ม๊อบขับสนช.”ออกแผ่นพับแจงเหตุบุกสภา ‘จอน’ ท้า ‘มีชัย’ ดีเบตกม. แฉ นั่งที่ปรึกษาซีพี เร่งออกกฎหมายเอื้อ เตรียมต้านพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ คาดเข้าสนช.พรุ่งนี้ ขณะที่ ตำรวจ ตรึงกำลังกว่า 750 นาย หวั่นเกิดเหตุรุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา ฝ่ายผู้ชุมนุมที่ต้องการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ยุติการพิจารณากฎหมายของรัฐบาลทุกฉบับ ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย(สค.ปท.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครู และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ได้ทำแผ่นพับชี้แจงเหตุผลในการชุมนุมโดยใช้หัวข้อของแผ่นพับว่า “ทำไม ต้องปฏิบัติการปิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน”
แผ่นพับระบุว่า การชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมาและการเข้ายึดพื้นที่ในห้องประชุมรัฐสภานำโดยกลุ่มดังกล่าวได้กลายเป็นการปฏิบัติการที่ท้าทายและถูกตั้งคำถามชวนให้เข้าใจได้ว่ามีเบื้องหลังอะไรที่ทำให้ต้องกระทำการที่เสี่ยงต่อการต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายถึงขั้นต้องติดคุกติดตะราง
ความจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภายหลังการยึดอำนาจของคณะทหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยถดถอย สิทธิเสรีภาพของประชาชนชะงักงันและสร้างความร้าวฉานในหมู่ประชาชนไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และยิ่งตอกย้ำให้เป็นเห็นชัดแจ้งมากขึ้นกับทำหน้าที่การออกกฎหมายของสนช.
แม้สนช.จะกล่าวอ้างว่าได้ทำหน้าที่ออกกฎหมายเสมือนสนช.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เป็นการคาดหมายล่วงหน้าว่าการออกกฎหมายจะเอื้อประโยชน์สำหรับการถือครองอำนาจและการใช้อำนาจของข้าราชการเป็นหลัก เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบด้วย ข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการ ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการบำนาญ ผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
ในที่สุดสนช.แต่งตั้งได้พิสูจน์ความจริงข้อนี้ให้เห็นด้วยการพยายามผลักดันกฎหมายที่เป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพของการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวางที่ไม่อาจนำเอามาต่อรองแลกเปลี่ยนกับการออกกฎหมายที่ดีไม่ถึงสิบฉบับดังที่สมาชิกสนช.บางคนพยายามสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้กับสังคมและซ้ำร้ายกว่านั้นประธานสนช.กลับบอกว่าหากกฎหมายออกมาไม่ดีก็ไปเสนอให้สนช.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแก้ไขเสีย ทั้งๆที่เป็นที่ทราบกันดีว่าการแก้ไขกฎหมายทำให้สำเร็จได้ค่อนข้างยาก และไม่บังควรผลักภาระความรับผิดชอบให้ประชาชนหรือสนช.ชุดหน้า ถือเป็นการขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นเนื้อแท้ที่เป็นเส้นแบ่งที่แตกต่างกันระหว่างสนช.ที่มาจากประชาชน และสนช.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะทหารที่ยึดอำนาจการปกครอง
กฎหมายที่กลายเป็นเหตุผลของการปฏิบัติการให้หยุดการออกกฎหมาย เพื่อหยุดยั้งการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่สนช.ต้องการเร่งรัดที่จะออกให้ได้ ทั้งที่เหลือเวลาที่จะเลือกตั้งอยู่เพียง 4 วัน และประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเพื่อแสดงเจตจำนงเลือกตัวแทนเพื่อให้ทำหน้าที่ในการออกกฎหมายแทนประชาชนตั้งแต่วันที่ 15-16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นหากพิจารณาโดยมโนธรรมสำนึกที่มนุษย์ผู้เจริญทั้งหลายพึงยึดถือปฏิบัติ จึงไม่เห็นเหตุผลความชอบธรรมใดๆที่สนช.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะทหารยึดอำนาจการกระทำการฝ่าฝืนเจตจำนงของประชาชนอีกต่อไป
สำหรับกฎหมายสำคัญที่จะสร้างปัญหาให้กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและระบอบประชาธิปไตยโดยรวมคือ 1.ร่างกฎหมายความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2.ร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำ 3.ร่างกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 4.ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ 5 - 7 ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยนอกระบบ 3 ฉบับ และ 8.ร่างกฎหมายสภาการเกษตรแห่งชาติ
