เขียนเรื่องการเมืองมาหลายวันชักเบื่อเหมือนกัน วันนี้ผมจะเขียน เรื่อง “โทรศัพท์มือถือ” ครับ สัปดาห์ที่แล้วผมเก็บข่าวที่ คุณวิกรมศรีประทักษ์ ซีอีโอค่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ AIS ที่ออกมาแถลงถึงสภาพตลาดมือถือในปีหน้า 2551 ว่า เมืองไทยจะมียอดผู้ใช้ โทรศัพท์มือถือเพิ่มเป็น 64 ล้านราย เท่ากับ 100 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด
พูดง่ายๆก็คือ ในปีหน้าจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเมืองไทย จะมียอดรวม 64 ล้านเบอร์เท่ากับจำนวนประชากร เฉลี่ยเท่ากับ 1 คนต่อ 1 เบอร์
บางคนฟังแล้วอาจจะร้องโอ้โห นึกไปถึงใครบางคนที่ร่ำรวยจากโทรศัพท์มือถือ ความจริงแล้วตัวเลขนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรแต่คนไทยอาจจะไม่คุ้นเคย
ในเมืองนอกโดยเฉพาะประเทศยุโรป ยอดของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมีมากกว่าจำนวนประชากรมานานหลายปีแล้ว หลายประเทศสูงกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะแต่ละคนมีโทรศัพท์มือถือหลายเบอร์ เพื่อใช้ในการติดต่อทำธุรกิจ
นี่คือสภาพของโลกอนาคตที่คนไทยกำลังจะก้าวไปเช่นกัน
เมื่อวานนี้ก็มีตัวเลขจากสหรัฐฯบอกว่า ยอดผู้ใช้โทรศัพท์มือถือใน สหรัฐฯ แซงหน้าโทรศัพท์พื้นฐานแบบมีสายไปไกลโขแล้ว ผู้ใช้โทรศัพท์พื้นฐานแบบมีสายมีอยู่ 170 ล้านราย แต่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมีถึง 250 ล้านราย จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 300 ล้านคน และค่าใช้โทรศัพท์มือถือก็แซงหน้าค่าใช้ โทรศัพท์พื้นฐานเช่นกัน
แม้จะมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร แต่คนไทยก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์มือถือมากนัก ส่วนใหญ่ ใช้แค่พูด ส่งเอสเอ็มเอส โหลดภาพโหลดเพลง ไม่ได้ใช้ทำธุรกิจเท่าไร
เพราะเทคโนโลยีระบบโทรศัพท์มือถือของไทยยังล้าหลัง ยังอยู่แค่ 2 จี และ 2 จีครึ่ง เนื่องจากทางการ (ใครก็ไม่รู้) มัวแต่กลัวว่าคนโน้นคนนี้จะรวย ก็เลยกั๊กใบอนุญาตเทคโนโลยี 3 G เอาไว้ ไม่ยอมออกใบอนุญาตให้ใคร
ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับ เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือวันนี้ ไทยเรา“แพ้เขมร” ไปแล้ว เพราะเขมรมีโทรศัพท์มือถือระบบ 3 จี ไปร่วมสองปีแล้ว วิสัยทัศน์ของผู้นำเขมรก้าวไกลกว่าผู้นำไทยเยอะ
ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจใหม่ๆ ก็มีการขุดคุ้ยกันว่า อดีตผู้นำที่ร่ำรวยจากโทรศัพท์มือถือ เอาเงินหลวงไปปล่อยให้ชาวรากหญ้ากู้ผ่านกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้ชาว รากหญ้าเอาเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือ
วันนี้ผมมีข้อมูลจากคอลัมน์ เวิร์ล เอ็กซ์คลูซีฟ ในวารสาร “การเงินธนาคาร” ฉบับเดือนธันวาคม นำมาเล่าสู่กันฟัง
เขาเล่าว่า โครงการที่กำลังฮิตมากๆ ในหลายประเทศใน “ทวีปแอฟริกา” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นทวีปที่มีแต่คนยากจนก็คือ “โครงการโทรศัพท์ มือถือหมู่บ้าน” ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น
ใครจะเชื่อว่า เงินกู้ micr-finance หรือสินเชื่อรายย่อยมากๆ ที่แบงก์ปล่อยกู้ควบคู่กับบริษัทมือถือ ซึ่งไปช่วยจัดการติดตั้งโทรศัพท์ให้แก่ครัวเรือนที่ต้องการ ทำหน้าที่เป็นโอเปอเรเตอร์ประจำหมู่บ้าน จะช่วยให้ครัวเรือนในละแวกนั้นทำธุรกิจติดต่อค้าขายหรือ ติดต่อเรื่องอื่นๆได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทำมาหากินคล่องตัว การ รักษาพยาบาลก็ดีขึ้น เพราะการสื่อสารไปทั่วถึง รู้ข่าวสาร รู้ราคาพืชผล
ด้วยเงินลงทุนเล็กๆน้อยๆ แต่ครัวเรือนที่ลงทุนทำธุรกิจโทรศัพท์ มือถือ กลับสามารถคืนทุนได้ภายในเวลาไม่ถึง 4 เดือน เพราะชาวบ้านใช้ บริการกันเยอะ ดีกว่าต้องเดินเป็นกิโลไปใช้โทรศัพท์พื้นฐานของรัฐบาล
ผมนำตัวอย่างเล็กน้อยนี้มาเล่า เพื่อให้เห็นว่า เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้จริง มีคนอีกมากที่ไม่เข้าใจ เหมือนเรื่อง E-Commerce ที่ผมเขียนบ่อยๆ เพราะอยากเห็นเอสเอ็มอีไทยไปอินเตอร์ โดยไม่ต้องลงทุนมากนัก.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
จาก คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย