ท่ามกลางกระแสสนใจของประชาชนและสื่อมวลชนโดยทั่วไปถึงทิศทางของสื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อภาครัฐ นับแต่วันแรกที่รัฐบาลได้เข้าบริหารประเทศ ว่าจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในประเด็นดังกล่าว นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสื่อของรัฐ ได้แจกแจงไว้อย่างน่าสนใจ
ทิศทางสื่อมวลชนภาครัฐจากนี้ไป จะมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ต้องเริ่มเรียนอย่างนี้ก่อนว่าภาครัฐมีสื่อมวลชนในสังกัดเยอะ หน่วยงานหลักๆ ที่ดูแลเรื่องสื่อของภาครัฐ ก็มีกรมประชาสัมพันธ์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้มีสื่อของตนเอง แต่ว่าเป็นคนทำสัญญา ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสื่อภาครัฐ และที่สำคัญก็คือมีสื่อใหม่ๆ ซึ่งยังไม่ได้อยู่ในระบบของใครโดยเฉพาะ ซึ่งยังไม่รู้จะจัดการอย่างไร เช่น เรื่องวิทยุชุมชน เรื่องของโทรทัศน์ดาวเทียม เรื่องของวิทยุท้องถิ่น เหล่านี้เป็นต้น ยังไม่รวมเรื่องของทีวีเว็บ เรดิโอเว็บ หรือว่าไพรเวตมีเดีย อย่างเช่นส่งมาในมือถือ
ทั้งหมดที่พูดมานี้มันเป็นสื่อมวลชนทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งยังไม่ได้มีการพัฒนา เนื่องจากสังคมเปลี่ยน เทคโนโลยีก็เปลี่ยน พอเข้าใจตรงนี้ก็จะมาตอบคำถามได้ว่า รูปลักษณ์แต่ละที่มันสอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการของสังคมหรือไม่ คำตอบก็คือยังไม่ได้ตอบสนองเท่าที่ควร
ผมมานั่งตรงนี้ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลนโยบายสื่อภาครัฐ เรายึดตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาข้อ 8.3 เราเขียนไว้ว่าจะส่งเสริมให้ประชาชนผู้รับสารได้รับข้อมูลข่าวสารที่สมดุล เป็นธรรมและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนั้นมันยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะว่าสื่อภาครัฐยังไม่ได้มีการจัดการแบบวิสัยทัศน์ที่ว่านี้ ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของวิวัฒนาการที่มาจากสื่อนั้นๆ เอง เช่นกรมประชาสัมพันธ์ที่เป็นเรื่องของกระบอกเสียงภาครัฐ รัฐจะถูกจะผิดก็เชียร์สะบัด อสมท. เกิดขึ้นจากการที่รวมเอากลไกของรัฐหลายอย่างในตอนนั้น เช่น ช่องสี่บางขุนพรหม วิทยุ แล้วก็สำนักข่าวตั้งรวมกันแล้วเป็น อสมท. เป็นรัฐวิสาหกิจ ภายหลังก็เปลี่ยนรูปแบบเป็นบริษัทมหาชน
เพราะฉะนั้น อสมท. ก็เป็นบริษัทสื่อภาครัฐที่ควรจะมีความคล่องตัวในการดำเนินการ คือ ควรเป็นกรมประชาสัมพันธ์ที่คล่องตัวกว่า ปรากฏว่าทั้งหมดที่เอ่ยมานั้น เวลาที่ผ่านมาเป็นสิบๆ ปี กลับไม่เป็นอย่างนั้น ช่อง 11 ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกรมประชาสัมพันธ์ มีผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารระดับ 9 หรือซี 9 กลับทำให้เครือข่ายที่ดีที่สุด เครือข่ายของประเทศไทยคือช่อง 11 ในแง่เทคโนโลยีไปไกลมาก ในแง่เครื่องไม้เครื่องมือสุดยอด ด้านดิจิตัลไม่มีใครจะดีไปกว่าช่อง 11 ในประเทศไทย แต่กลับไม่มีแม้แต่เรตติ้ง
บริษัทสำรวจเรตติ้งมองข้ามช่อง 11 เหมือนสินค้าที่ไม่มีคุณภาพเลย อะไรที่ออกช่อง 11 นั้น คนก็ยังคงดูแคลนว่าเป็นของคุณภาพด้อยกว่าของที่ออกในช่องพาณิชย์ ทั้งหมดต้องตั้งคำถามว่ามันเกิดความผิดปกติอะไรขึ้น ที่ของดีในภาครัฐเป็นของด้อยคุณภาพในสายตาสังคม เหล่านี้เป็นตัวอย่าง
