ความจริงแล้วเรื่องราวที่จะสรุปต่อไปนี้ล้วนเป็นเรื่องที่ “ทีมเศรษฐกิจ” ได้ วิเคราะห์ผ่านตาท่านผู้อ่าน มาแล้วตลอดทั้งปี
เราได้ลำดับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาความวุ่นวายในสนามบินสุวรรณภูมิ ความล่าช้าของการก่อสร้างรถไฟฟ้า รวมถึงการยกเลิกโครงการประชานิยมต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็น โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ที่ล้วนแต่เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ และช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า
ที่รัฐบาลขิงแก่กลับมีนโยบายยกเลิกและเปลี่ยนแปลงโครงการไป อย่างหน้ามือ เป็นหลังมือไปหมด
การดำเนินการเช่นนี้ ทำให้ประเทศและคนไทยเสียโอกาสไป และทำให้ต้องเดินถอยหลังไปหลายก้าว ทั้งเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับ รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาแก้ไข ไม่ว่าใครจะเข้ามาก็ตาม
เหมือนเช่นที่มีการเปรียบเปรยว่า เรือเจาะรูให้ล่มง่ายนิดเดียว การกู้เรือกลับมาใหม่ยุ่งยากแสนเข็ญ
ฉันใดก็ฉันนั้น ในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันคนละไม้ คนละมือ ทำลายมัน ก็ยากที่เราจะทำกลับคืนมาได้ และไม่รู้จะกลับมาได้เมื่อใด
เราถึงเรียกว่า “ปี 2550” เป็น “ปีแห่งการเสียโอกาส” เพราะเมื่อเศรษฐกิจของประเทศถูกฉุดลงมาแล้ว ยากยิ่งนักที่จะดึงขึ้นมาได้
เลิกประชานิยมไม่สนชาวบ้าน
นโยบายประชานิยมที่สร้างความคึกคักให้เศรษฐกิจของชาวบ้านในระดับรากหญ้า แต่ถูก “รัฐบาลสุรยุทธ์” มองในทางตรง กันข้ามว่าเป็นปัญหาของประเทศ การยกเลิก “โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน” จึงเกิดขึ้นเป็นลำดับแรก
ทั้งๆที่เป็นโครงการช่วยให้ประชาชนที่คิดทำมาหากิน แต่ไม่มีหลักทรัพย์ไปค้ำประกันการกู้เงินสามารถนำสิทธิต่างๆที่ธนาคาร ไม่เคยยอมรับ เช่น สิทธิในแผงลอย สิทธิในที่ดิน นส. 3 สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือสิทธิการเป็นเจ้าของเครื่องจักรไปค้ำ ประกันการกู้เงินได้
ขณะที่โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอทอป ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ผลิตภัณฑ์ ชุมชนและท้องถิ่น” แม้ไม่ได้ถูกยกเลิก แต่ภายใต้การบริหารอย่างไม่เอาใจใส่ ทำให้ การยกระดับสินค้าของชาวบ้านไปสู่ตลาดทั่วโลกที่เคยวิ่งฉิวเป็นอันต้องสะดุดลง
ด้านโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้าน/ชุมชน หรือหมู่บ้านเอสเอ็มแอล ถูกเปลี่ยน ชื่อเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อเริ่มโครงการ ไปได้ไม่นาน จัดสรรเงินลงหมู่บ้าน ไป 18,253 หมู่บ้าน ภายใต้งบประมาณ 4,149 ล้านบาท และยังใช้ไม่หมดอีก 850 ล้านบาท
พอถึงต้นปีงบประมาณ 2551 ในเดือน ต.ค. 2550 รัฐบาลก็ตัดสินใจยกเลิกโครงการนี้อีก ด้วยเหตุผลว่าเป็นโครงการลักษณะเดียว กับยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของรัฐบาลชุดนี้ โดยไม่ได้มองว่าการเบิกจ่ายงบประมาณของยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขไม่มีความคืบหน้าเลย
ส่วนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ที่เคยวางอนาคตให้ยกระดับเป็นธนาคารชุมชน แม้รัฐบาลนี้จะให้เดินหน้าต่อ แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน
นอกจากนั้น รัฐบาลนี้ยังได้พยายามบอนไซศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือทีซีดีซี ที่รัฐบาลก่อนปลุกปั้นให้เกิดขึ้นมา เพื่อเป็น ศูนย์กลางความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การพัฒนา “เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์มูลค่า” ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
โดยสั่งยุบรวมกับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (เอ็นดีเอ็มไอ) ภายใต้ชื่อใหม่ว่า สถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ (ไอดีซีแอล) ทั้งๆที่ไม่มีแผนรองรับว่าจะดำเนินงานกันอย่างไรต่อ พร้อมยังสร้างปัญหาคาราคาซังมากมาย
ด้วยเหตุเพียงความกลัวว่ายังมีเงาของคนในรัฐบาลทักษิณยังครอบงำอยู่เท่านั้นเอง!!
