มีพฤติกรรมทุจริตกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้ เพราะเวลากระชั้นชิด
แต่มาถึงวันนี้ ผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาแล้วว่า พรรคพลังประชาชนได้ ส.ส.เข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง 233 คน พรรคประชาธิปัตย์ตามมาเป็นอันดับสอง 165 คน
พรรคพลังประชาชนได้สิทธิเป็นแกนนำรวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลผสม ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศพร้อมจัดตั้งรัฐบาล ถ้าพรรคพลังประชาชนรวบรวมเสียงข้างมากไม่สำเร็จ
ช่วงชิงอำนาจรัฐกันจนถึงเฮือกสุดท้าย
ท่ามกลางการร้องเรียนทุจริตเลือกตั้งและคัดค้านผลการเลือกตั้งนับร้อยเรื่องจากทั่วประเทศ ก็ต้องรอดูว่า กกต.จะใช้อำนาจตามกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อรักษาความสุจริต ความยุติธรรม และความเที่ยงธรรม เข้มข้นมากขนาดไหน
ว่าที่ ส.ส.จะโดนเชือด แจกใบเหลือง ใบแดง ทั้งหมดกี่ราย
ทางด้านตัวแปรสำคัญทางการเมืองตลอดปีนี้ ก็ยังคงเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หัวขบวนกลุ่มอำนาจเก่า
แม้ว่าตัวอยู่นอกประเทศ แต่ก็มีนอมินีทางการเมืองอยู่ในเมืองไทย มีการต่อสายบัญชาการ มีบทบาทอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนทางการเมืองมาตลอด
และมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงสิ้นปีที่มีการเลือกตั้ง แถมกำลังจะมีบทบาทต่อเนื่องข้ามปีไปอีกด้วย หลังจากพรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
จากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบปี 2550 ชี้ให้เห็นว่า ผลจากการรัฐประหาร สามารถยึดอำนาจได้ แต่ ปกครองไม่ได้ บริหารประเทศไม่ได้
การทำงานของรัฐบาลเฉพาะกาล เชื่องช้า ไม่กล้าตัดสินใจ ทำให้ชาวบ้านยี้
สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเหล่านี้ ถือเป็นบทเรียนของพวกเผด็จการ ที่ต้องควรรู้ว่า
ชาวบ้านรับไม่ได้กับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ทีมของเราจึงขอบอกว่า ปีนี้คือ ปีปฏิเสธเผด็จการ.
ทีมการเมือง ไทยรัฐ
จาก ไทยรัฐ 31/12/50