เพราะฉะนั้นจะขอตอบเรียงทีละอัน กรมประชาสัมพันธ์ ต้องแบ่งออกอย่างน้อย 2 ส่วน ด้วยกัน ชิ้นแรกคือสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 ชิ้นที่สองคือสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งมีหลายคลื่นของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนอยู่แล้วภายในหน่วยงานของเขา ก็คือ สถานีโทรทัศน์ modern nine สถานีวิทยุ อสมท. และสำนักข่าวไทย ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องยังกระจัดกระจาย ที่เอ่ยไปแล้ว เช่น วิทยุชุมชน โทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลท้องถิ่น ซึ่งอันนั้นเป็นอีกสารบบหนึ่ง
เอาเฉพาะที่เป็นของเราโดยแท้ ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์เมื่อเรารู้ว่าเป็นของดี แต่ถูกบริหารจนกลายเป็นของด้อยคุณภาพ เราก็เลยต้องแก้ไปที่ต้นเหตุ การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของช่อง 11 ก็คือ จะต้องย้อนกลับไปหา TOR ตอนตั้งช่อง 11 เลย ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าช่อง 11 ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นโทรทัศน์สาธารณะเครือข่ายแรกของประเทศไทย เมื่อ 16 ปีที่แล้ว
เพราะฉะนั้นโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยไม่ใช่ TPBS แต่เป็นช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ แต่ด้วยความที่เราไปใส่ในระบบราชการ คนจึงมองว่าเป็นโทรทัศน์ราชการ จะเบิกจะจ่ายงบประมาณเงินดาวน์เงินเดือนก็เลยน้อย
ตั้งใจจะทำให้เหมือนกับ BBC เลยหรือเปล่า
นั่นคือจุดเริ่มต้น ตอนที่ญี่ปุ่นมาขั้นต้นในการก่อตั้งช่อง 11 เขาตั้งใจให้เป็น NHK นะ คนที่ไปตกปากรับคำต้องการให้เป็น BBC นะ เพราะฉะนั้นช่อง 11 เนี้ยมันเพี้ยนขนาดไหนล่ะ จาก NHK มาสู่ช่อง 11 ในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าดูในแง่นี้ รัฐมนตรีที่กำกับดูแลจะไม่รับผิดชอบได้ยังไง ในเมื่อเรามีนโยบายที่ต้องการจะสร้างสมดุลในการรับรู้ข่าวสาร
เพราะฉะนั้นผมจะเข้าไปตั้งคณะทำงาน เพื่อปฏิรูปช่อง 11 โดยเฉพาะในทุกมุมตั้งแต่ว่ากฎหมายจะต้องมีการแก้ไขอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้สามารถเข้าไปปฏิรูปช่อง 11 ได้มากขึ้น จะต้องไปดูว่าช่อง 11 สามารถเข้าไปดึงทรัพยากรเก่งๆ ที่มาจากภายนอกมาช่วยช่อง 11 ในการทำงานอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ต้องไปแก้ปม แก้กฎระเบียบ และสามก็คือจะต้องเข้าไปตั้งเบนช์มาร์กช่อง 11 ว่ามาตรฐานช่อง 11 ที่เราต้องการให้มันเป็นไปคืออะไร
ฉะนั้นเราเอาคนเข้าไปบริหารต้องสนใจด้วยว่าเราจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์ประเมินเขา เพราะฉะนั้นนี้คืองานห้วงแรก คือการไปตั้งคณะทำงานและวางงานเพื่อจะได้ให้ผลกลับมา งานห้วงที่สองคือ action plan คือแผนปฏิบัติการ นั่นก็คือ สมมติว่าเป็นการตกลงจะร่วมผลิต จะมีบริษัทที่เข้ามาอย่างโปร่งใสเพื่อมาร่วมกับช่อง 11 เลย แล้วทำรายการให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน
จะมีการสร้างระบบประเมินผลที่ประชาชนผู้รับสารมีส่วนร่วมได้อย่างจริงจัง แนวคิดเรื่องนี้ทาง TPBS เขาก็มีอยู่ เช่นมีสภาผู้รับข่าวสาร เราก็สามารถจะนำมาล้อได้ ถึงแม้จะเกิดขึ้นในสภาของฝ่ายที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย แต่ถ้าหากดีเราก็นำมาใช้ล้อได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นช่อง 11 ก็ควรจะดูแลกำกับระบบอย่างเดียวกัน คือประชาชนเข้ามาชี้ว่าไอ้ที่คุณพยายามปฏิรูปนั้นมันดีขึ้นหรือเปล่า อันนี้เป็นเหตุที่ติดตาม
เหตุสุดท้าย ก็คือการที่ช่อง 11 จะต้องขึ้นไปอยู่ในฐานะที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับช่องพาณิชย์อื่นๆ ได้ ถามว่ารูปธรรมคืออะไร บริษัทที่วัดเรตติ้งต้องยอมวัดช่อง 11 ช่อง 11 นี้ไม่มีเรตติ้งนะรู้ป่ะ เขาตีค่าให้ศูนย์ เขาไม่วัดให้เลย ทั้งที่ความจริงก็มีรายการดังๆ บางรายการที่คนดูกันเยอะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่ปัจจุบันนี้เขาไม่วัดเรตติ้งให้ แสดงว่าเขาไม่สามารถที่จะผลักตัวเองไปสนามเล่นของผู้ใหญ่ได้ เหมือนคนที่ว่ายน้ำในสระเด็ก
เหตุผลเหล่านี้หรือเปล่าที่เป็นที่มาของ modern eleven
ท่านนายกฯ ก็ตั้งชื่อเล่นไปอย่างนั้นล่ะ แต่ความจริงถึงเวลา เราก็ต้องหาชื่อหาเสียงให้เหมาะสม เพราะฉะนั้นช่อง 11 จะต้องกลับเขามาสู่ความเป็นทีวีสาธารณะที่มีคุณภาพและมีคนดู เป็นทางเลือกที่ชัดเจนสำหรับสังคมและผู้รับสาร ขอตอบสั้นๆนะ รายละเอียดมีอีกเยอะ
สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องทำอะไรให้เช่าช่วงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นต้องตั้งคำถามว่าแล้วคุณทำอะไรเป็นมั่ง ถ้าคุณให้เอกชนเช่าไปหมด แล้วคุณทำอะไรเป็นมั้ง ตอน กสช. เข้ามา คุณก็มาโอดครวญ กสช. บอกว่าผมเป็นกรมประชาสัมพันธ์ ผมขอเก็บคลื่นวิทยุไว้ 5 คลื่น เขาก็จะตีแสกหน้ากลับมาว่า ไอ้ตอนมีคุณไม่เห็นทำเองเลย คุณให้คนอื่นเขาทำ แล้วคุณมีความสามารถทำเองเหรอ
เพื่อประโยชน์ของกรมประชาสัมพันธ์ ผมจึงจะพิจารณาว่าจะดึงสัมปทานเหล่านี้กลับมา เพื่อจะให้กรมประชาสัมพันธ์ทำเองมากที่สุดหรือไม่ โดยที่กระบวนการทำตรงนี้จะไปร่วมมือกับภาคเอกชนภายนอก ในรูปแบบที่เป็นการร่วมผลิต เพื่อจะให้เกิดเป็นผลงานใหม่ในวิทยุขึ้น
การดึงเข้ามาจะเป็นการทำให้อีกฝ่ายมองว่าเป็นการเอากลับมาให้พวกพ้องตัวเองหรือไม่
ไม่หรอก เพราะว่ามันไม่ได้เป็นการเปลี่ยนเช่าช่วงหนึ่งมาเป็นอีกเช่าช่วงหนึ่ง ผลประโยชน์ในวงการนี้เขามีกันก่อน มันเกิดขึ้นจากการให้เช่าช่วง แต่การแค่มาร่วมผลิตเนี่ย มันแทบจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ก็คือมันเป็นการแบ่งกำไรกันไปโดยชัดเจน เพราะฉะนั้นความโปร่งใสจะอยู่ที่ว่าคนตัดสินใจมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทร่วมผลิตหรือไม่ ถ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็จบ แต่ถ้าเช่าช่วงเนี้ย เขาจะมาจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับกรมโดยตรง
เพราะฉะนั้นเนี้ยถ้าเลิกการเช่าช่วงจากรายหนึ่งมาให้เช่าช่วงใหม่อีกรายหนึ่ง จะเกิดข้อครหาแน่ ซึ่งก็จะพยายามหลีกเลี่ยง
หลักเกณฑ์ในการร่วมผลิตรายการเป็นอย่างไรบ้าง
ทุกคนมีสิทธิ์เข้ามาทั้งนั้น เพียงแต่ต้องผ่านเกณฑ์ว่าพฤติกรรมที่ผ่านมาของแต่ละคนได้ส่งเสริมความเข้าใจของประชาชนอย่างได้สมดุลหรือไม่ หรือว่ามีพฤติกรรมในการสร้างความแตกแยก แล้วก็เสนอข่าวให้ข้างใดข้างหนึ่ง เหล่านี้ก็ต้องตั้งเป็นเกณฑ์ด้วย ซึ่งไม่ใช่เป็นเกณฑ์เพื่อป้องกันใครโดยเฉพาะ แต่ว่าต้องตั้งคำถามถึงพฤติกรรม