ชักเนื้อยึดสัมปทานไอทีวี
อีกหนึ่งผลงานโบดำที่ทำให้รัฐสูญเสียโอกาส แทนที่จะได้ “ค่าต๋ง” ผลประโยชน์เข้ารัฐ 25,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี
ีกลับต้องชักเนื้อ 5% ของภาษีสรรพสามิตสุรา-ยาสูบ ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปีไปหล่อเลี้ยง ทีวีสาธารณะแทน
ปัญหายุ่งๆนี้เกิดขึ้นเมื่อสถานีโทรทัศน์ไอทีวีถูกรัฐบาลยกเลิกสัญญาสัมปทานและให้ โอนทรัพย์สินของไอทีวีมาเป็นของรัฐ โดยเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี และกำลังจะกลาย เป็นทีวีสาธารณะในเร็วๆนี้
ภายหลังจากมีความขัดแย้งระหว่างคู่สัญญา คือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) เรื่องการจ่ายค่าสัมปทานและการปรับผังรายการเพิ่มสัดส่วนของรายการบันเทิง
จนในที่สุด สปน.ได้ไล่เบี้ยค่าปรับอภิมหาโหด เล่นเอาไอทีวี “ล้มทั้งยืน”
แต่เรื่องไม่ได้จบลงแค่นั้น เมื่อรัฐบาลทำงานแบบสุกเอาเผากิน และรวบรัดออกร่าง พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพ สาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะ ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปทั้ง 3 วาระแล้ว
โดยหวังว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย และมีการประกาศกฎหมายนี้ใช้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็จะผลักดันสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะได้
แต่แล้วก็ไปไม่รอด เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้สั่งจำหน่ายคดีที่ สปน.ยื่นฟ้อง บมจ.ไอทีวี ชำระเงิน 101,865 ล้านบาท
ประกอบด้วย ค่าปรับผังรายการ 97,760 ล้านบาท ค่าสัมปทานส่วนต่าง 2,887 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ยของค่าสัมปทานส่วนต่าง 562 ล้านบาท และมูลค่าทรัพย์สินที่ส่งมอบไม่ครบ หลังการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน 656 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ทำให้ข้อขัดแย้งทั้งหมดต้องกลับไปสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการใหม่
มาตรา 190 อุปสรรคการค้า
มาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพราะกำหนดให้การทำสนธิสัญญา และความตกลงระหว่างประเทศ ต้องเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบ และหากมีผลกระทบ มากต้องทำประชาพิจารณ์
ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในทางการปฏิบัติมาก เพราะการเจรจาทุกครั้งจะต้องขอความ เห็นชอบจากสภา ขณะที่การเจรจาการค้า ทั่วไป ไม่ได้เกิดขึ้นภายในครั้งเดียวแล้วสำเร็จ
หากต้องขอความเห็นชอบทุกครั้ง แน่นอนว่า การเจรจาจะมีความคืบหน้า ยาก ประเทศคู่เจรจาอาจเกิดความเบื่อหน่าย ที่สำคัญ หากสภาไม่เห็นชอบก็จะไม่สามารถเจรจาต่อได้
ถึงแม้ในรัฐธรรมนูญจะกำหนดต่อว่า ต้องมีกฎหมายลูกที่กำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการในการเจรจาที่ชัดเจนเพื่อเป็นหลักปฏิบัติ ิสำหรับผู้เจรจา แต่ในระหว่างที่กฎหมายลูกยังไม่มีผลบังคับใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีของไทย กับประเทศใหม่ๆก็ต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย
มาตรา 190 จึงอาจทำให้ไทยตกขบวนการค้าเสรี สุดท้ายจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมถึงความเชื่อถือ และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศคู่เจรจาด้วย
ผลงาน “ทีโอที” เหลวไม่เป็นท่า
ปี 2550 ถือว่าเป็นปีแห่งการเสียโอกาสของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อย่างหนักหนา สาหัส เพราะนอกจากไม่มีพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ไม่สร้างรายได้เพิ่มแล้ว ยังเกิดความวุ่นวายและขัดแย้งกันเองไม่เลิกรา
นับตั้งแต่ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร รองปลัดกระทรวงกลาโหม มานั่งแท่นเป็นประธานคณะกรรมการ มีการเปลี่ยนกรรมการผู้จัดการใหญ่ถึง 4 คน เริ่มตั้งแต่นายสมควร บูรมินเหนทร์ นายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ และนายกิตติพงศ์ เตมียะประดิษฐ์ จนทำให้ขาดความต่อเนื่องในการบริหารงาน
ทีโอทีมีทั้งปัญหาภายใน ขั้นตอนการทำงานล่าช้า ประกอบกับบอร์ดไม่มีนโยบายชัดเจน จนพนักงานทีโอทีถอดใจในการทำงาน จึงส่งให้ผลดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น จากที่กำหนดในปี 2550 จะมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทะลุ 1 ล้านราย กลับทำได้ 400,000 รายเท่านั้น
ขณะที่ตลอดทั้งปีนี้ทีโอทีจึงมีกำไรเพียง 1,000 ล้านบาท ลดลงจากเดิมมีกำไร 6,981.22 ล้านบาท
ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนรัฐวิสาหกิจได้ทำหนังสือ ถึงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างเพื่อฟื้นฟูฐานะการเงินอย่างเร่งด่วน
เพราะทีโอทีมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาด้านการเงินในอนาคตอันใกล้นี้
หวยบนดินสูญ 5.2 หมื่นล้าน
คำสั่งยุติหวยบนดิน แบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย.2549 ยาวนานมาตลอดปี 2550 ยังไม่เห็นวี่แววใดออกมาเรียกเสียงฮือฮากับนักเสี่ยงโชคได้อีกครั้ง
หนำซ้ำยังปล่อยให้หวยใต้ดินระบาด จน บรรดาเจ้ามือหวยใต้ดินออกอาการลิงโลดดีใจ ฟันกำไรเหนาะๆเข้ากระเป๋านับไม่ถ้วน
หากคำนวณเป็นตัวเลขแบบคร่าวๆ แต่ละงวดมียอดจำหน่ายหวยบนดินงวดละ 2,000 ล้านบาท ฉะนั้น ตั้งแต่รัฐบาลสั่งหยุดจำหน่ายหวยบนดินจนถึงงวดปัจจุบัน (30 ธ.ค. 2550) รวม 26 งวด
รัฐบาลเสียโอกาสจากการหารายได้ถึง 52,000 ล้านบาททีเดียว
น่าเสียดาย เพราะแทนที่เงินเหล่านี้จะถึงมือเด็กยากจน เช่น โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่เป็นโอกาสให้เด็กไทยที่ยากจนไปเล่าเรียนในต่างประเทศฟรีๆ แต่ดันทะลึ่ง ไปอยู่ในกระเป๋าของเจ้ามือหวยใต้ดินแทน
แผนก่อสร้างรถไฟฟ้าบิดเบี้ยว
จนแล้วจนรอดรถไฟฟ้า 5 สายทางที่หลายรัฐบาลวาดฝันให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ หลงเคลิ้มว่าจะเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ก็ยังไม่ขับเขยื้อนไปไหน มีเพียง 2 สาย ที่ ครม.เห็นชอบ แต่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างใดๆทั้งสิ้น