ขณะที่บรรยากาศด้านหน้าอาคารรัฐสภามีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 300 คน ต่างช่วยกันตะโกนว่า “สนช.ออกมา” เพื่อให้ออกมาพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมตามที่ได้เคยสัญญาไว้ โดยมีแกนนำผลัดกันขึ้นพูดบนเวทีผ่านเครื่องขยายเสียงทำลายโสตประสาทอยู่ตลอดเวลา พร้อมกันนี้ยังได้สั่งให้ผู้ชุมนุมกระจายกำลังกันนั่งขวางประตูเข้า-ออก ของรัฐสภา และในส่วนของการรักษาความปลอดภัยได้มีการตรึงกำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 5 กองร้อย ทั้งจากสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 ตำรวจนครบาล กองร้อยควบคุมฝูงชน และหน่วยปราบจลาจล ทั้งที่อยู่ภายในและภายออกอาคารรัฐสภารวมแล้วกว่า 750 นาย ทั้งนี้ ประตูทางเข้ารัฐสภาฝั่งตรงข้ามกับสวนสัตว์ดุสิต(เขาดิน) เจ้าหน้าที่ได้นำคานเหล็กมาติดตั้งขวางประตูไว้อย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันหากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น
แกนนำในการชุมนุม ได้กล่าวท้าทายให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสนช. ให้ออกมาดีเบตข้อกฎหมายกับตน และตนไม่กลัวการดีเบตกับนายมีชัยเพราะอ่านกฎหมายฉบับเดียวกัน และยังระบุด้วยว่านายมีชัยเป็นที่ปรึกษาบริษัทเกษตรขนาดใหญ่ที่ไทยคือ “ซีพี” จึงต้องเร่งออกกฎหมายสภาการเกษตรแห่งชาติเพื่อเอื้อประโยชน์กับซีพี
จากนั้นนายจอน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการมาชุมนุมในครั้งนี้ว่า พวกเราต้องการแสดงจุดยืนว่ากฎหมายสำคัญๆที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา เช่น ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนอกระบบทั้ง 3 ฉบับนั้น ควรให้สภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนเป็นผู้พิจารณา และประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างรอบคอบ การที่สนช.พิจารณากฎหมายอย่างเร่งรีบแบบนี้ ในขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งไม่เคยมีประเทศไหนในโลกทำกัน อย่างไรก็ตาม พวกเรายังคงเดินหน้าคัดค้านต่อไปเรื่อยๆ และเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจ เพื่อเป็นการแสดงออกตามสิทธิของระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เท่าที่กำลังจะมี
นอกจากนี้ นายจอนยังได้กล่าวถึงพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวันพรุ่งนี้ ว่า พวกเราคัดค้านพ.ร.บ.ฉบับนี้เพราะว่ามันอันตราย และมีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านแต่สภานิติบัญญัติฯก็ไม่ได้สนใจ ทั้งที่ไม่ได้เป็นสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน แต่เป็นสภาที่มาจากการรัฐประหาร ทั้งนี้ พวกเราจะคัดค้านให้ถึงที่สุด แม้จะมีการแก้ไขบางมาตราให้ดีขึ้น แต่โดยรวมแล้วก็ยังมีปัญหาอยู่มาก ทั้งนี้ เรายังได้ตั้งข้อสงสัยว่ามีความจำเป็นอะไรที่จะต้องออกพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะมีกฎหมายหลายฉบับรองรับอยู่แล้ว และประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสถานการณ์การก่อการร้าย หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น พ.ร.บ.ดังกล่าวจึงไม่สมควรออกมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมของสนช.ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้แสดงปฏิกิริยาสะทกสะท้านใดๆ ต่อเสียงเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ต่อมาในเวลา 11.30 น. แกนนำบนเวทีพยายามปลุกระดมให้แนวร่วมต่างๆ ออกมาทำกิจกรรม “ล้อมสภา เพื่อประชาธิปไตย” โดยเริ่มเคลื่อนไหวในรูปแบบโซ่มนุษย์ ด้วยการคล้องแขนต่อกันเหมือนห่วงโซ่ และเริ่มขยายขบวนออกไปจนปิดเส้นทางการจราจรบริเวณถ.อู่ทองใน หน้ารัฐสภา แต่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้เคลียร์เส้นทางเพื่อเปิดผิวการจราจร อุณหภูมิที่ร้อนระอุในช่วงเที่ยงวันทำให้กลุ่มผู้ชุมที่กรำศึกมาตั้งแต่เช้า ต่างเริ่มอ่อนล้า แกนนำบนเวทีดูท่าแล้วคงไม่ไหวจึงประกาศให้พี่น้องทั้งหลายได้พักรบ กินข้าว ดื่มน้ำดับกระหายกันก่อน.
พีทีวี นิวส์
19 ธันวาคม 2550 เวลา 15:15 น.