เพราะถ้าหากว่าผมอุตส่าห์ตั้งระบบใหม่ แล้วยังอุตส่าห์ไปรับเชื้อโรครายเดิมกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่เนี้ย มันก็เท่ากับเอาซีดีที่ติดไวรัสมาใส่ในเครื่องคอมพ์เรา มันก็ทำให้ระบบติดเชื้อไปด้วย แต่การกรองเชื้อหรือการฆ่าเชื้อนั้นเนี้ย มันต้องมีเกณฑ์ที่สังคมภายนอกมาช่วยกันคิด ไม่ใช่ผมเป็นคนคิดคนเดียว
ในส่วน อสมท. ก็คงจะพูดในภาพรวมว่า อสมท. เป็นบริษัท เพราะฉะนั้นเนี้ยเราจะไม่ได้ไปตั้งเกณฑ์เหมือนกรมประชาสัมพันธ์ว่าต้องอย่างนี้อย่างนั้น แต่จะไปตั้งเกณฑ์ในเชิงนโยบายเชิงธุรกิจว่า อสมท. เนี้ยในรูปแบบปัจจุบันทำรายได้เท่ากับรัฐมากเพียงพอหรือไม่
ขณะเดียวกันก็ต้องดูถ่วงดุลกับการบริการสังคม เพราะเราไม่ได้หาเงินเพียงอย่างเดียว ต้องบริการสังคมด้วย แต่เนื่องจากเป็นบริษัท จะมาบอกว่าบริการสังคมจะมาขาดทุนก็ไม่ได้ เพราะตัวมีหน้าที่ต่อผู้ถือหุ้นที่จะต้องทำให้เกิดเป็นกำไรต่อ อสมท. ด้วย
เพราะฉะนั้นผมจะไปดูในรูปแบบที่บริหารบริษัท เราไปในฐานะผู้แทนของผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็คือกระทรวงการคลัง และไปปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อยใน อสมท. ด้วย เพราะฉะนั้นผมจะไม่เข้าไปแจกแจงเหมือนกับทางกรมประชาสัมพันธ์ แต่จะไปดูในภาพรวมมากกว่า
จะมีการเปลี่ยนแปลงหัวเรือใหญ่ของ อสมท. หรือไม่
ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เพราะว่าลาออกถึง 5 คน มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยปริยาย คือคณะกรรมการบริหาร อสมท. เราไม่มีนโยบายในการเปลี่ยนแปลง แต่ว่าในเมื่อกรรมการบริหารลาออกแล้วถึง 4 คน รวมทั้งประธานเป็น 5 คน ก็จะมีการแต่งตั้งคนใหม่เข้ามา ซึ่งตรงนี้ก็จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เอาคนที่มีความรู้ความสามารถและสังคมยอมรับได้เข้ามา
TPBS มีรูปแบบของการเป็นทีวีสาธารณะชัดเจนมากน้อยแค่ไหน
TPBS เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำคอนเซ็ปต์ที่ดีมาทำแบบตามใจตัวเอง จนกระทั่งโมเดลของทีวีสาธารณะเนี่ยถูกตั้งคำถามจากคนหลายรูปแบบ แต่ในเมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามาหลังจากที่มีนโยบายไปแล้ว เราก็ต้องเคารพในกฎหมายที่มีอยู่แล้ว
แต่เราก็มีสิทธิ์เต็มที่ ที่จะสร้างการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์อย่าง TPBS ด้วยการพัฒนาช่อง 11 นี้แหละไปแข่งขันกับ TPBS เพราะฉะนั้นนโยบายของรัฐบาลก็คือ สร้างการแข่งขันที่สร้างสรรค์ ระหว่างทีวีสาธารณะของรัฐ ซึ่งเราจะยกช่อง 11 ขึ้นมาเป็นอย่าง TPBS
ถามต่อว่าจะเสียหายอย่าง TPBS หรือไม่ ก็คงไม่เสียหาย เพราะว่าเขาก็ต้องแข่งขัน ไม่มีใครบอกว่า TPBS จะต้องเป็นเพียงโทรทัศน์สาธารณะรายเดียวในประเทศ ไม่มีใครบอกอย่างนั้น ส่วนพวกคนเขาจะดูอันไหนมากกว่ากัน สถานีไหนจะมีอิทธิพลและผลกระทบต่อคนมากกว่ากัน อันนี้ขึ้นอยู่กับฝีไม้ลายมือ ซึ่งในฐานะที่เป็นคนมืออาชีพทั้งหลายใน TPBS จะมาโอดครวญไม่ได้ ก็ต้องย่อมเข้าสู่รูปแบบการแข่งขัน
นายจักรภพ เพ็ญแข
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ให้สัมภาษณ์พิเศษ นสพ.ประชาทรรศน์
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551