เริ่มต้นจากสายสีแดงที่แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. และบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. วงเงินลงทุน 68,000 ล้านบาท
แม้ที่ประชุม ครม.จะเปิดไฟเขียวให้เดินหน้าโครงการไปแล้ว พร้อมกำหนดว่าภายในเดือน ต.ค.2550 จะได้ผู้รับเหมาเพื่อดำเนินการก่อสร้างในช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เพื่อลงมือก่อสร้างต้นปี 2551 แต่จนแล้วจนรอดถึงบัดนี้ก็ยังไม่สามารถเปิดประกวดราคาหาผู้รับเหมา
ขณะที่ช่วงบางซื่อ-รังสิต จะต้องรอให้เงินค่าก่อสร้างในช่วง แรกเหลือก่อนจึงจะลงมือได้
อีกทั้งมีปรากฏการณ์พิเศษของรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะเอารถไฟแบบดีเซลรางวิ่งไปพลางๆก่อน เมื่อเห็นว่ามีความพร้อมเพิ่มขึ้นค่อยหารถไฟฟ้ามาวิ่งบนรางเดียวกัน
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 55,000 ล้านบาท จากนโยบายของรัฐบาลก่อน จะเป็นลำดับแรกที่ได้ก่อสร้างก่อน แต่ด้วยหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลชุดนี้กำหนดให้ผ่าน พ.ร.บ.การเข้าร่วมการงานระหว่างรัฐบาลและเอกชน พ.ศ. 2535 จึงต้องถูกพิจารณากลั่นกรองหลายขั้นตอน
เมื่อ ครม.ให้เดินหน้าโครงการได้ ก็ยังติดปัญหาเงินค่าเวนคืนที่ดินที่สูงขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัว จนกระทรวงคมนาคมต้องนำกลับไปพิจารณาใหม่ และเพิ่งเสนอให้ ครม.เห็นชอบในวงเงิน 9,209 ล้านบาท
ส่วนกำหนดเวลาที่วางไว้ว่าจะเริ่มหาผู้รับเหมาและก่อสร้างได้ในต้นปี 2551 ก็ยังเป็นปัญหาอยู่
เพราะธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจบิก) ผู้ให้เงินกู้ เห็นว่ารูปแบบโครงการเปลี่ยนแปลงไปจึงขอทบทวนการให้กู้ใหม่ทั้งหมด
ทอท.รายได้ลดกำไรหล่นวูบ
บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในฐานะผู้กำกับดูแลสนามบินนานาชาติ ในประเทศไทย มีผลงานในอดีตโกยกำไรเป็นกอบเป็นกำปีละกว่า 10,000 ล้านบาท เพราะเป็นธุรกิจผูกขาด
แต่ตลอดทั้งปี 2550 นี้ กลับมีกำไรลดลงเหลือไม่ถึง 1,000 ล้านบาท
มาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ประการแรกจากการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้ต้องหักค่าเสื่อมราคาในปีแรก 5,000-6,000 ล้านบาท
แต่ประการที่ 2 ถือเป็นผลของการบริหารงานของคณะกรรมการ ทอท. ที่มี พล.อ.สพรั่ง เป็นประธาน โดยเฉพาะในกรณีที่เข้ามาล้างบางกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ที่ได้รับสัมปทานการ บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์และร้านค้าปลอดภาษี ด้วยการประกาศยกเลิกสัญญาสัมปทาน
ทำให้รายได้ของ ทอท.ที่ได้รับจากกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ เดือนละ 300 ล้านบาท หรือปีละกว่า 3,000 ล้านบาทหายไป
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ทอท.ยังถูกกลุ่มคิง เพาเวอร์ ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย กว่า 68,000 ล้านบาท พร้อมขอความคุ้มครองจากศาลไม่ให้ ทอท.เข้ามารื้อถอน
เท่ากับสิ่งที่คณะกรรมการ ทอท.ตัดสินใจไปมีแต่เสียกับเสีย จึงเป็นที่มาของ ปีแห่งการเสียโอกาสโดยแท้!!!
ทีมเศรษฐกิจ ไทยรัฐ
จาก ไทยรัฐ 31/12/50