แม้ผู้คนในสังคมไทยจำนวนมากจะออกมาเรียกร้องและคัดค้านการออก พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน ที่เสนอโดยรัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลที่มาจากอำนาจเผด็จการ!!!
และต้องผ่านการพิจารณาจาก สนช.ที่ก็มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการชุดเดียวกัน ที่ทำไปทำมา ก็ถูกผู้คนเรียกขานว่า สภาหน้าด้านไปแล้ว
ซึ่งโดยนัยที่สำคัญที่เขาออกมาคัดค้านกันก็คือ พ.ร.บ.อัปยศฉบับนี้ จะสถาปนารัฐทหารขึ้นอย่างถาวร!!! โดยผ่านหน่วยงานที่ชื่อ กอ.รมน.
เป็นการมอบอำนาจอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้ทหาร กระทำการใดก็ได้ในการกดขี่ข่มเหง จำกัดสิทธิและเสรีภาพของคนไทย
แต่ก็ดูชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งรัฐบาลและสภาหน้าด้านชุดนี้ ไม่แยแส ไม่รู้ร้อนรู้หนาว แต่อย่างใด และก็คงจะผ่านออกมาอย่างหน้าด้านตามเคยในวันนี้ (20 ธันวาคม) แม้จะมีการชุมนุมต่อต้านอยู่หน้าสภาฯเป็นจำนวนมากก็ตาม
คำถามคือว่า ทำไมต้องรวบอำนาจให้กองทัพบกและ กอ.รมน. ? การทำเช่นนี้จึงเหมือนกับการสร้างอำนาจซ้อนรัฐ
นั่นก็คือ เป็นการให้อำนาจทหารทับซ้อน ควบคุมรัฐบาล และฝ่ายที่ทหารเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามได้ตลอดกาล และยังสามารถขยายอำนาจกองทัพ เข้าไปมีบทบาททางการเมืองได้อีกในหลาย ๆ เรื่อง ในทุกพื้นที่ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด เพียงอ้างแค่คำว่า ภัยความมั่นคง เท่านั้น
หรือบอกได้เลยว่า การใช้อำนาจนี้ คนที่มีตำแหน่ง ผอ.รมน. ซึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารบก จึงมีอำนาจเทียบเท่านายกรัฐมนตรี นั่นเอง และยังเป็นการให้อำนาจแก่ทหารบกแบบสุด ๆ ในทุกพื้นที่ ด้วยตำแหน่ง ผอ.รมน.ภาค ซึ่งก็เป็นของแม่ทัพภาคทั้งหมด
แค่เห็นว่ามีความไม่ปลอดภัยต่อความมั่นคง ก็สามารถบังคับบัญชาหน่วยงานรัฐทุกหน่วยได้ แต่งตั้งบุคคลได้
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากฝ่ายกองทัพเห็นชอบ หรือฝ่ายที่กองทัพไม่เห็นด้วย ก็ง่ายอย่างยิ่งที่จะทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลชุดนั้นๆ ได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องลากรถถังออกมาปฎิวัติรัฐประหารให้เป็นที่รังเกียจของสังคมโลก
พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในยังให้อำนาจ ผบ.ทบ. ลิดรอนสิทธิประชาชนได้หลายเรื่อง
ห้ามเดินทาง ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามชุมนุมการเมือง ห้ามแสดงมหรสพ ห้ามโฆษณา ห้ามออกจากเคหะสถาน ให้เจ้าของกิจการรายงานประวัติลูกจ้างทั้งหมด หรือครอบครองสินค้าได้
หรือหากสงสัยผู้ใดก็ยังสามารถเรียกมาคุมตัวก่อนได้ภายใน 30 วัน โดยเรียกว่า ผู้ต้องสงสัย ทั้งห้ามเยี่ยม ห้ามมีทนาย หนักว่า ผู้ต้องหา เสียอีก
หนักขึ้นไปอีกก็คือ อำนาจของ ผอ.รมน.ยังสามารถเข้าแทรกแซงการสอบสวนได้ ทั้งเรียกข้อมูลการสอบสวนทางอาญามาดู หรือเข้าฟังการสอบสวนก็ได้ หรือแม้กระทั่งสั่งปล่อยก็ยังได้
แล้วแบบนี้ ใช่หรือไม่ ที่ทหารได้ใช้อำนาจทั้งสอบสวน จับกุม ตัดสิน ไปได้ในคน ๆ เดียวกัน
และมันก็ไม่ใช่ พ.ร.บ.นี้ มาทำหน้าที่ดูแลประเทศ ตามที่กล่าวอ้าง
แต่เป็นความพยายามที่จะรักษาโครงสร้างกอ.รมน. ที่เคยใช้ปราบปรามคอมมิวนิสต์ และหาพื้นที่ให้ผู้นำกองทัพเข้าแทรกแซงการเมืองของพลเรือนได้
หลายคนจึงพูดว่า เป็นการฟื้นแนวคิดอมาตยาธิปไตยขึ้นมาใหม่นั่นเอง
ล่าสุด ดูเหมือนจะแกล้งถอยออกไปบ้าง แต่ก็ยังไม่มีใครเห็นถูกแก้ไขจริงหรือไม่ นั่นก็คือ ประเด็นที่เขียนไว้ว่า ห้ามตรวจสอบโดยศาลปกครอง ไม่ต้องรับความผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย
แต่มันก็คงไม่เพียงพอ เพราะเพียงแค่ตัดเนื้อหาส่วนนี้ออกไป ก็ไม่ได้ทำให้อำนาจของกองทัพบก อำนาจของ ผบ.ทบ.หรืออำนาจของ แม่ทัพภาคทุกภาค ถูกต้องห้ามในการเข้าแทรกแซงทางการเมืองแต่อย่างใดเลย
และถึงแม้ จะกล่าวว่า จำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพบ้าง แต่การจำกัดสิทธิเสรีภาพก็ต้องเป็นไปเพียงเท่าที่จำเป็นและประชาชนยินยอมโดยผ่านกระบวนการตรากฎหมาย หรือผ่านผู้แทนที่ปะชาชนเลือกเข้าไป
สนช.ชุดนี้ ไม่ได้มาจากประชาชน จึงไม่มีความชอบธรรมในการรับร่างฉบับนี้ไว้พิจารณาอย่างใดทั้งสิ้น หรือแม้กระทั่งกฎหมายอื่น ๆ อีกหลายฉบับ
ก็ต้องขอไว้อาลัย พร้อมกับคำสาปแช่ง ไปถึงกลุ่มคนที่ยกมือผ่านร่าง พ.ร.บ.อัปยศในวันนี้
เพราะมันจะกลายเป็นชนวนที่สร้างรอยร้าวให้เกิดขึ้นในกลุ่มสังคมไทย
ที่รอเพียงแต่จะเร็ววันหรือช้าวันเท่านั้น ที่มันจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ
จาก เวบไซต์ประชาทรรศน์